วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กศน.) อีกครั้ง เพื่อเตรียมเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ไทยเข้าร่วม ‘ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก’ หรือ #CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership)
ความตกลง CPTPP เริ่มต้นเมื่อปี 2006 ต่อมาสหรัฐอเมริกาได้ถอนตัวไปเมื่อปี 2017 จนทำให้สมาชิกปัจจุบันเหลือเพียง 11 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย บรูไน เวียดนาม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เม็กซิโก เปรู และชิลี โดยประเทศไทยต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพื่อผลประโยชน์ด้านการค้าระหว่างประเทศ ขยายตลาด และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของไทยให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การพยายามเข้าร่วม CPTTP ของไทยยังเป็นที่ครหาอยู่มากจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นด้านการผูกขาดที่จะเกิดขึ้นในภาคการเกษตรและเวชภัณฑ์ การพยายามผลักดันให้ประเทศไทยแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTTP ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่รัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แสดงท่าทีเอนเอียงอยู่หลายครั้ง แม้ในช่วง 1 ปีก่อนหน้านี้รัฐบาลมักอ้างว่า จะยังไม่มีการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบจนกว่าจะมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านก็ตาม
วันนี้จึงเป็นอีกหนึ่งในความพยายามที่จะฝืนทิศทางกระแสสังคมที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะเมื่อผลกระทบจากความตกลง CPTTP สามารถส่งผลเป็นวงกว้างและมีผลผูกพันต่อเกษตรกร ตลาดเวชภัณฑ์ และผู้บริโภคทั่วประเทศต่อไปอย่างยาวนานโดยไม่เห็นปลายทาง
ข้อตกลงอันตราย บ่วงดักที่รัฐไทยพยายามหามาใส่คอ
ในอดีตเกษตรกรไทยยังมีสิทธิที่จะเก็บรักษาพันธุ์พืชใดๆ ก็ตามไปปลูกต่อได้ เนื่องจากเป็นตัวช่วยในการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร โดยอนุสัญญาของสหภาพนานาชาติเพื่อคุ้มครองพันธ์พืชใหม่ (UPOV) ปี 1978 ระบุว่า สิ่งดังกล่าวถือเป็นสิทธิพิเศษของเกษตรกร ทว่าหากรัฐไทยเข้าร่วม CPTPP จะต้องให้การยอมรับอนุสัญญา UPOV 1991 ไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้การเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ที่ซื้อมาไปปลูกต่อในฤดูกาลต่อไปกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (ซึ่งรัฐอาจยกเว้นได้ในบางกรณี) แต่นั่นเท่ากับสิทธิของเกษตรกรถูกลิดรอนไป
ปัญหาสำคัญของการเข้าร่วม CPTPP คือเป็นการทำให้ภาคการเกษตรขาดความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหาร แน่นอนว่าจะเกิดการผูกขาดมากขึ้นเมื่อเกษตรกรรายย่อยต้องเสียประโยชน์จากกฎหมายข้อนี้ไปอย่างมหาศาล โดยงานศึกษาของ ดไวเจน แรนจ์เนการ์ (Dwijen Rangnekar) ระบุว่า ระบบกฎหมายแบบ UPOV นำไปสู่การผูกขาดพันธุ์พืชมากขึ้น เช่น ช่วงระหว่างปี 1965-1995 การขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืช 68-89 เปอร์เซ็นต์ ประโยชน์จะตกอยู่กับกลุ่มบริษัทรายใหญ่ที่มีอยู่เพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนผู้ยื่นคำขอรายย่อยอีก 75-82 เปอร์เซ็นต์ แทบไม่ได้รับการคุ้มครองแม้แต่เรื่องเดียว แรนจ์เนการ์สรุปว่า การคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชมักให้ประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เท่านั้น มิใช่นักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย
นอกเหนือไปจากการสร้างเงื่อนไขผูกขาดพันธุ์พืชที่จะถีบราคาสูงขึ้นจนเกษตรกรรายย่อยเดือดร้อนแล้ว ความร่วมมือ CPTPP ในธุรกิจเวชภัณฑ์ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยาเป็นวงกว้างอีกด้วย เนื่องจากข้อตกลง UPOV 1991 ภายใต้ความร่วมมือ CPTPP นั้นจะยิ่งทำลายสิทธิในการถือครองสมุนไพรไทย และส่งผลต่อไปยังผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากสมุนไพรนั้นๆ อีกด้วย
งานวิจัยเรื่อง ‘CPTPP Impact on Access to Medicines’ ที่ ผศ.ภญ.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 พบข้อสรุปเบื้องต้นว่า หากไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศแพงขึ้น ต้องพึ่งพาการนำเข้ายาจากต่างประเทศมากขึ้น และมีผลให้มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมยาในประเทศมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน
นี่ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรก และอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
การพยายามเข้าร่วม CPTPP ภายใต้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งนี้ ไม่ใช่ความพยายามครั้งแรกดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยความพยายามครั้งก่อนๆ ต่างก็ถูกหลายฝ่ายในสังคมต่อต้านมาแล้วเช่นกัน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ได้มีการประชุม กนศ. เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณายื่นหนังสือแสดงความจำนงเข้าร่วม CPTPP ซึ่งจะมีการประชุม ครม. ในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 จนเป็นที่มาให้เครือข่ายภาคประชาสังคมจำนวนมากในฐานะตัวแทนกว่า 400,000 เสียงจากประชาชน ร่วมส่งจดหมายเปิดผนึกประท้วงท่าทีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ทันที
หลังกระแสต่อต้านขยายวงกว้าง ทำให้วันที่ 20 ธันวาคม 2564 ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ได้ออกมายืนยันว่า จะยังไม่มีการยื่นเรื่อง CPTPP ให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหากยังไม่มีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เผชิญกับสถานการณ์วิกฤตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดจนความขัดแย้งและการชุมนุมทางการเมือง จนกระทั่งหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล 2565 ผ่านพ้นไปไม่นาน รัฐไทยก็หันมาขยับเรื่องความร่วมมือ CPTPP อีกครั้ง โดยวันนี้ (27 กรกฎาคม 2565) ดอน ปรมัตถ์วินัย ได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม กศน. อีกครั้ง แม้จะขัดกับสิ่งที่ตนเองเคยพูดไว้ก่อนหน้า เป็นเหตุทำให้สังคมไทยต้องหันกลับมาจับตามองอีกครั้ง ว่าสุดท้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะมีท่าทีอย่างไรต่อไปกับความร่วมมือดังกล่าว