ลัก-ลอก

ภาพประกอบ: Shhhh

ลอก(๒)
กริยา
เขียน คัด หรือจำลองออกมาจากต้นฉบับ ต้นแบบ เช่น ลอกหนังสือ ลอกลวดลาย ลอกแบบ โดยปริยายหมายถึงอาการคล้ายคลึงเช่นนั้น เช่น ลอกความคิด

– พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554

ในสมัยวัยเรียนของผู้เขียน พฤติกรรมการทำการบ้านหรือรายงานด้วยวิธี ‘คัดลอก’ ข้อความทั้งดุ้นจากหนังสือแบบเหมือนทุกกระเบียดนิ้วมาวางเรียงรายกันเป็นหน้าๆ จนกลายเป็นเล่มโดยปราศจากการอ้างอิง (อ้างอิงคืออะไรยังไม่ค่อยจะรู้เลยค่ะ!) สมัยนั้นยังเป็นเรื่องที่ ‘ใคร ๆ ก็ทำกัน’ แม้วันเวลาผันผ่านจนมาสู่วัยที่กลายเป็นผู้สอนเสียเอง เรื่องราวแบบนี้ก็ยังคงวนเวียนให้ได้เห็นจากการบ้านนักเรียนอยู่ร่ำไป แถมกระบวนการคัดลอกยังพัฒนารุดหน้ากว่ากระแสโลกาภิวัตน์จากการเขียนคัดด้วยลายมือสู่การลากเคอร์เซอร์และกดแป้นลัดอีกสองทีก็จบปิ๊ง

ความสะดวกสบายสไตล์เมืองพุทธบ้านเรานี่เองที่เป็นชนวนแห่งกรณีที่มิตรสหายของผู้เขียนเองได้รายงานไปยังมหาวิทยาลัยต้นสังกัดแห่งหนึ่งว่ามีดุษฎีนิพนธ์ฉบับหนึ่ง ‘คัด (ลัก) ลอก’ ข้อความจากหนังสือภาษาอังกฤษมาจำนวนกระบิหนึ่ง ตัวหนังสือเป็นแถวๆ ที่ตรงกันเปี๊ยบในเอกสารสองฉบับนั้นเองได้กลายเป็นข่าวอื้อฉาวในวงการวิชาการจนเกิดกระบวนการไต่สวนกันยกใหญ่ หรือกรณีที่ยก ‘ใหญ่’ กว่านั้น อดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติคนหนึ่งได้ออกปากยอมรับว่า ดุษฎีนิพนธ์ของตนคัด (ลัก) ลอกเอกสารอื่นมาจริง จนนำไปสู่กระบวนการเพิกถอนปริญญาในที่สุด

ถ้าคิดกันแบบง่ายๆ ทำนองว่า “อ้าว! ทำไมตอนเด็กๆ ทำได้ ตอนนี้ไหงทำไม่ได้ล่ะ?” นั่นสิคะ ‘โตแล้วทำอะไรก็ได้’ ดูท่าจะไม่จริงอีกต่อไปสำหรับเรื่องนี้ แล้วเกิดอะไรขึ้นในบ้านเมืองเรา ที่ทำให้การกระทำลักษณะนี้ให้ผลกลับตาลปัตรและเป็นเรื่องเป็นราวกันได้ถึงเพียงนี้ บ้านเมืองอื่นเขาเจอปัญหาแบบเราไหม และถ้าทำไม่ได้ เด็กๆ จะทำฉันใดยามต้องส่งการบ้าน

ติดตามเรื่อง ‘การลอกการบ้าน’ ได้ในบทความตอนหน้านะคะ ส่วนรอบนี้ขอพูดถึงความเป็นมาและเป็นไปของวิถีการ ‘ก็อป’ ก่อนค่ะ

คัด (ลัก) ลอก

เหตุที่ต้องใช้คำกริยาถึงสามคำเพื่ออธิบายคำว่า ‘plagiarism’ ในภาษาอังกฤษ เป็นเพราะว่าต้นทางกาลอุบัติของคำนี้เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 1 (ใช่ค่ะ หนึ่งตัวเดียวล้วนๆ) โดยการใช้คำว่า plagiarius ซึ่งแปลตรงตัวว่า ผู้ลักพาตัวคนอื่น เพื่อหมายความถึงการขโมยผลงานผู้อื่นริเริ่มโดย Martial กวีชาวโรมัน ร้องเรียนว่ากวีอีกคนหนึ่งขโมยผลงานที่ชื่อ Plagiary ของตนไป จากนั้นคำนี้กลายเป็นที่มาของคำว่า ‘plagiarus’ ในภาษาอังกฤษเมื่อปี 1601 โดยนักเขียนบทละครเวทีอย่าง เบน จอนสัน (Ben Jonson) เพื่อใช้อธิบายถึงคนที่มีความผิดฐาน ‘โจรกรรมงานวรรณกรรม’ ส่วนคำว่า plagiarism ถูกใช้ครั้งแรกประมาณปี 1620 จากการนำคำว่า plagiary อันหมายถึงการโจรกรรมวรรณกรรมมารวมกับคำอุปสรรค -ism นั่นเอง

เมื่อย้อนรอยศัพท์คำนี้ต่อไปอีกก็จะพบว่า plagiary มาจากคำภาษาละติน plagiarius หรือ plagiare ที่ใช้ในความหมายว่าคนที่ลักพาตัวลูกหรือทาสของผู้อื่น ส่วนรากคำอย่าง plaga แปลว่ากับดัก เป็นคำที่มีรากอยู่ในภาษาอินโด-ยูโรเปียน คือ -plak ซึ่งหมายถึงการถักทอ (คำนี้ถูกนำไปใช้ทั้งในภาษากรีก เป็น plekein ภาษาบัลแกเรียนเป็น ‘плета’ pleta และภาษาละตินเป็น plectere ในความหมายเดียวกัน)

กราฟแสดงร้อยละของจำนวนการปรากฏคำว่า plagiarism บนฐานข้อมูล Google Books และช่วงเวลาที่ปรากฎ

 

จากรายงานการใช้คำนี้ใน Google Books Ngram Viewer (เครื่องมือค้นหาคำต่างๆ จากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในระบบฐานข้อมูลของ Google) พบว่า ในช่วงศตวรรษที่ 17 นั้นกราฟพุ่งสูงเป็นที่ราบสูงโคราชทีเดียว เนื่องด้วยหนังสือ Mr. Bayle’s Historical and Critical Dictionary of Mr. Peter Bayle Volume 2 โดย ปิแอร์ เบล (Pierre Bayle) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1735 กล่าวถึงการถกเถียงเรื่อง Brutus โดย จอห์น มิคาเอล (John Michael) นักเขียนชาวเวนิสสมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าโจรกรรมงานเขียนของนักเขียนใหญ่อย่าง ซิเซโร (Cicero) แต่เนื่องจากเขามีหลักฐานการอ้างอิง ข้อหานี้จึงตกไป ตามทรรศนะของเบล แค่หนังสือเพียงเล่มเดียวก็มีการกล่าวถึงคำว่า plagiarism ถึง 10 ครั้งแล้ว สิ่งนี้จึงช่วยยืนยันอย่างชัดเจนว่าการถกเถียงในประเด็นการลอกเลียนทางวรรณกรรมเป็นเรื่องที่ทำมานมนานกาเลแล้วในสังคมตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตื่นตัวในศตวรรษที่ 18 หรือยุค Romanticism ซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง (originality) ของศิลปินเป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนของสยามประเทศนั้นก็รอดูท่าทีอยู่หลายชั่วอายุคนนับเนื่องเป็นเวลาหลายร้อยปีกว่าจนในที่สุดได้บัญญัติศัพท์ขึ้นใช้อย่างเป็นทางการโดยราชบัณฑิตยสถานเมื่อ ปี พ.ศ. 2545 ไว้สองกรณี ได้แก่

– การโจรกรรมทางวรรณกรรม (สาขาวิชาวรรณกรรม)
– การลอกเลียนทางวรรณกรรม (สาขาวิชานิติศาสตร์)

แต่กระนั้น เท่าที่ได้เคยผ่านหูผ่านตามา ศัพท์ที่บัญญัติขึ้นสองคำนี้มิได้ใช้ในบริบทการสื่อสารโดยทั่วไปสักเท่าใดนัก แต่มักใช้การทับศัพท์ภาษาอังกฤษเสียมากกว่า ส่วนหากจะพูดถึง plagiarism เป็นภาษาไทย พวกเรามักใช้คำว่า ‘การลอกงาน’ ซึ่งให้ความกว้างๆ และอาจไม่สื่อความรู้สึกเชิงลบเท่ากับความหมายในภาษาอังกฤษ ดังนั้น โหรผู้เขียนจึงขอฟันธงตรงนี้ว่า สองคำนี้ไม่เหมือนกัน จึงไม่อาจใช้แทนกันเพื่อสื่อความหมายได้อย่างหมดจดได้ (ซึ่งจริงๆ แล้วก็เป็นปกติวิสัยของการแปลนะคะ) มิพักต้องกล่าวถึงศัพท์บัญญัติที่ไม่อาจนำมาใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน อีกทั้งการแปลตรงตัวอาจยังไม่ครอบคลุมถึงบริบทงานวิชาการที่ไม่ใช่งานวรรณกรรมหรืองานสาขานิติศาสตร์อีกด้วย

หากจะฉายไฟไปยังเฉพาะ ‘การโจรกรรมทางวรรณกรรม’ ก็ยังต้องการการจำกัดความว่าควรปักหมุดขอบเขตอยู่ที่แห่งหนตำบลใด ในเมื่อการ ‘ยืมพล็อต’ (ผู้เขียนขอยืมมาจากบทความ Voice TV ที่อ้างอิงเรียบร้อยแล้วอยู่ด้านล่างของบทความนะคะ) ก็เป็นขนบทางวรรณกรรมที่ทำกันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยการสร้างสรรค์วรรณคดีไทยต่างๆ ขึ้นเมื่อนมนานสืบมาจนกระทั่งยุคสมัยแห่งวรรณกรรม ในรูปแบบการแปลงวรรณกรรมต่างประเทศเป็นวรรณกรรมภาษาไทย อาทิ

ปราสาทมืด ของ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ กับ Jane Eyre ของ ชาร์ล็อตต์ บรองเต (Charlotte Brontë) และ Rebecca ของดาฟเน ดู โมริเย (Daphne du Maurier)

รักเดียวของเจนจิรา โดย นิดา แปลงจาก Jane Eyre ของ ชาร์ล็อตต์ บรองเต

คุณหญิงสีวิกา โดย นิดา แปลงจาก Rebecca ของ ดาฟเน ดู โมริเย

ไผ่แดง โดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แปลงจาก The Little World of Don Camillo ของ โจวานนี กวาเรสกิ (Giovannino Guareschi)

หรือล่าสุด เรื่อง พิษสวาท โดย ทมยันตี ก็มีการถกเถียงกันว่าดัดแปลงจาก Ziska: The Problem of a Wicked Soul ของ มารี คอเรลลี (Marie Corelli) หรือไม่

ดูเหมือนขนบการหยิบยืมโครงเรื่องมาใช้กันนั้นถือเป็นความปกติสามัญในแวดวงวรรณกรรมทั่วโลกอยู่ไม่น้อย อันชวนให้คิดต่อว่ากระบวนการ ‘ยืมพล็อต’ แบบนี้จะเข้าข่าย plagiarism หรือไม่อย่างไรดี

แล้วแบบไหนกันถึงจะเรียกว่า plagiarism กันเล่า หากตีความกันกว้างๆ อาจพอจำกัดความได้ว่า เป็นการคัดลอกงานของผู้อื่นมาแล้วเอ่ยอ้างว่าเป็นงานของตัวเอง ทั้งที่ตั้งใจก็ดีและไม่ตั้งใจก็ดี ซึ่งความไม่ตั้งใจนี่เองที่เป็นปัญหาสำคัญ เพราะหลายครั้ง plagiarism นอกจากจะอยู่ในโซนสีเทาที่ตัดสินได้ยากแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องของมุมมองและรากเหง้าทางวัฒนธรรมอีกด้วย

เมื่อสังคมตะวันตกให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจก (individuality) ความคิดสร้างสรรค์ และความเป็นอิสระ (autonomy) ในการทำงาน ปัญญาชนตะวันตกจึงให้ความสำคัญกับต้นทุนทางปัญญาของแต่ละบุคคลเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในที่สุดได้กลายเป็นกรอบคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในระบบทุนนิยม ที่ว่าด้วยเรื่องใครเป็นเจ้าของผลงานที่สร้างมูลค่าหรืออาจหาประโยชน์จากผลงานได้ เขาก็ควรมีสิทธิ์ในการรับประโยชน์จากผลงานนั้น หากคนอื่นจะขอนำไปใช้บ้างก็ต้องมีการขออนุญาตหรือจ่ายเงินค่าตอบแทนผลงานนั้นๆ เสียก่อน

ในอีกทางหนึ่ง สังคมตะวันออกอย่างจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี หรือสังคมที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของ ขงจื๊อ เห็นว่า ความคิดและความรู้เป็นเป็นสิ่งสาธารณะสำหรับทุกคนที่ขวนขวายแสวงหามาไว้ประดับตน ทั้งไม่ได้เปลี่ยนแปรไปตามผู้ถือครองความรู้ความคิดนั้นๆ ว่าง่ายๆ ว่าใครก็รู้ ก็เห็น ก็คิดแบบนี้ได้ทั้งนั้น และการปฏิบัติตามอาจารย์ผู้สั่งสอนตนมานั้นถือเป็นเกียรติ เป็นคำชมแบบหนึ่งเสียด้วยซ้ำ เพราะคำสอนของขงจื๊อให้ความสำคัญกับการเป็นคนส่งต่อความรู้มากกว่าการเป็นผู้สร้างสรรค์ความรู้ขึ้นมา ด้วยเพราะความรู้นั้นเป็นสิ่งจริงแท้และเที่ยงแท้ต้องได้รับการปกปักรักษาให้คงสภาพเดิมมากกว่าการพยายามเปลี่ยนแปลงมัน

ด้วยเหตุนี้การเรียนรู้ด้วยการท่องจำและคัดลอกจึงถือเป็นวิธีการปกติ ทั้งยังมีเรื่องความอาวุโสต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของครูและศิษย์ที่ศิษย์มิบังควรเล่นใหญ่เหนือครูบาอาจารย์ หรือจะเล่นใหญ่ก็เป็นเครดิตของครูบาอาจารย์นั่นแล มิใช่ใครอื่น การเขียนบอกโต้งๆ ว่าเอาข้อความนี้มาจากแห่งหนตำบลอื่นอาจเป็นการฉีกหน้าหาว่าครูไม่รู้ หรือพาลถูกตีความว่าเป็นพวก ‘นอกครู’ ก็เป็นได้

และเมื่อโลกของเราหดแคบเข้าจนวัฒนธรรมสองขั้วนี้ต้องมาเจอะเจอกันบนเวทีการศึกษาและวิชาการระดับนานาชาตินั้น plagiarism แบบตะวันตกที่ต้องอ้างอิง บอกกล่าวที่มาของข้อความและความคิดต่างๆ นานา ก็นับว่าเป็นของมาแรงแซงทางโค้งจากแนวคิดแบบตะวันออก จนชาวตะวันออกหลายๆ คนเอียงคอแล้วเอียงคออีก และเมื่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันยังอ้างอิงรูปแบบแนวคิดและการจัดการศึกษาแบบตะวันตกอยู่ จึงเกิดความประดักประเดิดจนถึงขั้นหายนภัยหลายประการเมื่อต้องหลิ่วตาตามฝรั่ง เช่น ปัญหาการลักลอกงานผู้อื่นและทำเหมือนว่าเป็นงานของตัวเอง โดยที่เจ้าตัวอาจไม่เข้าใจว่าเป็นการโจรกรรมทางวรรณกรรมจริงๆ ก็เป็นได้ (ในกรณีที่เจ้าตัวรู้ดีแก่ใจว่าไม่ได้ตั้งใจและไม่รู้จริงๆ นะคะ)

กรุงโรมมิได้สร้างสำเร็จเพียงวันเดียวฉันใด ความวายป่วงอันเกี่ยวเนื่องกับระบบระเบียบด้านความคิดเช่นนี้ย่อมมิได้ลงหลักปักฐานเรียบร้อยเพียงระยะเวลาสั้นๆ ฉันนั้น พฤติกรรมการ ‘คัด (ลัก) ลอก’ เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอระหว่างการเรียนครั้งเรายังเป็นเด็ก ซึ่งการที่ครูไม่ได้บอกผู้เขียนว่าการคัดลอกข้อความจากหนังสือเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเพราะผิดจริยธรรมในวงการวิชาการเป็นอย่างยิ่งนั้นถือว่าเป็นเรื่องของการทำตามๆ กันมาแบบออโตไพลอต (auto-pilot) ตามวิถีวัฒนธรรมที่ติดตัวครูมาแต่ไหนแต่ไร ซึ่งย่อมไม่มีแนวคิดนี้อยู่เป็นทุนเดิม (หากลองสังเกตดูยังมีอีกหลายเรื่องที่เราทำตามๆ กันมาโดยไม่รู้สี่รู้แปดใดๆ และไม่มีการจำกัดความหรืออธิบายด้วยเหตุผลที่ถกเถียงให้เกิดความเข้าใจกระจ่างกันได้) และเห็นๆ กันอยู่ว่า plagiarism นั้นเป็นแนวคิดนำเข้าจากต่างประเทศ ด้วยภาษีนำเข้าทางวัฒนธรรมที่สูงลิ่วทำให้เรื่องนี้ยังคงเคร่งครัดกันอยู่เฉพาะพวกที่ ‘ปีนถึง’ ซึ่งแทบทั้งหมดอยู่ในวงวิชาการซึ่งไม่ได้แพร่หลายนักนั่นเอง

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนี้หาใช่ข้ออ้างในการคัดลอกงานเขียนหรือวิทยานิพนธ์ผู้อื่น และตีเนียนว่าเนื้อหาสาระทั้งเล่มหรือบางส่วนของสิ่งที่มีในเอกสารของข้าพเจ้านั้นเป็นความคิดของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว โดยการทำลืมว่าต้องอ้างอิงโดยการไม่ใส่ข้อมูลอ้างอิงเอาเสียดื้อๆ เพราะหากยังต้องการยืนหยัดอยู่ในวงการวิชาการซึ่งมีมาตรฐานตามกรอบคิดแบบตะวันตกที่กล่าวมานั้น การ ‘ทำอะไรตามใจคือไทยแท้’ บนเวทีที่ใช้กติกาสากลคงจะทำให้ ‘อยู่ยาก’ อย่างหนักหนาอยู่ไม่น้อย จริงไหมคะ


อ้างข้อมูลอิงจาก:
voicetv.co.th
sites.google.com/site/detectionofplagiarisminlis
The problem of plagiarism in academic culture by Julianne East in International Journal for Educational Integrity
bangkokpost.com
thaipublica.org

Author

กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
กุลธิดา รุ่งเรื่องเกียรติ 'ครูจุ๊ย' นักวิชาการอิสระ เคยมีประสบการณ์ด้านการศึกษาจากฟินแลนด์ ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมีโอกาสไปค้นคุ้ยตำราเรียนของเกาหลีเหนือ ในคอลัมน์ 'เล่า/เรียน' ครูจุ๊ย คุณครูสาวพร้อมแว่นสีสด จะ 'เล่า' เรื่องราวในห้องเรียน สถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ของเด็กและครู ให้ผู้อ่านได้ 'เรียน' ไปพร้อมๆ กัน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า