เรื่อง+ภาพ: ณัฐกานต์ ตำสำสู
การรวมกลุ่มของผู้คนย่อมก่อให้เกิดพลังบางอย่างขึ้นมาเสมอ ยิ่งสิ่งนั้นคือการทำเพื่อบ้านเกิดตัวเอง ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่การ ‘คิด’ จะเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง คงไม่ใช่เรื่องง่าย และถ้าเราจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงและพลังเหล่านั้น มาจากเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลาย
เช้าวันอาทิตย์ปลายเดือนสิงหาคม ท้องฟ้าสดใส คลื่นลมปกติ เรามีโอกาสไปนั่งคุยกับน้องๆ กลุ่ม Beach For Life ริมชายหาดสมิหลา ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้กลับมามีพื้นที่หาดตามปกติ หลังจากก่อนหน้านี้ตลอดแนวหาดเต็มไปด้วยกำแพงกันคลื่นที่ก่อจากกระสอบทรายขนาดใหญ่(Big bag)
กลุ่ม Beach for Life ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘สงขลาส่องแสง’ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของ‘สงขลาฟอรั่ม’และมูลนิธิสยามกัมมาจลหนุนให้ก่อตั้งขึ้น เพื่อรวบรวมพลังเยาวชนของจังหวัดสงขลา ในการเปลี่ยนแปลงเมืองในทิศทางที่ยั่งยืนโดยตระหนักถึงหน้าที่และสิทธิพลเมืองที่มีอยู่ในตัวทุกคน
2 ปีที่แล้ว อภิศักดิ์ ทัศนี หรือ น้ำนิ่ง รวมกลุ่มเพื่อนๆ ในโรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา จำนวน 20 คน ตั้งกลุ่ม Beach for Life ขึ้นด้วยความห่วงใยในปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นกับหาดสมิหลา อันเป็นปัญหาที่ทับซ้อนปัญหาเดิมอยู่อีกที เนื่องมาจากการนำกระสอบทรายขนาดใหญ่มาวางตามแนวชายหาดเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
หลังจากมีโอกาสรับรู้ปัญหา พวกเขาและเธอรวบรวมเพื่อนอุดมการณ์เดียวกันจากอีก 9 สถาบัน ในเมืองสงขลา ลงพื้นที่ศึกษาเรื่องหาดอย่างจริงจัง และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีก 11 ครั้ง จนได้ร่างธรรมนูญขึ้นมา 1 ฉบับ โดยใช้ชื่อว่า ‘ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน’ ธรรมนูญถูกร่างและผ่านเข้าสภาเทศบัญญัติในขณะที่พวกเขาหลายคนยังอายุไม่ถึง 18 ปีด้วยซ้ำ
+ ไทม์ไลน์ชายฝั่งของหาดสมิหลา
แนวชายหาดในเมืองสงขลา มีความยาวทั้งสิ้น 7.8 กิโลเมตร ตั้งแต่เก้าเส้งจนถึงแหลมสนอ่อน เริ่มจากบริเวณโขดหินหัวนายแรงบริเวณบ้านเก้าเส้ง เรื่อยมาตามแนวถนนจะเป็นหาดชลาทัศน์ ถัดมาคือหาดสมิหลา ซึ่งมีจุดเด่นคือรูปปั้นนางเงือกอันเลื่องชื่อ ต่อเนื่องไปยังชายหาดทางทิศเหนือบริเวณแหลมสนอ่อน
ย้อนกลับไปเมื่อปี2537 มีเรือสัญชาติปานามาเข้ามาติดอยู่ที่บริเวณหาด ทำให้ฝั่งทิศใต้ของเรือเกิดการทับถมของตะกอนทราย นอกจากนี้ จากทิศทางการเคลื่อนที่ของทรายสุทธิในภาคใต้ ตั้งแต่ปัตตานีถึงนครศรีธรรมราช เคลื่อนที่จากทางใต้ขึ้นมาตอนเหนือ ทางด้านเหนือจึงเกิดการเว้าแหว่ง เนื่องจากพฤติกรรมของคลื่น ที่เกิดการเลี้ยวเบนเมื่อมากระทบเรือ ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเกิดการกัดเซาะชายฝั่งขึ้น จนถึงช่วงปี 2539 ได้มีการนำเรือออกไป ทรายที่เคยทับถมและหาดบริเวณด้านเหนือก็ค่อยๆ ทยอยกลับมาอีกครั้ง
จนถึงปี 2545 มีโครงการสร้างบ่อสูบน้ำเสียบริเวณเก้าเส้ง เมื่อถึงช่วงปลายปีก็เกิดมรสุมเข้า ทำให้คลื่นไปชนกับฐานของบ่อสูบน้ำเสีย ส่งผลให้พื้นที่ด้านเหนือ บริเวณถนนชลาทัศน์ถูกกัดเซาะจนพังไปด้วย เมื่อถนนพัง จึงมีการสร้างเขื่อนตัวทีขึ้นมา 3 ตัว เพื่อป้องกันคลื่น พอเขื่อนเสร็จ ทรายที่เดิมก็เคลื่อนที่จากใต้ขึ้นเหนือมาทับถมอยู่ที่เขื่อนตัวทีตัวแรกทำให้มีหาดงอกออกมาบริเวณนี้
ในปีถัดมา เมื่อถึงฤดูมรสุม หาดที่เคยสวยงามก็ถูกกัดเซาะอีกครั้ง เนื่องจากผลกระทบจากหางเขื่อนตัวทีตัวสุดท้าย ทำให้คลื่นเกิดการเลี้ยวเบนไป จึงเริ่มมีการวางหินทิ้งก้อนใหญ่ๆ ซึ่งเรียกว่าลิปแลป แต่เมื่อวางลิปแลบเสร็จ ปลายเขื่อนหินนั้นก็ไม่สามารถต้านการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของการวางกระสอบทรายขนาดใหญ่ในช่วงปี 2555 และต้องใช้วิธีดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน
“โครงสร้างที่แข็งมันไม่เหมาะกับหาดชลาทัศน์ เพราะถ้ามีโครงสร้างแข็ง หาดมันก็จะพังต่อไปเรื่อยๆ เหมือนโดมิโนล้ม ถ้าเราอยากจะป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง แต่ไม่คำนึงถึงพื้นที่หาด ว่าจะมีพื้นที่หาดเหลือหรือไม่ มันก็จะต้องสร้างแนวกระสอบต่อไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด” น้ำนิ่งย้ำถึงตัวโครงสร้างแนวกระสอบและการแก้ปัญหาในปัจจุบันที่ยังไม่ตรงจุด
+ กว่าจะมาเป็น ‘ร่างธรรมนูญ’ ฉบับเยาวชน
เมื่อตามแนวชายหาด จำเป็นต้องวางกระสอบทรายเพื่อเป็นแนวกันคลื่น ทำให้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจตามธรรมชาติของชาวสงขลา มีหน้าตาเปลี่ยนไปจนพวกเขาสัมผัสได้ พวกเขาได้แต่สงสัยว่า ยังมีทางเลือกอื่นๆ อีกไหมที่จะช่วยแก้ปัญหาการกัดเซาะหาดสมิหลาได้โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
“ยิ่งพอเราทำงานไป มันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า ถ้าไม่มีแนวทางหรือรูปแบบที่ชัดเจน ว่าจะทำยังไงกับหาดสมิหลา ก็อาจจะมีกรณีที่โครงสร้างเข้ามาแทรกแซงระบบนิเวศได้ พวกเราเด็กสงขลา เลยรวมตัวกันเรียกร้อง ไปร่วมรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนๆ ว่า ถ้าเจอสถานการณ์อย่างนี้ เราจะกำหนดอนาคตของเมืองสงขลาหรือหาดสมิหลาของเรายังไง ร่างธรรมนูญตัวนี้จึงเกิดขึ้น
“ในตัวธรรมนูญนี้ก็ระบุไว้ว่า เด็กๆ น่าจะมีวิธีการบอกหรือสื่อสารเรื่องพวกนี้กับผู้ใหญ่ได้บ้าง ให้เขารับฟังความคิดเห็นของเรา ที่มันเป็นข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลังจากนั้นเราจะร่วมกันศึกษาว่า ตลอดระยะความยาวของหาด 7.8 กิโลเมตร มันมีทางเลือกไหนที่เป็นทางเลือกที่เหมาะสมจริงๆ” น้ำนิ่งกล่าว
ฝน – อลิสา บินดุส๊ะ สมาชิกกลุ่ม Beach for Life อีกคน เล่าถึงที่มาที่ไปว่า กว่าจะมาเป็นธรรมนูญฉบับนี้ เกิดจากการนำความคิดเห็นกว่า 20,000 ความเห็น มาคัดแยกและจัดให้เป็นหมวดหมู่ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีความคิดเห็นไปในทิศทางใกล้เคียงกัน นั่นคือ ไม่เอาโครงสร้างแข็ง และเน้นการแก้ปัญหาด้วยการเติมทราย ก่อนจะนำไปสู่กระบวนการกำหนดข้อตกลงร่วมกัน
“พลเมืองเยาวชนจังหวัดสงขลามีสิทธิ์ในการร่วมกันแบ่งเขตการรับผิดชอบ เพื่อดูแลรักษาทัศนียภาพ ฟื้นฟู ปกป้อง และอนุรักษ์เขตพื้นที่อนุรักษ์ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของหาดสมิหลา และป่าสนเมืองสงขลา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาความสะอาด การควบคุมสิ่งปฏิกูล หรือเพิ่มพื้นที่ป่าสน”
เพื่อความสมบูรณ์ของธรรมนูญฉบับนี้ ทางกลุ่มได้ปรึกษาทั้งนักวิชาการด้านกฏหมาย และด้านสิ่งแวดล้อม ก่อนจะนำไปยื่นต่อเทศบาลนครสงขลา ในวันประกาศธรรมนูญ นายกเทศมนตรี สมศักดิ์ ตันติเศรณี ได้บอกว่า เตรียมจะทำ MOU และผลักดันธรรมนูญฉบับนี้ให้เป็นเทศบัญญัติของเมืองต่อไป
+ ความฝันของ Beach for Life
ก่อนบทสนทนาจะจบลงใต้ร่มสนทะเล เราถามน้ำนิ่งถึงความฝันที่กลุ่ม Beach for Life ตั้งไว้ เขาบอกว่าไม่น่าเกิน 10 ปีหาดทรายบริเวณนี้จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมตามที่พวกเขาวาดหวังเอาไว้ ถ้าทุกภาคส่วนยังร่วมมือและช่วยกันเหมือนตอนนี้
เขาพูดพลางชี้ให้ดูชายหาด ที่ตอนนี้เริ่มดูดีขึ้นกว่าเมื่อ 2 ปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด หลังจากประกาศธรรมนูญ พวกเขาได้ร่วมตั้งโจทย์กับเทศบาลว่า จะเดินหน้าสานต่อโครงการและลงไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากขึ้น ถึงแม้หลายคนจากทีมรุ่นแรกๆ จะทยอยจบจากรั้วโรงเรียนไปแล้ว แต่ก็ยังมีการผลักดันให้รุ่นน้องสานต่องานกันมาเรื่อยๆ
ตัวน้ำนิ่งเองก็เพิ่งจบจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ และกำลังเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของเอกพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เขาบอกด้วยความกระตือรือร้นว่าที่มหาวิทยาลัยตอนนี้ก็เริ่มรวมตัวกับเพื่อนๆ ในเอก เพื่อนำความรู้มาใช้ในกระบวนการที่เขาทำมาอย่างต่อเนื่องและจะได้มีโอกาสเข้าไปทำความเข้าใจกับชุมชนให้มากขึ้น เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อใดที่ชุมชนเข้าใจและเข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง ก็จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
น้ำนิ่งและเพื่อนๆ พาเราเดินดูชายหาดตั้งแต่บริเวณเก้าเส้ง เขาชี้ให้ดูร่องรอยกระสอบทรายที่ยังหลงเหลืออยู่บ้าง หาดทรายเริ่มกลับมาสวยงามขึ้นบ้างแล้ว อาจจะเพราะด้วยคลื่นทะเลที่สงบ และท้องฟ้าที่ยังคงแจ่มใสไร้เงาพายุ
แม้ฤดูมรสุมจะใกล้เข้ามาหรือคลื่นจะสูงกระแทกทรายขนาดไหน เรายังเชื่อมั่นว่าหาดสมิหลาพร้อมที่จะฝ่าฟันคลื่นลมในครั้งนี้ ด้วยพลังของเยาวชนและทุกคนในเมืองสงขลา ที่ร่วมมือร่วมใจกันคืนสภาพหาดทรายผืนเดิมที่พวกเขาผูกพันให้กลับมาอีกครั้ง