เศรษฐกิจตกต่ำเพราะอุป(า)ทานหมู่ หรือเพราะอุปสงค์ลดลง

เป็นข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยแย่จริงมั้ย

แม้ข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจถูกนำมาตีแผ่และอธิบาย แต่ผู้คนก็ยังมองต่างกัน บางคนบอกแย่ถึงแย่มาก บางคนบอกดูดีๆ สิ มันแย่ตรงไหน ถึงขั้นว่าเป็นอาการบิดเบือนตัวเลขข้อมูลทางเศรษฐกิจในลักษณะ ‘สะกดจิตหมู่’

ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 เปอร์เซ็นต์ จากระดับ 1.50 เปอร์เซ็นต์มาอยู่ที่ 1.25 เปอร์เซ็นต์ต่อปีในการตัดสินนโยบาย ซึ่งเป็นการลดครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน และทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับมาต่ำสุดนับจากวิกฤติการเงินโลกในปี 2009

อะไรคือการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงินจนนำมาสู่การตัดสินใจลดดอกเบี้ย

กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ และต่ำกว่าศักยภาพมากขึ้น จากการส่งออกที่ลดลง ส่งผลไปสู่การจ้างงานและอุปสงค์ภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย เสถียรภาพระบบการเงินได้รับการดูแลไปแล้วบางส่วน แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

WAY สำรวจกระเป๋าสตางค์ประชาชนผ่านข้อมูลเชิงสถิติที่บ่งถึงอุปสงค์ภายในประเทศ เพื่อตรวจสอบว่า ภาวะสะกดจิตหมู่ อย่างที่เขาว่ากันมานั้น จริงเท็จแค่ไหน

สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจจำนวนผู้มีงานทำในเดือนกันยายน 2562 พบจำนวนผู้มีงานทำลดลง 640,000 คน จาก 37.85 ล้านคนในเดือนกันยายน 2561 เป็น 37.21 ล้านคนในเดือนกันยายน 2562

ในจำนวนผู้มีงานทำ 37.72 ล้านคน ประกอบด้วย คนทำงานในภาคเกษตร 13.02 ล้านคน คนทำงานนอกภาคเกษตร 24.19 ล้านคน

เมื่อเทียบจำนวนในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบว่า คนทำงานในภาคเกษตรมีจำนวนเพิ่มขึ้น 120,000 คน คนทำงานนอกภาคเกษตรลดลง 860,000 คน

ที่มา: ผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรเดือนกันยายน 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

ผลสำรวจจำนวนผู้ว่างงานเดือนกันยายน 2562 พบว่า มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 385,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 เมื่อนำตัวเลขไปเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบจำนวนผู้ว่างงานเพิ่ม 12,000 คน

เมื่อนำตัวเลขผู้ว่างงานเดือนกันยายน 2562 เปรียบเทียบกับจำนวนผู้ว่างงานเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน พบว่า จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3,000 คน

ที่มา: ผลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรเดือนกันยายน 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่า ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยในภาพรวมไตรมาส 2 ปี 2562 เท่ากับ 43.0 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า สำหรับชั่วโมงการทำงานในภาคเอกชนเฉลี่ยเท่ากับ 46.4 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1

ผู้ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 6.3

เมื่อสำรวจจำนวนชั่วโมงการทำงานในต่างประเทศ พบว่า เยอรมนีมีชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ 26.37 ชั่วโมง เกาหลีใต้ 40.85 ชั่วโมง, สหรัฐอเมริกา 34.40 ชั่วโมง, ญี่ปุ่น 33.25 ชั่วโมง, แคนาดา 32.77 ชั่วโมง, สหราชอาณาจักร 32.25 ชั่วโมง, ออสเตรเลีย 32.00 ชั่วโมง และฝรั่งเศส 28.33 ชั่วโมง

ที่มา: ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2562 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัพโหลดข้อมูลความยากจนระดับปี 2561 เส้นความยากจนโดยเฉลี่ยของปี 2561 เท่ากับ 2,710 บาท/คน/เดือน

เดชรัช สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แสดงข้อมูลเส้นความยากจนนี้ในเฟซบุ๊ค Decharut Sukkumnoed ว่า “ณ เส้นความยากจนนี้ จำนวนคนจนทั้งประเทศไทยในปี 2561 เท่ากับ 6.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก ปี 2560 ที่มีคนจน 5.33 ล้านคน หรือเรามีคนจนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.35 ล้านคนในปี 2561 เมื่อคิดเป็นร้อยละของประชากรทั้งหมดแล้ว พบว่า สัดส่วนความยากจน (เปอร์เซ็นต์) ของไทย เพิ่มขึ้นจาก 7.87 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2560 เป็น 9.85 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2561”

แต่เมื่อกองบรรณาธิการได้เข้าไปยังระบบฐานข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ http://social.nesdb.go.th/social/Default.aspx?tabid=131&fbclid=IwAR2zwEZDeAQpciN-e4SfIYXt9twYqumgewA2g5KARnr50r67UdjwWuKrlgs กลับพบว่า ข้อมูลความยากจนระดับปี 2561 ได้หายไป

 

สถานการณ์หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2560 เป็นต้นมา ในไตรมาสหนึ่งปี 2562 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 12.97 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.7 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานว่า หนี้ครัวเรือนจากสถาบันการเงินอื่นเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งอย่างต่อเนื่องร้อยละ 10.8 ขณะที่หนี้ครัวเรือนจากสถาบันรับฝากเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7

สำหรับในไตรมาสสองปี 2562 ภาพรวมสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังเติบโตในระดับสูงที่ร้อยละ 9.2 ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ซึ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี

ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและเพื่อรถยนต์ขยายตัวร้อยละ 7.8 และร้อยละ 10.2 ชะลอลงจากร้อยละ 9.1 และร้อยละ 11.4 ในไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ

ที่มา: ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2562 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

สินเชื่อด้อยคุณภาพในภาพรวมเพิ่มขึ้น ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาสสองปี 2562 มีมูลค่า 127,439 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.74 ต่อสินเชื่อรวม และคิดเป็นร้อยละ 2.75 ต่อ NPLs รวม โดยเฉพาะ NPL ของรถยนต์และบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่งร้อยละ 32.3 และร้อยละ 12.5 ตามลำดับ

ที่มา: ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2562 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวลงเป็นผลจากการเร่งก่อหนี้ในช่วงต้นปี 2562 ส่งผลให้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในตลาดเริ่มเข้าสู่ภาวะจำกัดมากขึ้น สะท้อนจากการโอนกรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยในไตรมาสสองปี 2562 ที่หดตัวร้อยละ 18.9 เทียบกับการขยายตัวสูงร้อยละ 13.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา และราคาที่อยู่อาศัยในทุกประเภทเริ่มปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดที่เริ่มชะลอตัวอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ สถาบันการเงินต่างๆ ยังเพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลจากมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่และคุณภาพสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพ

 

ที่มา: ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2562 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

สินเชื่อรถยนต์เริ่มชะลอตัวลงอย่างชัดเจน สอดคล้องกับการชะลอตัวลงของยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลร้อยละ 1.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 12.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และ การหดตัวของรถจักรยานยนต์ร้อยละ 7.1 เทียบกับร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า

ตลาดรถยนต์เดือนสิงหาคม มีปริมาณการขาย 80,838 คัน ลดลง 6.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 33,036 คัน ลดลง 3.3 เปอร์เซ็นต์ รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 47,802 คัน ลดลง 9.2 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ รถกระบะขนาด 1 ตัน มีจำนวน 38,202 คัน ลดลง 7.5 เปอร์เซ็นต์

ที่มา: ภาวะสังคมไทยไตรมาส 2 ปี 2562 สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

ที่มา: รายงานสถิติการขายรถยนต์ในประเทศไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2562

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า