2 พฤศจิกายน 2565 สภาผู้แทนราษฎรมีมติ 196 ต่อ 194 ไม่เห็นด้วย ‘ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า’ ทั้งฉบับในวาระที่ 3 ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ. ถูกปัดตกไป และค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า การผลิตสุราในประเทศไทยจะต้องอยู่ภายใต้กฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่เพิ่งแก้ไข และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ตามมติของคณะรัฐมนตรีแทน
อย่างไรก็ดี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า แสดงความเห็นว่า กฎกระทรวงดังกล่าวไม่ใช่การ ‘ปลดล็อก’ การผลิตสุราเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนไทย แต่เป็นเพียงการสร้างล็อกใหม่ หรือ ‘เปลี่ยนล็อก’ เท่านั้น ซึ่งอาจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางผู้ประกอบการรายย่อยในอนาคตด้วยซ้ำ
ร่าง พ.ร.บ. สุราก้าวหน้าที่ถูกคว่ำด้วยคะแนนห่างเพียง 2 คะแนน ทำให้สังคมไทยสูญเสียประโยชน์อะไรบ้าง WAY ชวนร่วมเปรียบเทียบร่างกฎหมายที่ถูกปัดตกและกฎกระทรวงที่เพิ่งประกาศใช้ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน
กฎกระทรวง พ.ศ. 2560 (ฉบับเดิม)
- ห้ามประชาชนผลิตสุราเพื่อการบริโภคเอง
- การขอใบอนุญาต กรณีเหล้ากลั่นชุมชน ต้องมีเครื่องจักรที่กำลังต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ผลิตได้แต่เหล้าขาวเท่านั้น
- โรงผลิตเบียร์ต้องมีกําลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10,000,000 ลิตรต่อปี และทุนจดทะเบียน 10,000,000 บาท
- โรงเบียร์ที่ขาย ณ สถานที่ผลิต หรือ Brewpub ต้องมีกําลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี และไม่เกิน 1,000,000 ลิตรต่อปี
- โรงผลิตสุราขาวต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตรต่อวัน
- โรงผลิตสุราพิเศษ ประเภทวิสกี้ บรั่นดี และยิน ต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน
กฎกระทรวง พ.ศ. 2565
- การผลิตสุราเพื่อบริโภคเองต้องขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพสามิต ผู้ขออนุญาตต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี ทั้งยังต้องยื่นข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ เลขประจำตัวประชาชน สถานที่ผลิต รายละเอียดเครื่องกลั่น ชนิดของสุราส่วนผสม ขั้นตอน และปริมาณการผลิต และผลิตได้เพียง 200 ลิตรต่อปี
- กรณีเหล้ากลั่นชุมชนยังคงผลิตได้แต่เหล้าขาว แต่แบ่งประเภทเป็น ขนาดเล็ก (เครื่องจักรไม่เกิน 5 แรงม้า กำลังคนไม่เกิน 7 คน) และ ขนาดกลาง (เครื่องจักรเกิน 5 แรงม้า แต่ไม่ถึง 50 แรงม้า) ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านสาธารณสุข
- โรงผลิตเบียร์ ไม่กำหนดจำนวนการผลิตขั้นต่ำ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน แต่เครื่องจักรต้องได้มาตรฐาน และปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านสาธารณสุข
- Brewpub ไม่กำหนดจำนวนการผลิตขั้นต่ำ แต่เครื่องจักรต้องได้มาตรฐาน และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และด้านสาธารณสุข
- โรงผลิตสุราขาวยังคงต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 90,000 ลิตรต่อวัน
- โรงผลิตวิสกี้ บรั่นดี และยิน ยังคงต้องมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 30,000 ลิตรต่อวัน
พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า
- การผลิตสุราเพื่อบริโภคในครัวเรือนไม่ผิดกฎหมายทุกกรณี ไม่จำกัดจำนวนการผลิตขั้นต่ำ ไม่ต้องขออนุญาต แค่เพียงจดแจ้งเท่านั้น
- เหล้ากลั่นชุมชน ไม่กำหนดจำนวนการผลิต ไม่จำกัดชนิดเหล้า
- โรงผลิตเบียร์ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน แต่สัดส่วนผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ไม่กำหนดจำนวนการผลิตขั้นต่ำ
- Brewpub ไม่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ ไม่กำหนดทุนจดทะเบียน
- โรงผลิตสุราขาว ไม่กำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำ
- โรงผลิตวิสกี้ บรั่นดี และยิน ไม่กำหนดกำลังผลิตขั้นต่ำ