‘คณะกรรมการวัตถุอันตราย’ ส่อเลื่อนแบนสารเคมีเกษตรอีก 6 เดือน อ้างพิษ COVID-19

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ได้ติดตามมาตรการควบคุมการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต พบว่า เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2563 ได้ปรากฏข่าวที่อ้างถึงหนังสือเลขที่ สค.065/2563 จาก นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อขอขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศในการกำหนดให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 จากวันที่ 1 มิถุนายน 2563 เป็น 31 ธันวาคม 2563 หรือจนกว่าการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส (COVID-19) จะสิ้นสุดลง และมีผู้ประกอบการธุรกิจเคมีเกษตรติดตามการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน ใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย และการต่ออายุวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เตรียมหารือเพื่อเลื่อนการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง โดย นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ เป็นตัวแทนเข้ายื่นหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อคัดค้านการเลื่อนการแบนสารเคมีด้านการเกษตรทั้งสองชนิด

รายละเอียดหนังสือถึงประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย ให้ความเห็นว่า

1) ข้ออ้างของ นายกลินท์ สารสิน ที่ให้ขยายเวลาการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสออกไปเป็นปลายปี 2563 โดยกังวลเรื่องการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชทั้ง 2 ชนิด ในผลผลิตที่นำเข้าแล้วจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศนั้นฟังไม่ขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกแบนพาราควอตมากว่าทศวรรษ สหภาพยุโรปประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 หรือเวียดนามซึ่งแบนพาราควอตเมื่อปี 2560 และแบนคลอร์ไพริฟอสเมื่อต้นปี 2562 เป็นต้น ไม่มีประเทศใดอ้างปัญหาการตกค้างจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและอุตสาหกรรมใดๆ เลย แม้กระทั่งจดหมายของสหรัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ส่งมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อคัดค้านการแบนไกลโฟเซต แต่ก็ไม่ได้คัดค้านการแบนและอ้างการตกค้างของพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสแต่ประการใด

2) ไม่เห็นด้วยกับการออกใบสำคัญการขึ้นทะเบียน ใบอนุญาตผลิตวัตถุอันตราย และการต่ออายุวัตถุอันตรายเพิ่มเติม เนื่องจากเหตุผลหนึ่งที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 1-1/2562 วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 พิจารณาเลื่อนระยะเวลาการแบนออกไปอีก 6 เดือน เป็น 1 มิถุนายน 2563 เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทเอกชนสามารถจำหน่ายสต็อคสารเคมีกำจัดศัตรูพืชคงค้าง โดยรัฐบาลไม่ต้องเสียค่าทำลาย การนำเข้ามาเพิ่มเติมเป็นการกระทำที่ขัดกับมติและเจตนาของการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงของคณะกรรมการฯ เอง และจะถูกครหาว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทเอกชน โดยปราศจากเหตุผลที่ชอบธรรมรองรับ

3) เครือข่ายฯ ยืนยันข้อเรียกร้องให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย กระทรวงอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการออกประกาศกระทรวงว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายและออกมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในการประชุมครั้งที่ 41-9/2562 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นมติโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยให้ปรับวัตถุอันตรายพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ตามหนังสือเลขที่ มชว.-คตส. 013/2563 ลงวันที่ 15 เมษายน 2563

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ระบุด้วยว่า

“ในสถานการณ์ที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤติ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เครือข่ายฯ หวังว่าจะไม่เกิดการซ้ำเติมปัญหาสุขภาพทั้งของเกษตรกรและผู้บริโภค โดยยื้อการแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดออกไป

“ภายใต้วิกฤตินี้ ประเทศต้องทบทวนการผลิตพืชอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวที่ใช้สารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรกรรมผสมผสานที่ลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิต และให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับรายงานและข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ให้แบนสารเคมีร้ายแรงทั้ง 3 ชนิด และส่งเสริมเกษตรกรรมอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืนให้มีพื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เกษตรกรรมในปี 2573”

ขณะที่เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ รายงานว่า นายกลินท์ สารสิน ชี้แจงเหตุผลในการทำหนังสือถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายที่จะประชุมในวันที่ 30 เมษายน นี้ พิจารณาผ่อนปรนขยายระยะเวลาบังคับใช้ประกาศแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด ออกไปก่อนชั่วคราว เพื่อหาทางออกสำหรับอุตสาหกรรมผู้ผลิตอาหาร โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปที่ยังจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ

“หากไทยแบนสารเคมีไปเลยอาจจะส่งผลให้อุตสาหกรรมขาดวัตถุดิบในการผลิต ดังนั้น ควรหาทางออกร่วมกัน เช่นว่า เป็นไปได้หรือไม่หากจะพิจารณาให้มีการจำกัดการใช้สารเคมี โดยยึดมาตรฐานสากล Codex ซึ่งได้กำหนดปริมาณขั้นต่ำ (minimum) ของสารเคมีในวัตถุดิบได้ ไม่ใช่เลิกเป็น 0 ไปเลย” นายกลินท์กล่าว

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้งสามชนิดภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 และยกระดับเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ที่เข้าปฏิบัติหน้าที่ครั้งแรก โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน มีมติให้เลื่อนการแบน ‘พาราควอต’ และ ‘คลอร์ไพริฟอส’ ออกไปอีก 6 เดือน เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ส่วน ‘ไกลโฟเซต’ ให้จำกัดการใช้และให้จัดอบรมการใช้อย่างเหมาะสม

ล่าสุดคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน 2563 ซึ่งคาดว่าจะมีการเลื่อนการแบนสารเคมีออกไปอีก 6 เดือน หรือปลายปี 2563

 

สนับสนุนโดย

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า