บางคนถูกแทง บางคนถูกยิง บ้างก็รอดหวุดหวิดเพราะหลายสาเหตุ ผู้นำทางการเมืองไม่ว่าจะขณะดำรงตำแหน่งอยู่หรือออกไปมีอิทธิพลนอกเหนือตำแหน่ง ต่างตกเป็นเป้าหมายของการลอบสังหารมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และมักส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อสังคมโดยรวมเสมอ
ย้อนกลับไปเมื่อหลายพันปีก่อน การลอบสังหารผู้นำเผด็จการโรมัน จูเลียส ซีซาร์ ก็นำมาสู่การตั้งจักรวรรดิก้องโลก ขณะที่กระสุนเพียงนัดเดียวที่ฝังเข้าไปในร่างของมกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ก็ผลักให้โลกเข้าสู่สงครามต่อเนื่องจนแผนที่ของแต่ละอาณาจักรเปลี่ยนแปลงไปแบบไม่มีวันหวนคืน
การเมืองสมัยปัจจุบัน แม้วิธีการและความรุนแรงในลักษณะดังกล่าวจะไม่ถูกนำมาใช้มากเท่าสมัยก่อน แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าการลอบสังหารหรือการพยายามฆ่าผู้นำในยุคนี้ยิ่งสร้างความตื่นตระหนกต่อสังคมอารยะเป็นอย่างมาก และเป็นการสั่นคลอนระบอบการปกครอง กฎหมาย วัฒนธรรม และจารีตประเพณีอย่างลึกซึ้ง
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2565 อาจเป็นสัญญาณหนึ่งที่ทำให้ต้องหันกลับมาทบทวนเหตุการณ์ลอบสังหารครั้งสำคัญในโลกการเมืองสมัยใหม่ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมาอีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรืออาจจะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้
Benazir Bhutto: นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของปากีสถาน ความหวังที่ถูกดับด้วยระเบิดฆ่าตัวตาย
เบนาซี บุตโต (Benazir Bhutto) เกิด ค.ศ. 1953 เสียชีวิตในปี 2007 บุตโตเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยชาวปากีสถาน เริ่มต้นชีวิตทางการเมืองตั้งแต่ลืมตาดูโลกในฐานะบุตรสาวของผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปากีสถาน (Pakistan Peoples Party: PPP) ผู้ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีนาม ซัลฟิการ์ อาลี บุตโต (Zulfikar Ali Bhutto) อีกด้วย
หลังจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สาขาการเมืองการปกครองเปรียบเทียบ (Comparative Government) บุตโตได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สาขากฎหมายระหว่างประเทศและการทูต ช่วงปี 1973-1977 ซึ่งกล่าวได้ว่าเส้นทางทางการเมืองของเธอถูกปูมาเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การกลับประเทศของเธอในปี 1977 กลับกลายเป็นโศกนาฏกรรม เมื่อนายพลโมฮัมหมัด เซีย อุลฮัก (Mohammad Zia ul-Haq) กระทำการรัฐประหารพ่อของเธอและขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปีต่อมา ส่งผลให้พี่ชายคนโตของเธอถูกตัดสินโทษประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ส่วนพี่ชายอีกคนกลายเป็นศพในห้องพักของเขา ซึ่งคนในครอบครัวเชื่อว่าเป็นการฆาตกรรม ขณะที่เธอเองจำเป็นต้องขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำของพรรค PPP แทนพ่อ แต่ท้ายที่สุดเธอกลับต้องลี้ภัยทางการเมืองห่างออกไปครึ่งโลก โดยไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ
จนกระทั่งหลังการตายของประธานาธิบดีเผด็จการเซีย อุลฮัก เธอก็ได้กลับคืนสู่ปากีสถาน และชนะการเลือกตั้งในปี 1988 โดยถือเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์ประเทศมุสลิมทั้งหมดอีกด้วย แม้จะดูเป็นแสงแห่งความหวัง แต่ก็ยังคงมีเงาทะมึนพาดผ่าน เพราะหลังจากเธอลงจากอำนาจในปี 1996 และต้องลี้ภัยอีกครั้งไปยังประเทศอังกฤษและประเทศดูไบ เธอก็ถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชันในปี 1999 และทำให้เธอกลับประเทศไม่ได้เป็นพักใหญ่
18 ตุลาคม 2007 เธอกลับเข้าประเทศได้อีกครั้งหลังจากประธานาธิบดีมูชาร์ราฟ (Musharraf) นิรโทษกรรมเธอด้วยความหวังที่จะแบ่งปันอำนาจการปกครอง แต่เธอก็ถูกคนร้ายพยายามลอบสังหาร เหตุการณ์ครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปถึง 136 คน ซึ่งนับเป็นปาฏิหาริย์เป็นอย่างมากที่เธอรอดชีวิตจากการลอบสังหารครั้งนั้นมาได้ อย่างไรก็ตาม โชคไม่เข้าข้างเธอในความพยายามลอบสังหารครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2007 ส่งผลให้เธอเสียชีวิตจากแรงกระแทกของระเบิดฆ่าตัวตายที่เมืองราวัลปินดี (Rawalpindi) สร้างความเศร้าโศกแก่บรรดาผู้ติดตามของเธอหลายหมื่นคนซึ่งส่วนมากเป็นสตรีชาวปากีสถาน แสงแห่งความหวังดับหายไปในพริบตา การลอบสังหารครั้งนี้ถูกกล่าวโทษไปที่กลุ่มอัลกออิดะห์ ซึ่งกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าวได้ปฏิเสธในกาลต่อมา
ในปี 2011 ประเทศปากีสถานถูกจัดอันดับจาก Thomson Reuters Foundation Poll ว่าเป็นประเทศที่อันตรายสำหรับผู้หญิงเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมีอัตราการฆาตกรรมเพศหญิงด้วยเหตุผลเรื่องเกียรติยศมากกว่า 1,000 รายต่อปี รวมถึงร้อยละ 90 ของผู้หญิงทั้งหมด ยังประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวอีกด้วย
Qasem Soleimani: ความตายจากฟากฟ้าและมหาอำนาจมือเปื้อนเลือด
ประเทศอิหร่านประสบปัญหาความขัดแย้งกับมหาอำนาจยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนาน ส่งผลตามมาด้วยนโยบายแข็งกร้าวที่ขับเคี่ยวกันไปมาตลอดหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้พรากชีวิตบุคคลสำคัญอย่างนายพลคาเซ็ม โซเลมานี (Qasem Soleimani) ที่เป็นมากกว่าแค่นายทหาร แต่เป็นบุคคลสำคัญของการปฏิวัติอิหร่านในอดีตอีกด้วย
จากจุดเริ่มต้นของอาชีพทหารในสงครามอิหร่าน-อิรัก ช่วงปี 1980 และเริ่มมีบทบาทเหนือปฏิบัติการทางการทหารในภูมิภาค ด้วยฉายา ‘ผู้บังคับบัญชาเงา’ ที่บังคับบัญชากองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (the Quds Force) และเริ่มเข้าไปมีบทบาทสำคัญเหนือพื้นที่ของประเทศอิรักและซีเรียในช่วงที่ความขัดแย้งกำลังคุกรุ่น ทำให้ในสายตาของประชาชนหรือนักรบอิหร่านจะเห็นภาพของโซเลมานีเป็น ‘รัฐบุรุษ’ หรือยอดนักรบที่สร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ แต่ในสายตาคู่ขัดแย้งอย่างสหรัฐฯ เขาเป็นเพียงผู้บัญชาการขององค์กรก่อการร้ายที่คร่าชีวิตคนอเมริกันหลายร้อยชีวิต และทำให้แนวร่วมของสหรัฐฯ บาดเจ็บอีกหลายพันนาย ตัวเลขดังกล่าวนี้คือปัจจัยที่ให้อภัยไม่ได้สำหรับประเทศพญาอินทรี
สหรัฐฯ เชื่อว่าในระหว่างสงครามอิรัก โซเลมานีให้ความสนับสนุนด้านยุทโธปกรณ์แก่ผู้ก่อความไม่สงบฝ่ายอิรัก และในช่วงสงครามต่อต้านกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและซีเรีย (Islamic state of Iraq and Syria: ISIS) เขาก็ได้มีส่วนในการช่วยเหลือนักรบอิรักนิกายชีอะห์ในการต่อสู้กับกลุ่มสุดโต่งทางศาสนา รวมไปถึงข้อกล่าวอ้างว่าเขามีส่วนในปฏิบัติการลอบสังหารอีกหลายครั้งรอบโลก ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญของประเทศอิหร่านที่เป็นปราการหลักในการต่อต้านชาติตะวันตกในภูมิภาค
ความตายมาถึงเขาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2020 เมื่อกองทัพสหรัฐฯ ในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจปฏิบัติการลอบสังหารโซเลมานีด้วยโดรนสังหาร ณ สนามบินกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก โดยอ้างว่าเป็นการสังหารเพื่อ ‘ป้องกันสงคราม’ มากกว่าเป็นการสังหารเพื่อเริ่มสงครามเสียเอง เนื่องจากเชื่อว่าโซเลมานีมีแผนการร้ายที่จะเป็นอันตรายต่ออเมริกันชนในอนาคตอันใกล้ ซึ่งยิ่งตอกย้ำความบาดหมางรุนแรงระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านนับตั้งแต่ข้อตกลงนิวเคลียร์และการแทรกแซงทางเศรษฐกิจในปี 2018
ผ่านมาแล้วถึง 2 ปี ปัจจุบันทางการอิหร่านก็ยังคงยืนยันว่าจะไม่ล้มเลิกความพยายามในการแก้แค้นสหรัฐฯ ให้แก่โซเลมานี แม้ว่าปัจจุบันข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านที่เริ่มเมื่อปี 2015 จะกลายเป็นสนามของการยื้อแย่งอำนาจกันระหว่างมหาอำนาจอย่างรัสเซียและสหรัฐฯ แต่ก็ยังมีความต้องการจากฝั่งอิหร่านที่ขับเคลื่อนด้วยแรงแค้นจากการลอบสังหารโซเลมานีอยู่บนโต๊ะเจรจาเสมอ และดูท่าว่าความเดือดดาลจากความตายของเขาในปี 2020 จะยังคงต่อเนื่องต่อไปอีกหลายปีในอนาคต
Yitzhak Rabin: การลอบสังหารรัฐบุรุษแห่งอิสราเอล ปิดทางสันติภาพ
บ่อยครั้งที่การได้มาซึ่งเสรีภาพต้องจ่ายด้วยราคาที่แพงเกินกว่าจะคาดคิด สำหรับในกรณีประเทศเกิดใหม่บนสายธารความขัดแย้งระหว่างชนชาติอย่างอิสราเอล ความพยายามในการสร้างสันติภาพในภูมิภาคนำมาซึ่งการลอบสังหารรัฐบุรุษคนสำคัญของชาติ อย่างอดีตนายกรัฐมนตรี ยิตส์ฮัก ราบิน (Yitzhak Rabin)
ราบินเป็นหนึ่งในชาวยิวที่เกิดในกรุงเยรูซาเล็มจากครอบครัวผู้อพยพจากภูมิภาคยุโรปตะวันออก ซึ่งต่อมาก็รับราชการในกองทัพเฉกเช่นเดียวกับหนุ่มสาวชาวอิสราเอลทั่วไป แต่ข้อแตกต่างสำคัญคือ ด้วยความสามารถที่โดดเด่นส่งผลให้เขาไปไกลถึงตำแหน่งสำคัญอย่างเจ้าหน้าที่ทางการทูตของอิสราเอลประจำสหรัฐฯ ในช่วงปี 1968-1973 ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติกำลังสุกงอม ก่อนจะได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 1974 และเริ่มพาอิสราเอลเข้าสู่เส้นทางของข้อตกลงสันติภาพผ่านสนธิสัญญาซีนายกับประเทศอียิปต์ในช่วงปี 1975
หลังจากนั้นไม่นานเขาก็ลาออกในปี 1977 แต่ก็ถูกเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งในปี 1992 เพื่อพยายามสร้างสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ จนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1994 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่เขาลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับประเทศจอร์แดน แต่สุดท้ายแล้วทั้งหมดนี้กลับกลายเป็นเหตุผลที่กลุ่มหัวรุนแรงใช้เป็นข้ออ้างในการหาวิธีกำจัดเขาออกไปจากสนามการเมือง
ปี 1995 ราบินถูกลอบสังหารโดย ยิลกัล อามีล (Yigal Amir) ที่ต่อต้านความพยายามสร้างสันติภาพกับปาเลสไตน์ เขาถูกยิงด้วยปืนพกกึ่งอัตโนมัติ 2 นัด ขณะกำลังกลับจากจัตุรัสในกรุงเทอาวิฟ กระสุนทั้งสองนัดนั้นส่งผลให้เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล และทำให้สังคมโลกสั่นสะเทือนกับการจากไปของบุคคลสำคัญที่อาจจะนำพาสันติภาพมาสู่ภูมิภาคนี้ได้สำเร็จเป็นคนแรก
ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างศาสนาและเชื้อชาติในภูมิภาคดังกล่าวจึงยังไม่จางหายไปไหน แต่ยังคงมีการสังหารกันด้วยอาวุธสงครามอยู่เป็นระยะ ท่ามกลางความสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชนทั้งสองชาติ
Indira Gandhi: เหรียญสองด้านของคานธี การลอบสังหารที่จุดชนวนสังหารหมู่คนต่างศาสนา
แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของอินเดีย แต่ อินทิรา คานธี (Indira Gandhi) ก็เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกและคนเดียวที่อินเดียเคยมี โดยเธอเป็นลูกสาวของนายกรัฐมนตรีคนแรกผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างชาติอินเดียสมัยใหม่อย่าง ชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) จึงทำให้การเดินตามรอยเท้าผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดียผู้เป็นพ่อกลายเป็นความคาดหวังของคนในสังคม
ในช่วงปี 1964 หลังการเสียชีวิตของผู้เป็นพ่อ เธอเข้าสู่แวดวงการเมืองด้วยการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในวุฒิสภา ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูลข่าวสารในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีลัล บาฮาดูร์ ศาสตรี (Lal Bahadur Shastri) ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในใบเบิกทางขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากศาสตรีเสียชีวิตลง
ในช่วงแรกของการดำรงตำแหน่ง เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงหุ่นเชิดของพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress) เท่านั้น แต่ภายหลังท่าทีของเธอก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า เธอไม่ต้องการถูกครอบงำจากพรรคอีกต่อไป และเริ่มสนับสนุนนโยบายสังคมนิยมมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันในสมัยที่เธอดำรงตำแหน่งนายกฯ ก็เป็นช่วงเวลาที่อินเดียต้องทำสงครามกับปากีสถานเพื่อหาข้อสรุปความขัดแย้งที่สั่งสมมานาน ซึ่งแม้ภายหลังอินเดียจะได้รับชัยชนะอันเป็นการเพิ่มคะแนนนิยมให้แก่ตัวเธอ แต่สงครามก็ทำลายเศรษฐกิจอินเดียเป็นอย่างมาก
ความวุ่นวายทางการเมืองปะทุขึ้นทันทีเมื่อมีข้อครหาว่า รัฐบาลของเธอมีการทุจริต นำมาซึ่งการประท้วงและการปราบปราม เหตุการณ์เหล่านั้นทำให้เธอสูญเสียอำนาจไปในปี 1977 และต้องถูกจับกุมจนเกิดความวุ่นวายทางการเมืองอีกระลอก แต่ครั้งนี้กลับจบลงด้วยการแตกคอกันเองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จนทำให้พรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียพลิกกลับมาชนะ และส่งคานธีกลับสู่อำนาจได้อีกครั้งในปี 1980
ปัญหาสำคัญที่จะผูกเงื่อนตายให้แก่ชีวิตของเธอ เกิดขึ้นในนามของปฏิบัติการ Blue Star ในปี 1984 ที่ต้องการขับไล่กลุ่มผู้นับถือศาสนาซิกข์ออกจากวิหารทองคำอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาของพวกเขา ปฏิบัติการนี้นำมาซึ่งการแก้แค้นคานธีโดยฝีมือองครักษ์ชาวซิกข์ทั้งสองคนของนางในวันที่ 31 ตุลาคม 1984 ด้วยปืนกลมือ
การลอบสังหารครั้งนี้ทำให้เกิดกลุ่มมวลชนลุกฮือขึ้นขับไล่เข่นฆ่าชาวซิกข์ทั่วกรุงนิวเดลีมากกว่า 3,000 ราย และหากนับทั่วทั้งประเทศแล้วอาจจะมากกว่า 8,000 ราย ที่ติดร่างแหจากการสาดกระสุนเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ดังกล่าว
ปัจจุบันนี้เธออาจจะมีทั้งคนรักและคนเกลียด แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า เธอมีบทบาทอย่างมากในการผลักดันให้อินเดียก้าวขึ้นมาสู่หนึ่งในชาติผู้นำอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงการทำให้อินเดียครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จไม่ต่างจากชาติมหาอำนาจอื่นๆ บนโลก
ความตายของผู้นำ เรื่องเล่าขานที่ไม่รู้จบ
การลอบสังหารบุคคลสำคัญทางการเมือง นับเป็นวิธีการที่ป่าเถื่อนและสร้างความสะพรึงให้แก่สังคมเป็นวงกว้าง แต่หากดูจากกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นรอบโลกจะพบว่า แม้ผู้ตกเป็นเป้าสังหารจะถึงแก่ความตาย แต่ชื่อของพวกเขาก็มักถูกจดจำต่อไปยังชนรุ่นหลัง ซึ่งแม้ระยะเวลาที่ผ่านไปหลายทศวรรษ จะเกิดการเปลี่ยนผ่านระหว่างอำนาจของคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง แต่ความขัดแย้งไม่ว่าจะภายในประเทศหรืออริราชศัตรูก็อาจยังคงหลงเหลือติดตรึงอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ และถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นด้วยน้ำหมึกสีเลือดของผู้วายชนม์
การแก้ไขผลลัพธ์ที่ตามมาจากวิธีการสกปรกนับเป็นความยากลำบาก ทุกวันนี้ปากีสถานยังคงเป็นสถานที่อันตรายสำหรับผู้หญิง อิหร่านยังคงติดอยู่ท่ามกลางบ่วงสงครามระหว่างมหาอำนาจและความแค้น อิสราเอลยังไม่สามารถสร้างสันติภาพร่วมกับปาเลสไตน์ได้ ขณะเดียวกัน อินเดียก็ต้องจดจำเหตุการณ์สังหารหมู่ชาวซิกข์ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการตายของนางคานธี
ทั้งหมดนี้คือบทเรียนที่ทำให้เราได้เห็นแล้วว่า แทบทุกครั้งของการแก้ไขปัญหาด้วยเลือดและความรุนแรง การเอาชีวิตแลกด้วยชีวิต หรือการวางแผนสกปรกจากที่มืด ล้วนไม่สามารถสถาปนาความถูกต้องขึ้นมาแทนที่ได้ วิธีการที่บิดเบี้ยวเช่นนี้ย่อมไม่นำพาให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีงามเสมือนการหว่านผลของต้นไม้ ท่านปลูกสิ่งใดย่อมต้องได้สิ่งนั้น
8 กรกฎาคม 2022 อดีตนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เสียชีวิตจากการลอบสังหารด้วยอาวุธปืน
ที่มา
- https://www.history.com/topics/womens-history/benazir-bhutto
- https://www.theatlantic.com/international/archive/2012/04/to-be-a-woman-in-pakistan-six-stories-of-abuse-shame-and-survival/255585/
- https://www.cnn.com/2020/01/02/middleeast/baghdad-airport-rockets/index.html
- https://www.reuters.com/world/middle-east/iran-has-rejected-us-offers-lift-sanctions-exchange-tehran-abandoning-soleimani-2022-04-21/
- https://www.theguardian.com/world/2020/oct/31/assassination-yitzhak-rabin-never-knew-his-people-shot-him-in-back
- https://www.komchadluek.net/today-in-history/350302