การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล อาจทำให้ ‘ปลาหมอคางดำ’ ระบาดมากขึ้น

ข่าวสิ่งแวดล้อมที่โด่งดังที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 คงหนีไม่พ้น ‘ปลาหมอคางดำ’ สัตว์ต่างถิ่นรุกรานจากทวีปแอฟริกาที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทยด้วยวิธีการปริศนา ก่อนจะแพร่กระจายลงสู่ลุ่มน้ำหลายแห่ง แล้วระบาดสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศและการทำประมงอย่างรุนแรง แต่หลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ชื่อของปลาหมอคางดำก็หายไปจากหน้าสื่อเอาเสียดื้อๆ ราวกับถูกอำนาจมืดนำผ้าคลุมล่องหนมาปิดบังไว้

แม้จะมีรายงานว่าจำนวนของปลาหมอคางดำเริ่มลดลงแล้วในบางลุ่มน้ำ แต่เราก็ไม่ควรประมาท เพราะพวกมันยังคงแหวกว่ายอยู่ในแหล่งน้ำและรุกรานระบบนิเวศหลายแห่งโดยไม่หายไปไหน และในวาระที่ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว ผมจึงอยากชวนผู้อ่านมาคาดเดาด้วยทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่าการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลหนึ่งไปสู่อีกฤดูกาลหนึ่งอาจช่วยเร่งให้ปลาหมอคางดำกระจายพันธุ์ง่ายขึ้นได้อย่างไร

ประเทศไทยมี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งแต่ละฤดูจะมีลมฟ้าอากาศและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน เช่น

ฤดูร้อน

ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม มวลอากาศเย็นและแห้งจากประเทศจีนจะเคลื่อนที่มาพบกับมวลอากาศร้อนและชื้นของประเทศไทย แล้วทำให้เกิด ‘พายุฤดูร้อน’ ซึ่งเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง (thunderstorm) ที่ทำให้เกิดลมกระโชก ฝนตก ฟ้าผ่า และลูกเห็บตก เป็นหย่อมๆ

ฤดูฝน

ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ประเทศไทยจะมีแนวโน้มเผชิญกับ ‘พายุหมุนเขตร้อน’ (tropical cyclone) ทำให้ฝนตกหนักเป็นวงกว้าง เกิดน้ำท่วมและดินถล่มในหลายพื้นที่

จำนวนพายุหมุนเขตร้อนเฉลี่ยรายเดือนและรายปี | ข้อมูล: กรมอุตุนิยมวิทยา

ฤดูหนาว

ช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ อุณหภูมิอากาศของประเทศไทยจะลดต่ำลง แต่ยังคงสูงกว่าอุณหภูมิอากาศในแถบซีกโลกเหนือ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอากาศจะกระตุ้นให้ ‘นกอพยพ’ บินหนีอากาศหนาวจากพื้นที่แถบละติจูดสูงลงมาพึ่งพิงไออุ่นบริเวณพื้นที่แถบละติจูดต่ำ

เป็ดพม่า (Tadorna ferruginea) เป็นนกอพยพที่เข้ามาประเทศไทยในช่วงฤดูหนาว | photo: Sergey Pisarevskiy

ผู้อ่านหลายท่านคงสงสัยแล้วว่า พายุฤดูร้อนและพายุหมุนเขตร้อนที่ทำให้เกิดฝนตกในฤดูร้อนกับฤดูฝน และการอพยพของนกในฤดูหนาว เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำอย่างไร?

คำตอบคือ ฝนที่ตกหนักเป็นเวลานานจะทำให้เกิด ‘น้ำท่วม’ ซึ่งมวลน้ำที่เอ่อล้นบนพื้นผิวโลกจะทำให้แหล่งน้ำธรรมชาติที่ปลาหมอคางดำอาศัยอยู่ เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำภายในเมืองและบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรได้ง่ายขึ้น โอกาสที่ปลาหมอคางดำจะแพร่กระจายเข้าไปสู่แหล่งน้ำอื่นๆ จึงมากขึ้นนั่นเอง

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างนกอพยพกับปลาหมอคางดำ เราจำเป็นต้องอาศัยความรู้วิชา ‘ปักษีวิทยา’ (ornithology) ซึ่งเป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับนก มาผสมผสานกับวิชา ‘มีนวิทยา’ (ichthyology) ซึ่งเป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับปลา กล่าวคือ นกอพยพหลายชนิดจะมีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงเพื่อหากินบริเวณแม่น้ำหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งหนึ่งในอาหารสุดโปรดของพวกมันก็คือปลา!!

ผู้อ่านลองจินตนาการว่ามีนกอพยพฝูงใหญ่กำลังบินหนีอากาศหนาวมายังประเทศไทย ขณะที่พวกมันอ่อนระโหยโรยแรงเพราะการบินทางไกลอยู่นั้น นกจ่าฝูงก็เหลือบมองลงไปด้านล่าง แล้วพบว่ามีบึงขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยปลาหมอคางดำที่กำลังแหวกว่ายอยู่อย่างสำราญใจ ทันใดนั้นนกจ่าฝูงก็ส่งสัญญาณบอกเหล่าบริวารว่า “เฮ้ พวกเราแวะเติมพลังที่นี่กันเถอะ”

นึกภาพออกใช่ไหมครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ใช่ครับ เหล่านกอพยพจะโฉบลงมาจิกกินปลาหมอคางดำ ซึ่งจะต้องมีนกส่วนหนึ่งคาบปลาหมอคางดำตัวเล็กๆ ขึ้นไปบนท้องฟ้า แล้วเผลอทำเหยื่ออันโอชะร่วงลงมาด้านล่าง ถ้าปลาหมอคางดำตกลงมาหัวกระแทกพื้นตายคาที่ก็ว่าไปอย่าง แต่ถ้ามันหล่นลงไปในแหล่งน้ำที่อยู่ห่างออกไปแล้วรอดตาย พวกมันก็จะรุกรานแหล่งน้ำแห่งนั้น

กรณีคล้ายกันที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ นกบางตัวกลืน ‘ไข่ของปลาหมอคางดำ’ เข้าไปในท้อง และไข่ปลาเหล่านั้นมีระยะพักตัว (diapause) ที่สามารถทนทานต่อสภาวะภายในระบบทางเดินอาหารของนกได้ เมื่อไข่ปลาถูกถ่ายออกมาพร้อมกับอึนก ไข่ปลาดังกล่าวอาจฟักออกมาเป็นตัวได้ เรียกว่า การกระจายพันธุ์โดยการเกาะติดภายใน (endozoochory)

ยังไม่หมดนะครับ เพราะไข่ของปลาหมอคางดำอาจเกาะติดไปบนเส้นขน ผิวหนัง อวัยวะภายนอกของสัตว์ หรือแม้กระทั่งเครื่องจักรที่มนุษย์นำไปใช้งานในแหล่งน้ำ เช่น เรือ เครื่องมือประมง เครื่องจักรขุดลอกตะกอน แล้วฟักออกมาเป็นตัวโดยไม่แห้งฝ่อไปก่อน เรียกว่า การกระจายพันธุ์โดยการเกาะติดภายนอก (exozoochory)

ทุกวันนี้ ปริศนาหลายข้อเกี่ยวกับปลาหมอคางดำยังคงไร้คำตอบ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะทางชีววิทยาของพวกมัน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ รวมถึง ‘ใคร’ เป็นคนนำพวกมันเข้ามา ซึ่งถ้ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ถูกแทรกแซง คำตอบของคำถามเหล่านี้จะถูกคลี่คลายได้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในสักวันหนึ่ง

ใช่หรือไม่ว่า… ขณะที่ปลาหมอคางดำกำลังกัดกินระบบนิเวศแหล่งน้ำและการทำประมงจนย่อยยับ แต่กลุ่มคนที่ปล่อยให้พวกมันหลุดออกมากลับยังลอยนวลและไม่ได้รับโทษ เพราะพวกเขามักจะใหญ่เกินกฎหมายและถูกโอบอุ้มโดยภาครัฐเสมอ

อ้างอิง
  • David Allen Sibley. (2020). What It’s Like to Be a Bird: From Flying to Nesting, Eating to Singing–What Birds Are Doing, and Why.
  • Douglas E. Facey et al. (2022). The Diversity of Fishes: Biology, Evolution and Ecology (3rd Edition).
  • พิชยา ณรงค์พงศ์. (2555). มีนวิทยา.
  • สุรกานต์ พยัคฆบุตร. (2557). ปักษีวิทยา.
  • กรมอุตุนิยมวิทยา. (2566). พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย รายเดือน คาบ 72 ปี (พ.ศ. 2494-2565).
  • กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (2553). คู่มือเรื่องนกอพยพ.

สมาธิ ธรรมศร
นักสื่อสารวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านฟิสิกส์ประยุกต์ โลกศาสตร์ และดาราศาสตร์ ที่ชื่นชอบการเดินป่า เที่ยวพิพิธภัณฑ์ และฟังเพลงวงไอดอล

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า