เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม (ป.ป.ส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข จัดอภิปรายภายใต้ประเด็น ‘การผ่อนปรนและแนวทางการควบคุมการใช้กัญชาทางการแพทย์’ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2561 โดยเชิญตัวแทนที่เกี่ยวข้องมาสะสางให้เกิดความกระจ่างต่อประเด็นสำคัญสองประการ คือ ‘ผ่อนปรน’ และ ‘ควบคุม’ การใช้กัญชาทางการแพทย์ อย่างไรกันแน่ที่จะเป็นอนาคตต่อไปของ ‘กัญชา’
วิชัย ไชยมงคล รองเลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ความเป็นมาของร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดฉบับนี้ เริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2557 โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข (ศอ.ปส.สธ.) ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายยาเสพติด เพื่อให้มีการผ่อนปรนการนำยาเสพติดที่เป็นประโยชน์มาใช้
จากนั้นในปี 2559 ทาง UN ก็ได้ดำเนินการประชุมและแนะนำกับภาคีว่า กำหนดให้มีบทลงโทษที่เหมาะสม ทำให้มีการร่างแก้ไขประมวลกฎหมายฯ จากเดิมคือประหารชีวิต หากมีการนำเข้ายาเสพติดมาในราชอาณาจักร ส่งผลให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงมีการปรับร่างประมวลกฎหมายใหม่ และมีการนำร่างกฎหมายยาเสพติดที่กระจัดกระจายมาประมวลยกร่างขึ้นใหม่
“ขณะนี้กำลังอยู่ในชั้นที่สองของการพิจารณา ซึ่งมีข้อยกเว้นว่า ถ้าเป็นการเสพเพื่อการรักษาโรคสามารถทำได้ และมีการผ่อนปรนการใช้ยาเสพติดประเภท 5 ในมาตรา 57 แต่ก็ยังเน้นเรื่องการใช้เพื่อรักษาโรค นอกจากนั้นยังมีการกำหนดพื้นที่ปลูกเพื่อการทดลอง และตามปริมาณที่กำหนดเพื่อการรักษา”
นอกจากนี้ ป.ป.ส. ยังผ่อนปรนให้มีการเสพพืชกระท่อมตามวิถีชาวบ้าน โดยกำหนดเป็นพื้นที่เฉพาะ เช่น ในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม กระท่อมยังถือเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 อยู่ ซึ่งวิชัยทิ้งท้ายว่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่รัฐบาลคิดไว้ตั้งแต่สองปีก่อนการประกาศของ UN ทว่าเมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกหนึ่งใน UN ประเทศไทยจึงจำต้องปฏิบัติตามกรอบที่ทาง UN กำหนดไว้
ขณะที่ นพ.โสภณ เมฆธน ประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า
“เรารู้ว่ากัญชามีประโยชน์อย่างมากทางการแพทย์ แต่ถามว่ามีโทษไหม แน่นอนว่ามี ถ้ามีการใช้ในวัยรุ่นก็อาจส่งผลให้เกิดอาการทางจิต ประกอบกับนานาชาติยังกำหนดว่ากัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ ดังนั้น อะไรที่มีทั้งประโยชน์และโทษ เราต้องปรับเพื่อให้เป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อประชาชน ซึ่งถ้าเราแบ่งเป็นสามกลุ่มก็จะชัดเจนว่า หนึ่ง-กัญชามีประโยชน์ในการรักษาโรค อีกกลุ่มหนึ่งคือเราต้องเริ่มในสัตว์ทดลองเพื่อดูว่าต้องใช้ในปริมาณเท่าไร เช่น ใช้สำหรับรักษามะเร็งอย่างเดียว แต่แน่นอนว่ามีผลข้างเคียง เพราะฉะนั้นต้องระวังวิธีการดูแล เพราะในสังคมมีทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่คัดค้าน ซึ่งเราต้องหาทางที่เดินไปด้วยกัน
“ดังนั้นการนำไปใช้เราจึงไม่ควรเรียกว่าเป็นการปลดล็อค แต่เป็นเพียงการคลายล็อค ควรเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นการคลายล็อคทางด้านกฎหมาย แล้วจึงคลายล็อคทางด้านการแพทย์ เมื่อกฎหมายอนุญาต ก็ต้องพิจารณาต่อว่าทางการแพทย์จะนำไปใช้อย่างไร”
ทั้งนี้ นพ.โสภณ ยังกล่าวเสริมในประเด็นข้อกังวลที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ปล่อยให้ 11 บริษัท ยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชานั้น ได้ให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษาเพิ่มเติมอยู่ เพราะสารสกัดจากพืชนั้นไม่สามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้
‘ปลด’ หรือ ‘ถอดถอน’
ขณะที่ ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายโดยยกตัวอย่างจากต่างประเทศที่มีการผ่อนปรนในแนวทางการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ไว้ว่า ประเด็นข้อถกเถียงในวงอภิปรายไม่ได้นำไปสู่ข้อสรุป เนื่องเพราะแต่ละคนไม่ได้มีแนวคิดในภาพรวม อนันต์ชัยมองว่าการใช้เพียงข้อมูลที่มีอยู่ไม่ทำให้เห็นทุกแง่มุม อีกทั้งยังไม่ได้ตั้งคำถามให้ชัดเจนระหว่างทาง
“เราไม่ได้ต้องการปลดล็อคกัญชาและกระท่อม เราต้องการถอดกัญชาและยาเสพติดโดยไม่มีเงื่อนไข คำถามคือเราต้องการอะไรกันแน่ เราต้องการทางออกของสังคมกับความคาดหวัง ทางออกคือ เราต้องการเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ใช่ไหม เราไม่ใช้ในการสันทนาการใช่ไหม ถ้าเราต้องการเข้าถึงกัญชาทางการแพทย์ เรากำลังจะเข้าถึงผลิตภัณฑ์กัญชา แล้วมันมาจากไหน ปลูกเองหลังบ้านหรือเปล่า ซึ่งเราต้องตัดสินใจก่อนว่าเราอยากรักษาตัวเองแบบกระท่อมเลยหรือได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”
นอกจากนี้ ภก.อนันต์ชัย ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่ควรจะคุยกันคือ การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือ medical purpose ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดการควบคุมแผนการทดลองในที่สุด ซึ่งประเด็นการตั้งเป้าหมายการนำกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ สำหรับในต่างประเทศได้ขึ้นตำรับเป็นยาที่สามารถนำไปผสมในอาหาร เครื่องสำอาง รวมถึงในผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการ อย. กล่าวว่า กฎหมายปัจจุบันที่ใช้กันอยู่มีมาตรการในการห้ามผลิตและจำหน่ายยาเสพติดประเภท 4 และ 5 เว้นแต่รัฐมนตรีจะเห็นชอบเป็นรายๆ ขั้นตอนจริงๆ โดยรวมคือ สามารถผลิตได้ แต่เสพไม่ได้ แต่ตอนนี้มาถึงขั้นตอนที่สามารถทดลองแปรรูปในสัตว์ทดลองได้ ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ได้ ซึ่งในการผลิตก็ต้องมีผู้อนุญาต
“แนวคิดที่เราเห็นตรงกันคือ จะนำมาใช้ในทางการแพทย์และการวิจัย เราค่อนข้างคาดหวังว่าร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดของ สนช. จะต่อเนื่องไปถึงการวิจัยในคลินิก ประเด็นเพิ่มเติมก็คือว่า การที่จะใช้เสพเพื่อรักษาโรค ได้มีการแก้ไขในจุดอ่อนในเรื่องของการใช้ในแพทย์แผนไทย”
ประเด็นสำคัญต่อมาคือ เรื่องของกรอบเวลา เลขาธิการ อย. ประมาณการไว้ว่า ในเดือนธันวาคม ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติด จะแล้วเสร็จ ซึ่ง อย.ได้เตรียมดำเนินการด้วยการยกร่างกฎกระทรวงเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เนื่องจากพิจารณาแล้วว่า พ.ร.บ.นี้จะตอบโจทย์ในหลายๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม ร่างที่เสนอ ครม. นั้น ทาง อย.เสนอให้มีคณะอนุกรรมการมาดูแลเรื่องของแพทย์แผนไทยเฉพาะเรื่องนโยบาย และเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์
ส่วนของกรมการแพทย์ ซึ่งอาจเป็นปลายทางของการนำกัญชาไปใช้เพื่อเป็นยารักษา ไม่ใช่ยาเสพติด นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจงไว้ว่า การนำไปใช้ต้องมีข้อบ่งใช้ด้วยวิธีมาตรฐาน แพทย์ผู้สั่งต้องมีใบประกอบวิชาชีพ ต้องขึ้นทะเบียน ไม่ใช่ว่าทุกโรงพยาบาลในประเทศไทยจะสามารถทำได้ เพราะจะมีการติดตาม มีบันทึกการสั่งใช้ ต้องบอกข้อดีและข้อเสียกับคนไข้ รวมถึงต้องมีการยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรว่าใช้เพื่อการวิจัย
“เรารู้ว่ากัญชามีสายพันธุ์และส่วนผสมของสารเคมีที่แตกต่างกัน ต้องทราบปริมาณและอัตราส่วน ผู้วิจัยหลักต้องเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในโรคนั้น มีความพร้อมในการดูแลอาสาสมัคร ถามว่าถ้าสนใจอยากจะใช้ ตอนนี้เรากำลังเขียนให้เป็นโครงร่างวิจัยต้นแบบแล้วมาร่วมกันทำ”
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรมการแพทย์จะเน้นเพียงแค่สองอย่าง นั่นคือ หนึ่ง-ประโยชน์ต้องได้กับคนไข้ ไม่ใช่คนสกัด สอง-คนไข้ต้องปลอดภัย ถ้ายึดสองข้อนี้เป็นหลัก ปลายทางเรื่องการนำกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์จึงจะสามารถคุยกันต่อได้
“อยากปรับ อยากแก้ อยากเสนออะไร ผมยินดี และอีกครั้งครับ เรายินดีที่จะรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อให้คนได้ประโยชน์สูงสุด”
การวิจัยและผลิตสารสกัดกัญชา
หากมีการนำไปใช้ทางการแพทย์เป็นผล การนำน้ำมันกัญชาไปใช้เพื่อผลิตออกมาเป็นตัวยา จึงนำมาสู่การนำเสนอของ ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ในฐานะตัวแทนขององค์การเภสัชกรรม ได้กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการทำโครงการนำร่องเพื่อผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขึ้นมาก่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนจากพืชสมุนไพรยาเสพติด สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ได้สายพันธุ์กัญชาไทยที่สมบูรณ์แข็งแรง มีปริมาณสารสำคัญที่สามารถใช้เป็นยาได้ และผลิตกัญชาเป็นยารักษาโรคที่ยาแผนปัจจุบันรักษาไม่ได้ผล
“ในขณะนี้ ต้นกัญชาที่เป็นวัตถุดิบเราไม่สามารถปลูกได้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดการศึกษาวิจัย เราต้องไปรับของกลางมาจำนวนหนึ่ง ในส่วนขององค์การเอง เรามีความพร้อมในการวิจัยและพัฒนาสารสกัด และมีงานวิจัยและทีมงามเพียงพอที่จะดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ออกมาให้ผู้ป่วยและให้คุณหมอในการทดลองทางอื่น ซึ่งในกระบวนการสกัด เรามีสถานที่เพื่อให้ได้เป็นโรงงานสารสกัดซึ่งกำลังเจรจากับ อย. และการเพาะปลูกเราจะใช้พื้นที่บริเวณดาดฟ้าอาคารดังกล่าว เพื่อให้เกิดการคัดเลือดสายพันธ์ุให้ได้สารสำคัญสูงสุด ในระดับอุตสาหกรรมต่อไป”
ภญ.นันทกาญจน์ทิ้งท้ายไว้ว่า องค์การเภสัชกรรมมีความตั้งใจที่จะมองหาพื้นที่ที่จะขยายออกไปเพื่อปลูกและทำโรงงานสารสกัดเพื่อให้สามารถรองรับกับผู้ป่วยได้เพียงพอ