หนึ่งในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะก็คือ คนส่วนใหญ่จะคิดว่ายาปฏิชีวนะเป็นยาที่ปลอดภัยมาก นอกจากจะสามารถหาซื้อรับประทานได้เองโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์แล้ว หลายคนไปไกลถึงขั้นวินิจฉัยโรคได้เองว่า ขณะนี้ตนกำลังติดเชื้ออะไรอยู่ แต่หารู้ไม่ว่า ผลกระทบที่จะตามมานั้นร้ายแรงเพียงใด
หลังจากการค้นพบยาปฏิชีวนะและมีการใช้อย่างแพร่หลายในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ผ่านมาไม่เกินสองชั่วอายุคน ปี 2014 องค์การอนามัยโลกประกาศว่า โลกได้เข้าสู่ยุคที่ยาปฏิชีวนะสูญเสียคุณสมบัติในการรักษาโรคแล้ว
สำหรับประเทศไทย คาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาอยู่ที่ราว 20,000-38,000 คนต่อปี มากกว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ซึ่งอยู่ที่ปีละกว่า 10,000 ราย 2-4 เท่า
โดยช่วงวัยที่น่าเป็นห่วงที่สุดขณะนี้คือ เด็กและเยาวชน เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดแล้ว ยังเป็นตัวกระจายเชื้อแบคทีเรียดื้อยา เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่
ในช่วงฤดูฝนของทุกปี มักจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้ปกครองต้องเป็นกังวลกับสุขภาพของเด็กๆ เพราะทั้งอาการปอดบวม ไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus เป็นสาเหตุของอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ) ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปาก ล้วนระบาดในช่วงนี้แทบทั้งสิ้น
คำแนะนำจากกุมารแพทย์ถึงบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองก็คือ ในเมื่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียไม่ได้ เราก็ต้องอยู่ด้วยกันอย่างกัลยาณมิตร ต้องรู้แน่และจำเป็นจริงๆ เท่านั้นจึงจะกินยาต้านแบคทีเรีย และไม่ควรซื้อหายาเหล่านี้มารับประทานเอง
เชื้อดื้อยาในเด็ก
สำหรับแนวทางการรักษาเชื้อดื้อยาในผู้ป่วยเด็ก รศ.พญ.ดร.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หนึ่งในคณะทำงานสร้างเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (สยส.) ให้คำแนะนำว่า อาจต้องให้ยาที่ออกฤทธิ์แรงกว่าเดิม ซึ่งมีราคาแพง และมีผลข้างเคียงมากกว่ายาปฏิชีวนะทั่วไป ระยะเวลาให้ยาก็จะนานขึ้น แต่โดยทั่วไป ถ้าเชื้อไม่ได้เข้าไปในเยื่อหุ้มสมอง ส่วนใหญ่จะรักษาหายได้
“จะมีปัญหาในเชื้อกลุ่มที่เข้าไปในเยื่อหุ้มสมอง ถ้าติดเชื้อในเลือดหรือในปอด ส่วนใหญ่จะรักษาได้ ถึงจะเป็นสายพันธุ์ดื้อยาก็เพิ่มขนาดยาได้ แต่ตำแหน่งที่ยาจะแทรกซึมผ่านเข้าไปได้ยากอย่างสมอง ก็จะรักษาค่อนข้างยาก” วารุณีกล่าว
การสู้กับเชื้อดื้อยานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เคยรับการรักษาหายแล้ว พอให้ยาที่ออกฤทธิ์กว้าง ก็จะมีปัญหาตามมาคือ เชื้อในร่างกายจะเริ่มดื้อยา พอครั้งถัดๆ มาจะรักษาไม่ค่อยได้ พอรักษาไม่ได้ เลยต้องใช้ยาแพงขึ้น ยาที่แพงมากๆ บางตัวแพงกว่าทองคำ โดยวารุณีให้ข้อมูลว่า ยาต้านแบคทีเรียตัวหนึ่งหนัก 15 กรัมเท่าทองคำหนึ่งบาท แต่มีราคาเกือบ 600,000 บาท
ไม่เฉพาะในเด็ก เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัยใด ก็สามารถหาซื้อยาปฏิชีวนะเหล่านี้ได้จากร้านขายยาทั่วไป ซึ่งต่างจากในหลายประเทศ ที่จะใช้ได้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
ในต่างประเทศ ถ้าจะซื้อยากลุ่มนี้ ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น แต่บ้านเราเดินเข้าไปซื้อได้เลย ด้วยความเข้าใจว่ายานี้มันไม่มีปัญหา ไม่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งถ้าทุกคนใช้กันหมด แล้วดื้อยา แล้วเด็กๆ ที่เกิดใหม่ ยังไม่ต้องทำอะไรเลย ก็ไม่มียารักษาแล้ว เราไม่มีกฎหมายควบคุมตรงนี้
แม้ประเทศไทยจะมีบุคลากรด้านสาธารณสุขคอยให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง แต่ถ้ากฎหมายไม่เอื้อ หรือโครงสร้างระบบสุขภาพยังไม่เอื้อ วารุณีมองว่า เป็นเรื่องยากที่จะแก้ปัญหาได้ครบถ้วน นอกจากนี้ คนไทยน่าจะลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ โดยเน้นไปที่การป้องกันและติดตามอาการมากกว่ารอให้อาการปรากฏชัดเจนแล้วจึงตัดสินใจไปโรงพยาบาล
“ยกตัวอย่าง ในต่างประเทศ อยู่ๆ คุณรอให้ป่วยแล้วค่อยไปหาหมอ ไม่มีทางเลย คุณจะต้องนัดล่วงหน้า แม้แต่เคสฉุกเฉินก็อาจจะต้องรอนาน หรือเสียค่าใช้จ่ายสูง ฉะนั้น คนจะเน้นการดูแลสุขภาพ และพยายามดูแลตัวเองเบื้องต้น ถ้าเป็นอะไรก็ต้องติดตาม หรือให้การป้องกัน
“แต่ในประเทศไทย ถ้าป่วยเมื่อไหร่ ก็เดินเข้าไปหาหมอได้เลย ซึ่งบางครั้งก็อาจจะป่วยหนักแล้ว พอหนักแล้ว ตอนนี้ก็ไม่ฟังอะไรแล้ว มีอะไรก็ต้องให้ทุกอย่าง แต่ถ้าเราดูแลมาตลอดตั้งแต่ต้น แล้วก็มีการติดตามสุขภาพ ไปรับวัคซีน ปัญหาแบบนี้น่าจะลดลง”
ขณะนี้ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะหลายตัว ผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่าไม่มีประโยชน์ และต้องถอนทะเบียนออกจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด แต่ด้วยขั้นตอนดำเนินการที่ไม่ทันสถานการณ์ การเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้ปกครองและผู้บริโภคเองเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยหนึ่งในยาเด็กยอดฮิต คือยาแก้อาการถ่ายเหลว ซึ่งวารุณียืนยันว่าไม่ควรใช้ เพราะนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์ ยังอาจก่อปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มเข้าไปอีก
“ยาปฏิชีวนะสำหรับแก้อาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ ต้องพยายามเลี่ยง เกือบทุกตัวไม่มีประโยชน์เลย ก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาด้วย แต่ถ้าถ่ายเป็นมูกเลือด ก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อเพาะเชื้อดูก่อน” วารุณีกล่าว
ถึงเวลาทบทวนยาต้านแบคทีเรียไม่เหมาะสม
หลังจากงานแถลงข่าว ‘เปิดบัญชียายอดแย่ที่ควรถอดออกจากประเทศไทย’ เมื่อ 23 มิถุนายน 2559 ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวบรวมข้อเสนอในการจัดการปัญหายาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสมเพื่อการแก้ปัญหายาต้านแบคทีเรียอย่างครบวงจร
เป้าหมายใหญ่ของเราคือ มุ่งเน้นให้เกิดการทบทวนทะเบียนตำรับยากลุ่มยาต้านแบคทีเรียที่ไม่เหมาะสม ซึ่งก็คือการใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เกินจำเป็น และใช้แล้วไม่มีประสิทธิผล
“สูตรที่ทำให้ใช้แล้วไม่มีประสิทธิผล เราต้องยกเลิก เช่น ยาอม อมไปแล้วไม่ได้ฆ่าเชื้อ แต่มันทำให้เกิดปั่นป่วนในเชื้อทางเดินอาหาร เกิดการดื้อยาเกิดขึ้น หรือยาสูตรท้องเสียเยอะแยะไปหมด ซึ่งไม่ได้ประสิทธิผลเลยในการรักษา แต่กลับไปทำร้ายเชื้อภายใน เรียกว่า เชื้อท้องถิ่นที่ดี หรือทำให้เกิดการดื้อยาโดยไม่จำเป็น ดีไม่ดีก็เกิดเป็นพิษ เกิดการแพ้ยา หรืออาจจะเป็นพิษถึงขั้นเป็นพิษต่อไต”
ข้อเรียกร้องของ กพย. ที่จะทำเรื่องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีสามประเด็นหลักๆ คือ
หนึ่ง ยาต้านแบคทีเรียทุกตัวต้องเป็นยาอันตราย ต่อไปนี้ห้ามไปอยู่ในร้านชำ ห้ามขายในร้านขายยาประเภท ข.ย. 2* ห้ามโฆษณาทางสื่อมวลชนทั้งหมด
สอง ให้ถอนทะเบียนตำรับยาสูตรยอดแย่ที่ผ่านการวิเคราะห์จากนักวิชาการแล้ว
สาม ยาบางประเภทที่ต้องการให้ถอดถอนด้วย คือยาที่มีข้อบ่งใช้ไม่ถูกต้อง หรือยาที่มีรูปแบบยาไม่ดี แพ็คเกจไม่ดี เช่น ซองยาที่มีหน้าตาเหมือนกัน ที่เรียกว่า ‘ยาฝาแฝด’
ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบรายชื่อยายอดแย่ที่มีส่วนผสมของยาต้านเชื้อแบคทีเรียได้ที่ thaidrugwatch.org
ผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านยา นิยดามีคำแนะนำสำหรับผู้บริโภคเพื่อป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาตั้งแต่วันนี้
หนึ่ง ผู้บริโภคห้ามซื้อยาต้านแบคทีเรียกินเองโดยเด็ดขาด เพราะเรายังวินิจฉัยโรคไม่ถูกต้อง เพราะการวินิจฉัยว่าเป็นอาการป่วยจากแบคทีเรียหรือไวรัสนั้นไม่ง่าย ฉะนั้น ห้ามซื้อยากินเอง โดยเฉพาะจากร้านชำห้ามซื้อเด็ดขาด
“สอง ถ้าได้รับยาใดๆ มา ไม่ว่าจากบุคลากรใดๆ ต้องถามเลยว่า เป็นยาปฏิชีวนะไหม หรือยาต้านแบคทีเรียไหม เราแพ้ยาอะไรหรือเปล่า จะเกิดอันตรายต่อร่างกายไหม เพราะบางคนแพ้โดยไม่รู้ตัวมาก่อน หรือบางคนกินแล้วอาจจะมีผลต่อร่างกาย
“ถ้ากินไปแล้วเกิดปัญหาใดๆ ต้องรีบรายงาน และผู้บริโภคควรช่วยกันเฝ้าระวังแล้วส่งต่อให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อไป”
รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำว่าผู้บริโภคควรจะใช้ยาอย่างเหมาะสม ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และห้ามซื้อยาต้านแบคทีเรียรับประทานเอง
“ในส่วนอื่นๆ ก็ต้องอาศัยการจัดการของภาครัฐด้วย เพราะการที่เชื้อดื้อยากระจายอยู่ในแหล่งสิ่งแวดล้อม ชุมชน โรงพยาบาล อันนี้ผู้บริโภคคงยากที่จะไปจัดการเอง ก็เห็นว่า ควรจะเรียกร้องหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามาช่วยดูแล เพราะเป็นสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับการดูแล
“รวมทั้งการทบทวนตำรับยาที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญเลย ในเมื่อมันไม่ควรจะใช้ ก็ยกเลิกไปเลย เพราะว่าไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับสุขภาพของผู้บริโภคเลย ทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วยซ้ำไป”
ชะลอปัญหาเชื้อดื้อยาด้วยตัวคุณเอง
เชื้อดื้อยาเกิดได้ตามธรรมชาติ แต่ตัวเร่งให้เกิดการดื้อยาไวขึ้น คือการใช้ยาปฏิชีวนะเกินจำเป็น
ผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความเห็นว่า หากต้องการแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาให้ตรงจุด ต้องแม่นยำในหลักการสองประการ คือ
หนึ่ง ต้นตอคือหลักธรรมชาติ เมื่อเชื้อเจอยา เชื้อจะพัฒนาตัวเองจนดื้อยาเป็นปกติอยู่แล้ว และสอง เมื่อมีเชื้อดื้อยาเกิดขึ้น เชื้อดื้อยาจะแพร่ไปได้
“ฉะนั้น แม้เราไม่ได้กินยา แต่คนรอบข้างเรามีเชื้อดื้อยา เราก็มีโอกาสได้เชื้อดื้อยาจากคนเหล่านั้น” กำธรกล่าว
กระบวนการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา มีสองกระบวนการ นั่นคือ หนึ่ง ใช้ยาเท่าที่จำเป็น และ สอง ถ้าไม่แน่ใจว่าติดเชื้อแบคทีเรีย ห้ามใช้
“แต่ส่วนใหญ่ บางทีเราไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไม่ได้ติดเชื้อเลย แล้วเข้าใจว่าติดเชื้อแบคทีเรีย ก็ไปหายาต้านแบคทีเรียมากิน หรือบางทีเรารู้แล้วว่าไม่ได้ติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ก็ขอกินยาต้านแบคทีเรียเอาไว้ก่อน ยังไงปลอดภัยไว้ก่อน”
กำธรอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจร่วมกันใหม่ว่า โรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย กินยาต้านแบคทีเรียไปก็ไม่ได้ประโยชน์
“ยาต้านแบคทีเรียหรือยาปฏิชีวนะไม่ได้ทำให้หายเร็วขึ้น ไม่ได้ป้องกันให้เราปลอดภัยจากอะไรทั้งสิ้น หากโรคที่เราเป็น ไม่ได้เกิดจากแบคทีเรีย”
การให้ยาไม่ตรงโรค อาจดูเหมือนไม่เป็นไร ไม่มีอะไรเสียหาย แต่จริงๆ แล้วความเสียหายอาจยังไม่ปรากฏขึ้นทันทีทันใด
“การได้ยาไม่ตรงโรค ไม่ทำให้เราหายเร็วขึ้น แล้วยังทำให้สภาพแวดล้อมในร่างกายเราเปลี่ยนแปลงไปเลย เพราะในร่างกายจะมีเชื้อแบคทีเรียที่เป็นมิตรกับเรา ทั้งในปาก ในลำไส้ ถ้าเราได้ยาต้านแบคทีเรีย จะทำลายเชื้อแบคทีเรียในร่างกายที่เป็นมิตรกับเรา และเป็นโอกาสให้เชื้อที่ไม่เป็นมิตรเข้ามารุกรานร่างกายได้ง่ายขึ้น”
การได้ยาต้านแบคทีเรียโดยที่ว่า ให้ไปเถอะ ไม่เป็นไร ไม่เสียหาย จริงๆ แล้วเสียหาย คือทำให้ร่างกายเรามีเชื้อดื้อยามากขึ้น มันจะไม่ส่งผลกับเราในวันนี้ แต่จะส่งผลกับเราในอนาคต
การดื้อยาเป็นผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอาจจะเป็นสัปดาห์หน้า เดือนหน้า หรือปีหน้า แล้วแต่ว่าเราจะมีโอกาสป่วยมากน้อยแค่ไหน สำหรับคนสุขภาพไม่แข็งแรง มีโอกาสป่วยง่าย ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นเร็ว และเมื่อเราป่วยจนมีความจำเป็นต้องใช้ยาขึ้นมาจริงๆ แพทย์ก็จะหายาใช้ยาก
หนึ่งในการป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยาที่เราทำได้วันนี้เลยก็คือ ลดการใช้ยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็น
หมายเหตุ: ข.ย. 2 คือ ร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จ ที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ ยาเหล่านี้ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ และ ‘ไม่ต้องมี’ เภสัชกรประจำร้าน