มีการค้นพบวิธีการผสมผสานดินเหนียวกับอุจจาระเพื่อทำเป็นวัสดุก่อสร้างรูปแบบใหม่ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้สร้างบล็อกอิฐที่มี ‘อุจจาระ’ – ของเสียจากมนุษย์ ผสมอยู่ 25 เปอร์เซ็นต์ รวมกับดินเหนียว จนพบว่าบล็อกอิฐที่ได้ออกมานั้นสามารถผ่านการทดสอบความแข็งแรงได้ นอกจากนี้ เนื้ออิฐยังมีรูพรุน เป็นฉนวนกันความร้อนได้ดีกว่าอิฐธรรมดา ซึ่งการผสมกากชีวภาพ ‘biosolid’ เข้ากับดินเหนียวเพื่อผลิตบล็อกอิฐนี้จะช่วยลดปริมาณของเสียที่จะถูกนำไปทิ้งหรือฝังกลบได้มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ กระบวนการผลิตอิฐชีวภาพยังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม เพราะใช้พลังงานน้อยกว่าในขั้นตอนการผลิต รวมถึงมีคุณสมบัติที่ดีสำหรับใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง
“นี่คือข้อเสนอในทางปฏิบัติและยังสร้างความยั่งยืนสำหรับการรีไซเคิลกากชีวภาพทั้งหมดที่เหลือทั่วโลก” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย RMIT ในออสเตรเลีย กล่าวถึงผลงานที่ถูกเผยแพร่ในวารสาร Buildings
การผลิตอิฐโดยทั่วไป อิฐจะถูกนำไปเผาในเตาที่อุณหภูมิสูงกว่า 2,500 F ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาล โดย อับบาส โมฮาเจรานี (Abbas Mohajerani) วิศวกรของ RMIT อธิบายว่า “การใช้กากชีวภาพในการผลิตก้อนอิฐอาจจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาและเป็นความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่” และเขายังบอกอีกว่า
“มันเป็นข้อเสนอที่สามารถทำได้จริงและมีความยั่งยืนสำหรับการรีไซเคิล biosolid ที่ปัจจุบันถ้าไม่นำไปกองเก็บไว้ก็ถูกนำไปฝังกลบตามที่ต่างๆ ทั่วโลก”
อย่างไรก็ตาม การค้นพบวัสดุใหม่ครั้งนี้ยังต้องมีการวิจัยและศึกษาเพิ่มเติมก่อนจะเข้าสู่กระบวนการผลิตในระดับอุตสาหกรรม แต่ด้วยวิทยาการใหม่ๆ แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่ของเสียจากร่างกายจะถูกใช้ประโยชน์มากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีงานวิจัยคล้ายๆ กันโดยการนำปัสสาวะของมนุษย์เป็นส่วนผสมในการทำอิฐ
นักศึกษาจากเคปทาวน์ (Cape Town) แอฟริกาใต้ ได้ทำการทดลองโดยเก็บของเสียจากโถปัสสาวะในมหาวิทยาลัย นำมาผสมกับทรายและแบคทีเรีย กระบวนการที่เรียกว่าการตกตะกอนของจุลินทรีย์คาร์บอเนต จะช่วยช่วยให้สมารถผลิตวัสดุก่อสร้างได้ในอุณหภูมิห้อง โดยไม่ต้องเข้าเตาเผาที่อุณหภูมิสูงเหมือนการผลิตอิฐแบบเก่า