‘ได้สตูดิโอ’ สตูดิโอของใครก็ได้

000013

เรื่อง + ภาพ: ณัฐกานต์ อมาตยกุล

 

 

ศิลปะเป็นวิชาที่ต้องเรียนในโรงเรียนหรือเปล่าไม่รู้ แต่ ‘ได้สตูดิโอ’ ปลุกความเชื่อเราว่า ใครๆ ก็มีความเป็นศิลปินอยู่ในตัว

ใบกะเพราหน้าบ้านปูนเปลือยกึ่งไม้กระทบแสงแดดบ่าย เสียงเพลงยุค ’90 จากเทปคาสเซ็ตลอยลอดออกมาทางหน้าต่างและประตูร้าน หญิงสาวตาหวานสวมเสื้อกล้ามเข้ารูปถือเลื่อยไฟฟ้า ตัดไม้ออกเป็นท่อนๆ เศษขี้เลื่อยปลิวเป็นสาย ทอดเงาบางเบาบนพื้นสตูดิโอ

เครื่องส่งเสียงหึ่งและชะลอลง เธอหันไปถามเด็กน้อยที่นั่งมองอยู่

“ขนาดนี้ โอเคมั้ย” เด็กพยักหน้าตอบอย่างกระตือรือร้น บางวันโต๊ะไม้ตัวเตี้ยมีหน้าที่วางแป้นหมุนสำหรับงานปั้น เสียงแครกๆ สลับจังหวะมือสัมผัสเนื้อดิน จนกระทั่งก้อนดินกลายเป็นภาชนะที่บิดเบี้ยวเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของผู้ทำ

บทสนทนาเริ่มต้นอย่างง่ายๆ “มาทำอะไรได้บ้างคะที่นี่”

 

000011

 

สองสาวเจ้าบ้านตอบ “งานศิลปะอะไรก็ได้ค่ะ ปั้นถ้วย เย็บกระเป๋า ทำงานไม้” สุดท้ายจบด้วยประโยคน่ารักว่า อยากทำให้ที่นี่เป็นสตูดิโอทำงานศิลปะที่ใครๆ ก็มาใช้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเรียนศิลปะมา จะมานั่งเล่นเฉยๆ ก็ยังได้ เช่นเดียวกับข้อความบนเก้าอี้ไม้ตัวหนึ่งที่พวกเธอแกะสลักไว้ที่พนักพิงว่า นั่งบนเราให้เหมือนเก้าอี้ที่บ้าน

ลูกนก – พชรมน บัณฑุวนิช ใช้เวลาปีสุดท้ายในการทำงานธีสิสจบการศึกษา สาขาวิชาศิลปะภาพพิมพ์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เธอพยายามคิดแหวกแนว นำงานภาพพิมพ์ไปผสมผสานกับศิลปะแขนงอื่น คลุกคลีกับการใช้อุปกรณ์ของห้องปั้นและขอความช่วยเหลือจากเพื่อนนักศึกษาสาขาการปั้น จนสนิทสนมกับ อิงค์ – อิสราภรณ์ อ่อนทอง สาวสาขาวิชาประติมากรรม ด้วยความคิดที่เข้ากันได้ ทำให้ทั้งสองคิดว่า อะไรๆ ก็น่าจะเป็นไปได้ หากเริ่มลงมือทำด้วยกัน

หลายเดือนก่อน โครงการ ‘บ้านข้างวัด’ ประกาศรวบรวมเหล่าศิลปินมาร่วมสร้างชุมชน ซึ่งตั้งขึ้นใหม่บริเวณหลังวัดร่ำเปิง ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ประมาณสิบหลังคาเรือน กลายเป็นชุมชนที่เรือนพิงภู เส้นสายตาทอดสู่ดอยสุเทพ ลานสนามหญ้าด้านหน้าออกแบบเป็นขั้นบันไดลดหลั่นกันลงไป จัดเตรียมไว้เป็นพื้นที่กลางแจ้งที่สามารถจัดกิจกรรมร่วมกัน เช่น เทศกาลหนังข้างวัด ซึ่งกำลังจะมีขึ้นช่วงปลายเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้

 

000012

 

ลมหนาวแผ่วๆ เริ่มทักทายเราเมื่อฤดูฝนทำท่าจะอำลาไป แดดยังคงจัดจ้า แต่เมื่ออยู่ในสตูดิโอ ทุกอย่างกำลังพอดี ทั้งการจัดวางงานศิลปะและบทสนทนาบนโต๊ะไม้ข้างบ้าน

“ตอนนั้น เราเพิ่งจบ เรื่องกำไร-ขาดทุน เรายังไม่ค่อยคิด เราไม่ใช่คนที่นี่ อยากมีที่อยู่ในเชียงใหม่ พ่อแม่มาดูแล้วเขาก็เห็นดีเห็นงามด้วย”

ชั้นแรกของบ้านหลังนี้แบ่งเป็นพื้นที่สตูดิโอซึ่งเปิดประตูบานเฟี้ยมออกทั้งสองฝั่ง มีอุปกรณ์ทำงานศิลปะวางอยู่ตามมุมต่างๆ และบนผนัง และอีกส่วนก็เป็นห้องครัวที่บางครั้งใครได้กลิ่นอาหารแล้วหิวก็มาสั่งข้าวได้ ส่วนชั้นสองเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเธอ ที่นี่จึงเป็นทั้งบ้านและที่ทำงาน เป็นทั้งที่ที่เพื่อนเก่ามานัดพบปะกัน และที่ที่เพื่อนใหม่จะเดินเข้ามา

ลูกนกเล่าจุดเริ่มต้นให้ฟังคร่าวๆ ผ่านมาแล้วสี่เดือนกว่าๆ แม้ทุกอย่างอาจไม่เป็นไปอย่างที่คิด แต่ความตั้งใจเดิมยังมีอยู่ คืออยากทำให้คนเลิกคิดว่าการจะทำงานศิลปะได้ต้องเป็นคนเรียนศิลปะมาเท่านั้น

“เรื่องเทคนิคก็จำเป็นต้องสอน แต่ศิลปะมันกว้าง จะให้คนไม่กี่คนตัดสินงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เราไม่ค่อยเห็นด้วย บางครั้งพูดมาแล้วทำให้เสียกำลังใจมากกว่า”

กระดาษเปล่าเอสี่ไม่มีเส้นวางลงตรงหน้าเด็กๆ ปฏิกิริยาของแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนรีบหยิบสี ลงมืออย่างรวดเร็ว กลายเป็นภาพสีสันหลากหลาย มีลายเส้นเฉพาะตัว บางคนกระมิดกระเมี้ยน บอกว่าตัวเองวาดรูปไม่ค่อยสวย แต่คะยั้นคะยอเพียงไม่นาน งานศิลปะก็ออกมาอวดโฉม เมื่อเป็นผลงานของเด็กๆ แล้ว ก็ยากที่จะบอกว่ารูปไหนสวยหรือไม่สวย แต่อย่างน้อยมันก็ได้ทำหน้าที่ในการสะท้อนตัวตนของเด็กแต่ละคนออกมา

 

000019

 

สายตาของอิงค์กับนกเมื่อมองผลงานของผู้ร่วมเวิร์คช็อป เป็นสายตาที่เชื่อมั่นว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์เช่นนั้นอีก ในตัวตนของคนทุกวัย

ไม่เหมือนติวเตอร์ศิลปะที่คอยชี้จุดให้ว่าต้องวาดอย่างไรจึงจะได้คะแนนดี การทำงานศิลปะที่นี่ไม่ใช่กิจกรรมสำเร็จรูป แต่ผู้เข้าร่วมเวิร์คช็อปต้องออกไอเดียเอง ทำอย่างไรชิ้นงานถึงจะ ‘ต่าง’ และเป็นของตัวเอง บางครั้งก็ทำเพื่อเป็นของขวัญให้กับคนพิเศษแสดงความตั้งใจของผู้ให้ โดยมีอิงค์และนกเหมือนพี่เลี้ยงคอยบอกเส้นทางและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยกตัวอย่างการทำหุ่นของเล่นโดยใช้ไม้ ก็เริ่มจากให้เด็กร่างภาพหุ่นที่อยากได้ออกมาจากจินตนาการก่อนโดยไม่มีโจทย์บังคับ

สมกับที่ตั้งชื่อพื้นที่ให้เป็น ‘สตูดิโอ’ ไม่ใช่โรงเรียนสอนศิลปะ

บางครั้งจุดขายข้อนี้ก็ทำให้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาไม่ค่อยเข้าใจอยู่บ้าง นอกจากจะเข้ามาคุยกัน และลงมือทำงานศิลปะสักชิ้น พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสองศิลปินรุ่นใหม่ ได้ทั้งงานและมิตรภาพกลับไป

 

1607128_340509666122495_6913840171161803316_n

 

หลังจากมองบรรยากาศรอบๆ สตูดิโอด้วยรอยยิ้มชื่นชม คุณแม่ชาวมาเลเซียถาม พร้อมเลิกคิ้ว

“It is difficult to survive, right?”

ฉู่เหมย ลูกชายวัยซนของเธอมานั่งวาดรูปเล่นที่นี่อยู่นาน เธอชอบสิ่งที่ ‘ได้สตูดิโอ’ กำลังทำ แต่ก็อดสงสัยไม่ได้

นกกับอิงค์ยิ้ม

“ก็อยู่…ได้นะ” พวกเธอหัวเราะเบาๆ กับตัวเอง

เรามองถ้วยชาปั้นเองที่เพิ่งออกจากเตาเผา หงายดูก้นที่มีลายเซ็นผู้ปั้น อย่างน้อยก็ต้องขอบคุณที่ได้สตูดิโอทำให้จินตนาการของคนวัยเรายังคงรอดชีวิตอยู่ได้เหมือนกัน

 

*******************************

 

ติดต่อ ‘ได้ สตูดิโอ’

โครงการบ้านข้างวัด

191-197 ซ.วัดอุโมงค์ ต.สุเทพ อ.เมือง เชียงใหม่ 50200

facebook.com/daieverything

089-5456551

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า