ภาพประกอบ: Shhhh
ในยุคที่ไร้ขื่อแป บ้านเมืองตกอยู่ใต้การปกครองด้วยระบอบอำนาจบาตรใหญ่ กฎหมายอยู่ในเงื้อมมือคนพาล กติกาที่เราเคยมีร่วมกันถูกฉีกทึ้งทำลาย แม้กระทั่งในรั้วมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติ บุคคลผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นครูอาจารย์ยังปฏิบัติต่อศิษย์เยี่ยงอนารยชน
แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่า เราจะอยู่ร่วมกันต่อไปอย่างไร ในเมื่อสภาพบรรยากาศและบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาอันได้ชื่อว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะทางปัญญายังตกต่ำได้ถึงเพียงนี้
ถ้าเรายังเชื่อว่า สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาในสังคมอารยะ กรอบกติกาในสังคมย่อมเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงเคารพ ตรงกันข้าม การละเมิดสิทธิผู้อื่นด้วยการใช้ความรุนแรงและอำนาจบาตรใหญ่ ย่อมควรได้รับการประณามและลงโทษ
จากการสำรวจระเบียบข้อบังคับในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง ล้วนมีเงื่อนไขให้บุคลากรและคณาจารย์ยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด รวมถึงมีข้อกำหนดว่าด้วยบทลงโทษอย่างชัดเจนหากมีผู้ใดฝ่าฝืน เว้นเสียแต่ว่ากฎเกณฑ์ข้อบังคับนั้นจะเสื่อมความหมายไปเสียแล้ว
พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547
มาตรา 7 ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม (ข) (4) เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี
มาตรา 38 ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ต้องสนับสนุนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจ
มาตรา 41 ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดี มีความสุภาพเรียบร้อย วางตนให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทย อุทิศเวลาให้กับทางราชการอย่างเต็มที่ รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลในการปฏิบัติหน้าที่ราชการระหว่างผู้ร่วมปฏิบัติราชการด้วยกัน
การกลั่นแกล้ง การดูหมิ่น เหยียดหยาม กดขี่ ข่มเหง ผู้ร่วมปฏิบัติราชการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา หรือประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
มาตรา 44 ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาต้องรักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย โดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว
มาตรา 45 ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาต้องปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณตามที่สภาสถาบันอุดมศึกษากำหนด
จรรยาบรรณที่กำหนดขึ้น จะกำหนดว่าการประพฤติผิดจรรยาบรรณในเรื่องใดเป็นความผิดวินัยหรือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงด้วยก็ได้
มาตรา 46 ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณที่เป็นความผิดวินัยหรือผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ดำเนินการทางวินัยตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าการประพฤติผิดจรรยาบรรณนั้นไม่เป็นความผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการตักเตือน สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด หรือทำทัณฑ์บน
ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือน ดำเนินการให้ถูกต้อง หรือฝ่าฝืนทัณฑ์บน ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัย
หลักเกณฑ์และวิธีการในการตักเตือน การมีคำสั่ง หรือการทำทัณฑ์บนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามข้อบังคับที่สภาสถาบันอุดมศึกษากำหนด
มาตรา 48 โทษทางวินัยมี 5 สถาน คือ
(1) ภาคทัณฑ์
(2) ตัดเงินเดือน
(3) ลดเงินเดือน
(4) ปลดออก
(5) ไล่ออก
หมวด 6 การดำเนินการทางวินัย
มาตรา 49 ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดถูกกล่าวหาโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าได้กระทำผิดวินัย หรือความปรากฏต่อผู้บังคับบัญชาว่าข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาผู้ใดกระทำผิดวินัย ให้ผู้บังคับบัญชาตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยพลัน และต้องสอบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ชักช้า เว้นแต่เป็นกรณีการกระทำผิดวินัยที่มิใช่ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง หรือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งตามที่ ก.พ.อ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา) กำหนด จะไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้
มาตรา 52 ให้กรรมการสอบสวนเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพียงเท่าที่เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของกรรมการสอบสวน
จรรยาบรรณของอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันแสวงหาความรู้ สร้างสรรค์ จรรโลง ถ่ายทอดเทคโนโลยีและประยุกต์วิชาการ ตลอดจนการบ่มเพาะบัณฑิตเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษย์และสังคม แต่ความรู้และบัณฑิตที่ปราศจากคุณธรรมกำกับย่อมไม่เป็นที่พึงประสงค์ เพราะขาดความดีงามและเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์โทษทั้งปวง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีปณิธานเพื่อสร้างสมและส่งเสริมจรรยาบรรณ จึงเห็นสมควรประกาศจรรยาบรรณของอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและแนวปฏิบัติดังต่อไปนี้ (อาทิ)
ข้อ 1 อาจารย์พึงอุทิศเวลาและเสียสละให้กับงานสอนด้วยความรับผิดชอบ
– ให้เวลาแก่นิสิตอย่างเต็มที่
– ให้เกียรติและปฏิบัติต่อศิษย์อย่างวิญญูชน
– มีจิตใจกว้างยอมรับความคิดเห็นของศิษย์และผู้ร่วมงาน
– ปฏิบัติต่อศิษย์แบบกัลยาณมิตร
– ให้ความยุติธรรมและเสมอภาคแก่ศิษย์
ข้อ 3 อาจารย์พึงช่วยเหลือและปฏิบัติต่อศิษย์อย่างเป็นธรรม
– ส่งเสริมให้อาจารย์มีความรับผิดชอบเกื้อกูลต่อศิษย์ รักษาความลับของศิษย์
– สร้างความรู้สึกเป็นมิตรเป็นที่พึ่งพาและไว้วางใจของศิษย์แต่ละคนและทุกคน
– ตอบสนองข้อเสนอของศิษย์และการกระทำของศิษย์ในทางสร้างสรรค์ ตามสภาพปัญหา ความต้องการ และศักยภาพของศิษย์แต่ละคนและทุกคน
– เสนอแนะแนวทางพัฒนาศิษย์แต่ละคนและทุกคน ตามความถนัด ความสนใจ และศักยภาพของศิษย์
– รักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า
– ละเว้นการกระทำที่ทำให้ศิษย์เกิดความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคมของศิษย์
– ละเว้นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและร่างกายของศิษย์
– ละเว้นการกระทำที่สกัดกั้นพัฒนาการทางสติปัญญา อารมณ์ จิตใจ และสังคมของศิษย์
ข้อ 4 อาจารย์พึงเป็นแบบอย่างที่ดีของศิษย์
– พึงปฏิบัติตนเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีสอดคล้องกับคำสอนของตนและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม
– ส่งเสริมและผดุงเกียรติแห่งความเป็นอาจารย์
– ส่งเสริมความก้าวหน้าซึ่งกันและกันด้วยเหตุผล และไม่เล่นพรรคเล่นพวก
– ปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่อาจารย์
– พูดจาสุภาพและสร้างสรรค์โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นแก่ศิษย์และสังคม
– พึงปฏิบัติตนให้เป็นที่เชื่อถือของคนทั่วไป
ข้อ 7 อาจารย์พึงสร้างและส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะ และมีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัยโดยส่วนรวม
– ส่งเสริมและสร้างความสามัคคีในกลุ่มอาจารย์และนิสิต
– รักษาชื่อเสียงและประโยชน์ของมหาวิทยาลัย
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยจรรยาบรรณของบุคลากรและอาจารย์ พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติมถึงปัจจุบัน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554
ส่วนที่ 5 จรรยาบรรณของอาจารย์
ข้อ 32 จรรยาบรรณในการปฏิบัติตนต่อนักศึกษา อาจารย์พึงเป็นที่พึ่งและแบบอย่างที่ดีแก่นักศึกษา ดังนี้
(3) ปฏิบัติต่อนักศึกษาด้วยความเสมอภาค ยุติธรรม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน
(5) มีความเมตตา ให้อภัย เอาใจใส่ และให้กำลังใจแก่นักศึกษาอย่างเต็มกำลังความสามารถ
(6) ประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี และวางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นผู้ประสาทความรู้แก่นักศึกษา
หลักเกณฑ์และวิธีการลงโทษทางจรรยาบรรณ
ข้อ 49 การลงโทษทางจรรยาบรรณ
การลงโทษทางจรรยาบรรณให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาและตามข้อบังคับนี้
ข้อ 50 การตักเตือน
ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรลงโทษตักเตือน ให้สั่งลงโทษเป็นหนังสือหรือตักเตือนด้วยวาจา โดยแจ้งให้ผู้กระทำความผิดจรรยาบรรณได้ทราบด้วยว่าการกระทำใดที่เป็นความผิดจรรยาบรรณ และให้เก็บรวมคำสั่งหรือบันทึกการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในสำนวนการสอบสวน
ข้อ 51 การสั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้อง
ในกรณีสั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด ให้ผู้บังคับบัญชาทำเป็นหนังสือ โดยระบุการกระทำที่เป็นความผิดจรรยาบรรณและสิ่งที่ประสงค์ให้ดำเนินการให้ถูกต้อง พร้อมกับกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติให้ถูกต้องไว้ด้วย และให้เก็บรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน
ข้อ 52 การทำทัณฑ์บน
ในกรณีการทำทัณฑ์บน ให้ทำเป็นหนังสือแสดงว่าผู้ถูกลงโทษกระทำความผิดจรรยาบรรณในกรณีใด ตามข้อใด และให้ผู้บังคับบัญชาเก็บรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน
ข้อ 53 การบันทึกในทะเบียนประวัติบุคคล
เมื่อได้ดำเนินการลงโทษทางจรรยาบรรณตามข้อ 50 ข้อ 51 ข้อ 52 แล้ว ให้บันทึกไว้ในทะเบียนประวัติบุคคลด้วย
ข้อ 54 สภาพบังคับกรณีฝ่าฝืนโทษทางจรรยาบรรณ
บุคลากรผู้ใดถูกลงโทษทางจรรยาบรรณข้อใดแล้ว ไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือน ดำเนินการให้ถูกต้อง หรือฝ่าฝืนทัณฑ์บน ให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัย
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยจรรยาบรรณบุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดลและการดำเนินการทางจรรยาบรรณ
ข้อ 6 (3) เป็นผู้มีศีลธรรมอันดีและประพฤติตนให้เหมาะสมกับการเป็นบุคลากรของมหาวิทยาลัย
ข้อ 9 (1) ให้บริการแก่ผู้รับบริการ หรือนักศึกษาและสังคมอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเป็นธรรม เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และใช้กิริยาวาจาที่สุภาพ
โทษทางจรรยาบรรณ
ข้อ 13 บุคลากรมหาวิทยาลัยที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณ (6) หากก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทรัพย์สิน เกียรติ และชื่อเสียงมหาวิทยาลัย ให้ถือเป็นการกระทำผิดจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงและเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง
การดำเนินการทางจรรยาบรรณ
ข้อ 19 เมื่อปรากฏว่า บุคลากรมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษาผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณและพฤติการณ์ของการกระทำผิดจรรยาบรรณดังกล่าว เป็นการกระทำผิดวินัยหรือวินัยร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาหรือคณบดีแล้วแต่กรณี ดำเนินการทางวินัยกับบุคลากรมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษาผู้นั้น ตามกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องต่อไป
จรรยาบรรณคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ข้อ 7 อาจารย์พึงมีคุณธรรม มีความเมตตากรุณา มีความยุติธรรม และไม่แสวงหาผลประโยชน์จากศิษย์และหน้าที่โดยมิชอบ
ข้อ 8 อาจารย์พึงรักษาและส่งเสริมความสามัคคีในหมู่คณะ ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย และมุ่งประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ
ข้อ 9 อาจารย์พึงรักษาความสัมพันธ์กับศิษย์อย่างกัลยาณมิตร เป็นที่พึ่งแก่ศิษย์ สนับสนุนให้ศิษย์มีความก้าวหน้าทางวิชาการอยู่เสมอ
ข้อบังคับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ว่าด้วยจรรยาบรรณของผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2559
ข้อ 8 ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยพึงเป็นผู้มีศีลธรรมอันดี และประพฤติตนให้เหมาะสม
ข้อ 9 ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยพึงมีทัศนคติที่ดี และพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรม จริยธรรม
ข้อ 18 ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยพึงให้บริการต่อนักศึกษา ประชาชน และผู้รับบริการอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเป็นธรรม เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และใช้กิริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยน
การดำเนินการทางจรรยาบรรณ
ข้อ 22 ให้มีคณะกรรมการจรรยาบรรณคณะหนึ่ง มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและวินิจฉัยการกระทำผิดจรรยาบรรณของบุคลากรมหาวิทยาลัย และจัดให้มีมาตรการส่งเสริมจรรยาบรรณแก่ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัย
ข้อ 25 ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยผู้ใดถูกกล่าวหา โดยมีหลักฐานตามสมควรว่าได้ประพฤติผิดจรรยาบรรณหรือความปรากฏต่อผู้บังคับบัญชาว่าได้ประพฤติผิดจรรยาบรรณ หรือคณะกรรมการจรรยาบรรณเห็นสมควรสอบสวน ให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าคณบดีหรือเทียบเท่าขึ้นไป มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางจรรยาบรรณ เพื่อพิจารณาเสนอความเห็น แล้วแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็ว
ข้อ 26 เมื่อมีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณว่า ผู้ใดประพฤติผิดจรรยาบรรณ ให้ผู้บังคับบัญชาทำการตักเตือน หรือสั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด หรือให้ทำทัณฑ์บนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการจรรยาบรรณ หากผู้ประพฤติไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย
สิทธิทางกายและใจ
แม้ว่าในมหาวิทยาลัยหลายแห่งอาจไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดความผิดจรรยาบรรณฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกาย หรือการมีพฤติกรรมอันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจของลูกศิษย์ ทว่าในประมวลกฎหมายอาญา ได้มีบทบัญญัติไว้อย่างชัดเจน และสามารถนำมาบังคับใช้ได้หากเกิดกรณีดังกล่าว
ไล่มาตั้งแต่ความผิดลหุโทษ อาทิ การแตะเนื้อต้องตัวบุคคลโดยไม่มีอำนาจ หรือการใช้กำลังผลัก ต่อย ตบ เตะ ถีบ ย่อมถือเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ตามมาตรา 391 บัญญัติว่า “ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
แต่หากมีการใช้กำลังในระดับที่รุนแรงขึ้น มาตรา 295 บัญญัติว่า “ผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
และถ้าหนักกว่านั้น คือ ความผิดฐานทำร้ายร่างกายถึงอันตรายสาหัส มาตรา 297 แห่งประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี”
หากกฎหมายและกติกาบ้านเมืองยังคงเชื่อถือได้ ผู้กระทำย่อมได้รับผลจากการกระทำ เว้นเสียแต่กระบวนการยุติธรรมจะหมดสิ้นความเป็นธรรม