มีคนเคยบอกผมว่า ประเทศไทยอยู่ในยุค Renaissance รุ่มรวยไปด้วยความเจริญ วิทยาการ มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีห้างสรรพสินค้าประหนึ่งมหาวิหารแสนอลังการ และ enlightened กันด้วยแสงจากจอไอโฟน-นิยามพวกนี้ คู่สนทนาของผมอธิบายในเชิงแดกดันมากกว่าจะกล่าวถึงความหมายจริงๆ ของ Renaissance
นอกจากลักษณะทางสังคมแบบ Renaissance รสนิยมของผู้คนก็ล้ำไปทาง Baroque, Rococo ถึงขั้น Romanticism, Neoclassicism ประยุกต์และโหยหาอดีตที่แสนเรียบทว่าหรู เยอะในน้อย น้อยแต่เยอะ…อะไรก็ว่าไป
โดยคำ Renaissance มีความหมายว่า การเกิดใหม่ ‘rebirth’ ถ้าเป็นศิลปะก็คือ ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ เอาความเป็นกรีกและโรมันมาแต่งตัวใหม่ให้หรูหรา เป็นยุคที่มีความรู้แขนงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย เรียกได้ว่า ก่อนจะถึงสมัยใหม่ Renaissance คือช่วงเวลาในยุคกลางที่รุ่งเรืองแบบพีคที่สุด
คู่สนทนาคนเดิมยังเปรียบว่า กว่าจะมาถึงยุคกลาง สังคมยุโรปผ่านช่วงเวลาแบบไหนมาบ้าง ตั้งแต่สงครามครูเสดที่กินเวลาหลายร้อยปี การล่มสลายของทุกอย่างในยุคมืด ฯลฯ
ประเทศที่สามารถเทียบเคียงว่าเกิดภาวะ Renaissance ขึ้นมามีหลายตัวอย่าง เช่น ญี่ปุ่น เมื่อแพ้สงครามก็สร้างชาติขึ้นมาใหม่ โดยที่ยังไม่ทิ้งรากเหง้าหลายประการ หรือจะเป็นเกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็เป็นกรณีที่น่าสนใจ
เขาสรุปง่ายๆ “ต้องฉิบหายก่อนถึงจะก้าวหน้า” คล้ายๆ รถของเล่นสมัยก่อนที่ต้องจับถอยหลังก่อนค่อยปล่อย มันถึงจะพุ่งไปข้างหน้าเร็วๆ ได้
มีสมมุติฐานหนึ่งกล่าวประมาณว่า เพราะประเทศไทยยังไม่เคยเจอภาวะวิกฤติอย่างเป็นจริงเป็นจัง ตั้งแต่สงครามโลก สงครามเย็น เหตุ 14 ตุลา 6 ตุลา การต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์ มาจนถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งยังเทียบไม่ได้กับความรุนแรงหรือวิกฤตการณ์ในพื้นที่อื่นๆ ที่มีคนตายหลักหมื่น แสน และล้าน
จึงยังไม่เจอยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ และยังไม่ enlightenment จริง-ซึ่งฟังดูโหดร้ายป่าเถื่อนเกินไป
ขณะที่ผมหยิบถ้วยกาแฟ จ่อไปที่เครื่องชงกาแฟในออฟฟิศ พลางคิดว่า ทุกวันนี้เราก็สุขสงบดีนะ ‘Keep Calm and Drink Good Coffee’
แต่เดี๋ยว มานึกถึงคำพูดของมิตรสหายที่ว่า “ต้องฉิบหายก่อนถึงจะก้าวหน้า” ก็ถึงกับต้องวางถ้วยกาแฟลง พลางคิดว่า การที่เราไม่เคยเจอวิกฤติก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีวันเจอ ดังนั้น วิกฤตการณ์อาจรออยู่ข้างหน้าก็ได้
มีการวิเคราะห์ว่า ถ้าสภาพการณ์มีการรักษาภาวะ status quo ทางอำนาจไว้ คลื่นที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าอาจรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยยกประเทศทางอเมริกาใต้มาเป็นกรณีศึกษา พร้อมเทียบเคียงปัจจัยไว้หลายประการ โดยตัวตั้งต้นอาจไม่ใช่แนวคิดทางการเมือง แต่เป็นปัญหาเรื่องสิทธิ์ การถูกกีดกันออกจากแหล่งทรัพยากร เป็นคนชายขอบของสังคม และความว่างเปล่าของกระเป๋าสตางค์
ทฤษฎีสมคบคิดจึงโผล่มาในหัว แผนการนี้เหมือนการดึงรถของเล่นถอยหลังเพื่อให้มันวิ่งไปข้างหน้า หรือนี่จะเป็นการสร้างสงครามครูเสด สร้างยุคมืดแบบ Italian Espresso ร่วมสมัยขึ้นมา เพื่อให้ไปถึงยุค Renaissance แบบครบวงจร ไม่ลัดขั้นตอน ไม่ต้องข้ามผ่านวิกฤติที่ไม่เคยประสบ ในวันข้างหน้าเราจะได้รุ่มรวยและ enlightenment กันเป็นจริงเป็นจังเสียที
คิดได้ดังนี้ ผมจึงก้มหน้าจิบกาแฟ เพราะรู้สึกว่าท้องฟ้าข้างหน้าช่างมืดเสียเหลือเกิน