เกษตรกรที่รัก (Made in Japan)

 

cover01

ปัญญา งามยิ่ง เป็นเกษตรกรไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง เขาไม่ได้เป็นเกษตรกรเงินล้าน ไม่ได้เป็นเกษตรกรผู้เคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการผลิต ปัญญาไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าเกษตรกรที่ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี และสามีของภรรยาจำนวน 1 คน และลูกอีก 4

ปีที่ผ่านมา WAY เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นกับ ปัญญา งามยิ่ง เราไปดูไฟนีออนย่านฮะระจูกุ เดินหาซื้อเครื่องสำอางให้ภรรยาและลูกสะใภ้ของปัญญาแถวชินจูกุ และเดินชมท้องนาในหลายเมืองตั้งแต่นากะโนะจรดยะมะนะชิ แหละก็เพื่อการนี้-เราต้องการเห็นชีวิตเกษตรกรญี่ปุ่น และโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการผลิตของเขา

ข่าวราคาข้าวเปลือกตกต่ำทำให้ WAY คิดถึง ปัญญา งามยิ่ง คิดถึงเกษตรกรญี่ปุ่น และคิดถึงเกษตรกรไทย จดหมายสั้นๆ เหล่านี้เป็นความพยายามในการมองและทำความเข้าใจระบบต่างๆ ที่รองรับผลผลิตทางการเกษตรของสังคมญี่ปุ่น และวิธีคิดของเกษตรกรญี่ปุ่นและเกษตรกรไทยธรรมดาคนหนึ่งที่ชื่อ ปัญญา งามยิ่ง

 

 

(ในห้องฆ่าตัวตายกรุงโตเกียว)

คุณปัญญา งามยิ่ง ที่รัก

ตอนนี้คุณคงกำลังทำงานอย่างหนักในแปลงผักที่ตำบลสมเด็จเจริญ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ข่าวราคาข้าวเปลือกตกต่ำทำให้ผมนึกถึงคุณ แม้ว่าคุณจะไม่ได้ปลูกข้าวก็ตาม ผมคิดถึงกลิ่นยาเส้นรสฉุนของคุณด้วย ยาเส้นที่คุณปลูกเองแล้วนำมันขึ้นเครื่องบินไปมวนสูบด้วยกันที่ประเทศญี่ปุ่น คุณพกพาพวกมันผ่านสายตาพวกเจ้าหน้าที่ ตม. ได้อย่างไรกันนะ

คุณคงพกมันไว้ในกระเป๋าย่ามแบบสะพายข้าง แล้วเดินผ่าน ตม. ด้วยใบหน้าซื่อตรง ใช่ คุณเป็นคนซื่อตรง คุณเป็นชายชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงวัย 42 ที่ซื่อตรงคนหนึ่ง

ในห้องฆ่าตัวตายตามสำนวนของคุณ หรือห้องสูบบุหรี่ในเมืองโตเกียว คุณบรรจงโรยยาเส้นบนกระดาษเนื้อหยาบ แล้วมวนเข้าหากันจนขึ้นรูปเป็นบุหรี่ ยื่นไมตรีให้ผม ยังจำได้ไหมว่าเราคุยกันว่าอะไร

“ผมเข้าใจผิดอย่างวายป่วง ประเทศที่เจริญมากๆ อย่างพี่ยุ่น ผู้คนคงจะเห็นแก่ตัวฉิบหาย” คุณว่า

แต่หลังจากที่พวกเราเดินส่ายไปด้วยกัน ดูไฟนีออนย่านฮะระจูกุ เดินหาซื้อเครื่องสำอางให้ภรรยาและลูกสะใภ้ของคุณแถวชินจูกุ และเดินชมท้องนาในหลายเมืองตั้งแต่นากะโนะจรดยะมะนะชิ คุณก็บอกว่า เอาเข้าจริงแล้ว ผู้คนบ้านเราต่างหากที่อาจเป็นเช่นนั้น

คุณตั้งข้อสังเกตว่าผู้คนที่นี่มีระเบียบวินัย และการอยู่ในสังคม ระเบียบวินัยเป็นสิ่งจำเป็น เราเขินอายกันฉิบหายที่ยืนเคียงคู่กันขวางทางเต็มบันไดเลื่อน ก็คนญี่ปุ่นเขาจะยืนชิดขวา เว้นพื้นที่ด้านซ้ายให้คนที่รีบเดินขึ้นไป พวกเราก็บ้านนอกไม่รู้เรื่องรู้ราว เราหาที่สูบบุหรี่กันลำบากยากเข็ญ เพราะกฎหมายญี่ปุ่นห้ามสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ และไหนจะก้นบุหรี่อีกละ เรี่ยราดได้ที่ไหน

“ไม่มีที่ไหนเสรีเท่าประเทศไทย” คุณสรุป

เกษตรกรญี่ปุ่นก็เช่นกัน คุณชื่นชมพวกเขาว่ามีวิธีคิดที่เป็นระบบระเบียบ พวกเขาจะสำรวจตลาดกันก่อนว่าอะไรคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ แล้วก็ปลูกสิ่งนั้น ต่างจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในเมืองไทยที่ “การทำเกษตรคือความเสี่ยงอย่างหนึ่งของชีวิต” นี่สำนวนของคุณเองนา

มันน่าเศร้านะที่การทำเกษตรคือความเสี่ยงอย่างหนึ่งของชีวิต หวังว่าเรื่องแบบนี้คงไม่เกิดกับคุณ ผมเชื่อว่าคุณมีศักยภาพ แล้วจะเขียนไปหาคุณใหม่ ถ้าผมเมาได้ที่

 

ทาเคชิสะ อิจิมะ เกษตรกรชาวญี่ปุ่น

 

(เมอร์เซเดส-เบนซ์ รุ่น E-500 ของนายทาเคชิสะ อิจิมะ) (Takeshisa Ijima)

คุณปัญญา งามยิ่ง ที่รัก

คุณยังจำรถเบนซ์ รุ่น E-500 ที่จอดอยู่หน้าบ้านนายทาเคชิสะได้ไหม พวกเรานี่ร้องอ่าส์แบบพวกญี่ปุ่นที่ชอบลากเสียงยาวๆ กันเชียว คุณยังน้อยเนื้อต่ำใจว่าทำไมเกษตรกรไทยไม่เป็นเหมือนเขา

นายทาเคชิสะ อิจิมะ อายุแค่ 35 ปีเอง รูปลักษณ์ของเขาเหมือนนักร้องวงเจ-ป๊อป มากกว่าที่จะเป็นเจ้าของฟาร์ม คุณบอกว่าเกษตรกรญี่ปุ่นมีราศีกว่าเกษตรกรไทย

จะพูดไปแล้ว นายทาเคชิสะก็เริ่มเป็นเกษตรกรตั้งแต่อายุ 22 คุณคงจำได้ว่าพ่อของเขาก็เป็นเกษตรกรปลูกกุยช่ายบนพื้นที่เพียง 3 เฮกตาร์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของพวกเขา ตอนนี้พวกเขามีพื้นที่ปลูกผักถึง 35 เฮกตาร์ ซึ่งปลูกหัวไชเท้า, ปวยเล้ง, ผักกวางตุ้ง, มันฝรั่ง, มะเขือม่วง, ข้าวโพด, กะหล่ำปลี และนาข้าว 2 เฮกตาร์ แต่ก็อย่างที่คุณรู้ ว่าเกษตรกรที่ยังคงทำงานอยู่มักใช้วิธีเช่าที่ดินจากเกษตรกรที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะพื้นที่ทั้งหมดของนายทาเคชิสะที่มี 37 เฮกตาร์ มีเพียง 3 เฮกตาร์ที่พวกเขาถือครองกรรมสิทธิ์ นอกนั้นก็เช่าที่ดินผู้อื่น

ผักที่นายทาเคชิสะปลูกนั้นเหมือนกับผักในฟาร์มผักประสานใจของคุณเลย เพียงแต่ขนาดของเขาใหญ่กว่า วิธีการของเขาใช้สารเคมี ส่วนคุณเลือกออร์แกนิก สายตาของคุณเวลาฟังนายทาเคชิสะเล่าเรื่องเป็นสายตาที่ดิ่งลึกเข้าไปในเรื่องเล่า คุณคงไม่เห็นตัวเองสินะ เวลาที่คุณ ‘อิน’ กับอะไรสักอย่าง

คุณพยักหน้าเข้าใจในคำตอบของเขา หลังจากที่คุณถามเขาว่าทำไมไม่เลือกทำระบบออร์แกนิก ซึ่งเขาก็บอกว่ามันเป็นสิ่งที่ยากในการควบคุมการผลิต และเขาต้องการผลผลิตในปริมาณมาก

เสียงครางพึมพำในลำคอของคุณและแววตาและการพยักหน้าของคุณเวลาฟังคำตอบของนายทาเคชิสะตอบคำถามนั้น มันเหมือนกับการยอมรับในความแตกต่างของความคิดความเชื่อ เราชอบทำราวกับการปลูกผักออร์แกนิกเป็นเรื่องศีลธรรม แต่คุณไม่ใช่คนแบบนั้น

 

ปัญญา งามยิ่ง ในชุดพื้นเมืองญี่ปุ่น

 

(คำตอบของเขาไม่หล่อเหลาเอาเสียเลย)

คุณปัญญา งามยิ่ง ที่รัก

เมืองคะโตริ (Katori) จังหวัดชิบะ เป็นเมืองที่นายทาเคชิสะ อิจิมะ อาศัยอยู่ เขาบอกว่า “เป้าหมายของผมคือทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นมินิฮอกไกโด” ฮอกไกโดเป็นเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ แต่เมืองคะโตริเป็นเพียงเมืองเล็กๆ ที่มีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด คุณว่าไหม หมอนี่ทะเยอทะยานอย่างยิ่ง

หลังเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย นายทาเคชิสะก็เข้าไปทำงานที่สหภาพการเกษตรและสหกรณ์ญี่ปุ่น หรือ JA แล้วกลับมาปลูกกุยช่ายกับพ่อแบบไม่มีเงินเดือน แต่รับเบี้ยเลี้ยงจากพ่อเดือนละ 50,000 เยน น้องชายของเขาจบเกษตรศาสตร์มา องค์ความรู้จากน้องชายก็นำมาส่งเสริมงานเกษตรของครอบครัว

ตอนนั้นนายทาเคชิสะแต่งงาน เป้าหมายของเขาในเวลานั้นคือการมีเงินเดือน เพราะเงิน 50,000 เยน ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ จากที่ปลูกกุยช่าย เขาจึงเริ่มปลูกผักกาดหัวเล็ก คุณก็ปลูกผักกาดใช่ไหม

จากนั้นเขาก็ขยายพื้นที่ จากที่มีเพียง 3 เฮกตาร์ ก็อย่างที่คุณรู้ว่าเกษตรกรญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 60 ปี เรี่ยวแรงของพวกเขาน้อยลง ทำให้เกิดพื้นที่รกร้างมากขึ้น นายทาเคชิสะผู้ยังหนุ่มแน่นก็เลยไปขอเช่าที่ดินรกร้างเหล่านั้นเพื่อทำการเกษตร

เขาเริ่มปลูกปวยเล้ง หาทุนจากการกู้ธนาคารในเครือของ JA ซึ่งมีบริการสินเชื่อให้แก่เกษตรกร ทาเคชิสะเลือกกู้เงินจำนวนน้อย เพื่อทำเรื่องเฉพาะหน้า

เขาปลูกปวยเล้งในปริมาณที่มากขึ้น แต่พอปวยเล้งราคาตก เขาก็พยายามจะหาตลาด จนไปเจอกับบริษัทแห่งหนึ่งที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตรไปแปรรูป ซึ่งให้ราคาดี เขาจึงสมัครเข้าไปสมาชิกของบริษัทแห่งนั้น ขายตรงเข้าบริษัท

บริษัทแห่งนั้นชื่อ WAGONE ที่นี่เขาเป็นบริษัทบริหารจัดการเรื่องการพัฒนาเทคนิคในการผลิตพืชผล การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยมีสมาชิกซึ่งเป็นเกษตรกรเหมือนนายทาเคชิสะนี่แหละที่ยอมรับเงื่อนไขการผลิตของบริษัทแล้วขายตรงให้บริษัท จะว่าไปก็คล้ายคอนแทคฟาร์มมิ่งอยู่ แต่ก็ไม่เหมือนเสียทีเดียว เพราะเกษตรกรที่เป็นสมาชิกไม่ได้ถูกบังคับให้ปลูกนั่นปลูกนี่ แต่ทางบริษัทจะดูว่าเกษตรกรเหล่านั้นปลูกอะไรอยู่ ถ้ามีตลาดพวกเขาก็ทำสัญญากัน

ที่เล่ามาอย่างนี้ก็หวังจะทวนความจำของคุณ ว่านายทาเคชิสะเขาเข้าไปถามบริษัทเลยว่าตอนนี้ลูกค้าของเรากินอะไร แล้วเขาก็ปรับเปลี่ยนไปตามนั้น

หลังจากแผ่นดินไหวปี 2011 ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในเรื่องการปนเปื้อนสารพิษในอาหาร ผักปวยเล้งของเขาในเมืองนี้ก็โดนไปด้วย เขาวิ่งทุกทางเพื่อสร้างความมั่นใจให้ปวยเล้ง แต่มันก็ไม่อาจทำให้ความมั่นใจนั้นกลับมา

เขาจึงกู้ธนาคารอีกครั้งเพื่อปลูกหัวไชเท้า พ่อของเขาสอนว่าให้ทำเรื่องเล็กๆ ทีละนิด จึงเป็นหลักในการกู้ธนาคารของเขา เช่นกันเขากู้เงินก้อนเล็กๆ มาทำ

“การทำเกษตรของผม ผมเลือกที่จะปลูกพืชที่ขายได้ ผมสามารถปลูกอะไรก็ได้ถ้ามีตลาด ผมได้รับรางวัลเป็นเกษตรกรดีเด่นของเมือง แต่การเป็นเกษตรกรดีเด่นอย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องมีรายได้ด้วย อย่างน้อยๆ ก็ควรมีรายได้ 10 ล้านเยนต่อปี” นายทาเคชิสะว่า

“คุณมีรายได้ต่อปีเท่าไร” ใครบางคนถาม ก่อนเขาจะตอบว่า 100 ล้านเยนต่อปี

คุณก็คงรู้ว่าคำตอบของเกษตรกรเจ-ป๊อปอย่างนายทาเคชิสะไม่ได้หล่อเหลาเหมือนอย่างเกษตรกรบ้านเรา หรือกระแสสีเขียวรักษ์โลก แต่ก็อย่างที่คุณบอก เกษตรกรมีสิทธิ์ที่จะเลือกวิธีการของตน เขาก็เลือกของเขา คุณก็เลือกของคุณ

รักและคิดถึง

(อาเบะผู้จะปราบผีดิบดูดเลือด)

คุณปัญญา งามยิ่ง ที่รัก

คุณมักตั้งคำถามกับเกษตรกรญี่ปุ่นที่พวกเราพบเจอว่า “พวกคุณมีหนี้สินมั้ย” มันเป็นคำถามเศร้าเสียดใจเลยนะ คุณนำเอาอัตลักษณ์ของเกษตรกรไทยไปถามเกษตรกรญี่ปุ่น คำตอบที่ได้ก็คือเกษตรกรญี่ปุ่นบางรายก็มีหนี้ บางรายก็ไม่มีหนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากเกษตรกรไทยเท่าไรนัก

แต่ที่ญี่ปุ่นจะมี JA Group หรือสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น เป็นการรวมตัวกันของเกษตรกรญี่ปุ่น มีสมาชิกทั่วประเทศ ให้บริการด้านสินเชื่อ องค์ความรู้แก่เกษตรกร JA มีหน้าที่ในการรวบรวมผลผลิตทางการเกษตรจากสมาชิกเเละนําไปส่งต่อให้ตลาดขายส่งสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ โดย JA จะได้รับผลตอบแทนการดําเนินการเป็นส่วนเเบ่งจากยอดขายสินค้าดังกล่าวหรือเปรียบได้กับพ่อค้าคนกลางนั่นเอง

ข้อเสียของระบบนี้คือ สหกรณ์เเละสมาชิกจะทราบเพียงเเต่ความต้องการของตลาดขายส่ง เเต่ไม่ทราบถึงความต้องการที่เเท้จริงของผู้บริโภค ทําให้ไม่สามารถผลิตสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค จนทําให้ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนเเปลงของตลาดสินค้าอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เริ่มต้นนโยบายปฏิรูปเกษตรกรรม หนึ่งในการปฏิรูปคือ ลดอำนาจของสหภาพการเกษตรและสหกรณ์ญี่ปุ่น (Central Union of Agricultural Co-operatives: JA Zenchu) มีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับ JA อยู่เหมือนกัน ข้อวิจารณ์เหล่านี้มองว่า อำนาจของ JA เป็นประหนึ่งผีดิบ

ตลอดเวลา 50 ปีที่ผ่านมา สหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่นได้ใช้อิทธิพลทางการเมืองขัดขวางการปฏิรูปการเกษตรในประเทศ สหกรณ์การเกษตรสามารถตรึงราคาข้าวให้สูงไว้ได้ตลอดหลายปีในช่วงที่รัฐบาลกำหนดราคาข้าวตามระบบการควบคุมสินค้าอาหารหลัก

สหกรณ์การเกษตรได้คัดค้านนโยบายทุกอย่างที่จะปฏิรูปอุตสาหกรรมเชิงโครงสร้าง โดยสร้างฟาร์มขนาดใหญ่และสนับสนุนการทำฟาร์มแบบองค์กร (corporate-style farming)

JA หรือสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น ได้ขยายบทบาทและอิทธิพลของตนโดยแสวงหาประโยชน์จากระบบการจำหน่ายและการตั้งราคาของรัฐบาล JA ไม่ส่งเสริมการเกษตรแบบอื่น เช่น เกษตรอินทรีย์ เนื่องจากไม่สามารถขายยากำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยได้ และไม่สนการทำฟาร์มแบบก้าวหน้าซึ่งเป็นการค้าขายระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคโดยตรง เหตุผลหลักคือ JA จะไม่ได้ค่านายหน้าหรือค่าดำเนินการแต่อย่างใด

การปฏิรูปสหกรณ์การเกษตรนี้ จะเปลี่ยนรูปแบบองค์กรของสมาพันธ์การเกษตรและสหกรณ์แห่งชาติ (National Federation of Agricultural Co-operative Associations: JA Zenno) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านการตลาดและการดำเนินธุรกิจให้เป็นบริษัทมหาชน เพื่อให้สหกรณ์การเกษตรท้องถิ่นของญี่ปุ่นสามารถดำเนินกิจการในรูปแบบใหม่ๆ ได้สะดวกขึ้น ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ โดยจะเสนอร่างกฎหมายในที่ประชุมรัฐสภาสมัยสามัญในปีงบประมาณ ค.ศ. 2015

 

ปัญญา งามยิ่ง


(เขาเป็นเกษตรกรเหมือนพ่อ แต่จะไม่ทำอย่างพ่อ)

คุณปัญญา งามยิ่ง ที่รัก

คุณทึ่งไปเลยเกี่ยวกับการทำเกษตรของนายยะมะชิตะ เขาเป็นเกษตรกรปลูกโมโมะหรือลูกท้อ ผลไม้ของเขาจะถูกส่งไปยังผู้บริโภคทั่วไป แต่ส่วนหนึ่งก็นำไปแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ แยม และเจลาโต

นายยะมะชิตะคนนี้เป็นเกษตรกรญี่ปุ่นที่เริ่มดำเนินไปบนวิถีใหม่ๆ แต่เดิมนั้นเกษตรกรญี่ปุ่นจะผลิตพืชผลเพียงอย่างเดียว ส่วนการแปรรูปนั้นก็จะจ้างบริษัทที่มีเทคโนโลยีแปรรูปเป็นผู้ทำให้ แต่นายยะมะชิตะคนนี้ ทั้งปลูกและแปรรูปเอง

เขาเปิดหน้าร้านขายกาแฟและเจลาโตอยู่บนที่ดินของตัวเองในเมืองนากะโนะ เมืองที่อยู่ในวงล้อมของภูเขา ที่ที่คุณขอให้ผมถ่ายรูปให้ ผมบอกให้คุณไปยืนอยู่กลางถนนที่มีภูเขาเป็นฉากหลัง แต่คุณไม่ยอม ยืนยันที่จะยืนอยู่หน้าป้ายร้านกาแฟและเจลาโตของนายยะมะชิตะ คุณบอกว่า คุณจะได้ไม่ลืมว่าเคยมาที่นี่

สาเหตุที่นายยะมะชิตะเริ่มแปรรูปผลไม้ของตัวเองก็เพราะผลไม้ของเขาขายไม่หมด บางลูกก็ช้ำเกินกว่าที่จะขายออก ปริมาณผลไม้ที่ขายไม่ออกมีมากถึง 3 ตันต่อปี เขาจึงนำผลไม้เหล่านั้นมาทำน้ำผลไม้ ก่อนจะทำแยม แล้วจึงจ้างบริษัทที่โตเกียวทำเจลาโต

“แต่บริษัทที่โตเกียวทำไม่อร่อย ผมจึงอยากทำเอง” คุณดูนายยะมะชิตะบอกกับคุณสิ โอหังอย่างยิ่ง แต่มันก็ทำให้เขาเรียนรู้เทคโนโลยีการแปรรูป จนสามารถตั้งโรงงานผลิตเจลาโต ส่งให้หน้าร้านของตัวเองที่ห่างกันไม่กี่ก้าวเดินได้

คุณเคยบอกว่าประหลาดใจมากที่นายยะมะชิตะปลูกต้นท้อประมาณ 1,000 ต้น ขายสดประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก 5 เปอร์เซ็นต์นำมาแปรรูป แต่เขากลับมีกำไรจากการแปรรูปมากกว่าขายผลสด มันทำให้เกษตรกรรายเล็กๆ อย่างเขามีที่ยืน

ที่เมืองภูเขาแห่งนี้ พ่อของนายยะมะชิตะบุกเบิกทำการเกษตรมาก่อน รุ่นพ่อของเขาปลูกข้าว ก่อนจะเปลี่ยนมาปลูกผลไม้ แต่ “ตอนนี้เลิกปลูกข้าวแล้วครับ ในวัยเด็กแถบนี้เต็มไปด้วยท้องนา” เขาย้อนความทรงจำให้คุณฟัง

นายยะมะชิตะมีลูก 3 คน เขาอายุมากกว่าคุณแหนะ แต่ก็มีลูกน้อยกว่าคุณตั้งคนแหนะ ลูกทุกคนของเขาก็ยังไม่แต่งงาน แต่ลูกชายคนโตของคุณวัย 20 และมีเมียแล้ว

เขาบอกว่าเท่าที่ดูๆ แล้ว ลูกๆ ของเขายังไม่มีใครสนใจที่จะทำเกษตรเหมือนพ่อของพวกเขา ต่างจากคุณที่ลูกชายคนโตและคนรองต่างก็ทำเกษตรเลี้ยงครอบครัวแล้ว ลูกๆ ของพวกเขายังคงทำงานในเมืองใหญ่

“ผมไม่ต้องการให้ลูกกลับมาทำเกษตรเลยหรอกนะ แต่อยากให้เขาไปลองหาประสบการณ์จากทุกที่ก่อน แล้วค่อยกลับมา แบบนี้ผมโอเคกว่า” ยะมะชิตะบอก

การไม่มีลูกหลานสืบกิจการการเกษตรต่อ ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับนายยะมะชิตะ เพราะเขามองว่าการทำเกษตรต้องทำเป็นองค์กร ต้องทำเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่ชัดเจน และด้วยระบบแบบบริษัทนี้ จะเป็นประตูแห่งโอกาสให้คนที่อยากจะทำการเกษตรสามารถเข้ามาได้

คุณถามนายยะมะชิตะว่าเงินเดือนของลูกจ้างบริษัทของเขานั้นมากขนาดไหน คุณนี่ขี้สงสัยไม่หยอก นายยะมะชิตะก็ตอบคุณด้วย แต่เขาไม่เปิดเผยตัวเลข เขาบอกคุณเพียงว่าถ้าเทียบกับบริษัททั่วๆ ไปในกรุงโตเกียวแล้ว ในระดับตำแหน่งที่ไม่ใช่ผู้บริหาร มันก็พอๆ กัน

นายยะมะชิตะเริ่มทำการเกษตรตั้งแต่อายุ 20 ในสมัยที่พ่อของเขายังคงทำอยู่ แต่คนรุ่นพ่อกับคนรุ่นเขามีความคิดแตกต่างกัน เขาเล่าให้คุณฟังว่าเขาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพ่อมาทั้งชีวิต เขาจึงทะเลาะกัน แต่สำหรับลูกๆ ของเขา ถ้าลูกสนใจสิ่งไหน เขาจะเปิดโอกาสให้ทันที

“ผมทะเลาะกับพ่อผมมาเยอะ ผมจึงอยากให้ลูกได้ทำตามใจปรารถนา ในวัยหนุ่มผมอยากทำงานที่โตเกียว แต่พ่อบังคับให้ผมกลับมา ที่ญี่ปุ่นคนหนุ่มสาวจะหางานทำตั้งแต่ยังไม่จบมหาวิทยาลัย ผมไปเรียนที่นั่น ได้งานตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ผมก็อยากจะทำงานที่โตเกียวก่อน แต่พ่ออยากให้ผมกลับมา ผมก็ฝืนใจกลับมา”

ผมอยากไปที่ไร่ผักประสานใจของคุณ ไปดื่มเบียร์กับคุณ ไปเห็นครอบครัวของคุณ ไปสูบยาเส้นออร์แกนิกของคุณ ไปเห็นว่าลูกๆ ของคุณเป็นอย่างไร

 _mg_3505-s

(สำหรับคุณ – ปัญญา งามยิ่ง ลูกๆ ของคุณยังมีบ้านให้กลับเสมอ)

คุณปัญญา งามยิ่ง ที่รัก

คุณปลูกผักเลี้ยงครอบครัวมาเป็นเวลา 11 ปี ก่อนหน้านี้คุณเป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่อยู่ชายขอบของการพัฒนา คุณอยู่ในพื้นที่ป่า จนคุณได้พบเจอกับคนดีๆ นำความรู้มาให้ คุณจึงปรับเปลี่ยนการผลิตของคุณ คนเหล่านั้นช่วยคุณเรื่องการตลาด จนวันนี้ที่คุณบอกเต็มปากว่า คุณสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง

ยืนได้ด้วยผักที่คุณปลูก ก็ผักที่คุณบอกว่าเป็นผักตลาดทั้งนั้น ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี ฮ่องเต้ หัวไชเท้า คุณรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้าน นำพืชผลของแต่ละครัวเรือน มาจัดแพ็คเกจส่งสมาชิกในนามของกลุ่ม สมาชิกที่รับผักของคุณอยู่ที่เมืองหลวงทั้งหมด

ก่อนหน้านี้คุณส่งผักจากฟาร์มของคุณไปยังห้างสรรพสินค้า แต่มาตรฐานของห้างสรรพสินค้าใส่ใจที่รูปร่างภายนอก แต่ผักของคุณไม่ได้ขนาดตามที่มาตรฐานกำหนด ใบผักก็มีรู ก็เมื่อคุณเลือกที่จะไม่ใช้สารเคมี ผักของคุณก็ต้องมีหน้าตาแบบนี้

คุณจึงเลือกระบบ CSA ส่งตรงสมาชิก ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป คุณมองว่าระบบนี้เหมาะกับศักยภาพและสิ่งแวดล้อมของคุณ คุณอยู่กับป่า คุณเป็นคนคอยดูแลป่า คุณเป็นกะเหรี่ยงที่ใช้ชีวิตร่วมกับป่า ก็ถูกของคุณที่คุณบอกเช่นนี้

ในวันสุดท้ายที่โตเกียว คุณชวนผมดื่มเบียร์ญี่ปุ่น ดื่มทำไมขวดสองขวด ต้องเอาให้เมาไปเลย คุณบอกเช่นนั้น พวกเรามองหาที่สูบบุหรี่กันแถวย่านชินจูกุ คุณมองซ้ายมองขวา มองผม แล้วก็หัวเราะ การสูบบุหรี่ในญี่ปุ่นเป็นเรื่องยาก แต่คุณก็นั่งลงข้างบาทวิถี มวนยาอย่างชำนาญ แล้วควันฉุนก็ลอยทั่วชินจูกุ

ตอนที่คุณอยู่ญี่ปุ่น คุณชอบถามเกษตรกรหนุ่มๆ ว่าเป้าหมายของพวกคุณคืออะไร ผมก็เลยอยากถามคุณบ้าง ว่าคุณปัญญา งามยิ่ง อะไรคือเป้าหมายในชีวิตคุณ

คุณตอบว่า “การทำผักเป็นแค่ตัวรอง เพราะผมอยู่กับป่า อาศัยป่า พื้นที่ป่ามันลดลง ในใจของผมชอบวนเกษตร ซึ่งเป็นระยะยาว ในระยะสั้นเราก็อาศัยผัก มันได้ขายได้เลี้ยงครอบครัวด้วย”

สิ่งแรกที่คุณทำในยามเช้า คือการต้มน้ำกินกาแฟ สูบยาเส้นสักมวนสองมวน แล้วคุณก็เดินเข้าไร่ คุณบอกว่าคุณมีงานให้ทำทุกวัน นำต้นกล้าที่เพาะไว้ไปปักในร่อง ถอนหญ้า ปักหลัก ทุกวันพุธกับอาทิตย์จะตัดผักเพื่อส่งสมาชิก

“ผมเลี้ยงครอบครัวได้ ถึงแม้ไม่หรูหรา ไม่ได้รวย แต่ไม่จน ผมกล้าบอกลูกว่าทำแบบนี้มันอยู่ได้ แต่ถ้าทำแบบเกษตรกรทั่วไปผมไม่กล้ายืนยัน” นี่คือเสียงของคุณ คุณจำได้ไหม

คุณให้ลูกชาย 2 คนที่โตพอแล้ว ย้ายออกไปอยู่บ้านหลังใหม่ บ้านที่ปลูกขึ้นมาในที่ดินของคุณเอง บ้าน 3 หลังที่อยู่ในที่ดินผืนเดียวกัน ลูกชายทั้งสองของคุณก็ปลูกผักส่งสมาชิกเหมือนคุณ พวกเขาปลูกผักช่วยคุณมาตั้งแต่ยังอยู่ ป.2 พวกเขาเห็นพ่อทำ เขาก็ทำตาม

ทั้งๆ ที่ลูกอายุ 20 แต่คุณต้องการฝึกให้เขาเรียนรู้ ฝึกความรับผิดชอบ คุณให้เขาบริหารฟาร์มของเขาเอง มันทำให้นึกถึงเจ้าของร้านซูชิชื่อจิโร่ เขาเป็นคนทำซูชิที่เคร่งครัดมาก ความมีระเบียบจริงจังของเขาทำให้บรรยากาศของร้านไม่ต่างจากห้องเรียนที่มีครูประจำชั้นดุ

จิโร่ฝึกฝนทักษะการทำซูชิให้ลูกชายทั้งสองอย่างเข้มงวดมาก จนวันหนึ่งเขามองเห็นว่าลูกชายของเขาสามารถออกไปเปิดร้านของตัวเองได้แล้ว เขาจึงบอกกับลูกชายว่า

“ต่อไปนี้ แกไม่มีบ้านให้กลับอีกแล้วนะ” นี่คือวิธีการสอนลูกของคนญี่ปุ่น ของคนญี่ปุ่นที่อยากให้ลูกเติบโต

“ผมไม่ได้คิดแบบนั้น ถ้าเขาออกไปแล้วช่วยเหลือตัวเองได้ก็ดีนะ แต่เราไม่ได้ทิ้งเขานะ ให้เขาเรียนรู้ไป ทำไป ความรักของพ่อมันไม่ได้เปลี่ยนไปนะ แม้เขาจะมีเมียมีลูกเต้า ความรักก็ยังเป็นเหมือนเดิม แต่ในใจเรา เราก็อยากให้เขายืนได้ด้วยตัวเองเหมือนลุงอะไรนะที่คุณเล่ามา”

นี่คือเสียงของคุณ ถ้าได้อ่านอีกครั้ง คุณคงจะจำได้


ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร WAY ฉบับที่ 78

 

 

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า