พระอาทิตย์หายไป: ยุโรปตะวันตกแสนหนาว SAD นาน และมืดมัว

เรื่อง: รัชดา อินรักษา

กรุงบรัสเซลส์และเมืองลีลทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรปได้รับผลกระทบจากช่วงฤดูหนาวที่ยาวนานกว่าปกติ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ส่งผลต่อสภาวะทางร่างกายและจิตใจของชาวเมืองเป็นอย่างมาก จากผลการรายงานของสำนักข่าวต่างๆ ปรากฏว่าการที่มีช่วงฤดูหนาวยาวนานนั้นส่งผลให้คนส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าตามฤดูกาล หรือที่เรียกว่า Seasonal Affective Disorder (SAD) ไร้เรี่ยวแรง หมดหวัง เบื่อหน่าย หดหู่ ผลที่ตามมาเลวร้ายกว่าที่คิดมาก และนี่คือสิ่งที่ฝั่งยุโรปต้องเผชิญ

The Darkest Winter: ฤดูหนาวสุดเลวร้าย

นับแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของยุโรป เช่น ประเทศเบลเยียม ประเทศฝรั่งเศส เผชิญกับฤดูหนาวที่หม่นมัว มีช่วงเวลากลางวันหรือเวลาที่แดดออกน้อย โดยเฉพาะกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ได้รับแสงอาทิตย์เพียง 10 ชั่วโมง 31 นาทีตลอดเดือนธันวาคม ขณะที่เมืองลีล ประเทศฝรั่งเศส เฉพาะช่วงสองอาทิตย์แรกของเดือนมกราคม ได้รับแสงอาทิตย์เพียง 2 ชั่วโมง 42 นาที

เสมือนสัญญาณเตือนแห่งการสูญหาย ดวงดาวถูกลักพาตัว และยังไม่เห็นสัญญาณแห่งชีวิตของดวงอาทิตย์

คือพาดหัวใน La Voix du Nord หนังสือพิมพ์รายวันทางภาคเหนือของฝรั่งเศส แสดงถึงความเลวร้ายรุนแรงของสถานการณ์

กรมอุตุนิยมวิทยาประเทศเบลเยียม (Belgium’s Royal Meteorological Institute) รายงานว่า ปรากฏการณ์ที่ทั้งเมืองตกอยู่ในความมืด ช่วงเวลากลางวันสั้นกว่าปกติในฤดูหนาว และเป็นครั้งที่ยาวนานผิดปกติตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถูกบันทึกว่าเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายและยาวนานเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศเบลเยียมนับตั้งแต่ปี 1887 (ปีที่เริ่มมีการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาประเทศเบลเยียม) ด้วยสถิติของช่วงเวลาที่มีแสงอาทิตย์เฉลี่ย 10.5 ชั่วโมงต่อหนึ่งเดือน โดยอันดับ 1 เกิดขึ้นในปี 1934 ที่มีช่วงเวลาแดดออกเพียง 9.3 ชั่วโมงต่อหนึ่งเดือน

สำหรับภูมิภาค Hauts-de-France ภาคเหนือของฝรั่งเศสได้รับแสงอาทิตย์ที่คลาดเคลื่อนไปจากมาตรฐานอย่างมาก จากปกติต้องได้รับแสงแดด 48 ชั่วโมงต่อเดือน ในช่วงฤดูหนาว แต่ครึ่งแรกของเดือนธันวาคม กลับได้รับเพียง 26 ชั่วโมงต่อเดือนเท่านั้น

Météo France องค์กรรายงานสภาพภูมิอากาศในประเทศฝรั่งเศสอธิบายว่า จริงๆ แล้วค่าเฉลี่ยพื้นฐานที่เมืองลีลต้องได้รับแสงอาทิตย์คือ 61.4 ชั่วโมง แต่แค่ครึ่งเดือนแรกของมกราคมเมืองลีลได้รับเพียง 2.7 ชั่วโมง หายไปถึง 30 ชั่วโมง นับว่าเป็นโชคร้ายของชาวลีล ที่ครั้งหนึ่งเคยทุบสถิติต่ำสุด ได้รับแสงอาทิตย์น้อยเพียง 13 ชั่วโมงในหนึ่งเดือนในปี 1948

“มีการคาดการณ์ว่าสภาพอากาศจะยังแห้งแล้งและมืดครึ้มต่อไป” เฟรเดอริค เดคเคอร์ (Frédéric Decker) นักอุตุนิยมวิทยาแห่ง Météo News ให้สัมภาษณ์กับ La Voix du Nord หนังสือพิมพ์ภาคเหนือรายวันของประเทศฝรั่งเศส

ขณะที่รูอ็อง เมืองหลวงของแคว้นนอร์มังดีประเทศฝรั่งเศสกลับเลวร้ายยิ่งกว่า ในช่วงครึ่งแรกของเดือนได้รับแสงอาทิตย์เพียง 2.5 ชั่วโมง ซึ่งตามมาตรฐานในหนึ่งเดือนต้องได้รับถึง 58.6 ชั่วโมง ในขณะที่ปารีสได้รับ 10 ชั่วโมง จากเดิมมาตรฐานเฉลี่ยในเดือนมกราคมอยู่ที่ 62.5 ชั่วโมง

และทางตอนใต้ของฝรั่งเศส เช่น เมืองบอร์กโดซ์ และเมืองมาร์กเซย์ ได้รับแสงอาทิตย์ที่น้อยกว่าปกติภายในระยะเวลาแค่ครึ่งเดือนแรกเท่านั้น ซึ่งเมืองบอร์โดซ์ได้รับเพียง 10.3 ชั่วโมง และเมืองมาร์แซย์ได้รับ 26.9 ชั่วโมง จากปกติต้องได้รับแสงแดด 96 ชั่วโมง และ 92.5 ชั่วโมง ตามลำดับ

ฤดูหนาวมาพร้อมกับความเศร้าได้ยังไง?

การเข้าสู่ฤดูหนาวที่ยาวนาน กลางวันสั้นลง กลางคืนยาวนาน มีผลทำให้คนรู้ซึมเศร้า จิตตก รู้สึกเฉื่อยชา เพราะฮอร์โมนเมลาโทนิน (melatonin) ที่มีผลต่ออารมณ์ลดปริมาณลงในฤดูหนาว เนื่องจากไม่ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ หรือที่เรียกว่าโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล Seasonal Affective Disorder (SAD) ผลที่ตามมาคือ รู้สึกไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง ต้องการนอนตลอดเวลา และอยากกินของหวานหรือของมันมากขึ้น และถ้าอยู่ในภาวะนี้นานๆ แน่นอนว่ามันย่อมส่งผลต่อสุขภาพอย่างแน่นอน

วิธีหนึ่งในการแก้ไขโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลเบื้องต้นคือ Light Therapy หรือการบำบัดด้วยแสง ฮอร์โมนเมลาโทนินจะถูกผลิตเพิ่มขึ้นกระตุ้นให้ร่างกายมีชีวิตชีวา เป็นการรักษาโดยใช้แสงนั่นเอง อย่างที่ฟลอรองท์ ดูรองด์ (Florent Durand) ผู้จัดการสตูดิโอนวดโดยใช้แสง Light Therapy ในเมืองลีลกล่าวว่าคอร์สบำบัดของเขามีคิวจองเต็มตลอดเดือน

นอกจากนี้ไม่ใช่อากาศเย็นเท่านั้นที่ทำให้คนเปลี่ยน ฤดูร้อนก็เป็นสาเหตุของการซึมเศร้าได้เช่นกัน ผลในทางตรงข้ามคือ น้ำหนักลด ความอยากอาหารน้อย อารมณ์ปั่นป่วน นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย บางคนมีอาการที่เรียกว่า ‘Smiling Depression’ (ยิ้มกลบเกลื่อนความผิดปกติ เป็นการแสดงออกหนึ่งของอาการซึมเศร้า) โดย 10 เปอร์เซ็นต์ของผู้ถูกวิเคราะห์ว่าเป็น SAD คือกลุ่มไม่ชอบซัมเมอร์ และจะเป็นทุกข์มากๆ เมื่อต้องเจอช่วงที่มีแสงสว่างและความร้อนมากที่สุดของปี


อ่านความหมายของ Seasonal Affective Disorder (SAD) หรือความผิดปกติทางอารมณ์จากฤดูที่เปลี่ยนแปลง
ที่มา: theguardian.com

Author

ณิชากร ศรีเพชรดี
ถูกวางตำแหน่งให้เป็นตัวจี๊ดในกองบรรณาธิการตั้งแต่วันแรก ด้วยคุณสมบัติกระตือรือร้น กระหายใคร่รู้ พร้อมพาตัวเองไปสู่ขอบเขตพรมแดนความรู้ใหม่ๆ นิยมเรียกแทนตัวเองว่า ‘เจ้าหญิง’ แต่ไม่ค่อยมีใครเรียกด้วย เนื่องจากส่วนใหญ่มองว่าเธอไม่ใช่เจ้าหญิงแต่เป็นนักเขียนและนักสื่อสารที่มีอนาคต
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า