สังคมอุดม ‘ด็อกเตอร์’ เมื่อคำนำหน้าขื่อ คือบันไดทางสังคม

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นร้อนที่กำลังเป็นที่ถกเถียงในสังคมนั่นคือ ‘วุฒิการศึกษา’ จาก 2 ข่าวใหญ่คือ การซื้อขายวุฒิการศึกษา และการจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในต่างประเทศ ประเด็นหลังนั้นเกิดขึ้นนับตั้งแต่การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จบลงเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา 

การเลือก สว. ครั้งนี้ถูกสังคมตั้งคำถามอย่างมาก โดยเรื่องหนึ่งคือ คุณสมบัติของผู้สมัครจำนวนมากที่น่ากังขา ทั้งวุฒิการศึกษา ตำแหน่งทางวิชาการ และคำนำหน้าชื่อ ซึ่งนักวิชาการจำนวนมากกลับไม่เคยได้ยินชื่อสถาบันการศึกษาดังกล่าว เช่น รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คอมเมนต์ลงในเพจ CSI LA เพจดังที่เคยขุดคุ้ยตรวจสอบวุฒิการศึกษาของนักการเมือง ดร. ท่านหนึ่งว่า “ในโลกนี้ ไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Doctor of Political Science’ มีแต่ ‘Doctor of Philosophy (Political Science)’” นอกจากนี้ตนยังไม่ทราบว่า California University ตั้งอยู่ที่ไหน เพราะรู้แต่เพียง University of California ที่มีทั้งสิ้น 8 แห่งด้วยกัน 

นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยว่า ตำแหน่งศาสตราจารย์มาจากไหน เพราะในประเทศไทยจะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ การจะเป็นศาสตราจารย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดาย ซึ่งในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ในประเด็นนี้อาจารย์พวงทองได้โพสต์ลงใน X ว่า 

“ปริญญาเอกมาจากการเรียน แต่ศาสตราจารย์มาจากการทำงานหลังจากเข้าเป็นอาจารย์แล้ว ซึ่งการได้ ศ.ในสหรัฐฯยากมาก ตอนมหาลัยรับเข้าทำงาน เขาจะยังไม่ให้ตำแหน่งประจำ (tenure) ต้องสอนและทำผลงานวิชาการ ถ้าไม่มีหนังสืออย่างน้อย 1 เล่ม+บทความวิชาการ ก็ยากที่จะได้ tenure ต้องผ่านประเมินโดยผู้ทรงฯจากภายในและภายนอกมหาลัย ถ้าประเมินไม่ผ่านก็เตรียมลาออก ไปหางานใหม่ ถ้าผ่านก็ได้ tenure 

หลังจากนั้น หากอยากเป็น ศ. ก็ต้องตีพิมพ์ผลงานวิชาการต่อเนื่อง ต้องผ่านประเมินจากทั้งภายในและภายนอกเช่นกัน 

ก.ต่างประเทศและ ก. ศึกษาในอเมริกาไม่มีหน้าที่ออกใบรับรองตำแหน่ง ศ. ให้นักวิชาการนะคะ”

โพสต์ของ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ | https://x.com/PuangthongPa/status/1811428851228254718

จากการสืบค้นว่า California University นั้นเป็นสถานศึกษาแบบใด พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ได้โพสต์อธิบายลักษณะของ California University ว่า แท้จริงแล้วคือสถานที่ในการประเมินวุฒิ ถ่ายโอนหน่วยกิต และออกวุฒิบัตรเทียบเท่า โดยนำวุฒิการศึกษาจากประเทศตนเองมาเทียบโอน เพื่อให้สามารถศึกษาต่อในสหรัฐได้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการช่วยเหลือผู้อพยพ 

 

โพสต์ของ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ | https://x.com/pipob69/status/1811351400829644887

อย่างไรก็ตาม สังคมไทยตั้งคำถามกับประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง หลายคนเรียกวุฒิการศึกษาเช่นนี้ว่า ‘ดร.ห้องแถว’ จาก ‘มหาวิทยาลัยห้องแถว’ ที่ไม่ได้ลงเรียนจริงๆ แต่เป็นการซื้อขายวุฒิการศึกษา เพิ่มดีกรีโปรไฟล์ตนเอง ยิ่งถ้ามีวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศแล้ว สังคมไทยจะให้การยอมรับนับถือ มีหน้ามีตาหรือขยับสถานะทางสังคมได้ นอกจากนี้ ยังสะท้อนมาตรฐานการศึกษาไทยที่เป็นปัญหาด้านคุณภาพมาอย่างช้านานจนเกิดเป็นค่านิยมว่า ผู้ที่จบการศึกษาสูงจากต่างประเทศนั้นคือ คนเก่ง คนดี เป็นที่นับหน้าถือตา จนลืมกลับไปตรวจสอบว่าพวกเขาได้รับวุฒิการศึกษาจากการตรากตรำร่ำเรียนจริงหรือไม่ 

สังคมไทย สังคมอุดม ดร.

ในสมัยก่อนการศึกษายังไม่มีความก้าวหน้าเฉกเช่นปัจจุบันมากนัก การจบการศึกษาในระดับมัธยมปลายถือว่าเป็นผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงมากเมื่อเทียบกับประชากรส่วนใหญ่ที่เรามักได้ยินว่าคนรุ่นปู่รุ่นย่าจบแค่ ป.4 ก็สามารถทำมาหาเลี้ยงชีพ ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน 

จนกระทั่งการกำเนิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเปิดอย่าง ‘รามคำแหง’ ที่เป็นตลาดวิชา สร้างโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เริ่มเปิดการเรียนการสอนในปี 2514 คนไทยในรุ่นบูมเมอร์จำนวนมากจึงมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งเพียงพอต่อการหางานดีๆ และมีความมั่นคง แต่น้อยคนนักจะสามารถก้าวไปสู่การศึกษาในระดับที่สูงขึ้นในระดับปริญญาโทหรือเอก 

บุคคลที่มีโอกาสเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทหรือเอกมักได้รับการนับหน้าถือตาอย่างมากในสังคม โดยเฉพาะบุคคลที่ได้รับการศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มีคำว่า ‘ดร.’ นำหน้าจะถูกมองด้วยภาพลักษณ์ที่ดี มีการศึกษาสูง ซึ่ง ‘ไม่ธรรมดา’ เหมือนตาสีตาสายายมียายมาทั่วไป ยิ่งจบจากต่างประเทศในตะวันตกด้วยแล้วก็ยิ่งแตกต่างไปจากประเทศโลกที่ 3 อย่างแน่แท้ 

การมี ดร. นำหน้าก็เหมือนการมียศฐาบรรดาศักดิ์ ได้รับการนับถือเหนือกว่าคนทั่วไป ทำให้คนจำนวนหนึ่งกระเสือกกระสนที่จะมีวุฒิเช่นนี้นำหน้าชื่อตนเอง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ด็อกเตอร์ห้องแถว จากมหาวิทยาลัยห้องแถว ที่ได้รับความนิยมกันอย่างมากในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง จนถึงปัจจุบันก็ยังคงมีให้เห็นตามหน้าข่าว

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการกระจายอำนาจท้องถิ่น ได้เคยอธิบายความเอาไว้ว่า “ในสมัยก่อน ผู้มีทุนทรัพย์จะส่งลูกส่งหลานไปต่างประเทศเพื่อชุบตัว ได้ปริญญากลับมาโดยไม่ต้องทำอะไรมาก เพียงแค่จ่ายเงินให้แก่มหาวิทยาลัยที่ลักษณะตั้งอยู่ในห้องแถวแล้วรับใบปริญญาเพียงเท่านั้น” จากข้อสังเกตข้างต้น เพียงแค่การจ่ายเงินก็ได้ใบปริญญาแล้ว เท่านั้นไม่พอ การจบการศึกษาจากต่างประเทศยังมีดีกรีหรือโปรไฟลที่ดีกว่าการเรียนจบในประเทศไทยเสียอีก 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชำนาญระบุต่อว่า ในประเทศไทยเองก็มีสถาบันบางประเภทที่เปิดสอนกันในแบบ ‘จ่ายครบ จบแน่’ ซึ่งมหาวิทยาลัยเช่นนี้มักไม่ได้มาตรฐานการศึกษา ดังนั้นมันจึงดูเป็นการ ‘ขายวุฒิ’ กันอย่างง่ายดาย 

ยิ่งเป็นการศึกษาในระดับปริญญาเอก มี ดร. นำหน้า สามารถรับวุฒิได้ง่ายเพียงจ่ายเงินให้ครบ ต่างจากคนจำนวนมากที่ตรากตรําร่ำเรียนอย่างจริงจัง ต้องอ่านหนังสือภาษาอังกฤษล้วน เขียนวิทยานิพนธ์ ต้องผ่านการสอบทานจากคณะกรรมการอย่างถึงพริกถึงขิง จนหลายคนยกธงขาวยอมแพ้ เลิกเรียนกลางคัน หรือประสบปัญหาด้านสุขภาพจิต

ดร. คือบันไดทางสังคม?

การจบการศึกษาในระดับที่สูง คือบันไดทางสังคมอาจช่วยให้เติบโตในหน้าที่การงานหรือขยับสถานะทางสังคมได้ เป็นหน้าเป็นตาให้กับเจ้าของวุฒิการศึกษาโดยเฉพาะการจบการศึกษาในต่างประเทศ การซื้อขายวุฒิการศึกษาจึงตอบโจทย์เหล่านี้เช่นกัน ไม่ว่าจะมาจากมหาวิทยาลัยห้องแถวหรือหลักสูตรจ่ายครบจบแน่ก็ตาม 

เมื่อเราพูดถึงการเติบโตในเส้นทางการทำงานของบุคคลจำนวนมาก การมีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรีจึงไม่เพียงพอ การจบปริญญาโทจึงเป็นหมุดหมายของคนจำนวนมากเพื่อนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งหรือเงินเดือนที่เพิ่มมากขึ้น มากกว่าการเรียนออกมาเป็นผู้ชำนาญ มีความรู้ที่เข้มข้นกว่าปริญญาตรี ทำให้หลักสูตรจ่ายครบจบแน่ในหลายสถาบันทางการศึกษาไม่ได้มุ่งเน้นไปที่วิชาการมากนัก ธรรมชาติของหลักสูตรคือ การหาเครือข่ายคอนเน็คชั่น ได้วุฒิการศึกษาเพียงเท่านั้น 

ยิ่งเป็นปริญญาเอก ทั้งจ่ายครบจบแน่หรือมหาวิทยาลัยห้องแถว ก็เหมือนกับการเขียนโปรไฟล์ระดับ 5 ดาวให้กับตนเอง จนประเทศไทยมี ดร. เกลื่อนเมือง แต่ระดับการพัฒนากลับยิ่งตกตํ่าไปจากเดิมเป็นฉไน 

ในอีกทางหนึ่ง ค่านิยมของสังคมที่นิยมชมชอบ ดร. ยังก่อให้เกิดการหลอกลวงในหลายกรณีที่กลายเป็นข่าวมาอย่างช้านาน หลายคนถีบตนเองจากคนธรรมดาๆ สู่การเป็นเซเลปในท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ ได้ไม่ยาก ยิ่งผ่านหลักสูตรสัมพันธ์ต่างๆ ที่กองทัพจัดให้พลเรือนเข้าอบรม ได้ปีกร่มหรือเกียรติบัตร ก็ยิ่งเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับขบวนการหลอกลวงมากขึ้น หนําซํ้ายังเป็นการวางเครือข่ายอุปถัมภ์คํ้าชูให้บุคคลเหล่านี้มีหน้ามีตาในสังคมภายใต้เบื้องหลังที่ไม่น่าดูเช่นนี้ 

อ้างอิง 

Author

ณัฏฐชัย ตันติราพันธ์
อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ อดีต น.ศ. ป.โท ในประเทศอีเกียที่เรียนไม่จบ ผู้มีความหมกมุ่นหลายอย่าง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า