ตัวตายแต่ใจยัง อัตวินิบาตกรรม เมื่อยุติธรรมชำรุด

3 ความตายของ 3 บุคคลที่กระทำอัตวินิบาตกรรม ความตายทั้ง 3 กรณีมีจุดร่วมเกาะเกี่ยวกัน การกระทำอัตวินิบาตกรรมทั้ง 3 กรณีได้สร้างความหมาย เป็นความตายที่มีเสียง เป็นเสียงที่สะท้อนความระทมที่ต้องจำทนในระบบ บางความตายเหมือนดวงดาว ดับสูญไปแล้ว แต่ยังส่องแสง

นวมทอง ไพรวัลย์

31 ตุลาคม พ.ศ. 2549 นายนวมทอง ไพรวัลย์ อาชีพขับรถแท็กซี่ ผูกคอตายกับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ฝั่งขาออก เยื้องกับที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ (บริษัท วัชรพล จำกัด)

ก่อนหน้านั้นหนึ่งเดือน เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 นวมทองขับรถแท็กซี่ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นโคโรล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพฯ ของบริษัทสหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด พ่นสีคำว่า ‘พลีชีพ’ ที่กระโปรงท้าย พุ่งเข้าชนรถถังเบา M41A2 Walker Bulldog ตรากงจักร 71116 ของคณะรัฐประหาร ตัวเองได้รับบาดเจ็บสาหัส ซี่โครงซ้ายหัก คางแตก ปากแตก และตาซ้ายบวมเป่ง

“ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้” พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษก คมช. ขณะนั้น กล่าวกับนักข่าวเมื่อมีการถามถึง นายนวมทอง ไพรวัลย์

หนึ่งเดือนต่อมา ร่างของเขาห้อยอยู่กับราวสะพานลอย บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต

ในคืนนั้น เขาสวมเสื้อยืดสีดำ สกรีนข้อความเป็นบทกวีของ รวี โดมพระจันทร์ ด้านหลังเป็นบทกวีของ ศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์) ว่า “อันประชาสามัคคีมีจัดตั้ง เป็นพลังแกร่งกล้ามหาศาล แสนอาวุธแสนศัตรูหมู่อันธพาล ไม่อาจต้านแรงมหาประชาชน”

ในจดหมายลาตายระบุว่า ต้องการลบคำสบประมาทของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกของคณะรัฐประหารในขณะนั้น ที่ว่า

“ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”

การตายของนวมทองได้สร้างความหมายให้กับสังคมไทย มีบทเพลงมากมายที่ถูกประพันธ์ขึ้นเพื่อเชิดชูวีรกรรมของเขา มีภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์ของเขา มีรูปปั้นเป็นอนุสรณ์ สดมภ์ที่บ่งบอกว่าเขาเคยอยู่ตรงนี้และตายตรงนี้ ชื่อของเขาถูกนำไปตั้งเป็นชื่อห้องประชุม และมีการจัดงานรำลึกถึงเขาทุกปี

แม้ว่าจะเกิดรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในปี 2557 และทหารก็ยังมีบทบาทนำทางการเมือง แต่อัตวินิบาตกรรมของนวมทองได้สร้างความหมายและสลักลงในใจของผู้คนแล้ว

สืบ นาคะเสถียร

“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”

วรรคทองเกริ่นกล่าวอภิปรายคัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี ในปี 2530 ของ สืบ นาคะเสถียร ยังคงบ่งบอกบุคลิก ตัวตน ของเขาได้เป็นอย่างดี

เขาเริ่มต้นชีวิตข้าราชการกรมป่าไม้ที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า โดยไปประจำที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขาเขียว-เขาชมพู่ จังหวัดชลบุรี ในปี 2518 เริ่มต้นอาชีพข้าราชการป่าไม้ด้วยความคิดเด็ดเดี่ยว ดังจะเห็นได้จากผลงานด้านปราบปรามลุยจับผู้ต้องหาทำลายป่าหรือพรานที่มาส่องล่าสัตว์กลางคืนได้นับร้อยคน

“ผมมีหน้าที่ลุยอย่างเดียว จะใหญ่มาแค่ไหนผมจับหมด”

คำกล่าวข้างต้นน่าจะสะท้อนตัวตนในวันแรกเริ่มเส้นทางข้าราชการของเขาได้เป็นอย่างดี

สืบได้บทเรียนจากการทำงานในฐานะหัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าในเขื่อนเชี่ยวหลานในปี 2529 เขาเขียนบันทึกการอพยพสัตว์ป่าไว้ว่า “นอกจากสัตว์ป่าที่น่าสงสารเหล่านี้จะต้องประสบภัยพิบัติจากน้ำท่วมแล้ว ยังต้องเผชิญกับมนุษย์ที่เห็นแก่ได้บนความทุกข์ยากของสัตว์ป่า ที่คอยจ้องไล่ล่าสัตว์ป่าเหล่านั้นโดยไม่สำนึกถึงบาปกรรม เสียงปืนที่ดังก้องกังวานอยู่ในหุบเขาของอ่างเก็บน้ำคลองแสง มันฉุดกระชากความรู้สึกของคนที่กำลังช่วยชีวิตสัตว์ป่า”

ในปี 2530 สืบเข้าร่วมการต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน โดยใช้บทเรียนจากการอพยพสัตว์ป่าที่เขื่อนเชี่ยวหลานเป็นกรณีศึกษา และจัดทำบทรายงานเรื่อง “การประเมินผลงานช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน” รายงานชิ้นนี้ส่งผลอย่างมากต่อการพิจารณา เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการศึกษาผลกระทบของสัตว์ป่าจากการสร้างเขื่อน

“ผมสนใจงานวิจัยมากกว่าที่จะไปวิ่งจับคน เพราะว่าจับได้แค่ตัวเล็กๆ ตัวใหญ่ๆ จับไม่ได้ ก็เลยอึดอัดว่า กฎหมายบ้านเมืองนี้มันใช้ไม่ได้กับทุกคน มันเหมือนกับว่าเราไม่ยุติธรรม เรารังแกชาวบ้านในความรู้สึกของเขา เหมือนกับไม่ได้ให้ความยุติธรรมแก่คนในสังคมในฐานะที่ผมมีหน้าที่ที่ต้องรักษาป่า ผมก็เลยขอไปทำงานทางด้านวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ป่าแทน”

ต่อมา สืบมีส่วนร่วมในการเขียนรายงานทางวิชาการเพื่อนำเสนอต่อกรรมการให้พิจารณาว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเหมาะสมที่จะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ

ในช่วงที่มีนายทุนยื่นขอสัมปทานทำไม้ที่ป่าห้วยขาแข้ง เขาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักทั้งรณรงค์ให้ข้อมูลแก่ประชาชนจังหวัดอุทัยธานีให้ชาวเมืองเห็นคุณค่าของป่าห้วยขาแข้ง และมีการขอประชามติไม่สนับสนุนให้มีการทำสัมปทานไม้ครั้งนี้ มีผู้ลงชื่อนับหมื่นคน

มีการบันทึกไว้ว่า สืบอภิปรายด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน วิพากษ์วิจารณ์กรมป่าไม้อย่างตรงไปตรงมา

“ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่าทุกตัว เพราะพวกเขาพูดเพื่อตัวเองไม่ได้”

ปลายปี 2532 เขารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และพบว่าระบบราชการคือความสิ้นหวัง

ห้วยขาแข้งเป็นป่าที่มีพื้นที่ขนาด 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่เศษ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งเดียวที่ไม่มีราษฎรบุกรุกอาศัยอยู่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์ป่าหายากจำนวนมาก เช่น กระทิง วัวแดง ควายป่า นกยูงไทย สมเสร็จ เสือโคร่ง เสือดาว ช้างป่า ฯลฯ

สืบพบว่า ป่าจำนวน 1 ล้าน 6 แสนกว่าไร่ อยู่ในความรับผิดชอบของข้าราชการ 12 คน เจ้าพนักงานพิทักษ์ป่า 30 คน และลูกจ้างชั่วคราว 120 คน แบ่งไปประจำหน่วยพิทักษ์ป่า 12 หน่วย แต่ละหน่วยจะต้องรับผิดชอบพื้นที่ป่าถึงหน่วยละ 1 แสนกว่าไร่

ยังไม่นับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การลักลอบล่าสัตว์ การกันคนออกจากป่า เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น

ชาวบ้านด้านตะวันออกของห้วยขาแข้งมักจะลักลอบเข้ามาล่าสัตว์ หรือเป็นคนนำทางให้แก่พรานในเมือง บางครั้งก็มีใบสั่งจากกลุ่มอิทธิพลว่าต้องการสัตว์ป่าประเภทไหน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ของห้วยขาแข้งส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหลานของคนในหมู่บ้าน การจับกุมพี่น้องกันเองก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเสมอ เมื่อพบซากสัตว์แต่จับนักล่าไม่ได้เมื่อจับคนล่าได้ ก็ล้วนเป็นคนยากคนจน ไม่สามารถสาวไปถึงผู้บงการได้สักครั้ง

ความพยายามขอความร่วมมือจากหน่วยราชการนอกป่าห้วยขาแข้ง ในการช่วยกันป้องกันการทำลายป่าและการล่าสัตว์โดยเฉพาะบริเวณป่าสงวนรอบๆ เป็นสิ่งที่หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งผู้นี้ทำมาตลอด แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจัง กรมป่าไม้เองก็ไม่สนับสนุนสิ่งใด

สืบผลักดันให้ป่าแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก จึงเก็บข้อมูลเพื่อทำรายงานเสนอยูเนสโกจนสำเร็จในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันก็พยายามผลักดันแนวความคิดเรื่องป่ากันชน บริเวณป่าสงวนรอบๆ ป่าห้วยขาแข้งในรัศมี 5 กิโลเมตร ให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน โดยชาวบ้านสามารถมาใช้ประโยชน์ ตัดไม้หาของป่าได้ ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นป่ากันชน ซึ่งจะทำให้ป่าห้วยขาแข้งปลอดภัยจากการบุกรุก

แต่แนวความคิดนี้อยู่นอกเหนือพื้นที่ของห้วยขาแข้ง เป็นเรื่องของป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ทหาร ตำรวจ และข้าราชการท้องถิ่นที่จะมีอำนาจในการจัดการดังกล่าว แต่สืบก็พยายามอย่างหนัก วิ่งหาผู้ใหญ่ วิ่งหาข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงให้ทุกคนเห็นความสำคัญของแนวความคิดนี้เพื่อรักษาป่าที่ดีที่สุดผืนนี้ให้ได้

ไม่เฉพาะสัตว์ป่าที่พูดเพื่อตัวเองไม่ได้ ชาวบ้านที่อาศัยรอบรัศมีป่าก็พูดเพื่อตัวเองไม่ได้ บางครั้งเขาเองก็ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นเหมือนกัน

“ผมแน่ใจแล้วว่า ผมกำลังต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว ผมไม่อาจจะคาดหวังจากใครได้อีกต่อไป”

คือคำพูดของสืบหลังจากถูกรัฐมนตรีคนหนึ่งเรียกตัวไปพบในปี 2533 หลังจากได้รับการบอกเล่าจากบริษัททำไม้ชื่อดังแห่งหนึ่งว่ามีการลักลอบตัดไม้ในห้วยขาแข้ง 

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ บันทึกถึงเหตุการณ์นี้ว่า สืบรู้ดีว่าเป็นการกลั่นแกล้ง เขาเตรียมข้อมูลอย่างดีเพื่อชี้แจงว่าเป็นการทำไม้นอกเขตห้วยขาแข้ง และชาวบ้านแอบไปตัดโดยมีผู้ใหญ่จากอำเภอลานสักหนุนหลัง สืบพยายามที่จะอธิบายถึงปัญหาอันยุ่งยากที่เขาและลูกน้องต้องประสบ แต่เขาไม่มีโอกาสชี้แจง เพียงแต่ได้รับคำบอกสั้นๆ ว่า “คุณต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม”

“ผมทำงานหนักกว่านี้ไม่ได้อีกแล้ว นอกจากว่าท่านจะยืดเวลาหนึ่งวันให้ยาวไปกว่านี้ และผมไม่อาจบอกคนของผมให้ทำงานหนักกว่านี้ได้อีกแล้ว สัปดาห์ที่ผ่านมาพวกเขาแทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย” สืบตอบโต้

เรารับรู้ผ่านเหตุการณ์นี้และความพยายามที่สูญเปล่าก่อนหน้าว่า เขาผิดหวัง

ประมาณตี 4 ของวันที่ 1 กันยายน 2533 เสียงปืนนัดหนึ่งดังก้องห้วยขาแข้ง ประมาณ 10 โมงเช้า เจ้าหน้าที่เริ่มแปลกใจว่าหัวหน้าสืบยังไม่ลงมากินข้าว เมื่อไขกุญแจบ้านเข้าไป พบร่างไร้ลมหายใจของหัวหน้าสืบอยู่บนเตียง มีแผ่นกระดาษแผ่นหนึ่งเขียนข้อความไว้ว่า

“ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” ลงชื่อ สืบ นาคะเสถียร ผู้ตาย

เสียงปืนในเขตห้ามล่านัดนั้นได้พูดแทนดวงจิตของเขาแล้ว แม้ร่างกายที่ตายไปแล้วจะพูดไม่ได้ 

เรียบเรียงจาก ‘สืบ นาคะเสถียร’ เป็นบทเรียนข้าราชการไทย โดย วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

 

คณาพันธุ์ ปานตระกูล

กราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้บริหารของทุกโรงพยาบาล, และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะช่วยเหลือได้

กระผมนายคณาพันธุ์ ปานตระกูล ขอสละชีวิตตัวเองเพื่อขอให้พวกท่านมองเห็นคุณค่าของลูกจ้างชั่วคราวที่ทำงานมานานหรือลูกจ้างที่หลวมตัวเข้ามาทำงานโดยหวังว่า จะมีการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ กระผมขอความอนุเคราะห์จากพวกท่านทั้งหลายช่วยคิดหาหนทางที่จะบรรจุลูกจ้างชั่วคราว ให้พวกคนเหล่านี้จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น บางท่านทำงานมา 5, 10, 15, 20 ปี หรือมากกว่านี้ ซึ่งงานที่ทำ กระผมคิดว่าไม่น่าที่จะเรียกงานชั่วคราว เป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ทำจนกว่าจะทำไม่ไหว เงินเดือนก็ไม่ขึ้น นานๆ ถึงมีขึ้นให้ ไม่กี่ร้อยบาท

กระผมคิดดูแล้ว แรงงานต่างด้าวยังมีหวังเงินขึ้นทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้น 1 ครั้ง แต่ลูกจ้างชั่วคราวอย่างพวกกระผม แทบจะไม่มีหวังเลย แล้วไม่มีกฎหมายอะไรรับรองหรือระเบียบบังคับ

กระผมคิดว่า ถ้าทางรัฐบาลหรือทางกระทรวงสาธารณสุขกลัวสิ้นเปลืองงบประมาณ กระผมคิดว่า น่าจะมีทางออกที่ช่วยเหลือกันทั้ง 2 ฝ่าย อย่างเช่น บรรจุเป็นลูกจ้างประจำ แต่ครอบครัวเบิกค่ารักษาไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ใช้สิทธิบัตรทอง …สุขภาพถ้วนหน้าก็ได้ แต่ได้รับการพิจารณาขึ้นเงินเดือน ตามความสามารถ ตามความขยัน หรือดูที่ผลงานก็ได้

หรือถ้าบรรจุให้ไม่ได้จริงๆ ก็ขอให้ขึ้นเงินเดือนให้บ้างโดยเอาผลงาน ความขยันหมั่นเพียรเป็นที่ตั้งก็ได้ ใครไม่มีผลงานก็ไม่ต้องขึ้นเงินเดือนให้

กระผมคิดว่าพวกท่านต้องมีความคิดที่ดีๆ กว่ากระผมแน่นอน หวังว่า พวกกระผมลูกจ้างชั่วคราวคงได้รับการช่วยเหลือ จากพวกท่านอย่างแน่นอน

ส่วนชีวิตของกระผมมีค่าไม่มาก กระผมยอมเสียสละได้ หวังว่า พวกท่านก้มหัวลงมามองลูกจ้างชั่วคราวบ้าง เพราะส่วนใหญ่เงินเดือนไม่พอใช้จ่ายเลี้ยงครอบครัวอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน, ข้าวปลาอาหารพวกกระผมก็เติมหรือทานอาหารเดียวกับพวกท่านๆ ทั้งหลายเหมือนกัน

กระผมหวังว่าชีวิตของกระผมคงไม่เสียเปล่า ลูกจ้างชั่วคราวทุกท่าน คงจะมีชีวิตที่ดีขึ้น จำไว้เลยว่า งานที่เราทำกันทุกๆ วันนี้ มันเป็นงานประจำ ไม่ใช่งานชั่วคราว                                                                                                                      

(ลาก่อนครอบครัวของกระผม)

คณาพันธุ์ ปานตระกูล

คณาพันธุ์ ปานตระกูล ตัดสินใจกระทำการอัตวินิบาตกรรมในเดือนมกราคม 2550 เขาจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และเคยทำงานเป็นหัวหน้ากัปตันโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ได้เงินเดือนเกือบ 10,000 บาท แต่ลาออกมาสมัครงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว แผนกฟอกย้อม โรงพยาบาลโพธาราม ซึ่งมีเงินเดือน 5,000 กว่าบาท เขาหวังว่าอีกไม่นานจะได้บรรจุเป็นพนักงานประจำ ซึ่งจะได้รับสิทธิและสวัสดิการ โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาลของคนในครอบครัว

แต่เวลาผ่านไป 17 ปี เขาก็ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นลูกจ้างประจำ แม้จะทำงานในเวลา 8.00-16.00 น. จันทร์-ศุกร์ และทำงานล่วงเวลาในวันเสาร์สลับอาทิตย์ มีหน้าที่ตรวจเช็คและส่งผ้าชนิดต่างๆ เช่น ผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัว ภายในตึกต่างๆ ของโรงพยาบาล

สำนักข่าวประชาไท รายงานว่า ก่อนจะกระทำการอัตวินิบาตกรรม คณาพันธุ์ได้เขียนจดหมายทั้งหมด 3 ฉบับ ได้แก่ จดหมายลาที่เขียนถึงบุตรชาย, จดหมายที่จะเขียนถึงนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง และจดหมายระบุเขียนถึงสหพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย

ส่งถึง สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย

เรื่อง เป็นคนตาย

การกระทำของกระผมในครั้งนี้ ถ้าท่านใดหรือหน่วยงานใดได้รับผลกระทบ กระผมขออโหสิกรรมไว้ด้วย

ถ้าหากเป็นไปได้กระผมอยากจะขอกราบเท้าท่านนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ผู้อำนวยการ, ฝ่ายบริหาร และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของทุกโรงพยาบาลทุกท่าน กระผมตอนยังมีชีวิตอยู่ กระผมรู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์กับบุคคลรอบข้างน้อยมาก จึงคิดว่าถ้าตายไปคงจะมีประโยชน์กับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่และยังอยากสู้ชีวิตต่อไป ชีวิตของกระผมคงจะกระตุ้นพวกท่านให้อยากช่วยเหลือ หรือมีความอนุเคราะห์ พวกลูกจ้างชั่วคราวบ้าง

พวกท่านมีอำนาจ มีบารมี มีความรู้ พวกท่านคงมีหนทาง คิดพิจารณา หานโยบาย สร้างขวัญและกำลังใจให้กับลูกจ้างชั่วคราวให้มาก ขอความกรุณาเถอะครับ ลูกจ้างชั่วคราวบางคนทำงานมา 5- 20 ปี เงินเดือน 5,360 บาท หักส่วนอื่นแล้ว เหลือประมาณ 4,900 บาท แต่ละเดือน ไม่พอใช้จ่ายหรอกครับ พวกกระผม ไม่มีกฎหมายรองรับ สู้แรงงานต่างด้าวยังไม่ได้เลย พวกกระผมก็ต้องกิน ต้องใช้เหมือนพวกท่าน ต้องการความมั่นคงในชีวิต เหมือนพวกท่าน และที่สำคัญงานที่พวกผมกระทำ มันไม่ใช่งานชั่วคราว มันเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ทำจนตายอย่างนี้ ไม่น่าที่จะเรียกว่างานชั่วคราว ขอความกรุณาโปรดพิจารณาช่วยเหลือลูกจ้างชั่วคราวที่ยังอยากสู้ชีวิตต่อไปด้วยเถิด

* การตายของกระผมคงจะเป็นประโยชน์แด่ลูกจ้างชั่วคราวทั้งหลายทุกโรงพยาบาล

* งานที่พวกเรากระทำไม่ใช่งานชั่วคราว

คณาพันธุ์ ปานตระกูล

หลังการตายของคณาพันธุ์ การเรียกร้องการจ้างงานที่มั่นคงในภาครัฐ เช่น เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวออกเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลในปี 2555 ในเรื่องการบรรจุแต่งตั้งพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวในโรงพยาบาลของรัฐบาล ให้เป็นข้าราชการ เนื่องจากตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวมีสวัสดิการและความมั่นคงไม่เท่าข้าราชการ แต่รัฐบาลกลับไม่เปิดกรอบบรรจุเพิ่ม จึงเกิดการขาดแคลนพยาบาลในระบบบริการสุขภาพ

ภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทยและสมาคมลูกจ้างชั่วคราวสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปลายปี 2555 ให้พิจารณาช่วยเหลือลูกจ้างชั่วคราวนอก 21 วิชาชีพ

ในปี 2557 กระทรวงสาธารณสุขยังจัดทำร่างหลักเกณฑ์และวิธีคัดเลือกผู้แทนพนักงานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งมีทั้งหมด 16 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 9 คน และกรรมการที่มาจากการแต่งตั้งอีก 7 คน ในจำนวนนี้เป็น พกส. 1 คน คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเกี่ยวกับการจ้าง ตลอดจนกำหนดลักษณะงาน คุณสมบัติ กำหนดอัตราค่าจ้าง สิทธิประโยชน์ รูปแบบการจ้าง การประเมินผลและให้ความเห็นชอบในเรื่องกรอบอัตรากำลัง โดยมีวาระครั้งละ 2 ปี ซึ่งจะทำให้เกิดระบบการจ้างที่เป็นธรรมและตรงกับข้อเท็จจริง

ความตายของคณาพันธุ์ได้แสดงความหมายตามเจตจำนงที่ต้องการให้ พวกท่านก้มหัวลงมามองลูกจ้างชั่วคราวบ้าง  เพราะ งานที่พวกผมกระทำ มันไม่ใช่งานชั่วคราว มันเป็นงานที่ต้องทำทุกวัน ทำจนตายอย่างนี้

เรียบเรียงจาก

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า