เบลเกรด ลมหายใจหลังสงคราม

เซอร์เบียถือว่าเป็นประเทศที่อยู่นอกเรดาร์ของนักเดินทางส่วนใหญ่ ด้วยความทรงจำของผู้คนที่ยังติดอยู่กับภาพลบจากมรดกของสงครามในทศวรรษ 1990 ที่ยากจะกะเทาะให้หลุด ขณะที่ประสบการณ์การเดินทางของผมไม่ได้เป็นแบบนั้นอย่างเดียว ผมเข้าใจดีว่าคนเซอร์เบียน อยู่ไกลจากการเป็นอาชญากรสงครามอย่างที่ใครๆ มักมีภาพอยู่ในหัว ในช่วงที่เดินทางในเซอร์เบีย ในตลาดหนังสือมีเพียงหนังสือท่องเที่ยวล้าสมัยเกี่ยวกับอดีตยูโกสลาเวียที่เขียนขึ้นในทศวรรษ 1980 และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ผมคิดเขียนเกี่ยวกับเซอร์เบียใหม่

ระหว่างที่หาข้อมูลเขียนหนังสือเล่มนี้ ผมเจอกับปฏิกิริยาของคนเซอร์เบียนสองแบบ คนส่วนใหญ่รู้สึกดีใจที่หนังสือเล่มนี้จะทำให้เซอร์เบียกลับมาปักหมุดในแผนที่เดินทางอีกครั้ง ขณะที่บางส่วนมองว่าผมบ้าไปแล้ว เอาเป็นว่าผมปล่อยให้คนอ่านตัดสินใจก็แล้วกัน

ลอเรนซ์ มิทเชลล์ (Laurence Mitchell) อดีตครูสอนวิชาภูมิศาสตร์จากนอร์ฟอร์ค ประเทศอังกฤษ ผู้เขียนหนังสือแนะนำประเทศเซอร์เบียของสำนักพิมพ์ Bradt กล่าวไว้ในคำนำหนังสือที่ฉันยืมออกมาจากห้องสมุดประชาชนอัมสเตอร์ดัม ยอมรับว่าเป็นหนังสือแนะนำท่องเที่ยวเซอร์เบียที่ครบเครื่องที่สุด โดยเฉพาะในแง่มุมของประวัติศาสตร์การเมืองและสังคม เสียแต่ว่าฉันคงพิสูจน์ความคิดของคนเซอร์เบียนที่มีต่อเขาไม่ได้มากนัก เพราะอยู่แค่ในเบลเกรด เหมืองหลวงของเซอร์เบียเป็นหลักเท่านั้น

ฉันเคยได้ยินชื่อเซอร์เบียก่อนเดินทางจากหนังสือ หัวร่อต่ออำนาจ: อารมณ์ขันและการประท้วงด้วยสันติวิธี ของ จันจิรา สมบัติพูนศิริ ที่ปรับมาจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเธอ ส่วนหนึ่งของหนังสือพูดถึงการใช้อารมณ์ขันและเสียดสี ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของสันติวิธีที่ประชาชนเซอร์เบียนเลือกใช้เพื่อต่อรองกับอำนาจของรัฐและผู้ปกครองในช่วงที่ สโลโบดัน มิโลเชวิช บริหารประเทศ แต่ก็แค่นั้นจริงๆ เพราะไม่มีโอกาสได้อ่านหนังสือก่อนเดินทางไป มาอ่านหลังจากที่กลับจากการเดินทางครั้งนั้นเพื่อทำความเข้าใจประเทศเซอร์เบีย

เบลเกรด

เบลเกรดเป็นเมืองหลวงของอดีตยูโกสลาเวีย ด้วยความที่เป็นหนึ่งในศูนย์กลางของการพบปะของอารยธรรมที่แตกต่างมาอย่างยาวนาน รวมถึงสงครามการแย่งชิงของจักรวรรดิในเวลาต่อมา ทำให้เบลเกรดเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ที่น่าทึ่ง ในบันทึกหลายเล่มเขียนตรงกันว่าเบลเกรดมีความเป็นมายาวนานถึง 7,000 ปี โดยมีกลุ่มคนดั้งเดิม ‘วินคา’ (Vinca) เป็นพวกเชื่ออำนาจเหนือธรรมชาติมาตั้งรกรากเป็นกลุ่มแรกที่บริเวณแม่น้ำดานูบ ตามด้วยกลุ่มเซลท์ (Celt) และการเข้ามาของจักรวรรดิโรมันและไบซันไทน์ (Byzantine) ก่อนที่กลุ่มเชื้อชาติเซิร์บจะปรากฏตัวขึ้นในปี 630 ก่อนคริสตศักราช

สี่ศตวรรษถัดมาเบลเกรดเป็นพื้นที่ที่มีการแย่งชิงทางอำนาจในการปกครองของหลายจักรวรรดิ ทั้งกรีก ฮังกาเรียน และบัลแกเรียน ในที่สุดเซิร์บชนะและได้อำนาจครอบครองเบลเกรดในปี 1284 ต่อมามีการสู้รบและการรุกรานของจักรวรรดิออตโตมัน เซิร์บพ่ายแพ้ในที่สุด ทำให้เติร์กเข้ามาปกครองเบลเกรดในปี 1521

ช่วงถัดมาอาณาจักรออตโตมันต้องประลองกำลังกับจักรวรรดิฮับส์บวร์ก (Habsburg Empire) นำมาซึ่งการต่อสู้กันทางศาสนาระหว่างคาทอลิกกับอิสลามในขณะเดียวกัน เบลเกรดในที่สุดก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของฮับส์บวร์กในปี 1817 และได้รับการสถาปนาให้เป็นเมืองหลวงของเซอร์เบีย แต่สูญเสียสถานภาพเมืองหลวงให้กับครากูเยวัช (Kragujevac) แต่ก็ได้กลับมาเป็นเมืองหลวงอีกครั้งหลังจากนั้นไม่กี่ทศวรรษ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้บลเกรดจะถูกครองโดยเยอรมนีและออสเตรีย เบลเกรดได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและกลายเป็นเมืองสำคัญแห่งหนึ่งของทวีปยุโรป จนกลายเป็นเมืองหลวงของอดีตยูโกสลาเวียในเวลาต่อมา ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมืองหลวงแห่งนี้ถูกโจมตีจากกองทัพและระเบิดทางอากาศจากทั้งนาซีและรัสเซีย ทำให้ตึกรามบ้านช่องส่วนใหญ่ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมถูกทำลายไปมาก จนรัฐบาลต้องบูรณะเป็นการใหญ่ ดังนั้น อาคารและสถาปัตยกรรมที่เห็นสวยงามของเบลเกรดในปัจจุบันจึงเป็นของใหม่ที่สร้างขึ้นเลียนแบบของเดิม

เบลเกรด

หลังจาก ติโต (Josip Broz Tito) ขึ้นมาครองอำนาจและบริหารประเทศภายใต้ระบบสังคมนิยม เบลเกรดได้รับความสำคัญมากขึ้นในฐานะเป็นศูนย์กลางการบริหารของรัฐอิสระทั้งหกรัฐ จนมิโลเชวิชเข้ามาครองประเทศในปี 1989 ไม่นานจากนั้น ต้นทศวรรษ 1990 หลายประเทศในอดีตยูโกสลาเวียเริ่มแยกตัวเป็นอิสระ เบลเกรดกลายเป็นศูนย์บัญชาการเซอร์เบียในการต่อต้านการแยกตัว และจบลงด้วยการสร้างสงครามล้างเผ่าพันธุ์ในโคโซโวในปี 1998-1999 เมื่อกองกำลังนาโตตัดสินใจถล่มเมืองเบลเกรดเสียย่อยยับอีกครั้ง ขณะที่ประชาชนเริ่มประท้วงให้มิโลเชวิชออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี

จากนั้นไม่นานมิโลเชวิชถูกตัดสินให้รับโทษในข้อหาอาชญากรสงครามในยูโกสลาเวีย โดยคณะตุลาการอาญาระหว่างประเทศสำหรับอดีตยูโกสลาเวีย ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ แต่เขาจบชีวิตเสียก่อนที่จะได้รับโทษอย่างเป็นทางการ จากนั้นประวัติศาสตร์เบลเกรดหน้าใหม่เริ่มต้นหลังจากหมดอำนาจของมิโลเชวิชรัฐบาลพยายามกู้ภาพลักษณ์ของเมืองที่อดีตเคยเป็นที่นัดพบกันทางวัฒนธรรม ให้เป็นเมืองสำหรับคนรุ่นใหม่ พร้อมทั้งโครงการก่อสร้างและพัฒนามากมายหลังจากที่เบลเกรดถูกถล่มจากนาโต

เบลเกรด

หลังข้ามแดนจากบอสเนียฯ เข้าเซอร์เบียด้วยรถตู้ ราวชั่วโมงกว่า รถตู้ที่ฉันโดยสารมาเริ่มวิ่งเข้าสู่เขตเบลเกรดรอบนอก (Greater Belgrade) คนขับรถบอกให้สัญญาณกับฉัน ฉันเริ่มเห็นความเป็นเมืองใหญ่ในฐานะเมืองหลวงขึ้นมา โดยเฉพาะตึกสูงหลายชั้นที่อนุญาตให้ก่อสร้างได้ในรอบนอก รถตู้เคลื่อนตัวขึ้นสะพาน ‘อะดา’ (Ada) สะพานแขวนขนาดใหญ่ ที่คนขับรถบอกว่าเพิ่งสร้างเสร็จไม่นานเพื่อใช้ข้ามแม่น้ำซาวา (Sava) เขาบอกว่าจำไม่ได้ว่างบประมาณเท่าไรกันแน่ แต่กระแนะกระแหนว่าเป็นสะพานที่งบแพงหูฉี่ที่รัฐบาลต้องการสร้างให้สมกับความยิ่งใหญ่

ฉันมาลองค้นข้อมูลดูว่าที่ว่าแพงนั้นมันขนาดไหน พบว่าโครงการสร้างสะพานใช้งบประมาณราว 400 ล้านยูโร เริ่มแผนให้มีการสร้างในปลายทศวรรษ 1990 ใช้เวลาร่างแผนแปดปี และสร้างอีกสามปี จนเสร็จเปิดใช้ในปลายเดือนธันวาคม ปี 2011 เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ระดับโลกด้วยการเป็นสะพานที่โครงสร้างทำมาจากเสาที่ใหญ่ที่สุดต้นเดียวในการยึดสะพานเอาไว้ และไม่ใช่แค่รถยนต์สามเลนที่ใช้ข้าม สะพานมีช่องทางสำหรับรถราง จักรยาน และคนเดินเท้าทั้งสองฝั่ง

เบลเกรด
สะพานแขวน ‘อะดา’ ที่ใช้งบประมาณสร้างถึง 400 ล้านยูโร

เบลเกรดหน้าใหม่หลังอดีตสงครามมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วน ฉันจำได้ว่าเคยคุยกับสองสาวนักศึกษามหาวิทยาลัยเมืองตุซลา ที่บอสเนียฯ ระหว่างที่นั่งรถเข้าซาราเยโว ทั้งสองคนตื่นเต้นเมื่อรู้ว่าฉันวางแผนมาเบลเกรด สำหรับเธอทั้งสอง เบลเกรดคือเมืองแห่งความทันสมัยที่เหนือกว่าซาราเยโว เป็นเมืองของการปาร์ตี้ ความสนุกสนาน และเหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับหนังสือท่องเที่ยวหลายเล่มที่บอกว่าทุกวันนี้เบลเกรดพยายามติดฉลากเมืองว่าเป็นอีกศูนย์กลางของชีวิตบันเทิงในยามค่ำคืนของยุโรป

คนขับรถตู้แวะส่งทุกคนตามจุดหมายที่ทุกคนต้องการลง คุณป้าเซอร์เบียนคนแรกลงที่รอยต่อเขตเมืองรอบนอก ส่วนอีกคนลงที่ในตัวเมือง จากนั้นรถตู้แวะไปส่งหนุ่มรัสเซียทั้งสองกับหนุ่มยูเครน ที่ตัดสินใจเช่าอพาร์ทเมนท์ด้วยกันเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย นี่คือข้อดีของการท่องเที่ยวของคนรุ่นใหม่และเป็นผู้ชาย แม้จะรู้จักกันไม่นานแต่ก็ผูกมิตรที่จะร่วมหัวจมท้ายด้วยกันได้ไม่ยาก และก่อนที่จะส่งฉันเป็นคนสุดท้าย คนขับรถตู้ขอวนไปส่งซองพัสดุที่แห่งหนึ่งก่อน สำหรับฉันแล้วไม่มีปัญหา เพราะบริการแบบนี้ก็มีที่เมืองไทย โดยเฉพาะรถทัวร์หรือรถตู้ที่วิ่งระหว่างจังหวัด พอเสร็จภารกิจนี้เรียบร้อย ราวบ่าย 2 โมง เขาวนไปส่งฉันที่เกสต์เฮาส์ใจกลางเมือง ไม่ห่างจากตัวเมืองเก่าของเบลเกรดเท่าไรนัก

ก่อนลงฉันขอบคุณเขาอย่างดีอีกครั้ง ซึ้งน้ำใจที่เขาช่วยเหลือและคลี่คลายสถานการณ์ที่ชายแดนให้เป็นอย่างดี คิดในใจว่าฉันก็โชคดีไม่น้อยที่ได้เจอคนขับรถที่คุ้นกับเจ้าหน้าที่ขนาดนี้ บางครั้งเราก็ไม่ได้อยากทำผิดกฎหมายอะไร แต่ก็ช่วยไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ในที่สุดถึงฉันก็ถึงเบลเกรด ยืนอยู่หน้าเกสต์เฮาส์ที่จองไว้ทางอินเทอร์เน็ต ฉันกดกริ่งรอให้สัญญาณประตูรั้วเปิด พอเดินเข้าไปในบ้านเจอเด็กหนุ่มที่ทำหน้าที่ลงทะเบียนแขกผู้มาพัก ฉันส่งหนังสือเดินทางให้เขา จากนั้นเขาให้ใบขาวๆ ให้ฉันเก็บไว้ให้ดีเผื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจ ฉันจงได้ถึงบางอ้อว่า ไอ้ใบนี้เองที่แขกที่มาพักทุกคนต้องได้รับ และฉันควรจะได้รับจากที่พักในซาราเยโว เด็กหนุ่มบอกว่า เจ้าของที่พักต้องเอาใบนี้ไปขึ้นทะเบียนกับตำรวจและเสียภาษีท้องถิ่นให้กับรัฐ แต่หากไม่ไปรายงานก็ไม่ต้องจ่ายภาษีให้รัฐ

หลังจากเช็คอินเอากระเป๋าเข้าที่พัก ตอนนั้นบ่ายแก่แล้ว ฉันยังเพลียกับการตื่นเช้าและเดินทางมาทั้งวัน อีกทั้งเจอเรื่องไม่คาดคิดให้ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ตอนข้ามแดนอีก เลยอยากพักก่อนที่จะไปเปิดหูเปิดตาในเมืองเบลเกรดที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองศูนย์กลางวัฒนธรรมทั้งดนตรี ละคร ภาพยนตร์ และเทศกาลตามฤดูกาล

เบลเกรด

สักเกือบ 5 โมง ฉันออกไปเดินสำรวจถนนหลักของเมือง เดินผ่านโรงแรมมอสโคว (Hotel Moskva) ตรงบริเวณ จตุรัส Terazije โรงแรมนี้มีอายุกว่าร้อยปีสร้างตามสไตล์ของรัสเชียน เช็คเซสชัน (Russian Secession) โดยกษัตริย์ Petar I Karadjordjević ในปี 1908 โรงแรมนี้มีคนดังทั้งนักการเมืองและนักแสดงฮอลลีวูดเคยมาพักมากมาย

ฉันเดินต่อไปยังถนน Kneza Mihaila ที่เป็นศูนย์กลางของการช็อปปิ้งในตัวเมือง มีร้านค้ามากมายและศูนย์ให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวด้วย ฉันเห็นคนมากหน้าหลายตาออกมาเดินเล่น จับจ่ายใช้สอย เพราะคนที่นี่นับถือคริสต์ออธอดอกซ์เป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น จึงยังมีต้นคริสต์มาสวางตั้งอยู่ และผู้คนยังรื่นเริงและเตรียมซื้อของฉลองคริสต์มาสและปีใหม่ที่คล้ายกับคริสต์มาสคาทอลิก แต่คนละช่วงเวลา

ฉันเดินต่อไปอีกเพื่อหาอาหารท้องถิ่นกินเป็นมื้อเย็น เลยเข้าไปยังถนน Skadarlija ที่มีชื่อเล่นว่า ‘มงมาร์ตร (Montmartre) ของเบลเกรด’ หรือย่านโบฮีเมียนของเบลเกรด ในปี 1830 มีชาวโรมาเป็นกลุ่มแรกมายึดพื้นที่แห่งนี้ที่ดั้งเดิมเป็นที่รกร้างของแนวกำแพงเมือง ไม่นานหลังจากนั้นชาวโรมาถูกขับไล่ด้วยการสร้างตึกและบ้านของกลุ่มช่างฝีมือและข้าราชการชั้นผู้น้อย ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่บริเวณนี้ได้พัฒนาเรื่อยมาและกลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมโบฮีเมียน ที่รวมตัวกันของศิลปิน นักแสดง นักดนตรี และนักเขียน

ปัจจุบัน บริเวณนี้มีร้านอาหารมากมาย และที่นั่งน่ากินหลายร้าน ฉันถูกใจร้าน Ima Dana ที่มีคนท้องถิ่นเข้าไปกินพอสมควร ฉันสั่งเบียร์ Lav เบียร์ท้องถิ่นของที่นั่น ปลาเทราท์และซุปปลา เพราะเป็นปลาจากแม่น้ำดานูบที่ถือว่าเป็นของขึ้นชื่อของที่นี่ สลัดพริกหยวกแดง และกาแฟปิดท้าย ที่นี่ราคาอาหารถือว่าถูกกว่ายุโรปตะวันตก แต่อาจจะสูงกว่านิดหน่อยหากเทียบกับราคาอาหารในภัตตาคารในบอสเนียฯ บรรยากาศของร้านนี้ค่อนข้างพิเศษ มีนักร้องและนักดนตรีสีไวโอลินและเชลโล่ให้ฟัง แต่ก็ต้องจ่ายสินน้ำใจให้เล็กน้อยหากต้องการขอเพลงโปรด โต๊ะข้างหน้าฉันที่มากันสามคน หนึ่งในนั้นเป็นชายมีอายุ ถูกใจเพลงที่ร้องไปสองสามเพลงได้ เขาจ่ายเงินให้เป็นการสมนาคุณ เช่นเดียวกับในบอสเนียฯ ร้านอาหารที่นี่ทุกคนสูบบุหรี่ได้โดยที่ไม่ต้องกังวลกับคนรอบข้าง

หลังจากกินข้าวเสร็จ ฉันเดินเล่นย่อยอาหารต่อที่ใกล้กับถนนช็อปปิ้งของเมือง ผ่านไปยังจตุรัสสาธารณรัฐ (Republic Square) ที่มีพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่กำลังปิดปรับปรุง และโรงละครแห่งชาติ ฉันเดินต่อไปบนถนน Vase Čarapića และเจอสวนสาธารณะเล็กๆ ชื่อ ‘สวนนักศึกษา’ (Student Park) หรืออีกชื่อ ‘สวนวิชาการ’ (Academic Park) ที่มีรูปปั้นนักคิดหรือนักวิชาการวางอยู่ในสวนหลายชิ้น เช่น รูปปั้นของ โจวาน ซวิยิช (Jovan Cvijić) นักภูมิศาสตร์และชาติพันธุ์วรรณา อดีตอธิบการบดีมหาวิทยาลัยเบลเกรด ที่นี่ดั้งเดิมเคยเป็นสุสานสมัยออตโตมัน และถูกแผ้วถางให้เป็นตลาดในเวลาต่อมา จนเมื่อชาวเซิร์บยึดครองเบลเกรด จึงได้เปลี่ยนตลาดให้กลายเป็นสวนสาธารณะเช่นในปัจจุบัน

ฉันเดินตัดกลับมาที่ถนนช็อปปิ้งและร้านค้า Kneza Mihaila อีกรอบ เพื่อดูความคึกคักของเมืองก่อนกลับที่พัก วันแรกของการมาถึงเบลเกรด สิ่งที่ฉันสัมผัสได้คืออารมณ์ความรื่นรมย์ของเมืองที่คนอยากให้เป็น ซึ่งต่างจากวันรุ่งขึ้นที่เบลเกรดให้อารมณ์ที่ต่างจากยามค่ำคืนที่มีแสงสีและบรรยากาศของชีวิตกลางคืน

เบลเกรด

บ่ายของอีกวัน ฉันเดินตามรอยสงครามโคโซโวที่ระบุไว้ในแผนที่ หากใครต้องการเห็นสภาพตึกที่ถูกทำลายโดยนาโตในเดือนพฤษภาคม 1999 เพื่อกดดันให้รัฐบาลเซอร์เบียถอนกำลังทหารและหยุดการโจมตีในจังหวัดโคโซโว ทางตอนใต้ของประเทศ
การสู้รบระหว่างเซิร์บในพื้นที่โคโซโวในทศวรรษที่ 1990 นั้นไม่ใช่สงครามที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในปี 1398 โคโซโวเป็นพื้นที่การสู้รบในนาม ‘สมรภูมิโคโซโว’ ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างจักรวรรดิเซอร์เบียนและออตโตมัน ทำให้นักการเมืองอย่างมิโลเชวิชเอามาสร้างกระแสความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติคือ เซิร์บ ที่เป็นคริสออธอดอกซ์และคนเชื้อสายโคซาวาร์ที่เป็นมุสลิม

ในบริบทการเมืองสมัยใหม่ ปัญหาในโคโซโวก่อตัวตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 เรียกได้ว่าเป็นปฐมบทของการแตกสลายของยูโกสลาเวียเลยก็ว่าได้ แต่โคโซโวกลับได้รับเอกราชหลังสุดคือ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2008 แม้กระทั่งได้เป็นประเทศเอกราชแล้ว ปัญหาระหว่างเซอร์เบียและโคโซโวก็ยังมีอยู่ ดังปัญหาเรื่องรถไฟข้ามแดนที่ฉันเล่าในตอนต้น

อารมณ์ของการเห็นเมืองใหญ่อย่างเบลเกรดอีกด้านที่มีตึกสูงแต่ดูทรุดโทรม เกิดความรู้สึกสงสารและเห็นใจ โดยเฉพาะบนถนน Kneza Milosa ซึ่งเป็นที่ตั้งของตึกบัญชาการกระทรวงกลาโหมที่โดนองค์กรนาโตถล่ม ฉันตกใจเล็กน้อยเพราะผุพังด้วยรอยสงครามที่คาดว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการปรับปรุง ตรงกันข้ามอีกฝั่งถนนเป็นสำนักงานสถานีวิทยุและโทรทัศน์เซอร์เบียที่ทรุดโทรมไม่แพ้กัน ฉันไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะรัฐบาลไม่มีงบที่จะทำอะไรกับตึกเหล่านี้ หรือตั้งใจให้เป็นอนุสรณ์สถาน เพราะด้วยสภาพหักพังที่มีเพียงแผงกั้นไม่ให้คนเข้าไปเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้เอาผ้าใบหรือสร้างโครงไม้ที่แข็งแรงมาพยุงป้องกันตึกถล่มลงมา คนก็เดินผ่านไปมาเป็นเรื่องปกติ ในส่วนของตึกสถานีวิทยุฯ ที่มีพื้นที่ว่างด้านข้างอาคาร ก็ได้กลายเป็นที่ติดป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่โฆษณาสินค้าไป

เบลเกรด
สำนักงานสถานีวิทยุและโทรทัศน์เซอร์เบียที่กลายเป็นพื้นที่โฆษณาสินค้า

ฉันลองไปหาข้อมูลว่าเหตุใดตึกสำคัญเหล่านี้ถึงถูกทิ้งไว้ ประดุจดั่งนาโตเพิ่งถล่มเบลเกรดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปที่นั่นหลายคนพูดถึงอยู่ในหน้าเว็บไซต์ และที่แสดงความเห็นตรงกันคือ รัฐบาลเซอร์เบียไม่เคยเปิดเผยว่าจะทำอย่างไรกับอาคารแผลเป็นจากสงครามนี้ บางคนมองว่าเป็นปัญหาด้านการเงินของรัฐบาลเซอร์เบีย บ้างเห็นว่ารัฐบาลต้องการให้ตึกเหล่านี้เป็นอนุสรณ์สถานย้ำเตือนความเลวร้ายของสงคราม และตบหน้านาโตที่กระทำเกินกว่าเหตุในการกดดันรัฐบาลเซอร์เบียให้หยุดโจมตีโคโซโว และบางคนบอกว่าเป็นการสร้างกระแสชาตินิยมเพื่อให้ภาพคนเชื้อสายเซิร์บที่ถูกรังแก

ในปี 2016 มีข่าวลืออย่างต่อเนื่องว่ารัฐบาลเริ่มโครงการรื้อตึกแต่ก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมหลังจากนั้น กลายเป็นว่าปัจจุบันตึกเหล่านี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเบลเกรด และบรรยากาศรอบตัวตึกเริ่มผ่อนคลายลง นักท่องเที่ยวหรือคนเดินผ่านสามารถถ่ายรูปได้ ซึ่งต่างจากในอดีตที่การถ่ายรูปอาจไม่สะดวกนัก เพราะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าตึกจับตามองอยู่ ช่วงที่ฉันเดินทางไปในปลายปี 2015 เกสต์เฮาส์ที่ฉันพักก็ให้แผนที่เมือง ที่ในแผ่นที่มีอาคารที่ถูกระเบิดเป็นหมุดหมายที่นักท่องเที่ยวควรไปเยี่ยมชมและเมื่อไปเดินดูสถานที่จริง การถ่ายรูปอาคารนั้นไม่มีปัญหาอะไร และก็เห็นว่านักท่องเที่ยวคนอื่นๆ ก็ถ่ายรูปกันเป็นปกติ

ความรู้สึกของฉันที่มีต่อเบลเกรดในช่วง 24 ชั่วโมงแรกคือ แม้จังหวะของเมืองทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างกำลังก้าวไปข้างหน้า ไปสู่ความเจริญและทันสมัย กระนั้น มีบางตอนที่จังหวะหยุดนิ่งและถอยหลังกลับ จังหวะการเต้นของหัวใจเมืองเร็วบ้างในบางครั้ง แต่บางคราก็อ่อนแรง รวยระรินหายใจของสงครามยังคงมีอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังเดินไปส่วนไหนของเมืองที่มีความซับซ้อนและหลากหลายทางประวัติศาสตร์

Author

บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล
อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.นเรศวร เมืองสองแคว ยังไม่ขวบปีดี ตั้งใจเอาดีเรื่องชายแดนไทย-พม่าจนเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยของประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเสรีภาพแห่งหนึ่งของโลก เรื่องราว 'สงครามบอสเนีย' และ 'นาโต้ถล่มโคโซโว' คือประสบการณ์การเดินทางที่ก่อรูปอย่างไม่รู้อนาคตจากข่าวต่างประเทศสมัยเด็กๆ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า