หากพูดถึงประเทศยอดฮิตที่เป็นจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ไม่ว่าฤดูไหนก็ตาม คำตอบในใจหลายคนคงหนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น อาหารอร่อย อากาศดี ผู้คนมีมารยาท คือคอนเซ็ปท์ที่ทำให้ใครต่อใครตกหลุมรักประเทศนี้
แต่ถามอย่างยอกย้อน แล้วประเทศนี้รักนักท่องเที่ยวหรือเปล่า?
หากถามชาวญี่ปุ่น หลายคนอาจทำหน้ากลืนไม่เข้า คายไม่ออก และหลายคนอาจตอบด้วยประโยคคล้ายๆ กับที่ The Japan Times ยกขึ้นมาว่า “นักท่องเที่ยวสมัยนี้ เหมือนลืมมารยาทไว้ที่บ้าน”
ฟังดูแรง แต่นั่นคือความจริง
จากสถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางมาญี่ปุ่นเมื่อปีที่ผ่านมา ตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ 24 ล้านคน แถมญี่ปุ่นเองก็ยังคาดการณ์ว่า จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงถึง 40 ล้านคน ในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกปี 2020 แม้พวกเขาจะเข้ามาสร้างรายได้ก็จริง แต่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่แถบสถานที่ท่องเที่ยวกลับรู้สึกว่า พวกเขาต้องสู้รบกับเหล่านักท่องเที่ยวไร้มารยาทที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย
เกาะแมวแห่งหนึ่ง (จากทั้งหมด 13 เกาะ) ชาวบ้านที่อาศัยบนเกาะกลายเป็นผู้จัดหาและดูแลอำนวยความสะดวกแก่เหล่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาเพียงถ่ายรูปเจ้าเหมียว ไปนู่นมานี่แบบไม่ดูตาม้าตาเรือ ทิ้งขยะ แวะเข้าห้องน้ำแล้วก็กลับ แน่นอนว่านอกจากจะไม่ช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแล้ว Bad Tourist หลายคนยังเข้ามาสร้างมลภาวะให้ชาวบ้านต้องกุมขมับ
อาจยังไม่ถึงขั้นเป็นกระแส anti-tourists แบบฝั่งยุโรปที่ตะโกนใส่หน้านักท่องเที่ยวว่า “Tourist go home!” เหนียมอายกว่านั้น และมีชั้นเชิงละเอียดยิบแบบ Japanese Style ที่นี่เขาออกมาตรการและนโยบายแจก booklet เล่มจิ๋ว ให้นักท่องเที่ยวทั้งหลายเรียนรู้วัฒนธรรมและมารยาทแบบชาวญี่ปุ่น
รัฐบาลได้ส่งเสริมให้ทุกจังหวัดตีพิมพ์หนังสือท่องเที่ยวสอดไส้การเรียนรู้วัฒนธรรมและมารยาทที่ดีงามของชาวญี่ปุ่น ให้นักท่องเที่ยวแบบชาวเราซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว ตั้งแต่วิธีการเข้าห้องน้ำให้ถูกสุขอนามัยแบบญี่ปุ่น เปิด-ปิดฝาชักโครก การทิ้งกระดาษชำระ ไปจนถึงวิธีการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
หลายคนอาจเคยเห็นโปสเตอร์รณรงค์ตามพื้นที่สถานีรถไฟหรือบนรถไฟฟ้าเอง เช่น ห้ามแซงแถว ไม่นั่งเบียดเกินที่นั่งที่จัดให้ ห้ามพูดคุยเสียงดัง และ…ห้ามใช้ไม้เซลฟี่
กล่าวอย่างสัตย์จริงแล้ว ข้อความรณรงค์เหล่านั้น ส่วนใหญ่ภาครัฐไม่ได้ต้องการจะบอกกับคนญี่ปุ่นด้วยกันเอง แต่ต้องการสื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งหลายเห็นและปฏิบัติตามชาวญีปุ่นต่างหาก
ส่วนในท้องถิ่นเองก็มีแนวทางในการจัดการกับเหล่านักท่องเที่ยวตัวร้ายด้วยตนเองที่ได้ผลจริง และเป็นการคัดกรองนักท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่งคือ การขึ้นราคาค่าเยี่ยมชมให้สูงขึ้น เช่น เกาะของคนรักศิลปะอย่างเกาะศิลปะเบเนซเซ (Benesse art islands) ในจังหวัดคากาวะ ที่ขึ้นค่าธรรมเนียมเข้าชมพิพิธภัณฑ์มาหลายต่อหลายปีแล้ว
ไม่รู้ว่าวิธีสอนสั่งและคัดกรองนักท่องเที่ยวแบบฉบับชาวญี่ปุ่นขี้อายจะทำให้นักท่องเที่ยวรับรู้หรือเปล่า แต่สำนวนที่ว่า เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม ก็คงจะดูเหมาะเจาะที่สุด – ถ้านักท่องเที่ยวเข้าใจ รู้จักปรับตัว และไม่ลืมมารยาทไว้ที่บ้าน