จัดฟันงานแท้ งานหมอ 1,000 บาท
จัดฟันงานแฟชั่น 450 บาท
หากใครผ่านมาเห็นราคาโปรโมชั่นสุดช็อกขนาดนี้คงต้องมีหวั่นไหวกันบ้าง และอาจช็อกเข้าไปอีกเมื่อรู้ว่าสินค้าหรือบริการที่ว่านั้นเป็นบริการ ‘จัดฟัน’ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริการทันตกรรมทางการแพทย์ที่มีไว้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพ เพื่อการรักษา และควรเกิดขึ้นในคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น แต่กลับมีโฆษณาและเปิดให้บริการโดยใครก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่หมอฟัน
คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับแวดวงทันตกรรมในประเทศไทย ทำไมถึงมีการโฆษณาจัดฟันที่ดูไม่มีมาตรฐานอย่างโจ่งแจ้ง แถมยังดูเข้าถึงง่ายและราคาถูกเช่นนี้
ข้อมูลจากทันตแพทยสภา บอกว่าทุกวันนี้การจัดฟันแฟชั่นยังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เฉพาะในเดือนเมษายน-ธันวาคม 2560 หรือในระยะเวลาเพียง 9 เดือน พบว่ามีสมาชิกสั่งซื้อสินค้าเกี่ยวกับการจัดฟันแฟชั่นผ่านสังคมออนไลน์มากถึง 140,000-200,000 ราย มูลค่าการตลาดมากถึงหลักร้อยล้านบาทต่อปี
ที่น่าตกใจกว่านั้น จากการสำรวจความเห็นในกลุ่มวัยรุ่น เหตุผลที่พวกเขาอยากจัดฟันไม่ใช่เพราะปัญหาสุขภาพ แต่เลือกจัดฟันตามเพื่อน และเลือกใช้บริการในสถานที่ใกล้บ้านหรือใกล้สถานศึกษามากกว่าจะเดินเข้าคลินิกหมอฟัน หลังจากจัดฟันแล้วพวกเขายังรู้สึกมั่นใจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายคนเลือกรับบริการจัดฟันแฟชั่นตามท้องตลาด เพราะราคาถูก และสามารถปรับเปลี่ยนสีให้ทันสมัยได้ตามใจชอบ
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเพจเฟซบุ๊คชื่อดุดัน ‘มือปราบหมอฟันเถื่อน’ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเกาะติดประเด็นนี้โดยเฉพาะ ภารกิจหลักของเพจนี้คือการรับแจ้งเบาะแส ประสานงาน ส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และภารกิจที่สำคัญอีกอย่างที่ทำควบคู่กันคือ การส่งมอบความรู้ สื่อสารข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อช่วยเตือนภัยให้กับผู้บริโภคถึงประเด็นการจัดฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน
การทำงานของมือปราบหมอฟันเถื่อน
ทันตแพทย์ประพัฒน์ ศานติวงษ์การ หรือ ‘หมอหมี’ หนึ่งในทีมแอดมินเพจ เล่าให้ฟังว่า เพจนี้ถูกตั้งขึ้นมาเพราะเห็นว่าเป็นช่องทางที่ช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่าย บางคนอาจไม่อยากเสียเวลาไปแจ้งเรื่องร้องเรียนยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยตัวเอง อาจเพราะปัญหาการเดินทางหรือการติดต่อหน่วยงานราชการไม่สะดวก หรือแม้กระทั่งบางครั้งเมื่อไปแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานไปแล้วไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร หรือถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หลายคนจึงหันมาขอความช่วยเหลือจากเพจมือปราบหมอฟันเถื่อนเพื่อเป็นผู้ประสานให้อีกทาง เพราะมีทีมทันตแพทย์เป็นแอดมินเอง
“สิ่งที่เพจมือปราบฯ ทำคือ เมื่อได้รับแจ้งแล้วจะตรวจสอบข้อมูล คัดกรองความถูกต้อง ก่อนจะส่งเรื่องร้องเรียนไปยัง สคบ. จากนั้นจะร่วมกันส่งไม้ต่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจวางแผนเข้าจับกุมต่อไป”
ระยะเวลาตั้งแต่เปิดเพจมา 2 ปี มีเรื่องแจ้งเข้ามาจำนวนไม่น้อย แต่หลายกรณีก็ยากที่จะดำเนินการจับกุมได้ เพราะต้องผ่านกระบวนการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานอีกหลายขั้นตอน ที่ผ่านมาการเข้าจับกุมผู้กระทำความผิดมีทั้งรายย่อยและรายใหญ่ เช่น เพจ ‘รุ่ง เชียร์ฟูลี่’ ที่มีผู้ติดตามถึงหลักแสนคน เป็นเพจขายอุปกรณ์จัดฟันเถื่อน ขายรีเทนเนอร์ ลวดจัดฟัน ถาดและอุปกรณ์พิมพ์ฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน
หมอหมียังยกตัวอย่างอีกเคสที่เคยลงไปจับกุมพร้อมกับ สคบ. ในตลาดย่านดาวคะนองและสายใต้ใหม่ให้ฟังว่า หลังได้รับเบาะแสจากพลเมืองดีซึ่งแจ้งว่าพบเห็นการขายอุปกรณ์จัดฟันแฟชั่นและการให้บริการจัดฟันแฟชั่นที่ไม่ได้มาตรฐาน ตั้งอยู่กลางตลาดอย่างโจ่งแจ้ง จึงลงมือวางแผนเข้าจับกุม โดยร้านเหล่านี้มักแฝงอยู่ในรูปแบบของร้านทำเล็บ ร้านเสริมสวย ขายบิ๊กอาย หรือสินค้าเสริมสวยงามอื่นๆ แต่ด้านหลังลักลอบเปิดให้บริการจัดฟันเถื่อน
แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่า คลินิกไหนแท้ คลินิกไหนเถื่อน หมอหมีให้สังเกตง่ายๆ ว่า
“ถ้าร้านเปิดให้บริการอยู่กลางตลาดนัด ให้คาดไว้ก่อนว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการควบคุมความสะอาดและความปลอดภัย ถึงแม้จะเป็นสถานที่ปิด แต่ถ้าไม่มีการควบคุมการติดเชื้อของอุปกรณ์ในกระบวนการจัดฟัน รวมถึงไม่มีการทำแล็บที่ได้รับมาตรฐาน นั่นก็อาจเข้าข่ายคลินิกทำฟันเถื่อนได้”
เจาะขบวนการจัดฟันเถื่อน
จากประสบการณ์ที่เคยลงพื้นที่จับกุมผู้กระทำผิด หมอหมีเล่าว่า กลุ่มหมอเถื่อนจะใช้วิธีจัดฟันลูกค้าที่ผิดไปจากคลินิกทำฟันทั่วไป อาจจะให้ลูกค้าบ้วนปากด้วยน้ำนิดหน่อย ไม่มีการฆ่าเชื้อ ไม่มีการตรวจเช็คสุขภาพฟัน ไม่เช็คสภาพเหงือก ไม่เช็คอาการฟันผุ หรือกำจัดสิ่งสกปรกในช่องปากโดยละเอียด แค่ทำอย่างไรก็ได้ที่จะเชื่อมอุปกรณ์ (ลวดและแบร็กเก็ต) ให้ติดกับฟัน ในกรณีที่แย่ที่สุด คือการใช้กาวตาช้าง
“หมอเถื่อนเหล่านี้ล้วนขาดความรู้และการดีไซน์ ถ้าเป็นทันตแพทย์ตัวจริง เมื่อรักษาแต่ละเคสแล้วจะมีภาพในหัว จินตนาการรอยยิ้มของคนไข้ในอนาคตได้ รวมถึงทันตแพทย์จะรู้ว่าแต่ละขั้นตอนควรทำอะไรก่อน อะไรหลัง ควรจะรักษาฟันซี่ไหนไว้ หรือต้องถอนฟันซี่ไหนออก เพื่อให้เกิดช่องว่างระหว่างฟันที่เหมาะสม และรู้ว่าฟันจะเคลื่อนไปทิศทางไหน”
ฉะนั้น การจัดฟันกับทันตแพทย์จริงๆ แพทย์ผู้ให้บริการต้องใช้เวลาใส่ใจกับคนไข้ ซึ่งการจัดฟันแฟชั่นตามตลาดนัดไม่มีกระบวนการตรงนี้ หมอเถื่อนมีหน้าที่แค่ทำให้อุปกรณ์ยึดติดอยู่กับฟัน แค่ลูกค้ายิ้มแล้วเห็นลวดดัดฟันก็ถือว่าสำเร็จแล้ว
หมอหมียังเล่าถึงผลกระทบต่อสุขภาพฟันที่ตามมา เช่น การใช้ยางที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดอาการฟันเคลื่อนอย่างรุนแรง เพราะยางมีแรงรั้งสูงเมื่อไปเกี่ยวอุปกรณ์ที่ติดกับฟัน ยางจะพยายามคืนรูป นั่นหมายถึงยางจะดึงฟันให้เป็นแผงออกมาด้านหน้า ส่งผลให้มีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง และบางรายอาจถึงขั้นเสียโฉมไปเลยก็ได้
“อันตรายจากการจัดฟันแฟชั่น มีตั้งแต่ขั้นทำความสะอาดฟันได้ยาก จนถึงเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบมากกว่าคนทั่วๆ ไป เพราะลวดจัดฟันแฟชั่นจะไปกดเหงือกทำให้เหงือกอักเสบ ปวดฟัน ติดเชื้อ ซี่ฟันเปลี่ยนตำแหน่งไปจากเดิม ไปจนถึงได้รับสารพิษจากวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้” หมอหมีบอก
จัดฟันแฟชั่น สะท้อนค่านิยมวัยรุ่น
ผลสำรวจที่ทำร่วมกับศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อต้นปี 2560 พบว่า 2 ใน 3 ของคนวัยรุ่นที่ตอบแบบสอบถาม ยังรู้สึกไม่พอใจกับสภาพฟันตัวเอง ไม่พอใจกับสภาพรอยยิ้มตัวเอง และเมื่อดูตัวเลขประชากรวัยรุ่นถือว่ามีจำนวนหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับจำนวนทันตแพทย์ทั้งประเทศที่มีเพียงกว่า 10,000 คน ยิ่งถ้าเจาะเฉพาะทันตแพทย์ด้านจัดฟันโดยเฉพาะ ยิ่งมีจำนวนน้อย
หมอหมียกตัวอย่างส่วนหนึ่งจากงานวิจัยของ ทพญ.ดร.ธนิดา โพธิ์ดี สาขาทันตกรรมชุมชน ภาคทันตกรรมป้องกัน มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่แบ่งเหตุผลของการจัดฟันได้ 3 ด้านดังนี้
- ด้านที่ 1 การใช้งาน (function) จัดฟันเพื่อการบดเคี้ยวได้ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพช่องปากต่างๆ เช่น ช่วยให้คนที่ฟันซ้อน ฟันเรียงตัวได้ดี ทำให้ดูแลความสะอาดในช่องปากได้ดีขึ้น
- ด้านที่ 2 ทุนทางร่างกาย (body capital) เพื่อเพิ่มโอกาสทางหน้าที่การงานที่ได้มาจากรูปร่างหน้าตา เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าในบางอาชีพในสังคมให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์ภายนอก การจัดฟันจึงเป็นสิ่งจำเป็น
- ด้าน 3 อัตลักษณ์ (identity social value) กลุ่มนี้มองว่า การมีเหล็กจัดฟันจะช่วยยกระดับตัวเองในสังคมได้ โดยเลือกใช้การจัดฟันเป็นเครื่องมือในการสร้างตัวตนและสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง
ผลสำรวจที่ทำร่วมกับ คคส. ในครั้งนั้น ทำให้พบข้อเท็จจริงบางอย่างว่า การที่วัยรุ่นอยากจัดฟัน เพราะต้องการเป็นที่นิยม อยากดูมีฐานะ อยากหน้าเรียว อยากดึงดูดสายตาคนอื่น เพื่อต้องการเติมเต็ม self esteem หรือสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงปัญหาเรื่องสุขภาพฟันเป็นหลัก แม้จะเสี่ยงแค่ไหนก็ตาม
ทางออกจากความเถื่อน
ในเมื่อวัยรุ่นไทยมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของตัวเองมากกว่าความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พัฒนาข้อเสนอและบรรจุระเบียบวาระ ‘การพัฒนาระบบคุ้มครองผู้บริโภคทางทันตกรรม’ เข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ประจำปี 2561 เพื่อให้ทุกภาคส่วนจัดทำนโยบายสาธารณสุขเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม สำหรับแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนก่อนที่สถานการณ์จะลุกลามและสร้างผลกระทบร้ายแรง
เนื้อหาส่วนหนึ่งของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ข้อ 5 ได้ระบุถึงทางออกไว้ว่า ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการจัดฟันแฟชั่นและฟันเทียมเถื่อน เป็นเครื่องมือแพทย์ที่กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้นำเข้า ต้องจดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และควบคุมให้ขายเฉพาะสถานพยาบาลของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมหรือผู้ได้รับอนุญาตขายเครื่องมือแพทย์
สนับสนุนโดย