Beau Is Afraid: เมื่อหนุ่มใหญ่ต้องกลับบ้านไปหาแม่

“จินตนาการว่าคุณกระหายน้ำ คุณจึงดื่มน้ำจากบ่อน้ำ แต่กลับพบว่าน้ำในบ่อนั้นเป็นพิษ ถ้าคุณกระหายน้ำอีก คุณจะดื่มน้ำจากบ่อนั้นอีกมั้ย”

นักจิตบำบัดพุงพลุ้ยแสยะยิ้ม คนไข้นิ่งงัน บทสนทนาดำเนินต่อไปจวบจนผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเขียนใบสั่งจ่ายยา พร้อมย้ำแกมสั่งคนไข้ว่า “หลังกินยา ต้องกินน้ำ ห้ามขาดน้ำเด็ดขาด”

Beau Is Afraid (2023) ภาพยนตร์สุดเวียร์ดและแอบเซิร์ดชิ้นล่าสุดของ อาริ แอสเตอร์ (Ari Aster) ผู้เคยฝากผลงาน Hereditary (2018) และ Midsommar (2019) เล่าเรื่องของ Beau [รับบทโดย วาคีน ฟินิกซ์ (Jauquin Phoenix)] หนุ่มใหญ่ที่เผชิญเรื่องพิลึกกึกกือระหว่างเดินทางกลับบ้านไปหาแม่บังเกิดเกล้าหรือ Mona [รับบทโดย แพตตี ลูโพน์ (Patti LuPone)]

นอกเหนือจากความโดดเด่นเชิงเทคนิคถ่ายภาพ องค์ประกอบศิลป์ ซาวด์ดีไซน์ Beau Is Afraid ขมวดปม Mommy&Daddy Issue ได้ลึกสุดหยั่งและสาแก่ใจ ตลอดจนหยอกล้อกับคุณค่าความรักระหว่างแม่ลูกได้อย่างงดงาม-พรั่นพรึง-ปวดจิต ผ่านสัญญะที่ทั้งโชว์หราและซุกซ่อนอย่างแนบเนียนไปพร้อมกัน

แง่หนึ่ง คนดูจะเกิดคำถามกับสิ่งที่ปรากฏบนจอภาพ พร้อมๆ กับตั้งข้อสงสัยในความรักที่ตนเองได้รับนับแต่ลมหายใจแรกของชีวิต จวบจนลมหายใจปัจจุบันที่กำลังสัมผัสประสบการณ์ที่ผู้กำกับมอบให้อีกครั้งผ่านจอภาพยนตร์ 

*บทความเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์

โลกที่เต็มไปด้วยมนุษย์ผู้ไร้เหตุผล

Beau Is Afraid (2023) เป็นการต่อยอดจากหนังสั้นของแอสเตอร์ เรื่อง Beau (2011) นำแสดงโดยนักแสดงผู้ล่วงลับอย่าง บิลลี มาโย (Billy Mayo, 1957-2019) โดยมีเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกันคือ ขณะที่ Beau เก็บข้าวของอย่างร้อนรนเพื่อให้ทันไฟลท์บินกลับบ้านแม่ เขาลืมกุญแจอพาร์ตเมนต์ไว้ที่ประตู ถัดจากนั้นก็บังเกิดเป็นเรื่องราวสุดโกลาหลชวนอาเจียน 

ในเวอร์ชันภาพยนตร์ขนาดยาว Beau Is Afraid ซัดฉากเปิดด้วยงานเสียงอู้อี้ๆ พร้อมเสียงกรีดร้องอันดิ่งลึกรวดร้าว ฉายภาพมลังเมลืองของแสงแรกที่ Beau ลืมตาดูโลก มาร์ก เคอร์โมเด (Mark Kermode) นักเขียนและนักวิจารณ์ชี้ว่า ฉากนี้เสมือนหลักฐาน (premise) ว่า นี่จะเป็นเรื่องราวสะท้อนตัวเอง (self-reflection) ในเชิงล้อเลียน และเผยไต๋ธีมวิกฤตครอบครัวอันคลื่นเหียนตามสไตล์หนังของแอสเตอร์ (เสริมว่าเหตุที่เกิดย่อมหนีไม่พ้นห้องใต้หลังคา)

ไล่ตั้งแต่แมงมุมแทรกซึมในอพาร์ตเมนต์ บททดสอบทางศีลธรรมกับบรรดาคนจรจัดและครอบครัวศัลยแพทย์ผู้ใจบุญ รวมถึงคณะละครเร่กลางพงไพร ทุกซีน ทุกฉาก ทุก transition ทุก dialogue แม้ดูเป็นสิ่งที่ไร้เหตุผลสำหรับ Beau แต่ภายใต้ความไร้เหตุผลนี้เอง Beau ค้นพบว่าทั้งชีวิตของเขาเป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลในตัวเองเสียมากกว่า

เจ้าพ่อปรัชญาความไร้เหตุผลอย่าง อัลแบร์ กามูส์ (Albert Camus, 1913-1960) ใช้คำว่า ‘absurd man’ ในความหมายที่ว่า มนุษย์ผู้ไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงของโลกที่เป็นอยู่ เขากล่าวว่า ขอบเขตความเข้าใจโลกของมนุษย์ถูกจำกัดอยู่ที่ประสบการณ์ของตน โลกที่ตั้งตระหง่านอยู่จึงปราศจากความหมายเมื่อไร้เหตุผลของมนุษย์ และความเป็นเหตุเป็นผลของมนุษย์ก็มีปัญหาในตัวเอง เป็นต้นว่า มนุษย์รู้จักความตายน้อยมาก เพราะไม่มีใครที่สัมผัสบรรลุประสบการณ์นั้นแล้วกลับมาบันทึกให้เป็นที่ประจักษ์ ฉะนั้น กิจวัตรประจำวันจึงดูไร้เหตุผลและไร้ความหมายมากขึ้นเมื่อเราตระหนักได้ว่า ความตายรออยู่ที่ปลายทางของชีวิต

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เราใช้ชีวิต มนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกใช้และหยิบฉวยความหมายให้ชีวิตตนเอง ทำทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าตนอยู่ในเส้นทางที่เอื้อมถึงสิ่งที่ตนเองต้องการ กล่าวอย่างเคร่งครัด สิ่งที่นับว่ามีคุณค่า จึงไม่ใช่ชีวิตที่มีความเป็นอยู่ที่ดีที่สุด แต่เป็นการใช้ชีวิตให้มากที่สุด นับได้ว่า ความไร้เหตุผลเป็นสิ่งที่รบเร้าให้มนุษย์มีประสบการณ์กับโลก

Meursault อาจจะไม่ แต่ Beau ร้องไห้นะโว้ย

ในนวนิยายขนาดสั้นหรือเรื่องสั้นขนาดยาว L’Étranger (1942) ของกามูส์ ตัวเอกนามว่า เมอโซ (Meursault) ออกเดินทางกลับบ้านเกิดหลังได้รับแจ้งว่า แม่เสียชีวิต เขาลางาน จับรถรางต่อรถไฟ จากถนนคอนกรีตสู่ถนนลูกรัง จนถึงวันประกอบพิธีฝังศพ เขาไม่ได้ร้องไห้หรือแสดงท่าทีอันมีความหมายถึงความเสียใจออกมา เวลาผ่านไป เมอโซเผลอไผลฆ่าชายชาวอาหรับคนหนึ่งที่ริมหาด (อาจเพราะความร้อนหรืออะไรก็แล้วแต่) เมอโซถูกตัดสินจำคุกและถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานฆ่าคน แต่เส้นด้ายแห่งโชคชะตาที่ทำให้เขาถูกตัดสินประหารชีวิต คือการที่เขามิได้ร้องไห้เสียใจในงานศพแม่ตัวเอง นั่นทำให้เขาถูกประเมินโดย ‘ระบบยุติธรรม’ ว่าเขาคือคนชั่วร้ายโดยกมลสันดาน จำต้องรับโทษประหารชีวิตสถานเดียว

ในทำนองเดียวกัน องค์สุดท้ายของ Beau Is Afraid ตัวเอกของเรื่องอยู่ในศาล และกำลังถูกพิจารณาตัดสินว่า เขามีความกตัญญูกับแม่หรือเป็นเด็ก ‘รักดี’ หรือไม่

“เขาร้องไห้ในงานศพแม่นะโว้ย” เสียงทนายฝั่งจำเลยตะโกนออกมา ก่อนถูกอำนาจมืดจับโยนหน้าผา เมื่อไร้ทนายหรือคำยืนหยัดสุดท้ายเพื่อตัวเอง Beau ก็ถูกคณะลูกขุนตัดสินว่ามีความผิด เขาเป็นเพียงปิศาจที่เกิดมาเพื่อดูดพลังงานความเยาว์ของมารดา กวาดความรักลงกระเพาะอย่างตะกละตะกลาม และไม่คุ้มค่ากับความรักที่มารดาลงทุนลงแรง ทั้งยังสรรหาความหนักแน่นในสันดานจิตใจไม่ได้ ซ้ำร้ายยังกล่าวโทษผู้มีพระคุณและพยายามตีตัวออกห่างทุกครั้งเมื่อสบโอกาส ‘ความตาย’ เท่านั้นที่ดูจะสาสมกับคนประเภทนี้

Beau should be afraid in a nonsense world?

ในโลกเซอร์ๆ บวมๆ ที่ไร้เหตุผล กามูส์ชี้ว่า ความบกพร่องของความไร้เหตุผลคือการที่มันทำให้เราคิดว่า การมีประสบการณ์จำนวนมากขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เรากำเนิด แต่แท้จริงแล้ว ชีวิตขึ้นอยู่กับเราเพียงคนเดียว พูดง่ายๆ คือ ถ้าคนสองคนมีปริมาณเวลาในชีวิตเท่าๆ กัน โลกก็ย่อมมอบประสบการณ์ให้เท่าๆ กัน ความสำคัญคือ เราจะมีสำนึกในประสบการณ์นั้นๆ หรือไม่ และหากสำนึกนั้นทำให้เราแข็งข้อหรือแสดงเสรีภาพออกมาจนถึงขีดที่ความแจ่มชัดครอบครองตัวของเราเอง มาตรฐานคุณค่าใดๆ ก็ย่อมใช้การไม่ได้

แต่สำหรับชีวิตที่ถูกจับตาตั้งแต่ครรภ์มารดาราวมนุษย์ในคุก ‘panopticon’ (คุกที่มีหอคอยอยู่ตรงกลาง มีกระจกเงาด้านเดียว ทำให้นักโทษไม่มีทางรู้ได้เลยว่าตัวเองถูก ‘สอดส่อง’ จริงๆ เมื่อใด) ใครจะให้ความเป็นธรรมกับชีวิตคนคนหนึ่งได้ ใครเล่าจะชี้ทางคนคนหนึ่งให้เป็นไทจากการถูก gaslighting มาทั้งชีวิต โดยเฉพาะ Beau ที่โชคชะตาบัดซบมากพอที่จิตแพทย์มองเขาเป็นเพียงแฟ้มเอกสาร และคนเขียนบทสุดเลือดเย็นอย่างแอสเตอร์ก็ไม่ประนีประนอมกับความรันทดที่จะเกิดขึ้นกับคนคนหนึ่ง

ในฐานะผู้ประพันธ์ อาริ แอสเตอร์ เลือกที่จะทำลายเส้นแบ่งระหว่างความฝันและความทรงจำ (ร้ายๆ) ของ Beau หั่นขอบเขตและใช้มือขยำๆ เรื่องร้ายทั้งหมดให้เป็นเนื้อเดียวกัน นั่นจึงทำให้ Beau เป็นมนุษย์ที่เราทั้งเอาใจช่วย และเข้าใจว่าทำไม Beau ถึงกลัว (afraid) เบอร์นั้น 

แต่ครั้นให้มานั่งมองชีวิตตัวเอง ใครเล่าจะเข้าใจว่าสภาพที่แท้จริงของโลกที่เราสัมผัสคืออะไรกันแน่ ภายใต้โลกที่ไร้เหตุผล การเป็นคนปกติดูจะยากเกินกว่าความเข้าใจของคนที่สมาทานความดีหรือเลวชนิดตายตัว มนุษย์ปกติเฉกเช่น Beau จึงเสมือนสิ่งสามานย์ของโลกที่ความไร้เหตุผลครอบงำอยู่

เราควรอยากกลับบ้านก็เพราะอยากกลับ เราควรร้องไห้เพราะความตื้นตันท่วมท้นในอก ต้องเป็นโลกแบบไหนกันที่ทำให้การร้องไห้หรือไม่ร้องไห้ในงานศพ เป็นเรื่องสลักสำคัญ ราวกับสมการ กินยาต้องกินน้ำตาม มีคนตายก็ต้องร้องไห้ คือความจริงแท้ของโลก

Beau Is Afraid (2023) อาจเพียงสะท้อนให้เห็นว่า เนื้อแท้ของสิ่งที่ดูปกติ มีความโกลาหลไร้เหตุผลอยู่เป็นนิจ

อ้างอิง:

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า