พ้นไปจากความงามเรื่องการเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบของแถวฟัน เหตุผลหนึ่งในการจัดฟันมีว่า เพื่อการทำความสะอาดช่องปากที่ง่าย ฟันที่เป็นระเบียบทำให้สีแปรงเข้าไปซอกซอนตามช่องฟันได้สะดวก เช่นนั้นแล้วจะลดการสะสมแบคทีเรียในช่องปาก เป็นผลให้เรารักษาสุขลักษณะของช่องปากได้ในระยะยาว
แต่หากถามหมอฟันที่เชี่ยวชาญด้านจัดฟันและขากรรไกร (Orthodontist) พวกเขาอาจยกดีเบตและงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ชี้ว่า หนึ่ง-การจัดฟันไม่ได้มีส่วนช่วยให้การแปรงฟันหรือรักษาช่องปากได้ง่ายขึ้นเท่าใดนัก และสอง-ผลลัพธ์ของการจัดฟัน อาจตามมาด้วยปัญหาเกี่ยวกับช่องปากและเหงือกได้
ข้อถกเถียงที่หนึ่ง
โจเซฟ เนเมธ (Joseph Nemeth) ทันตแพทย์เฉพาะทางโรคเหงือก เมืองเซาธ์ฟิลด์ (Southfield) มิชิแกน อธิบายว่า การเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบของฟันไม่ได้มีผลต่อการทำความสะอาดช่องปาก ‘เท่าใดนัก’ เว้นแต่การโย้เย้ของฟันจะมากเสียจนเป็นอุปสรรคต่อการแปรงฟันจริงๆ ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ของวัยรุ่น ไม่ได้มาจากสาเหตุนี้ แต่เป็นเรื่องความสวยงามที่พัวพันกับรูปหน้าเป็นส่วนใหญ่
นอกจากนี้ เหล็กดัดฟันยังเป็นอุปสรรคในการรักษาความสะอาดของช่องปากระหว่างการดัด ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบให้ต้องรักษากันยาวนานกว่าช่วงเวลาที่ต้องดัดฟันก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ตามมาจากการดัดฟันที่ทำให้เกิดเป็น…
ข้อถกเถียงที่สอง นั่นก็คือปัญหาสุขภาพปากและโรคเหงือกที่ตามมา
เนเมธบอกว่า เพราะแรงดึงจากการดัดฟัน มีผลให้เหงือกนั้นถูกดึงรั้งตามไปด้วย ผลวิจัยเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างการดัดฟันและโรคเหงือก ศึกษาผู้ที่ดัดฟันจำนวน 251 คน พิจารณารูปช่องปากก่อนและหลังดัดฟัน วัดคราบแบคทีเรียบนผิวฟัน การติดเชื้อของช่องปากที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด และโรคเหงือกร่น
ผลวิจัยชี้ว่า ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งก่อนและหลังการรักษาในคนไข้ที่ใส่เครื่องมือจัดฟันแบบ fuctional appliance (เครื่องมือควบคุมการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกร) ส่วนคนไข้ที่จัดฟันแบบติดแน่น พบว่าระดับคราบพลัค การอักเสบของเหงือก และภาวะเหงือกร่น จะเพิ่มสูงขึ้นภายหลังจากการดัดฟัน แต่ชนิดของการอักเสบไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังพบว่าตำแหน่งของฟันหน้าล่างสัมพันธ์กับการร่นของเหงือกในคนไข้ที่จัดฟันแบบติดแน่นที่ต้องมีการถอนฟัน โดยพบว่า ตำแหน่งที่พบการร่นของเหงือกมากที่สุดคือฟันเขี้ยว
เคลลี บล็อดเจ็ต (Kelly Blodgett) ทันตแพทย์ เมืองพอร์ตแลนด์ โอเรกอน เปรียบการดัดฟันว่าเหมือนการรัดเท้า หรือ ‘เท้าดอกบัว’ ของคนจีน และกล่าวว่าการดึงรั้งตลอดกระบวนการดัดฟันนั้น เป็นการเพิ่มความเครียดและความกดดันแก่กระดูกฟันและเหงือก เป็นไปได้ว่าอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ กระดูกฟันอ่อนแอ และเป็นเหตุให้เหงือกร่น จนนำไปสู่การติดเชื้อได้
บล็อดเจ็ตยกตัวอย่างกรณีของเธอว่า 10 ปีหลังจัดฟันเสร็จ เธอเสียเงินราว 2,500 ดอลลาร์ทำศัลยกรรมช่องปาก นำเนื้อเยื่อจากเพดานปากมาโปะบริเวณเหงือกใต้ฟันล่างซี่หน้า
อย่างไรก็ตาม เนเมธไม่ได้ชี้ว่าให้ทุกคนหยุดดัดฟันเสียเถอะ หากแต่ยกข้อเสนอให้ได้ถกเถียงกันว่า ทุกเคสทุกกรณีของช่องปาก จำต้องจบลงที่การดัดฟันเชียวหรือ และเสนอให้ก่อนที่จะตัดสินใจดัดฟัน จำเป็นต้องปรึกษาหมอฟันผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจด้วย
พร้อมแนะว่าหมอฟันที่เชี่ยวชาญด้านจัดฟันและขากรรไกรที่ดี จะดูผลรวมด้านการใช้งานของช่องปากโดยรวม มากกว่าเสนอให้ทำเพราะความสวยงาม
อ้างอิงข้อมูลจาก: vice.com
sciencedirect.com
ncbi.nlm.nih.gov