เราพบซีดีแผ่นนี้อยู่ในซองกระดาษแบบประหยัดบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ร้าน Tower Record สักเมืองหนึ่งของญี่ปุ่น ด้วยความที่ไม่อยู่ในโซนลดราคา แถมยังตั้งสง่าอยู่บนชั้นเพลงออกใหม่ ทำให้เราตัดสินใจไม่ซื้อ เพราะมันแพงกว่าข้าวปั้นสองลูก
ในบรรดาดนตรีแนวต่างๆ Deafheaven วงจากซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย คือวงหนึ่งที่ยืนฟังแล้วชวนสงสัยว่า มันควรจัดอยู่ในแนวไหน ด้วยเสียงกีตาร์ที่แสบ ทางคอร์ดไม่ซับซ้อนแบบ post-rock ผสมเมโลดีไซคีเดลิคบางๆ ใส่เอฟเฟ็คต์แตกพร่า ผสมกับเสียงร้องที่แผดแบบสปีดแบล็คเมทัลแถวสแกนดิเนเวียน
Deafheaven มีสมาชิกทั้งหมดห้าคน โดยมีตัวหลักเป็นหนุ่มฮิปสเตอร์ จอร์จ คลาร์ก นักร้อง กับ เคอร์รี แมคคอย มือกีตาร์ ข้อมูลระบุว่าสองคนนี้เริ่มเล่นดนตรีจากแนว grindcore ก่อนที่จะมาตัดผมทรงอันเดอร์คัตตามสมัยนิยม
New Bermuda คือสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 3 ซึ่งเราเคยฟังเป็นครั้งแรก (เนื่องจากไม่ได้ซื้อแผ่นมา ฝากเพื่อนซื้อก็เหลว เราจึงหาฟังจากยูทูบ) เปิดหัวด้วย ‘Brought to the Water’ อินโทรเป็นซาวด์กีตาร์หน่วงแบบ post-rock, post-metal บวกกับสแนร์รัวๆ สไตล์แบล็ค เติมด้วยเสียงร้องแผดสูง ท่อนกลางเพลงหล่นเหวด้วยการตีคอร์ดและไล่ปิ๊กกิ้งกรุ๊งกริ๊ง ลักษณะนี้ยังปรากฏในแทร็คถัดๆ มา ทั้ง ‘Luna’ และ ‘Come Back’ เขาเรียก genre ลูกผสมจากแบล็คๆ บวกสกุลโพสต์ๆ ทั้งหลายว่า post-black หรือ blackgaze -งงเลย
อีกสองเพลงที่แสดงความเป็นโพสต์แบบเพราะๆ วัยรุ่นฟังง่าย ผู้ใหญ่ฟังพอบันเทิงหู คือ ‘Baby Blue’ ที่ซัดท่อนบรรเลงหวานๆ แบบ Mogwai หลอกคนฟังไปครึ่งเพลง กับ ‘Gifts for the Earth’ เพลงปิดท้ายที่เป็นอัลเทอร์เนทีฟเมทัล
ภาพรวมของอัลบั้มชุดนี้เป็นของใหม่ที่ไม่ใช่ของแปลก และจากเสียงวิจารณ์ บรรดา headbanger ส่วนหนึ่งดูจะไม่นับญาติว่าเข้าข่ายเมทัลของจริงสักเท่าไหร่ – Deafhavean คงเป็นแค่ของหวานที่ดูเหมือนจะขม ดมๆ ดูๆ แล้วหลับสบาย…