15 กุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรี ได้อนุมัติเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงของไทยในภาษาอังกฤษ จากเดิมที่ใช้ชื่อว่า ‘Bangkok’ เปลี่ยนเป็น ‘Krung Thep Maha Nakhon’ ส่วนชื่อ ‘Bangkok’ ให้ใส่ไว้ในวงเล็บด้านหลังแทนว่า (Bangkok) จนทำให้ ‘Bangkok’ และ ‘Krung Thep Maha Nakhon’ กลายเป็นกระแสและมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง
ต่อมาเวลา 00.54 น. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ค ระบุว่า ‘กรุงเทพมหานคร’ ใช้ได้ทั้ง ‘Krung Thep Maha Nakhon’ และ ‘Bangkok’
ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ชื่อภาษาอังกฤษ ‘Bangkok’ (แบงค็อก) มีที่มาจากคำว่า ‘บางกอก’ ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้เรียกกรุงเทพฯ มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และพบชื่อ ‘บางกอก’ เขียนสะกดแตกต่างกันไปอย่าง Bancoc, Bancok, Banckok, Bankoc, Banckock, Bangok, Bancock, และ Bangkok ในแผนที่และเอกสารของชาวตะวันตก
ทำไมเรียกเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ว่าบางกอก?
คำว่า ‘บางกอก’ ยังเป็นคำปริศนาที่ยังหาข้อสรุปกันไม่ได้ สันนิษฐานกันไปหลากหลาย บ้างก็ว่าเมื่อก่อนนี้พื้นที่กรุงเทพฯ มีต้นมะกอกเป็นจำนวนมาก จึงเรียกชื่อบ้านนามเมืองตามพืชพรรณนั้นว่า ‘บางมะกอก’ ต่อมาเรียกให้สั้นลงเป็น ‘บางกอก’ อีกกระแสหนึ่งเล่าว่ามีที่มาจาก ‘วัดมะกอก’ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของวัดอรุณราชวราราม ในขณะที่อีกคำอธิบายหนึ่งบอกว่า มาจากลักษณะของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ นั้น คดเคี้ยวไปมา บางแห่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะ จึงเรียกกันว่า ‘บางเกาะ’ แล้วเพี้ยนเป็นบางกอก …
เวลาที่ใครๆ ต่างพูดถึงบางกอก มักจะไพล่พูดถึงปัญหาของชื่อนามเมืองไว้ด้วย ‘บางกอก’ มาจากไหนกันแน่? และหากพิจารณาจากภาษาประเทศเพื่อนบ้านทางฝั่งตะวันตกของไทย คำว่า ‘บางกอก’ อาจไม่ได้หมายถึงชื่อเมืองหลวงของไทย หรือกรุงเทพมหานคร แต่มีความหมายอื่น
‘บางกอก’ ในภาษาพม่า
พจนานุกรมพม่า-อังกฤษ โดยคณะกรรมการภาษาพม่า กระทรวงศึกษาธิการพม่า ค.ศ. 1993 หน้า 327 ให้ความหมายของคำว่า ‘บางกอก’ (Bangkok) หรือ ‘ဘန်ကောက်’ (ဗန်ကောက်) ออกเสียงว่า ‘บั่นเก้าก์’ ไว้ว่า เป็นคำนาม หมายถึง “silk fabric with iridescent hues woven as in Bangkok” แปลว่า “ผ้าไหมสีเลื่อมพรายอย่างที่ทอกันในบางกอก”
ทำไมพจนานุกรมพม่าจึงให้ความหมายของคำว่าบางกอกไว้อย่างนั้น และมีที่มาอย่างไร
ย้อนกลับไปดูแฟชั่นพม่าราวทศวรรษ 1930-1960 ผู้ชายพม่าชนชั้นกลางถึงชนชั้นสูงนิยมนุ่งผ้าโสร่งชนิดหนึ่งสำหรับออกงานต่างๆ หรือสวมใส่เพื่อโชว์ให้โก้เก๋ตามกระแสนิยมจนกลายเป็นแฟชั่นของชายหนุ่มพม่าในยุคนั้น ผ้าโสร่งดังกล่าวเรียกกันว่า ‘ဘန်ကောက်ပုဆိုး’ ออกเสียงว่า ‘บั่นเก้าก์ปะโซ’ (ပုဆိုး (ปะโซ) แปลว่า โสร่ง) หรือ โสร่งบางกอก
เมื่อสอบถามชายพม่ารุ่นคุณปู่คุณตาที่ผ่านยุคแฟชั่นโสร่งบางกอกก็ได้คำตอบว่า ที่เรียกกันจนติดปากอย่างนั้นเพราะเข้าใจว่าเป็นผ้าที่มาจากบางกอก มิใช่ผ้าแบบที่ทอในพม่า และมีราคาสูง
แหล่งทอโสร่งบางกอกเป็นที่แรกในพม่าคือ แหล่งทอผ้าชุมชนทะเลสาบอินเล ในรัฐฉาน ว่ากันว่าเริ่มทอผ้าสไตล์นี้กันมากในช่วงปลายสมัยอาณานิคม ทศวรรษ 1940 คำถามคือ แล้วเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างไรกับคำว่าบางกอก ทำไมตั้งชื่อว่าโสร่งบางกอก จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่พม่าเล่าถึงประวัติโสร่งบางกอกไว้หลากหลายกระแส
กระแสแรก เล่าว่า มีช่างทอผ้าแห่งลุ่มทะเลสาบอินเลเดินทางมาบางกอกและได้เห็นแบบผ้าและวิธีการทอผ้าจากเมืองบางกอก เขาจำวิธีการทอ แล้วกลับมาทอที่อินเล จึงตั้งชื่อว่าโสร่งบางกอก อีกกระแสหนึ่งเล่าว่า พวกพ่อค้าไทใหญ่เดินทางเข้ามาค้าขายในบางกอกและนำเอาผ้าดังกล่าวกลับไปขายที่พม่า ต่อมาเกิดการทอเลียนแบบ หมายความว่าเป็นผ้าทอที่มาจากไทย แต่ว่ามันเป็นผ้าชนิดไหนกันแน่ ทราบเพียงว่าทอในเมืองบางกอก จึงเรียกว่าผ้าบางกอก
โสร่งบางกอกมีเนื้อผ้าเป็นเส้นฝอยฟู มองดูเหมือนขนอ่อนๆ เหลือบระยับ แลดูสวยงามแปลกตา เนื้อผ้ามีลักษณะละเอียด เย็นเป็นเงา มีสีเหลือบ ผ้าโสร่งบางกอกเป็นผ้าชนิดเดียวกันกับผ้าหางกระรอก โดยมีลักษณะเหมือนกับผ้าหางกระรอกที่ทอในโคราช
โคราชเป็นแหล่งทอผ้าหางกระรอกมาเป็นเวลานานกว่าร้อยปี ครั้งหนึ่งผ้าหางกระรอกเคยเป็นผ้าประจำจังหวัดนครราชสีมา ตามคำขวัญเดิมของจังหวัดที่ว่า “นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอก ดอกสายทอง แมวสีสวาท” ที่เรียกว่า ‘ผ้าหางกระรอก’ คงเป็นเพราะลวดลายของผ้าทอและลักษณะเนื้อผ้าที่มีความเหลือบสี เห็นเป็นลายเส้นเล็กๆ ในตัว ซึ่งมองดูแล้วคล้ายกับขนของหางกระรอก ลักษณะสำคัญของผ้าหางกระรอกคือ เป็นผ้าพื้นเรียบที่ใช้เทคนิคการทอพิเศษ ที่นำเส้นพุ่งพิเศษโดยใช้เส้นไหม หรือเส้นฝ้าย 2 เส้น 2 สี มาตีเกลียวควบเข้าด้วยกันให้เป็นเส้นเดียว ที่เรียกว่า ‘เส้นลูกลาย’ หรือ ‘ไหมลูกลาย’ หรือ ‘เส้นหางกระรอก’ ผ้าที่ได้จะมีลักษณะลวดลายเล็กๆ ในตัว มีสีเหลือบมันวาวระยับ ดูคล้ายเส้นขนของหางกระรอก
ในอดีตผ้าหางกระรอกเป็นผ้าที่ใช้สำหรับนุ่งโจงกระเบน โดยเฉพาะขุนนางและชนชั้นสูงจะใช้ผ้าไหมหางกระรอกนุ่งสวมราชปะแตน สำหรับไปงานราชการ งานพิธี ถ้าเป็นชนชั้นสามัญจะนุ่งผ้าพื้น แต่ต่อมาก็ใช้ผ้าหางกระรอกด้วย นอกจากนี้ยังใช้เป็นผ้าในพิธีกรรม เช่น ให้นาคนุ่งในงานอุปสมบท ใช้เป็นผ้าไหว้ผู้ใหญ่ในงานแต่งงาน และใช้เป็นผ้าปกโลงศพ
ผ้าหางกระรอกคงส่งมาขายหรือส่งมาเป็นของกำนัลในเมืองบางกอกในสมัยก่อน ครั้นเมื่อช่างทอและบรรดาพ่อค้าไทใหญ่มาพบในเมืองบางกอกจึงเรียกว่า โสร่งบางกอก คงทำนองเดียวกับที่ในภาษาระไข่หรืออาระกัน และภาษาจิตตะกอง เรียกพวกดอกไม้เมืองหนาวที่ปลูกบนที่ราบสูงรัฐฉาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า ว่า ‘ดอกแรงกูน’ หรือ ‘ดอกย่างกุ้ง’ เหตุเพราะเป็นดอกไม้ที่พ่อค้ามารับจากย่างกุ้ง แล้วเอาไปขายที่นั่นต่ออีกทอดหนึ่ง
โสร่งบางกอก นอกจากจะเป็นแฟชั่นผู้ชายพม่าแล้ว ยังพบว่ามีการทอเป็นผ้าซิ่นของผู้หญิงพม่าด้วย และเป็นที่นิยมของผู้หญิงพม่าในยุคเดียวกันไม่แพ้แฟชั่นผู้ชาย เฉดสีของผ้าบางกอกที่นิยมกันมากในพม่าเป็นโทนสีพาสเทล (pastel)
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันแฟชั่นผ้าบางกอกได้เลือนหายไปจากสังคมพม่า แม้จะยังมีการทอผ้าบางกอกอยู่บ้าง แต่ก็น้อยมาก และไม่เป็นที่นิยมสวมใส่เพราะราคาสูง
ในยุคทศวรรษ 1930-1960 เมื่อพูดถึงคำว่า ‘บางกอก’ ในวงการแฟชั่นพม่า พวกเขาจะนึกถึงผ้าดังกล่าว มากกว่าจะคิดว่าเป็นชื่อเมืองหลวงของไทย เหมือนที่ปรากฏในสื่อต่างประเทศอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีคำโฆษณาขายผ้าบางกอกที่นิยมโฆษณาในยุคคุณตาคุณยายยังหนุ่มยังสาวในพม่าว่า “บางกอก ไม่ต้องรีดก็ดูดี”
‘บางกอก’ ในภาษารามัญ
ในขณะที่พจนานุกรมพม่ายังเก็บความหมายของ ‘บางกอก’ ว่าเป็นคำนาม หมายถึง “ผ้าไหมสีเลื่อมพรายอย่างที่ทอกันในบางกอก” ในมุมมองของภาษารามัญหรือมอญ อธิบายคำว่า ‘บางกอก’ ไปอีกอย่างหนึ่ง
ในภาษามอญ คำว่า ‘บาง’ มาจากคำว่า ‘ကၜင်’ ออกเสียงว่า ‘กะบาง’ หรือมักเน้นออกเสียงแค่ ‘บาง’ ในพยางค์หลัง แปลว่า เรือสำเภา เรือใหญ่ เรือโดยสาร หรือเรือบรรทุกสินค้าก็ได้ และใช้ในความหมายที่หมายถึงชุมชนใดชุมชนหนึ่งที่มีแม่น้ำ ลำคลอง หรือทางน้ำพาดผ่าน หรือสิ้นสุดลง และเรือสามารถเข้าถึงได้ ส่วนคำว่า ‘กอก’ มาจากคำว่า ‘အကံက်’ ออกเสียงว่า ‘แอ๊ะก๊อก’ ‘อะก๊อก’ เป็นคำนาม แปลว่า ภาษี และ ‘ကံက်’ (ก๊อก) กริยา แปลว่า เก็บ (ภาษี) ภาษาพม่าก็รับคำกริยา ‘ကံက်’ มาจากภาษามอญ ออกเสียงว่า ‘เก้าก์’ (ကောက်) แปลว่า ‘เก็บ’ และใช้ในบริบทเก็บภาษีด้วยเช่นกัน
ถ้ายึดโยงความหมายตามภาษามอญ ก็จะมีความหมายถึง ‘เมืองด่านเก็บภาษีอากร’
จากมอญถึงฮอลันดา
บางกอกในมุมมองภาษามอญ ทำให้นึกถึงบางกอกในฐานะที่เป็นด่านเก็บภาษีอากรด่านแรกที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อย่างที่พ่อค้าชาวฮอลันดาได้เขียนบันทึกบรรยายถึงเมืองบางกอก เมื่อปี 1617-1618 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ในเอกสารชุด The Records of Relation Between Siam and Foreign Countries in 17th Century Vol.1 (บันทึกเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศในศตวรรษที่ 17) ความตอนที่กล่าวถึงบางกอกมีว่า
“กรุงศรีอยุธยาตั้งอยู่ประมาณ 15 องศา ทางเหนือ ต้องเข้าแม่น้ำไปภายในแผ่นดินประมาณ 20 ไมล์ฮอลันดา แม่น้ำนี้จัดอยู่ในประเภทแม่น้ำที่ดีที่สุดในย่านอินดีส ซึ่งสามารถให้เรือระวางหนักตั้งแต่ 150 ถึง 200 ลาสท์ กินน้ำลึกตั้งแต่ 12 ถึง 13 ฟุตขึ้นไปเข้าจอดได้โดยสะดวก จากปากน้ำเข้าไป 5 ไมล์ เป็นที่ตั้งของเมือง ล้อมรอบด้วยกำแพงมีชื่อว่า บางกอก ณ ที่นี้เป็นที่ตั้งของด่านภาษีแห่งแรก เรียกว่า ขนอนบางกอก (Canen Bangkok) ซึ่งเรือและสำเภาทุกลำไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตาม จะต้องหยุดจอดทอดสมอ และแจ้งให้ด่านนี้ทราบก่อนว่าจะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อันใด บรรทุกสินค้ามาจากไหน มีผู้ใดมากับเรือบ้าง และมีสินค้าอะไรบ้างที่บรรทุกมา ก่อนที่เรือเหล่านั้นจะล่วงล้ำหรือเดินทางเข้าไปกว่านั้น
“จากบางกอกขึ้นมาประมาณ 1 ไมล์ มีด่านศุลกากรอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า บ้านตะนาว ซึ่งเรือทุกลำที่จะขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยาจะต้องหยุดตรวจอีกครั้งหนึ่ง เพราะอยู่ในรัศมีไม่ไกลจากกรุงศรีอยุธยา กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่ล้อมรอบด้วยกำแพงหิน และมีแม่น้ำโอบไปโดยรอบ มีประชาชนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองสวยงาม เป็นที่เชิดหน้าชูตาของกรุงสยามตามแบบฉบับของเมืองในแถบตะวันออก ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรือจะกลับออกไปและเมื่อผ่านด่านภาษีที่บ้านตะนาวอีก ก็จะต้องหยุดทอดสมอเพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะออกเดินทางไปไหน มีสินค้า สัมภาระ และบรรทุกใครออกไปบ้าง ในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัตินั้นผู้ที่จะออกไปจะต้องได้รับหนังสือพระราชทานสำคัญเสียก่อน เรียกว่า ตรา หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง (ใบผ่าน) ซึ่งจะต้องนำไปแสดงที่ด่านภาษีที่บางกอก ซึ่ง ณ ที่นี่ เรือจะต้องหยุดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจ่ายอากรแผ่นดินสำหรับเรือและสินค้า หากไม่ปฏิบัติตามนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นนายเรือหรือเจ้านายอื่นๆ ก็ตาม จะถูกยึดเรือทันที”
คำว่า ‘บางกอก’ ในภาษาพม่า-รามัญ มีความหมายที่ไปไกลเกินกว่าความหมายที่เป็นแค่ชื่อ Capital of Siam
อย่างไรก็ดี จริงๆ แล้ว เรียก ‘บางกอก’ มันก็ถูกแล้ว เพราะเป็นชื่อลำลองของตำแหน่งตั้งต้นของเมือง แม้ปัจจุบันเมืองจะขยายจนกินเนื้อที่ไปถึงบางไหนๆ แล้วก็ตาม