สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศชัดแล้วว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ในห้วงเวลาเช่นนี้ บรรดานักการเมืองและพรรคการเมืองต่างพากันลงพื้นที่เพื่อแย่งชิงคะแนนเสียงและความไว้ใจจากประชาชนอย่างคึกคัก
การเลือกตั้งที่ 4 ปีจะมี 1 ครั้งเช่นนี้ ย่อมเป็นตัวกำหนดชะตาของแต่ละพรรคการเมือง บ้างอาจได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลมีอำนาจบริหารประเทศจนเป็นเกียรติประวัติประดับโปรไฟล์ แต่บางพรรคหรือนักการเมืองบางคนอาจต้องล้มหายหรือตายจากแวดวงการเมืองไทยเลย หากประชาชนไม่ลงคะแนนเสียงให้ในพิธีกรรมเลือกตั้งนี้
ดังนั้น เหล่านักการเมืองแต่ละพรรคต่างก็ต้องทำทุกวิธีทางในการหาเสียง เพื่อที่จะให้ชื่อของตัวเองสลักลงในห้วงความทรงจำของประชาชน จนบางครั้งอาจพลั้งพลาดใช้วิธีการไม่เหมาะสม และสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ กลายเป็นว่าแทนที่จะได้รับคะแนนเสียงจากประชาชน กลับได้ผลลัพธ์ตรงกันข้ามเสียอย่างนั้น
WAY ชวนสำรวจหลากกลวิธีหาเสียง ที่แม้จะดูราวกับว่าได้ผลดีและใครๆ ก็ทำกัน แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจสร้างความขุ่นเคืองรำคาญใจให้ประชาชน จนประโยคทำนองว่า “ไม่มีมารยาท” เผลอหลุดออกจากปากของพ่อแม่พี่น้องได้ เพื่อเป็นแนวทางให้นักการเมืองในสังกัดพรรคต่างๆ ระมัดระวังตัวเอง ไม่ให้แคมเปญหาเสียงและดึงดูดใจประชาชนกลายเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน
1. ป้ายหาเสียงขวางทางเท้า
ท่ามาตรฐานที่นักการเมืองบ้านเราใช้กันมานานจนเห็นกันชินตา คือ การติดตั้งป้ายหาเสียงของผู้สมัครในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมองเห็นและรับรู้ถึงตัวตน สโลแกน เกียรติประวัติ และนโยบายของผู้สมัครเหล่านั้น
แต่หลายครั้ง ป้ายหาเสียงเหล่านี้กลับเปลี่ยนสภาพจากการพีอาร์ผู้สมัครกลายเป็นอุปสรรคกีดขวางการสัญจรบนทางเท้าของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับทางเท้าและคนเดินเท้าในระดับต่ำเช่นนี้ ป้ายระเกะระกะเหล่านี้ก็อาจทำให้ผู้คนรู้สึกขุ่นเคืองใจมากกว่าจะประทับใจ
แน่นอนว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนย่อมมีเจตนาที่ดี และต้องการได้รับเลือกเข้าไปทำงานรับใช้ประชาชน แต่หากไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันของชาวบ้านตั้งแต่ต้นเช่นนี้ ก็ยากที่จะซื้อใจประชาชนได้
2. การใช้เสียงดัง
อีกหนึ่งกระบวนท่าสามัญของการหาเสียง คือการที่ผู้สมัครกระโดดขึ้นรถที่ถูกดัดแปลงเป็นเวทีเคลื่อนที่ได้ขนาดย่อม แล้วขับตระเวนไปยังจุดต่างๆ ทั่วพื้นที่ พร้อมประกาศจุดยืนและนโยบายของตน ผ่านเครื่องขยายเสียงกำลังสูง
ข้อควรระวังคือ เสียงที่ถูกขยายผ่านลำโพงของผู้สมัครอาจรบกวน หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในพื้นที่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงานหรือโรงเรียน และยิ่งหากเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ชุมชนที่มีบ้านเรือนของผู้คน ก็ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ
แม้รถหาเสียงเหล่านี้จะแล่นผ่านไปในชั่วระยะเวลาอันสั้น แต่เสียงที่ออกมาอาจยังสามารถรบกวนผู้ที่ได้ยินเข้าได้ เช่น อาจไปปลุกให้คนทำงานกลางคืนที่นอนหลับพักผ่อนในเวลากลางวัน ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อพรรคการเมืองหรือนักการเมืองคนนั้นแบบไม่มีวันลืม
นอกจากรถหาเสียงแล้ว การตั้งเวทีปราศรัยหรือกิจกรรมที่ต้องใช้เสียงดัง ก็ต้องคำนึงถึงสถานที่และช่วงเวลาอย่างเหมาะสม
3.การรุกล้ำพื้นที่ส่วนบุคคล
หลายครั้งเมื่อผู้สมัครลงพื้นที่เขตชุมชนเพื่อสร้างความคุ้นเคย เป็นกันเอง และสร้างภาพลักษณ์ว่า ตนเองเป็นผู้แทนราษฎรที่เข้าถึงง่าย กลับอาจเกิดการรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนบุคคลของประชาชนโดยไม่ได้รับอนุญาต เช่น เปิดประตูรั้วบ้านเข้าไปทั้งที่เจ้าของบ้านยังไม่อนุญาต ซึ่งสำหรับผู้แทนฯ ที่อาสาเข้าไปทำงานรับใช้และปกป้องสิทธิของประชาชน การหาเสียงที่ละเมิดสิทธิและความเป็นส่วนตัวของประชาชนเช่นนี้ ดูจะเป็นอะไรที่ย้อนแย้งและไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง
4. การแตะเนื้อต้องตัว
เช่นเดียวกับการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวเพื่อสร้างความใกล้ชิด ผู้สมัครบางท่านอาจสร้างความใกล้ชิดแบบถึงเนื้อถึงตัว ผ่านการจับมือหรือการโอบกอดประชาชนที่พบเจอขณะลงพื้นที่
แต่ไม่ได้หมายความว่า ประชาชนทุกคนที่เป็นฐานเสียงของเราจะอยากจับมือหรือกอดเรา การแตะเนื้อต้องตัวผู้อื่นก็เข้าข่ายการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้เช่นกัน โดยเฉพาะนักการเมืองที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ว่าเป็นผู้ใหญ่ใจดีผ่านการกอดเด็กนั้น ก็ขอให้ระวังเอาไว้ว่า การกระทำเช่นนั้นอาจสร้างบาดแผลในหัวใจของเด็กคนนั้นไปอีกนาน
5. การแปะสติกเกอร์ในพื้นที่หรือทรัพย์สินส่วนบุคคล
บ้านใคร ใครก็รัก รถใคร ใครก็หวง การเอาแผ่นพับหาเสียงไปเสียบตามประตูรั้ว ตู้จดหมาย หรือหนีบไว้หน้ารถ อาจยังพอรับไหว แต่การติดสติกเกอร์โลโก้พรรค หน้า หรือเบอร์เลือกตั้งของตนตามทรัพย์สินของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ ย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับเจ้าของบ้านหรือเจ้าของรถอย่างไม่ต้องสงสัย (เว้นเสียแต่คุณจะอ่านใจของพวกเขาได้ทะลุปรุโปร่ง)
หากทรัพย์สินส่วนบุคคลยังละเมิดได้ การเที่ยวไปรับประกันและสัญญากับประชาชนว่าจะปกป้องสิทธิและเป็นตัวแทนเสียงของพวกเขานั้น ก็ดูจะเป็นเพียงแค่ลมปากเท่านั้น
6. แขก (ที่ไม่ได้) รับเชิญในงานมงคลหรืองานอวมงคล
ส.ส. ในประเทศไทยไม่ได้เป็นเพียงผู้มีหน้าที่ออกกฎหมาย และใช้อำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่ ส.ส. ไทยยังมีวัฒนธรรมของการเป็นผู้แทนของคนในพื้นที่ โดยเฉพาะ ส.ส. แบบแบ่งเขต ที่จะต้องดูแลสารทุกข์สุขดิบของประชาชนในพื้นที่ที่อุตส่าห์ไว้วางใจใส่คะแนนเสียงให้
วัฒนธรรมการร่วมงานมงคลหรืองานอวมงคล จึงดูเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย กระทั่งอาจกลายเป็นภาคบังคับ ที่หาก ส.ส. หรือผู้สมัครไม่ไป ก็อาจไม่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนในพื้นที่ได้
แต่ก็ขอให้พึงระวังเสมอว่า อาจไม่ใช่ทุกคนที่จะยินดีกับการหาเสียงในลักษณะนี้ ยิ่งเป็นงานอวมงคลอย่างงานศพด้วยแล้ว ยิ่งต้องระวังเรื่องความเหมาะสม
แน่นอนว่า สุดท้ายแล้วเป้าหมายสุดท้ายของนักการเมืองและพรรคการเมืองคือ การได้รับเลือกเข้าไปทำงานรับใช้ประชาชน ดังนั้น การแสดงความจริงใจผ่านวิธีการหาเสียงที่คิดมาอย่างดี และเคารพสิทธิและความรู้สึกของประชาชน จึงอาจไม่ใช่แค่เพียงจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ยังเป็นเรื่องจำเป็นอีกด้วย