สัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 44 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เริ่มมาเกือบหนึ่งสัปดาห์แล้ว หลังจากมอนิเตอร์บนหน้าเฟซบุ๊คทุกวัน มีข้อสังเกตอยู่ว่า รอยต่อที่เขาเรียกกันเป็นช่วง ‘เปลี่ยนผ่าน’ จากหนังสือกระดาษไปสู่ดิจิตอล-อันนี้ยังไม่นับรวมแมกกาซีน ที่ต้องอาศัยหลักคิดอีกแบบ ก็ยังมีหนังสือเล่มหลายๆ หัวออกมาปรากฏบนแผง พร้อมๆ กับเสียงของบางคนที่เดินผ่านบูธแล้วพูดว่า “อยากอ่านที่เป็นกระดาษมากกว่า มันถนัดมือ”
คงมีเหตุผลหลายประการ หนึ่งในนั้นคือจำนวนหนังสือเล่ม หรือพ็อคเก็ตบุ๊ค ที่แปลงร่างจากสสารไปสู่สภาวะ ‘อสสาร’ ยังมีจำนวนไม่มาก ก็อาจทำให้หนังสือเล่มเป็นทางเลือกที่เข้าถึงมือคนอ่านได้ง่ายกว่า
เรื่องนี้เราคงฟันธงทำนายอนาคตไม่ได้ ยกตัวอย่าง ในสหรัฐ Kindle ยึดครองพื้นที่ e-book ร้านหนังสือล้มหายตายจาก จำนวนหนังสือกระดาษจากเว็บไซต์ Amazon มีจำนวนลดลง แถมราคาแพงกว่าไฟล์ แต่สถานการณ์กลับพลิกไปพลิกมา ท้ายที่สุด ยอดขายหนังสือเล่มเพิ่มขึ้นอย่างหน้าตาเฉย เช่นเดียวกับผู้บริโภคเองคงจะคันลูกตากับการจ้องจอ paper white จน Amazon ต้องลงมาเล่นด้วยการเปิดร้านหนังสือเล่ม physical book ที่จับต้องได้ขึ้นมา
ข้อสังเกตที่สองจากงานหนังสือครั้งนี้คือ มีหนังสือของมิตรสหายสองเล่มที่พูดถึงเยอรมนีในมุมที่ต่างกัน ในสาธารณรัฐไวมาร์: ฮิตเลอร์ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และ ก่อนกำแพงเบอร์ลินจะสิ้นสูญ เล่มแรกว่าด้วยเกร็ดระหว่างยุคเรืองอำนาจของนาซี ขณะที่อีกเล่มเป็นเรื่องของเยอรมนีตะวันออก ช่วงก่อนที่กำแพงเบอร์ลินจะล่มสลายในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989
ปี 1961 ประเทศเยอรมนีถูกแบ่งเป็นสองส่วน ฟากตะวันออกอยู่ในกลุ่มสนธิสัญญาวอร์ซอ ที่ปกครองด้วยแนวคิดสังคมนิยม ส่วนเยอรมนีตะวันตกเป็นเสรีประชาธิปไตย พรมแดนคอนกรีตสูง 3.6 เมตร ยาว 155 กิโลเมตร กำแพงเบอร์ลินคือสถาปัตยกรรมเรียบง่าย แต่ความแข็งกระด้างโดยความหมายทางการเมือง ทำให้ดินแดนหน้ากำแพงและหลังกำแพงมีความแตกต่างราวฟ้ากับดิน
ก่อนกำแพงเบอร์ลินจะสิ้นสูญ เป็นหนึ่งในหนังสือประเภทที่เรียกได้ว่า ‘ลงจากหิ้ง’ เพราะมีต้นทางจากงานวิจัย ‘การปฏิวัติในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (เยอรมันตะวันออก) อันนำไปสู่การเปิดกำแพงเบอร์ลินในปี ค.ศ. 1989’ ของ บรรพต กำเนิดศิริ ที่ถูกวางทิ้งไว้บนชั้นหนังสือ หากไม่มีใครสนใจหยิบลงมา ‘เล่น’ หรือนำลงมาใช้งานในโลกจริง ปึกกระดาษทรงคุณค่านี้คงไม่ต่างจากสิ่งบูชาที่ไร้ประโยชน์ รอเวลาให้ปลวกมาแทะกิน
ทางสำนักพิมพ์พารากราฟ ผู้นำหนังสือเล่มนี้ลงมาจากหิ้ง ได้แจ้งไว้ในคำนำบรรณาธิการว่า ทางสำนักพิมพ์ได้ปรับปรุงเนื้อหาและเพิ่มเติมภาพประกอบเข้าไปจากต้นฉบับเดิม พูดง่ายๆ คือ เอางานวิชาการหนักๆ ชิ้นหนึ่งมาทำให้ย่อยง่าย เพื่อให้ผู้อ่านหยิบเข้าปากได้อย่างสะดวก และถ่ายทอดความรู้จากบนหิ้งนี้ไปให้คนอื่นๆ ได้มีโอกาสศึกษาต่อ
กำแพงเบอร์ลิน เป็นสถาปัตยกรรมทางการเมืองที่มีเรื่องราวมากมาย แม้ไม่ได้มีขนาดอลังการจนมองเห็นได้จากนอกโลกเหมือนกำแพงเมืองจีน แต่หนึ่งในจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นนี้คือประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ควรนำมาศึกษา โดยเฉพาะจากดินแดนฝั่งตะวันออก ที่ต้องผ่านการลุกฮือ ผ่านการปฏิวัติ เพราะการบริหารด้วยระบบรวมศูนย์ของรัฐบาล เอริค ฮอเนเคอร์
คลิปเหตุการณ์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 1989 หาดูได้ง่ายบนยูทูบ ฝูงชนที่วิ่งฝ่าพรมแดน คนหนุ่มสาวบรรจงใช้ค้อนตอกลิ่มลงบนรอยต่อ จนแท่งคอนกรีตโงนเงนและล้มครืนลงมา ธงชาติเยอรมนีสามสี แดง เหลือง ดำ โบกสะบัดอยู่บนกำแพง
การเกิดขึ้นและการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินคืออดีตที่น่าสนใจในปัจจุบัน เหตุการณ์ในปัจจุบันก็จะกลายเป็นอดีตที่น่าสนใจในอนาคต ที่สุดแล้วเมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างก็ต้องกลายเป็นอดีตที่เหมือนชั้นดินซ้อนทับกันเพื่อให้เมล็ดพันธุ์ใหม่ๆ หรือประวัติศาสตร์หน้าใหม่ๆ ได้สร้างวิวัฒนาการงอกงามในอนาคต
นัยหนึ่งของอดีตจึงมีไว้ก้าวข้ามเพื่อเดินไปสู่วันข้างหน้า ความรู้ระดับนี้จึงควรนำลงจากหิ้งมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อประยุกต์ใช้ และสร้างความรู้ใหม่ๆ
คงน่าเสียดายที่กำแพงยังทำหน้าที่ค้ำยันของที่อยู่บนหิ้งไว้-คนเขียนตำราเล่มนั้นคงรู้สึกแปลกๆ ถ้าผลงานของเขาต้องนอนสิ้นลมหายใจอยู่ในที่ที่ไม่มีใครกล้าแตะ
จริงๆ แล้วคงเคยมีเหมือนกัน ที่บางคนอาจคิดว่า ตำราและความรู้บางอย่างเป็นของศักดิ์สิทธิ์ มีลิขสิทธิ์ที่ไม่ควรลอกเลียนและเลียนแบบ ชนิดที่ว่าจะเอาไปต่อยอดก็คงยาก คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านั่งซึมซับด้วยสายตาซึ้งๆ
ช่วยๆ กันส่งต่อแนวคิดแบบ ‘แคลสสิก’ ให้ลูกหลานได้เอาไปศึกษาต่อเถอะครับ อย่าปล่อยให้มันเป็นซากกำแพงเก่าๆ ที่ใครผ่านมาก็ยกมือไหว้…แล้วก็เดินผ่านไป