‘สนามหญ้า’ สายพันธุ์ดัดแปลง

bluegrass 01

แปลและเรียบเรียง : เทพพิทักษ์ มณีพงษ์

 

หลังจากซุ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับหญ้าสายพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่อยาฆ่าแมลง บริษัท Scotts Miracle-Gro ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสนามหญ้าและพืชสวนในสหรัฐอเมริกาได้เดินหน้าทดสอบไปอีกขั้น ด้วยการให้พนักงานของบริษัททดลองนำหญ้าดัดแปลงพันธุกรรม (GMO) สายพันธุ์นี้ไปปลูกที่สนามหญ้าในบ้านของตัวเอง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าหญ้าจีเอ็มโอเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ร้ายแรงขึ้นกว่าเดิม

 

หญ้าสายพันธุ์ Kentucky Bluegrass ที่บริษัทนำมาดัดแปลงพันธุกรรมถูกให้มีความคงทนต่อยาฆ่าหญ้าวัชพืชยี่ห้อ RoundUp ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Monsanto บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรกรรมของสหรัฐอเมริกา หลังจากทั้งสองบริษัทได้ทำข้อตกลงร่วมกันในการพัฒนาเมล็ดหญ้าที่ทนทาน และคาดว่าหญ้าตัดต่อพันธุกรรมสายพันธุ์นี้จะสามารถวางจำหน่ายให้กับผู้บริโภคทั่วไปได้ภายในปี 2016

 

ก่อนหน้านี้ Scotts เคยทำการทดสอบด้วยวิธีเดียวกันนี้มาแล้ว แต่ในหญ้าสายพันธุ์ Bentgrass ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมและนำไปปลูกนั้นมีละอองเกสรที่เบาจนทำให้มันถูกลมพัดจากพื้นที่ที่ปลูก บริษัทจึงต้องยกเลิกโครงการไปและเปลี่ยนมาใช้หญ้าสายพันธุ์ Kentucky Bluegrass แทน เนื่องจากมีละอองเกสรที่หนักกว่าและควบคุมได้ง่ายกว่า

 

โดยทั่วไปแล้ว การทดสอบการปลูกพืช GMOs ต้องถูกควบคุมพื้นที่และอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (United States Department of Agriculture; USDA) แต่สาเหตุที่ Scotts สามารถให้พนักงานนำเมล็ดพันธุ์ของหญ้าชนิดนี้ไปทดลองปลูกที่บ้านเองได้นั้นเป็นเพราะช่องโหว่ของกฎหมาย ที่ USDA ระบุไว้ว่าหญ้า Kentucky Bluegrass ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมไม่ได้เป็นวัชพืชที่เป็นอันตรายตามที่มีผู้ยื่นคำร้องกล่าวอ้าง รวมถึงหญ้าชนิดนี้ยังไม่ได้มีการใช้เชื้อที่ทำให้เกิดโรคในพืชมาตัดต่อในสารพันธุกรรมเดิมของหญ้า ดังนั้นจึงไม่อาจจัดได้ว่าเป็นพืชที่ติดเชื้อ และ USDA ไม่สามารถเข้าไปควบคุมหรือกำกับดูแลได้

 

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หญ้าของ Scotts สามารถรอดพ้นจากการควบคุมของ USDA เนื่องมาจากกฎหมายในการควบคุมพืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ออกมาในช่วงปี 1980 ซึ่งในขณะนั้นความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของการดัดแปลงพันธุกรรมจากกระบวนการพันธุวิศวกรรมยังไม่มีมากเพียงพอ แต่ในปัจจุบัน การใช้เกณฑ์เพื่อควบคุมพืชจีเอ็มโอ โดยดูจากการนำยีนจากเชื้อโรคมาตัดต่อเข้ากับยีนของพืชเป็นเรื่องที่ล้าสมัยแล้ว เพราะการนำยีนจากสารที่ไม่ใช่เชื้อโรคมาตัดต่อก็ไม่ได้มีความเสี่ยงแตกต่างไปกว่ากันเลย และบริษัทต่างๆ ต่างใช้ช่องโหว่นี้ในการทดสอบพืชโดยไม่ต้องถูก USDA ควบคุม

 

 

Scotts employee

 

เสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้บริโภคและผู้เชี่ยวชาญเป็นกังวลว่าหากหน่วยงานรัฐของสหรัฐอเมริการับรองความปลอดภัยของหญ้าชนิดนี้ อาจทำให้ปริมาณการใช้งาน RoundUp และยาฆ่าวัชพืชชนิดอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ การนำหญ้าที่ยังไม่ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานรัฐนำมาปลูกทั่วไปที่สนามหญ้าของพนักงาน อาจจะทำให้เกิดการปนเปื้อนของยีนพืชจีเอ็มโอในสิ่งแวดล้อมได้ และอาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่ทางบริษัทจะต้องทำการควบคุมและแก้ไข แม้ว่าละอองเกสรจะหนักแค่ไหนก็ตาม อีกทั้งยังมีรายงานที่ยืนยันว่า การแพร่กระจายของยีนในพืชจีเอ็มโอสู่สิ่งแวดล้อมและพืชอื่นๆ เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และมีแนวโน้มว่าการปนเปื้อนของหญ้าสายพันธุ์อึดชนิดนี้ จะไปถึงในทุกๆ สนามหญ้า สวน และ แนวหญ้าริมถนน รวมถึงทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ต่างๆ ที่ถูกเลี้ยงในระบบออร์แกนิกส์ โดยเฉพาะวัว

 

นอกจากเกษตรกรกลุ่มนี้จะเสี่ยงต่อการถูกยึดประกาศนียบัตรหรือใบอนุญาตในการเลี้ยงสัตว์แบบออร์แกนิกส์ แต่ยังส่งผลถึงสัตว์ต่างๆ ที่กินหญ้าชนิดดัดแปลงพันธุกรรมเข้าไป และ สัตว์เหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นอาหารแก่มนุษย์ในท้ายที่สุด

 

 

grass 02

 

สถานการณ์ของผลิตภัณฑ์ตัดต่อพันธุกรรมในสหรัฐอเมริกาเริ่มน่าเป็นห่วงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากหลายรัฐในสหรัฐอเมริกาเริ่มผ่านกฎหมายในการควบคุมสินค้าตัดต่อพันธุกรรมและเริ่มมีเสียงต่อต้านจากบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ และรวมถึงทั้ง Scotts และ Monsanto ที่เป็นสองสมาชิกของกลุ่ม Grocery Manufacturers Association (GMA) ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวบรวมผู้ประกอบการรายต่างๆ เพื่อลงขันกันฟ้องหน่วยงานของรัฐที่กำลังออกกฎหมายเพื่อควบคุมสินค้าจากบริษัทเหล่านี้

 

และเร็วๆ นี้ กลุ่ม GMA กำลังจะยื่นฟ้องรัฐเวอร์มอนต์ให้ยกเลิกกฎหมายที่บังคับให้ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอต้องมีการแปะฉลากเพื่อประโยชน์และเป็นข้อมูลแก่ผู้บริโภค ท่ามกลางการตอบโต้ของกลุ่มผู้บริโภคที่นำโดย Organic Consumers Association ในการรณรงค์ให้บอยคอตต์สินค้าจากผู้ผลิตที่เป็นสมาชิกของ GMA

 

 

*************************************

ที่มา: dispatch.com,alternet.org

logo

Author

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ
หญิงแกร่งที่ทำงานทั้งหน้าบ้านและหลังบ้านให้กับ WAY ถ้าเป็นนักฟุตบอลนี่คือผู้เล่นผู้จัดการทีมที่มีประสบการณ์ในสายงานข่าว ทั้งคลุกคลี สัมภาษณ์ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ นอกจากนี้การเป็นคุณแม่ซึ่งมีลูกสาวย่างเข้าวัยรุ่นยังช่วยส่งเสริมให้สามารถปั่นงานด้านเด็กและเยาวชนอย่างเชี่ยวชาญ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า