ในภาพยนตร์เรื่อง V for Vendetta ฉากถล่มรัฐสภาอันเป็นสัญลักษณ์ของการกดขี่นั้นน่าตื่นใจ ขณะที่ภาพปรากฏ ดนตรีก็บรรเลงโหมโรง ‘1812’ ของ ไชคอฟสกี (Pyotr Ilyich Tchaikovsky) ชวนให้นึกถึงหนังสือชื่อ In the Flow ของ บอริส กรอยส์ (Boris Groys) ที่พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของศิลปวัตถุในกระแสของเวลา เขาตั้งคำถามน่าคิดมากว่า เหตุไฉนเราจึงพยายามอนุรักษ์ศิลปมรดกไว้ในพิพิธภัณฑ์แบบท้าทายกาลเวลา ทั้งๆ ที่สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลงไป หากเหตุผลคือเพราะความงาม ก็แล้วรูปทรงและพื้นผิว (texture) ของเครื่องบินที่ออกแบบอย่างดีไม่งดงามหรือไร ทำไมเราจึงไม่คิดจะอนุรักษ์ไว้แบบงานศิลปะ?
บอริส กรอยส์ พูดถึงข้อเขียนของ คาซิมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich) ศิลปิน Suprematism ผู้โด่งดัง มาเลวิชเห็นว่าหลังการปฏิวัติรัสเซีย ประชาชนผู้โกรธแค้นรุกเข้าไปทำลายงานศิลปะอันเป็นสัญลักษณ์ของระบอบเก่า แต่คณะผู้ปฏิวัติกลับออกมาห้ามประชาชนทำเช่นนั้น มาเลวิชเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการอนุรักษ์งานศิลปะเหล่านั้นไว้ เพราะคนมีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ศิลปะแบบใหม่ได้อยู่แล้ว
นี่ไม่ใช่การเชื่อมั่นในพลังสร้างสรรค์ที่จะปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระหรอกหรือ งานศิลปะและวรรณกรรมควรทำหน้าที่อย่างไรกันแน่ คำถามนี้ชวนให้นึกถึงการเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและอินโดนีเซีย ในโรงแรมจะมีภาพชนบทติดประดับ แต่ภาพชนบทในโรงแรมของทั้งสองประเทศ แตกต่างอย่างมากกับภาพชนบทไทย นั่นคือ การปรากฏของชาวนาผู้หญิงที่กำลังทำงาน พลวัตของการใช้แรง เพื่อผลักดันชีวิตก้าวไปข้างหน้า ถ้าเรามองภาพชนบทไทยในภาพวาดประดับโรงแรม เราจะเห็นภาพทิวทัศน์ท้องทุ่งที่สงบนิ่ง ไม่มีปัญหา ไม่มีความขัดแย้งใดๆ ใช่แต่ภาพวาดประดับห้องในโรงแรมเท่านั้น แม้แต่งานจิตรกรรมระดับชาติจำนวนไม่น้อยก็นำเสนอภาพไม่ได้ต่างไปจากนี้แต่อย่างใด
ภาพชนบทอันงดงามในงานจิตรกรรมของไทย ไร้ความขัดแย้งหรือซ่อนความขัดแย้งเอาไว้ เป็นสภาพที่ดำรงอยู่ได้ด้วยลำพังตนเอง ไม่ขึ้นกับสิ่งใด เข้ากันได้ดีอย่างยิ่งกับข้อเรียกร้องให้เป็นอยู่อย่างพอเพียง เป็นความแท้จริง (authentic) ที่ตรงข้ามกับการเห่อเหิมตามโลกทุนนิยม ด้วยการกลับไปหาวิถีการผลิตที่พึ่งพิงฤดูกาล ในแง่นี้ชนบทก็คือบ้านหรือจุดกำเนิดที่ไร้กาลเวลา เพราะมันไม่มีอยู่จริงตั้งแต่ต้น เป็นประสบการณ์สุนทรียะแห่งการโหยหาอดีต การคิดถึงบ้าน ใช่แต่เพียงภาพวาดเท่านั้น งานประเภทกวีนิพนธ์จำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกวีซีไรต์นั้น ยังติดอยู่กับอุปลักษณ์เรื่องบ้านในชนบทที่สะอาดงดงาม กวีบางคนอย่าง ไพวรินทร์ ขาวงาม ในรวมบทกวี ม้าก้านกล้วย ที่ไปสุดทางของการโหยหาบ้าน ด้วยการประกาศว่า ‘กะลา’ ใบเล็กที่ใช้ชีวิตแบบพอเพียงในชนบทนั้นน่าอภิรมย์ปานใด เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เขียนบท อันนาธิปไตย แสดงความรู้สึกไปในทำนองเดียวกันว่า วิถีการเกษตรอันสงบงดงามย่อมอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง อันนา อันหมายถึงทุ่งนาจึงเป็นสถานที่แห่งความแท้จริง หาใช่การเมืองไม่ สุดท้ายแล้วการอยู่กับตัวเองโดยไม่สนใจโลกภายนอกอาจจะนำไปสู่การหลงตัวเองก็เป็นไปได้
ใช่แต่กวีรุ่นหลังเท่านั้นที่ให้ภาพชนบทอันงดงามและการหวนหาอดีตที่ล่วงผ่านไปแล้ว กวีรัตนโกสินทร์อย่าง เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เอง ก็นำเสนอภาพเช่นนี้ ดังจะเห็นได้จากบทที่ชื่อ ตากับยาย ในหนังสือ เพียงความเคลื่อนไหว ที่ส่งให้เขาได้รับรางวัลซีไรต์ สาขากวีนิพนธ์ งานชิ้นนี้วาดภาพการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายตามวิถีเกษตรกรรม แต่เทคโนโลยีและทุนเข้ามาทำลายวิถีการผลิตดั้งเดิมที่พอเพียง จนทำให้ตากับยายประสบเคราะห์กรรม ด้วยวิธีการมองเช่นนี้ก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่จะเห็นภาพท่านกวีพร้อมคณะเดินชมชาวนาทำนา ไม่ต่างอะไรกับการเดินชมการละเล่น
คำถามก็คือ แล้วศิลปะและวรรณกรรมทำอะไรได้บ้าง นอกเหนือจากการยืนยันการมีอยู่ของสถาบันหลักของสังคมไทย ศิลปะและวรรณกรรมยังมีพลังอยู่อีกหรือในสังคมร่วมสมัย คำตอบก็คงเป็นไปในทางยืนยัน นั่นคือ ศิลปะกับวรรณกรรมจะต้องสัมพันธ์กับชีวิตที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากจะพูดด้วยภาษาของ ชีลส์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze) นักปรัชญาฝรั่งเศส ก็คงจะเป็นว่า ศิลปะจะต้องกระตุกกระตุ้นปัญหาใหม่ๆ ให้เราครุ่นคิดอย่างจริงจัง ศิลปะกับวรรณกรรมจึงมีพลังในการเปลี่ยนชีวิต วรรณกรรมมีพลังของเรื่องแต่ง ไม่ใช่ในฐานะการพรรณนาว่าโลกเป็นอย่างไร แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่าโลกเป็นอะไรได้บ้าง โลกเสมือน หรือโลกที่เป็นไปได้ที่เราจะใช้ชีวิต ศิลปะมีพลังในการสร้างสรรค์ผัสสะและความรู้สึก หาใช่การใช้ชีวิตอย่างเฉื่อยชา โดยยอมรับความคิดที่มีอยู่แล้วแบบเซื่องๆ
แต่ก่อนอื่นเราต้องยอมรับว่า มนุษย์ไม่ได้มีสถานะพิเศษเหนือสิ่งอื่นๆ ในโลก ในการคิดประเด็นทางจริยศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการคิดถึงวิธีที่เราจะดำรงอยู่ในโลกท่ามกลางสิ่งอื่นๆ สำหรับเดอเลิซแล้ว จุดตั้งต้นไม่ใช่มนุษย์ (Man) ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งถูกประดิษฐ์สร้างขึ้นมา หากแต่เป็นเครื่องจักรหรือ machine ในความหมายตามตัวอักษร มนุษย์ในฐานะเครื่องจักรผูกโยงกับเครื่องจักรอื่นๆ แล้วกลายเป็นบางสิ่ง เช่น หากล้อจักรยานบวกกับคนในลู่แข่ง มันก็กลายเป็นอุปกรณ์การกีฬา คนก็กลายเป็นนักปั่นจักรยาน หากคนนำล้อจักรยานไปวางในแกลเลอรีก็กลายเป็นงานศิลปะ คนก็กลายเป็นศิลปิน ภาวะการกลายเป็น (becoming) ที่ว่านี้ ไม่มีเป้าหมาย แต่เป็นพลังชีวิตที่กลายเป็นสิ่งต่างๆ ได้ไม่สิ้นสุด
พันธกิจของการสลายพรมแดนและคัดง้างสถาบันหลักในสังคมย่อมผูกมาพร้อมกับความเสี่ยง ดังที่ อแลง บาดิยู (Alain Badiou) นักปรัชญาฝรั่งเศสร่วมสมัยพูดไว้อย่างน่าคิดว่า หน้าที่ของการคิดปรัชญาคือการทำให้เยาวชนเสียคน เฉกเช่นที่โสเครติสได้ทำในสมัยกรีก นั่นคือการท้าทายความคิดแบบเดิมๆ อันจะเปิดทางไปสู่การใช้ชีวิตที่แท้จริง ศิลปะกับวรรณกรรมก็คงต้องเผชิญความเสี่ยงไม่ต่างกัน เพราะเรากำลังเผชิญกับความไม่แน่นอน และสิ่งที่เราไม่อาจรู้ทั้งหมด
หากมองมายังวรรณกรรมไทย งานที่เป็นตัวอย่างของการตั้งคำถามหรือสร้างปัญหาใหม่คือนวนิยายเรื่อง หลงลบลืมสูญ ของ วิภาส ศรีทอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ในโลกดิจิตอล ตัวตน และปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง การพยายามหาตัวตนที่แท้จริงด้วยการเดินป่า ตัดขาดกับการเชื่อมโยงในโลกโซเชียลมีเดีย จนกระทั่งการทดลองหลงลืมตัวเองด้วยการมึนเมา แม้แต่การฆาตกรรมคนเสื้อแดงที่เห็นอยู่ต่อหน้าก็ไม่อาจจะทำหน้าที่เป็นประจักษ์พยานได้ อย่างไรก็ตาม ในตอนจบ ตัวละครหลักคือวิทย์ นักเรียนผู้ล้มเหลวในการเรียน ตั้งใจที่จะทำสิ่งที่เรียกว่า การชำระประวัติศาสตร์บาดแผลที่ย้อนไปถึงเหตุการณ์สังหารหมู่กลางกรุงเทพฯ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
สิ่งนี้นับเป็น ‘การอุบัติซ้ำของการค้นพบตัวเอง’ ราวกับนักเขียนไทยกำลังสนทนากับนักปรัชญา ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Wilhelm Nietzsche) ซึ่งตั้งคำถามว่า ในความเป็นนิรันดร์อันไม่สิ้นสุด แต่เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีจำกัดและสิ้นสุด ย่อมเป็นไปได้ที่จะมีการอุบัติซ้ำ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วเรายังรักชีวิตแบบที่เป็นอยู่หรือไม่ คำขวัญของนีทเชอคือ ‘จงรักในชะตาชีวิต’ (amor fati) ดูจะเป็นทางเลือกของตัวละครในเรื่องนี้ ยิ่งไปกว่านั้น เขายังตระหนักว่า ‘สิ่งที่ตรงข้ามของการหลงทางคือบ้าน’ แต่กระนั้น ‘เขายังไม่อยากกลับบ้าน’ นี่คือการใช้อุปลักษณ์ ‘บ้าน’ ในความหมายแบบใหม่ บ้านไม่ใช่สถานที่ที่เราโหยหาที่จะกลับไป ชีวิตคือความเป็นไปได้อันไม่สิ้นสุด
หากมองผลงานศิลปะบ้าง เราจะพบว่ามีศิลปินที่ทำงานหลากหลายรูปแบบ นำเสนอเนื้อหารวมทั้งตั้งประเด็นปัญหาใหม่ๆ ผลงานชุด BANLAI (บรรลัย) ของ สินา วิทยวิโรจน์ ศิลปินที่นำเอาสไตล์โปสเตอร์อนิเมะของค่าย BANDAI ที่โด่งดังไปทั่วโลก มานำเสนอในรูปของการล้อเลียนเหตุการณ์ทางการเมืองร่วมสมัยของไทย ไม่ว่าจะเป็นการหายไปของหมุดคณะราษฎร การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษา เมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา การทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาลที่มีภูมิหลังจากเผด็จการทหาร การล้อเลียนระบบตุลาการภิวัตน์ในสังคมไทย การพูดถึงประเด็นที่พูดถึงไม่ได้โดยใช้งานศิลปะ ล้วนนำเสนอออกมาได้อย่างแสบสันและมีชีวิตชีวา รวมทั้งศิลปินได้เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียอย่างทันเหตุการณ์
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีงานศิลปะจำนวนมากที่ท้าทายทั้งรูปแบบและเนื้อหา หากย้อนกลับไปพิจารณาข้อเสนอของบอริส กรอยส์ ที่อ้างอิงแนวคิดของมาเลวิชแล้ว เราก็คงไม่จำเป็นต้องรู้สึกอาลัยอาวรณ์หรือโหยหาศิลปะหรือวรรณกรรมที่คอยแต่จะรับใช้กลุ่มคนที่มีอำนาจหรือโครงสร้างอำนาจที่กดทับคนที่ตกเป็นเบี้ยล่างอีกต่อไป เพราะมนุษย์ย่อมสร้างสรรค์ใหม่ได้เสมอ แม้ว่าการทำในสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาก่อนมักจะมาพร้อมกับความเสี่ยง เฉกเช่นเดียวกับการพูดความจริง ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงเสมอ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่จะช่วยยืนยันการมีอยู่ของเรา ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรเสียดายภาษาอันไพเราะเพราะพริ้งของกวีรัตนโกสินทร์ไม่ว่าคนไหน หรือขุนพลเพลงเพื่อชีวิตคนใด เพราะชีวิตคือความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด ศิลปะและวรรณกรรมในยุค ‘ผนงรจตกม’ ย่อมไม่อาจหยุดอยู่ที่การเป็นเงาของอดีต