‘ยูคาลิปตัส’ พืชเอเลียนผู้รุกรานอย่างถูกกฎหมาย

‘โตเร็ว ตัดได้ ขายสะดวก’

นิยามสามคำนี้ครอบคลุมความหมายของความพยายามที่จะนำพันธุ์ไม้ ‘ยูคาลิปตัส’ กลับมาปลูกในประเทศไทยอีกครั้ง จากเดิมที่ปลูกกันมากในบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของประเทศไทย ผลิตภัณฑ์หลักที่คาดหวังจากพืชชนิดนี้คือการนำไปแปรรูปในอุตสาหกรรมกระดาษ ถึงแม้จะมีการวิเคราะห์ผลลัพธ์ของการตัดๆ ปลูกๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะนำมาซึ่งผลเสียมากมาย แต่ดูเหมือนว่าอันตรายของพืชพันธุ์ประหลาดชนิดนี้ยังคงกลับมาหลอกหลอนผืนดินไทยเสมอมา

ต้นยูคาลิปตัส หรือในภาษาอังกฤษ Eucalyptus มีที่มาจากภาษากรีกโบราณว่า eu และ calyptos ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า well และ covered จากเปลือกที่ห่อหุ้มลำต้นเอาไว้อย่างดี เจ้าต้นยูคาลิปตัสนั้นมีจำนวนมากกว่า 700 สายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีที่มาจากประเทศออสเตรเลียและเกาะปาปัวนิวกินี จุดเด่นทางโครงสร้างอินทรีย์ของพืชชนิดนี้อยู่ที่ระบบรากที่สามารถชอนไชลงไปใต้ดินเพื่อเข้าหาแหล่งน้ำได้มากกว่าพืชชนิดอื่น วิธีการดูดซับสารอาหารในดินระดับลึกนี้เองทำให้ทั้งดินและต้นไม้ท้องถิ่นพันธุ์อื่นตายเหี้ยนกันทั่วหน้า ความแข็งแกร่งด้านการเอาชีวิตรอดของไม้พันธุ์นี้นอกจากระบบรากสุดอันตรายต่อดินและพืชชนิดอื่นแล้ว มันยังพัฒนากระบวนการที่เรียกว่า ‘resprout’ ที่ทำให้มันอยู่รอดจากไฟป่าอันเป็นภัยธรรมชาติของประเทศออสเตรเลีย ต่อให้เผาจนเหี้ยนก็ไม่อาจฆ่าไม้ต่างชาติชนิดนี้ได้ เหมือนเอเลียนในหนังสยองขวัญที่ตายยากตายเย็นเสียเหลือเกิน 

การแพร่ขยายของเจ้ายูคาลิปตัสนี้เป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศเขตร้อนและเขตอบอุ่นเกือบทั้งหมด ตั้งแต่ทวีปอเมริกาใต้ แอฟริกา ยุโรปบางส่วน ตะวันออกกลาง และบางพื้นที่ของประเทศจีน รวมถึงรอบๆ บริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเริ่มครั้งแรกช่วง ค.ศ. 1770 สมัยที่กัปตัน เจมส์ คุก (James Cook) แล่นเรือท่องโลกกว้าง หลังจากนั้นการรุกรานของพืชต่างถิ่นนี้จึงเริ่มส่งสัญญาณปัญหาคุณภาพดินเสื่อม ระบบนิเวศท้องถิ่นถูกคุกคาม ไปจนถึงการทำลายพื้นที่ป่ารอยต่อ (wildlife corridor) ซึ่งเกิดขึ้นในปีเดียวกันนั่นเอง

ดูดพลังผืนดิน ทำลายชีวิตผืนป่า ค้ากำไรมหาศาล

ในปี ค.ศ. 1993 มีการทดลองเกี่ยวกับผลกระทบของต้นยูคาลิปตัสต่อดินที่หมู่เกาะฮาวาย ภายใต้ชื่องานวิจัย ‘Species effect on earthworm density in tropical tree plantations in Hawaii’ โดย เซียวหมิง ซู (Xiaoming Zou) ตีพิมพ์ในวารสาร Biology and Fertility of Soils โดยมุ่งศึกษาคุณภาพดินที่ได้รับผลกระทบจากต้นยูคาลิปตัสผ่านจำนวนไส้เดือนในดินบริเวณนั้น การทดลองนี้ได้ใช้แปลงเพาะปลูกต้นยูคาลิปตัสหนึ่งแปลง แปลงที่สองปลูกต้นอัลบีเซีย (Albizia) และแปลงสุดท้ายคือปลูกไม้สองพันธุ์นี้ผสมผสานกัน ผลการวิจัยที่น่าสนใจค้นพบว่า จำนวนไส้เดือนในแปลงปลูกต้นอัลบีเซียมีจำนวนมากกว่าในแปลงต้นยูคาลิปตัสถึง 5 เท่าตัว เนื่องจากใบที่หล่นจากต้นอัลบีเซียย่อยสลายกลับสู่ดินได้ดีกว่าใบของต้นยูคาลิปตัสมาก 

ผลการทดลองนี้ชี้ให้เห็นว่า ต้นยูคาลิปตัสนอกจากจะดูดซึมสารอาหารในดินอย่างรวดเร็วจนดินเสื่อมคุณภาพได้ง่ายแล้ว การคืนสภาพดินด้วยวิธีย่อยสลายใบไม้เก่ากลับคืนสู่ธรรมชาติยังช้าแสนช้ายิ่งกว่า และเมื่อไส้เดือนดินมีจำนวนลดลงเนื่องจากขาดสารอาหาร ก็ยิ่งทำให้ดินที่ถูกต้นไม้ทรราชนี้ปกครองยิ่งมีสภาพย่ำแย่ลงไปอีก

ย้อนกลับไปปี ค.ศ. 1989 มีความพยายามของมนุษย์ที่จะทำลายเจ้าต้นไม้จอมรุกรานนี้มาแล้วในหมู่บ้าน Veiga do Lila ประเทศโปรตุเกส ประชาชนจำนวน 800 ชีวิต ได้ร่วมมือกันเคลื่อนไหวด้านธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศโปรตุเกสเคยเจอมา พวกเขาเข้าทำลายแปลงปลูกยูคาลิปตัสกว่า 200 เฮกตาร์ หรือประมาณ 625 ไร่ ที่ปลูกโดยโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ การเข้าทำลายต้นไม้เหล่านี้ทำให้ชาวบ้านทั้ง 800 ชีวิต เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ 200 นาย จนกลายเป็นเหตุจลาจลขนาดย่อมๆ ที่โด่งดังไปทั่วโปรตุเกสในยุคนั้น

ชาวบ้านจากหมู่บ้าน Veiga do Lila ในโปรตุเกส บุกทำลายแปลงปลูกยูคาลิปตัสของโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ photo: World Rainforest Movement

ต้นเหตุการลุกฮือของคนในพื้นที่มีต้นตอมาจากการที่บริษัทย่อยในเครือของบริษัทยักษ์ใหญ่ Soporcel (ซึ่งภายหลังกลายเป็นบริษัทผลิตกระดาษชื่อดัง The Navigator Company ในกาลต่อมา) มีแผนการที่จะเปลี่ยนพื้นที่กว่า 200 เฮกตาร์ ที่เคยใช้ปลูกมะกอกไปสู่การปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อป้อนอุตสาหกรรมกระดาษขนาดใหญ่ โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่มาก่อน การประท้วงและจลาจลดังกล่าวของชาวบ้านจึงชูคำขวัญว่า “เอาต้นมะกอก ส่วนยูคาลิปตัสเราไม่!” (Yes to Olive Trees Yes, No to Eucalyptus!) 

น่าเสียดายที่การต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ต่อพันธุ์ไม้ที่เข้ามาขโมยสารอาหารในดินและอุตสาหกรรมท้องถิ่นดั้งเดิมของพวกเขานั้นดูจะยากเย็นแสนเข็ญนัก เมื่อการปลูกต้นยูคาลิปตัสได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรกรรม และดูเหมือนผู้มีอำนาจนอกพื้นที่จะมองว่าการเปลี่ยนกิจกรรมทางการเกษตรที่ให้กำไรน้อยอย่างผลมะกอก เมื่อเทียบกับสิ่งที่ทำกำไรได้มากกว่าอย่างต้นยูคาลิปตัสนั้น ดูจะเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลทางเศรษฐกิจ

การตัดสินใจของผู้มีอำนาจในโปรตุเกสที่พยายามจะก้าวเข้าสู่เวทีอุตสาหกรรมกระดาษโลกในครั้งนั้นถือว่าได้ผลเป็นอย่างยิ่ง จากข้อมูลของเครือข่ายกิจการยุโรป (Enterprise Europe Network: EEN) และข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าการลงทุนของประเทศโปรตุเกส (Aicep Portugal Global) มีรายงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกระดาษปี 2013 ที่ระบุเอาไว้ว่า ร้อยละ 75 ของพื้นที่กว่า 210,000 เฮกตาร์ของบริษัทอุตสาหกรรมกระดาษ คือพื้นที่ในการปลูกต้นยูคาลิปตัส ส่งผลให้โปรตุเกสกลายเป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของยุโรป และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับที่ 6 ของโลก รายได้จากการส่งออกอุตสาหกรรมกระดาษทำได้ถึง 1,568 ล้านยูโร 

ดูเหมือนในสายตาผู้มีอำนาจทั่วโลกจะมองว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากเจ้าต้นไม้เอเลียนนี้ คุ้มค่าพอที่จะแลกกับการสังเวยวิถีชีวิตและผืนดินของผู้คนในท้องถิ่น หากดินเสียก็ค่อยออกนโยบายฟื้นฟูธรรมชาติเอาทีหลัง ซึ่งก็ยากที่จะมั่นใจได้ว่าการตั้งงบประมาณฟื้นฟูธรรมชาติ 5 ล้านยูโรของโปรตุเกส จะสามารถชดเชยสิ่งที่ชาวบ้านสูญเสียไปได้หรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วคือ ไม่ใช่เพียงแค่คนชนบทในโปรตุเกสเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการที่ภาครัฐนำต้นไม้ทุนนิยมจอมรุกรานนี้เข้ามาปลูกเพื่อโกยกำไร ประเทศอื่นๆ ที่ห่างไกลออกไปก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน และในบางกรณีดูเหมือนว่าผลร้ายที่ได้รับจะหนักหนาสาหัสยิ่งกว่าเสียด้วยซ้ำ

การผงาดของต้นกระดาษยั่งยืน

ต้นยูคาลิปตัสตามบันทึกเอกสารของ ส่วนปลูกป่าเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ได้ระบุเอาไว้ว่าได้ถูกนำเข้ามายังประเทศไทยในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2493 และมีการทดลองปลูกจริงๆ ประมาณปี พ.ศ. 2507 โดยเฉพาะต้นยูคาลิปตัสในสายพันธ์ุ คามาลดูเลนซิส (Camaldulensis) ที่สามารถเจริญเติบโตได้แทบในทุกพื้นที่ จนส่งผลให้อุตสาหกรรมการปลูกเพาะพันธ์ุต้นยูคาลิปตัสเริ่มเจริญเติบโตขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่างแข็งแกร่งจวบจนปัจจุบัน ต้นไม้แปลกหน้าชนิดนี้ถูกมอบชื่อจากทางการไทยในสมัยโบราณว่า ‘โกฐจุฬารศ’ มีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรสำหรับผสมเป็นยาธาตุ ขับลม และแก้อาการแสบร้อนจากแผลไฟไหม้ โดยบางชนิดของไม้พันธุ์นี้ที่ชาวสยามนำมาทำยาสามารถนำทั้งใบ ต้น และส่วนประกอบอื่นๆ ไปทำเป็นยาได้อีกหลากหลายชนิด หลังจากนั้นเวลาผ่านไปจากสยามเป็นไทยในช่วงเวลาหนึ่งศตวรรษ ต้นยูคาลิปตัสค่อยๆ ถูกมองข้ามจากสรรพคุณด้านการแพทย์ไปสู่ด้านอุตสาหกรรมมากขึ้นภายใต้การผลักดันของภาครัฐ 

ภาพแสดงการเก็บเกี่ยวต้นยูคาลิปตัส photo: Patrick Shepherd/CIFOR

จากเอกสารเผยแพร่ที่ชื่อ ยูคาลิปตัส คามาลดูเลนซิส จัดทำโดย ส่วนปลูกป่าเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ปี 2556 เพื่อส่งเสริมการปลูกต้นยูคาลิปตัสในพื้นที่เอกชนและชี้ชวนให้เห็นถึงผลตอบแทนจากการปลูกยูคาลิปตัส โดยเฉพาะการแนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกต้นยูคาลิปตัสบริเวณคันนาเพื่อเพิ่มรายได้นอกเหนือไปจากการขายข้าวในรอบปี คำนวณมาแล้วอย่างเสร็จสรรพว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ไร่นา 68 ล้านไร่ คันนายาวรวมประมาณ 12 ล้านกิโลเมตร หากใช้พื้นที่ 4 ล้านกิโลเมตร มาปลูกต้นยูคาลิปตัส โดยเว้นระยะห่างระหว่างต้น 2 เมตร จะได้ต้นยูคาลิปตัสทั้งหมด 2,000 ล้านต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาครัฐกำลังต้องการให้เกิดการปลูกต้นยูคาลิปตัสมากเพียงใด นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังยืนยันไว้ในเอกสารดังกล่าวว่า การปลูกต้นยูคาลิปตัสบนคันนาจะไม่กระทบต่อสุขภาพต้นข้าวในนาแต่อย่างใด 

ข้อมูล: เว็บไซต์กรมป่าไม้

ปัจจุบันพื้นที่ทำกินหรือพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จะถูกจำแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) พื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี 2) พื้นที่ป่าที่เหมาะสมต่อการเกษตร และบ่อยครั้งที่เกี่ยวกับเจ้าต้นไม้จอมปัญหายูคาลิปตัส คือ 3) เขตพื้นที่ป่าเศรษฐกิจที่จะใช้ปลูก ผลิต หรือเพาะพันธุ์ไม้ที่จะทำประโยชน์ได้

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) คือหนึ่งในหัวเรือใหญ่ของการบริหารพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ โดย อ.อ.ป. มีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจอยู่ในครอบครองกว่า 1,108 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก ไม้ยางพารา และไม้ยูคาลิปตัส เป็นหลัก และยังช่วยสนับสนุนงบประมาณให้แก่เอกชนที่สนใจปลูกไม้เศรษฐกิจดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างภาครัฐ เอกชน และชาวบ้านในพื้นที่อยู่เสมอ หนึ่งในตัวอย่างความขัดแย้งที่ปะทุอย่างรุนแรงคือ กรณีชุมชนบ้านบ่อแก้ว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

ชาวชุมชนบ้านบ่อแก้ว อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณนั้นเกือบ 100 ครอบครัว นับตั้งแต่ พ.ศ. 2516 ก่อนที่กรมป่าไม้จะประกาศให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนในปี พ.ศ. 2521 และมอบสัมปทานการใช้พื้นที่ดังกล่าวให้กับ อ.อ.ป. เพื่อทำเป็นเขตพื้นที่ป่าเศรษฐกิจเพื่อปลูกไม้ยูคาลิปตัสในเชิงพาณิชย์ หลังจากนั้นก็เริ่มมีการดำเนินคดีกับชาวบ้านในพื้นที่กว่า 31 ราย ตั้งแต่ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ไปจนถึงข้อหามีอาวุธสงครามในครอบครอง โดยศาลฎีกาพิพากษาสิ้นสุดแล้วให้ชุมชนบ่อแก้วต้องออกจากพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตามการต่อสู้บนเส้นทางต่างๆ เพื่อให้ได้พื้นที่ทำกินกลับคืนมาของชาวบ้านนั้นยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน

การนำพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านแต่ดั้งเดิมไปผลิตไม้ยูคาลิปตัสโดย อ.อ.ป. นั้น นอกจากจะทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งถูกขับไล่ออกจากพื้นที่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อวิถีการทำเกษตรของชาวบ้านอีกด้วย นับเป็นเวลากว่า 43 ปีแล้วนับตั้งแต่ประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนในปี พ.ศ. 2521 ที่ชาวบ้านบ่อแก้วยังคงต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ที่ดินของตนเองคืนมาโดยปราศจากต้นยูคาลิปตัส ซึ่งกรณีของบ้านบ่อแก้วเป็นเพียงหนึ่งในข้อพิพาทที่เกิดขึ้นอีกนับไม่ถ้วนระหว่างคนท้องถิ่นกับภาครัฐที่ผนึกกำลังกับเอกชนยักษ์ใหญ่ 

วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ ชุมชนบ้านบ่อแก้ว ที่กำลังถูกรุกคืบจากการปลูกไม้ยูคาลิปตัส

อุตสาหกรรมกระดาษยังไม่ตาย

ถึงแม้ว่าสังคมไทยและสังคมโลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ยุคสมัยของ paperless มากขึ้น เพราะทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ล้วนเสพข้อมูลข่าวสารผ่านหน้าจอมากกว่ากระดาษจริง (แน่นอนว่าในขณะที่ท่านกำลังอ่านย่อหน้านี้ในขณะนี้อยู่ด้วยเช่นกัน) เราจึงอาจจะรู้สึกโล่งใจขึ้นมาได้เล็กน้อยว่า มือของเราไม่ได้แปดเปื้อนผลิตภัณฑ์จากต้นไม้ต่างชาติที่สูบทรัพยากรไปจากประชาชนอยู่ และยิ่งดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมกระดาษที่กำลังค่อยๆ ตายลงในโลกดิจิทัล พร้อมๆ กับการตอกฝาโลงเจ้ายูคาลิปตัสด้วยเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนและหน้าจอแสงสีฟ้าทั้งหลาย 

น่าเศร้าใจที่ว่า แม้ความต้องการในการใช้กระดาษจะค่อยๆ ลดลง และการอ่านข่าว อ่านนิยายหรือหนังสือ ก็ย้ายแพลตฟอร์มไปสู่สื่อดิจิทัลมากขึ้น แต่ความต้องการกระดาษสำเร็จรูปหรือที่เรียกกันว่ากระดาษแบบ cut-size หรือกระดาษ A4 แบบที่ใช้กันตามสำนักงานทั่วไปก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษแปรรูปก็ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่มาก และหากมองโลกในแง่ร้ายขั้นสุด คาดการณ์กันว่ายูคาลิปตัสจะยังคงอยู่ในอุตสาหกรรมกระดาษในเมืองไทยต่อไปอีกเกือบ 20 ปี

ประเด็นของต้นไม้ต่างชาติแปลกถิ่นจอมปัญหานี้คงยังไม่ตายจากไปง่ายๆ จากผืนดินของชาวบ้านทั้งในภาคอีสานและภาคเหนือ การขุดรากถอนโคนทั้งในความหมายจริงหรือในเชิงอุปมาอุปไมยนั้นก็ยังคงเป็นไปได้ยาก เมื่อรายได้มหาศาลจากการปลูกต้นกระดาษยังคงทำเงินได้ ขณะที่เสียงของชาวบ้านผู้สูญเสียกลับถูกกลบจนเงียบสงัดลงไปเรื่อยๆ  

ที่มา

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า