ภาพประกอบ: Shhhh
เรื่องบางเรื่องเก็บไว้ในใจก็อึดอัดใช่ไหมคะ? หากเหนื่อยหน่ายกับความรักแวะทักทายโทรหา พี่อ้อย พี่ฉอด ก็อาจช่วยบรรเทา แถมเรื่องราวของเราอาจกลายเป็นละครอีกต่างหาก หรือหากเป็นวัยรุ่นแล้วคับข้องใจเรื่องใด สายด่วนวัยรุ่นยังมีให้บริการอยู่ ได้ระบายก็คงพอช่วยผ่อนคลายไปบ้าง
แต่ถ้าอยากบ่นเรื่องบ้านเมือง รัฐบาลไม่ได้ดั่งใจ ขนส่งมวลชนไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ภาษีเก็บแพงระยับ แต่ไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรต่อมิอะไรบ้าง จะต้องบ่นที่ไหนอย่างไรดีล่ะ
ใครเป็นสายบ่นก็ทำออกสื่อบนพื้นที่โซเชียลมีเดียของตนได้เลย แต่บางคน เมื่อบ่นบนพื้นที่สื่อออนไลน์ของตนก็อาจเจอดราม่าให้ต้องปวดหัว บ่นให้เพื่อนฟังก็เหมือนเป็นการบ่นไปวันๆ ดังนั้น หากเราจะบ่นทั้งที ลองบ่นเป็นเพลงกันไหมคะ?
วันนี้ขอนำเสนอบทเพลงคลายทุกข์ ที่เหมือนเป็นบทบ่นผ่านเสียงเพลงจากประเทศต่างๆ เผื่อว่าจะจุดแรงบ่นของใครให้ลุกขึ้นมาบ่นเป็นเพลง จนปลายทางอาจได้ยินเสียงบ่นของเราในทื่สุด
บ่นสัพเพเหระ
หากอยากบ่นเรื่องราวสัพเพเหระในบ้านเมืองของตนเองแล้วล่ะก็ ‘Complaint Choir’ หรือ คณะนักร้องประสานเสียงเพื่อการบ่น และไม่ต้องบ่นเรื่องราวใหญ่โตอะไร เพลงบ่นมักบ่นเรื่องใกล้ตัวในชีวิตประจำวันของผู้แต่งเพลง
คณะร้องเพลงบ่นนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2005 ที่เมืองเบอร์มิงแฮมประเทศอังกฤษ โดยเจ้าของความคิดนี้คือศิลปินคู่สามีภรรยาชาวฟินแลนด์ เตลเลร์โว กัลเลเน็น (Tellervo Kalleinen) และ โอลิเวอร์ ก็อชตา-กัลเลเน็น (Oliver Kochta-Kalleinen)
วิธีการทำงานของศิลปินทั้งสองคือ พวกเขาจะเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี แคนาดา สหรัฐอเมริกา ฮอลแลนด์ ออสเตรเลีย อิสราเอล ฮ่องกง พวกเขาก็เคยไปเยือนมาแล้ว พวกเขาจะรวบรวมคำบ่นจากผู้คนท้องถิ่น นำมาแต่งเป็นเพลง
เมื่อสถาบันสปริงฮิลล์ (The Springhill Insitute) ได้ยินเรื่องราวนี้เข้าจึงนำมาทำให้เกิดขึ้นจริงเป็นที่แรก เพลงบ่นจากเมืองเบอร์มิงแฮมบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ความยากลำบากในการจะรีไซเคิลอะไรสักอย่าง การขี่จักรยานที่ต้องเสี่ยงตายบนท้องถนน คอมพิวเตอร์ทำงานช้าอืดอาด คนขับรถเมล์บึ้งตึงไม่คุยกับใคร เบียร์ก็ราคาแพงเหลือเกิน ว่าง่ายๆ พวกเขาก็บ่นเรื่องราวต่างๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันนั่นแหละค่ะ
ต่อมาเพลงบ่นจากเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ก็สร้างความฮือฮาขึ้นในปีถัดมา ด้วยการจัดเป็นการแสดงศิลปะขึ้น ณ กิอัสม่า (Kiasma) พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยกลางกรุงเฮลซิงกิ และจัดร้องเพลงประสานเสียงในพื้นที่สาธารณะอีกมากมายในฟินแลนด์
เนื้อเพลงบ่นเรื่องการตัดต้นไม้มาผลิตกระดาษและใช้อย่างทิ้งๆ ขว้างๆ การเข้าถึงสวัสดิการอย่างการไปหาหมอฟันต้องรอนานกว่าหกเดือน (ฟินแลนด์เป็นรัฐสวัสดิการที่บริการทางการแพทย์มักไม่มีค่าใช้จ่าย) รถรางก็เหม็นกลิ่นปัสสาวะ และใครๆ ก็สื่อสารด้วยการส่งข้อความ (ยุคนั้น ‘โนเกีย’ ยังไม่ล่มสลายและแพ็คเกจส่งข้อความในฟินแลนด์คือเดือนหนึ่งส่งได้ 3,000 ข้อความเป็นต้น) เมื่อซื้อเฟอร์นิเจอร์ทีไรต้องได้กระดาษลังมามากมายเกินความจำเป็นทุกที กระดาษทิชชูนี่ก็สากเกินไปนะ แถมจะจามทีไรก็หาไม่ได้ทุกที ถุงน่องขาดทุกครั้งที่เดิน เวลาเดินก็มักจะมีชายร่างสูงใหญ่บังอยู่ด้านหน้าทุกครั้งไป ที่ทำงานผู้คนตบไหล่ฉันและแทงข้างหลังเมื่อฉันมองไม่เห็น ความฝันฉันยังน่าเบื่อเลย เลขประจำตัวประชาชนยาวจัง ทำไมผู้หญิงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าผู้ชายล่ะ
ส่วนเนื้อเพลงที่ร้องซ้ำไปซ้ำมาคือ
On se niin väärin. It’s not fair. – เรื่องเหล่านี้ช่างไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย
หลายคนวิจารณ์ว่าเพลงบ่นของฟินแลนด์ช่างเป็นเรื่องราวขี้ปะติ๋ว เป็นปัญหาของประเทศโลกที่หนึ่ง แต่ศิลปินทั้งสองเชื่อว่าการบ่นใช้พลังงานสูง และอาจจะดีกว่าถ้าพวกเขาสามารถแปรเปลี่ยนพลังงานเหล่านั้นให้กลายเป็นบางอย่างที่น่าสนใจ การบ่นบางครั้งอาจเป็นพลังที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่อไป อาทิ การเปลี่ยนแปลงในเยอรมนีตะวันออก ก็ล้วนมาจากการที่ผู้คนเริ่มไม่พอใจกับสภาพความเป็นอยู่ของตนและบ่นออกมา
แต่ศิลปินบางส่วนมองว่า การบ่นอาจเป็นการแสดงความไม่พอใจโดยที่ไม่ได้ลงมือทำ (ซึ่งผู้เขียนไม่เห็นด้วย เพราะการเปล่งเสียงบ่นออกมานั้นถือว่าได้ทำอะไรแล้วเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากต้องบ่นเรื่องราวซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามในสังคมนั้นๆ ทั้งในระดับบุคคล ระดับสังคม และระดับกฎหมาย) ในนิยามของเขา การบ่นอาจไม่ใช่เพื่อการเปลี่ยนแปลงเสียทั้งหมดทุกครั้ง หากแต่เป็นการสร้างพลังความรู้สึกร่วมของผู้คนว่า
เอาน่ะ พวกเราก็มีชะตากรรมไม่ต่างกันนักหรอก
อย่างไรก็ดี กาย วินช์ (Guy Winch) นักจิตวิทยา มองว่า หากมองจากอีกมุมหนึ่ง การบ่นอาจเชื่อมโยงกับความรู้สึกท้อแท้และสิ้นหวังที่ต้องติดอยู่ในสถานการณ์ที่ทำอะไรไม่ได้ ความรู้สึกนี้ทำให้การพยายามแก้ปัญหาหรือการผลักดันการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ในสารบบของเราในที่สุด
ทว่าหากการบ่นเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วและไม่สำคัญ การร้องเพลงบ่นเรื่องราวสัพเพเหระนี้คงไม่ถูกรัฐบาลสิงคโปร์ประกาศห้ามการแสดงการร้องประสานเสียงในปี 2006 เพราะเนื้อเพลงเกี่ยวข้องกับ ‘เรื่องภายในประเทศ’ และองค์กรจัดการพัฒนาสื่อ (Media Development Authority) หรือไม่ยอมออกใบอนุญาตให้กับคณะนักร้องนี้ เพราะมีสมาชิกในวงเป็นชาวต่างประเทศ สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ผู้จัดงานได้กล่าวว่า “วาทยากรของเราเป็นชาวมาเลเซีย จะให้ร้องประสานเสียงได้อย่างไรกัน ถ้าไม่มีผู้คุมวง”
การจัดการแสดงครั้งหนึ่งก็ไม่ง่ายไม่ยาก มีกระบวนการทั้งหมดประมาณเก้าขั้นตอนดังนี้
- เชิญคนมาบ่นด้วยช่องทางใดก็ตามเพื่อเก็บข้อมูลการบ่น
- หานักดนตรีที่เหมาะเจาะ
- จัดระเบียบเรื่องราวของการบ่นให้เป็นหมวดหมู่ เช่น การบ่นเรื่องเมือง เพื่อนบ้าน เทคโนโลยี หรือเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
- ประชุมครั้งแรก: เตรียมเนื้อร้อง โดยการเริ่มเสนอกลุ่มข้อมูลการบ่นให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ช่วยกันเลือกเพื่อนำข้อมูลไปแต่งเพลงต่อไป
- แต่งเพลงและดนตรี
- ซ้อม
- เตรียมการแสดงใหญ่ ซึ่งควรเป็นการแสดงที่ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าในพื้นที่สาธารณะ (ทำในประเทศไทยตอนนี้อาจยากเย็นสักหน่อย)
- ออกไปร้องเพลงด้วยกัน ถ้าให้ดีมีทีมเตรียมน้ำเตรียมอาหารก็จะดี ร้องเพลงไปหิวไปไม่น่าจะอภิรมย์สักเท่าใดนัก
- บันทึกวิดีโอเก็บไว้แชร์ต่อ
การบ่นออกมาในที่สาธารณะสำหรับบางวัฒนธรรมแล้วอาจเป็นเรื่องไม่พึงกระทำ เมื่อการบ่นถูกแปรสภาพให้เป็นเพลงและใช้ดนตรี พร้อมกับกระบวนการที่หลายๆ คนเข้ามามีส่วนร่วม อาจช่วยลดทอนช่องว่างที่คนมีต่อการบ่นได้ และแม้การบ่นอาจไม่ช่วยอะไรเลยในเชิงการแก้ปัญหา การส่งเสียงออกไป อย่างน้อยก็ตอกย้ำว่า ปัญหาเหล่านั้นไม่ได้จากไปไหน มันยังคงอยู่ และไม่ได้รับการแก้ไข
ร้องเพลงบ่นกันไหมคะ?