ณ เวลานี้ ดูเหมือนว่า ‘Fake News’ หรือ ‘ข่าวปลอม’ จะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกประเทศ โดยเฉพาะข่าวปลอมทางการเมืองที่อาจมีผลต่อการบริหารประเทศ เกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเราทุกคน แม้มีความพยายามจัดการด้วยวิธีการที่หลากหลาย ข่าวปลอมเหล่านี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะหมดไป แต่กลับทวีคูณมากขึ้นทุกวัน
ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือรัฐบาลในหลายประเทศ ได้หามาตรการเพื่อมาจัดการกับ ‘กระดูกชิ้นโต’ นี้ ล่าสุดรัฐบาลไทยประกาศจะตั้ง ‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’ (Anti-Fake News Center) ซึ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
การจัดการข่าวปลอมทำได้จริงไหม ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของไทยจะเป็นไปในทิศทางไหน และในต่างประเทศมีมาตรการอย่างไรบ้าง วศิน ปั้นทอง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะช่วยอธิบายให้เราฟัง
จากพื้นที่เสรีมาสู่การกำกับเนื้อหา
วศินเริ่มต้นด้วยการอธิบายมุมมองต่อโลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันว่า แม้อินเทอร์เน็ตจะเคยถูกมองว่าเป็นพื้นที่เสรี ใครก็สามารถเข้าถึงได้ และต้องมีการควบคุมกำกับดูแลน้อยที่สุด แต่ปัจจุบันมีความท้าทายเกิดขึ้นมาก เช่น การใช้พื้นที่ไซเบอร์กระทำอาชญากรรมทางการเงิน เรื่อง ‘hate speech’ หรือประทุษวาจาในพื้นที่ไซเบอร์ รวมถึงเรื่อง ‘cyber bullying’ หรือการกลั่นแกล้งรังแกทางไซเบอร์
เมื่อพบปัญหาดังกล่าวมากขึ้น รัฐต่างๆ เริ่มคิดกันว่า ตัวแสดงที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ไซเบอร์จะมาร่วมกันกำกับดูแลพื้นที่นี้อย่างไร เพื่อให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานมากที่สุด จึงเกิดเป็น แนวคิดการอภิบาลอินเทอร์เน็ต (Internet Governance) ขึ้นมา
ในช่วงทศวรรษที่ 1970-1980 การอภิบาลอินเทอร์เน็ตมักเป็นเรื่องของวิศวกร ซึ่งคิดกันว่าจะวางระบบอย่างไร จะทำอย่างไรให้คอมพิวเตอร์สื่อสารกันได้ รักษาความปลอดภัยของระบบอย่างไรให้ดำเนินการไปได้โดยไม่มีความขัดข้อง
ภายหลัง การมาถึงของสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เนื้อหา hate speech หรือ fake news ก็ตามมาอย่างแพร่หลาย เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ดีเบตในตอนนี้คือ นอกจากการกำกับดูแลหรือรักษาความปลอดภัยของตัวโครงสร้างพื้นฐานทางไซเบอร์และอินเทอร์เน็ตแล้ว จะต้องกำกับดูแลเนื้อหาอย่างไรดี
“พอมันมีเนื้อหาที่ไม่พึงประสงค์ หรือหลายๆ ประเทศใช้ว่า ‘เนื้อหาเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ’ ก็มีการนำออกจากระบบ เช่น เยอรมนี มีกฎหมายกำหนดว่า ถ้าบริษัทที่ทำเนื้อหาเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต ต้องเอาเนื้อหาที่เป็น fake news หรือ hate speech ลงภายใน 24 ชั่วโมง ไม่เช่นนั้นจะถูกปรับ”
ในส่วนของกลไกการป้องกันเนื้อหา fake news หรือ hate speech จะออกมาในรูปแบบกิจกรรมต่างๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างความรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ซึ่งมีในหลายๆ ประเทศ เช่น สวีเดน ไต้หวัน รวมถึงไทยก็มีกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่คอยให้ความรู้ในด้านนี้
วศินอธิบายว่า การบิดเบือนข้อมูลข่าวสารไม่ใช่เรื่องใหม่ สิ่งที่ fake news ปัจจุบันนี้ต่างจากอดีตคือ ความเร็วในการแพร่กระจาย ขอบเขตการรับรู้ที่กว้างมากขึ้น และเนื้อหาที่เข้าถึงคนได้ง่ายขึ้น ทั้งเรื่องลี้ลับ ของวิเศษ เรื่องการเมือง และเรื่องที่ไม่ใช่การเมือง
“เราจึงเห็นว่าการตั้งหน่วยงานที่มาจัดการกับ ‘fake news’ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย อาจจะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบในการสร้างการรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งภารกิจโดยรวมของหน่วยงานหรือองค์กรเหล่านี้เป็นการพยายามที่จะระบุประเด็นความท้าทายจากการเกิดขึ้นของข่าวลวง”
ในกลุ่มประเทศที่ประชาธิปไตยลงหลักตั้งมั่นแล้ว จะมีหน่วยเฝ้าระวัง fake news เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาธิปไตยถอยย้อนกลับ (Democratic Backsliding) เพราะมองว่า fake news เป็นตัวบ่อนทำลายคุณค่าประชาธิปไตย เช่น สหภาพยุโรปมีการตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า EU Stratcom Task Force ซึ่งมีหน้าที่เฝ้าระวังข่าวลวงของรัสเซียที่ถูกส่งมาโจมตีประเทศในสหภาพยุโรป และวิเคราะห์ว่าข่าวลวงนั้นทำลายคุณค่าเกี่ยวกับประชาธิปไตยหรือไม่
“อย่างไต้หวัน เขาก็จะบรรจุการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ไปในหลักสูตรเลยว่า นักเรียนของเขาควรจะมีความคิดวิพากษ์ (critical thinking) ตั้งแต่เล็กๆ เพื่อที่เวลานักเรียนบริโภคสื่อ จะสามารถตรวจจับได้เองว่า อันนี้คือ fake news”
อีกตัวอย่างที่สำคัญคือ ประเทศเอสโตเนีย เนื่องจากประชากรในประเทศจำนวนหนึ่งมีเชื้อสายรัสเซีย และยังบริโภคสื่อของรัสเซีย เอสโตเนียและประเทศตะวันตกก็มองว่ารัสเซียใช้สื่อโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) จึงกังวลว่าประชากรกลุ่มนี้จะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสื่อรัสเซีย แนวทางป้องกันคือทำกิจกรรมสื่อสารเชิงกลยุทธ์ (strategic communication outreach) โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐลงพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชากรเอสโตเนียเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงจากฝั่งรัฐ
“เอสโตเนียน่าสนใจ เพราะเขาไปลงพื้นที่นำเสนอข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้บังคับให้คนเชื่อ สิ่งที่เขาทำประหนึ่งว่าเป็น fact checker หรือผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ได้มีกลไกหรือมาตรการอื่นที่จะไปบังคับ ปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของประชาชน
“กรณีของไทย เท่าที่ผมทราบมา ตอนนี้เราก็มีแคมเปญ อย่างเช่น ‘ชัวร์ก่อนแชร์’ กิจกรรมต่างๆ ของกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แน่นอนเราก็มีภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งที่ทำภารกิจในด้านการจัดการกับ fake news เช่น มูลนิธิฟรีดริชเนามัน ประเทศไทย (Friedrich Naumann) ก็ทำงานร่วมกับกองทุนสื่อสร้างสรรค์ในการผลิตการ์ดเกมที่ชื่อว่า การ์ดพลังสื่อ เอาไว้ใช้ในการเสริมสร้างการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) ในคนทั่วไป ผมก็เห็นว่ามีหน่วยงานจำนวนมากที่มีภารกิจหน้าที่ในการจัดการกับ fake news
“ส่วนภารกิจของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ถ้ารัฐบาลตั้งตัวเองขึ้นมาเป็น fact checker ก็ต้องตามกันต่อว่า ข่าวลวงที่รัฐต้องการเช็คคืออะไร นอกจากเรื่องของวิเศษแล้ว เป็นเรื่องของการกำกับดูแลการแสดงออกทางการเมืองของผู้คนด้วยหรือไม่”
ข้อถกเถียงว่า “อะไรเป็นข่าวลวงทางการเมือง?”
วศินได้จำแนกคำอธิบายการวิเคราะห์ ‘fake news’ ในระดับสากลโดยเห็นว่า ข่าวลวงทางการเมืองมี 2 มิติ มิติแรกคือ ‘politicized fake news’ มักใช้โดยผู้นำทางการเมือง เพื่อควบคุมความคิดเห็นสาธารณะ และสร้างประโยชน์ทางการเมืองให้ฝ่ายของตนเอง เช่น กรณีการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา 2016 ที่ข่าวปลอมในเฟซบุ๊คเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งนั้น
อีกมิติหนึ่งคือ ‘weaponized fake news’ เป็นข่าวลวงทางการเมืองเช่นกัน แต่ถูกนำไปใช้เป็นอาวุธทางการเมืองเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม หรือแปะป้ายให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นปัญหาด้านความมั่นคงของรัฐ มิตินี้จะถูกอนุญาตให้ใช้มาตรการพิเศษในการจัดการได้ เปิดโอกาสให้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพมากกว่ากรณีทั่วไป กรณีของไทยในช่วงของรัฐบาลทหาร จะพบว่ากฎหมายที่ถูกนำมาใช้มีแนวโน้มไปในทางหลังมากกว่า ซึ่งวศินอธิบายต่อว่า
ส่วนคำถามต่อมาคือ ‘จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นข่าวลวงทางการเมือง’ ข้อถกเถียงในระดับสากล มี 3 ประเด็นคือ
หนึ่ง ใครที่มีสิทธิที่จะตีความว่าชุดข้อความนี้เป็นข่าวลวงทางการเมือง ถ้าคิดแบบอคติต่อรัฐว่าเนื้อหาจะไปสนับสนุนข้อมูลข่าวสารของฝ่ายรัฐหรือไม่ วิธีปฏิบัติทั่วไปของการตั้งหน่วยงานคือ จะต้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเป็นหลัก โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาทำ
สอง หน่วยงานในลักษณะนี้ต้อง fact check ตัวเองด้วย หมายความว่า จะต้องรู้ว่าสิ่งที่คุณเสนอออกไปนั้นต้องเจืออคติให้น้อยที่สุด
สาม เป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุมให้ประชาชนเชื่อในข้อมูลข่าวสารของรัฐเพียงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร ถ้าประชาชนไม่เชื่อก็คือไม่เชื่อ
‘อัลกอริธึม’ ตัวช่วยในการตรวจหา Fake News
ปัจจุบันมีการดีเบตกันเรื่องความโปร่งใสของอัลกอริธึม (algorithmic transparency) ว่าอัลกอริธึมที่ถูกผลิตขึ้นมาถูกใช้ไปเพื่อผลประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจให้กับกลุ่มธุรกิจ หรือว่าเพื่อประโยชน์ทางการเมืองให้กับกลุ่มทางการเมือง อัลกอริธึมนั้นมีความซับซ้อนในตัวเองทางเทคนิค เช่น อัลกอริธึมหลายๆ ตัวสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นมนุษย์อาจไม่ได้ควบคุมอัลกอริธึมได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าถูกนำไปใช้ในทางการเมือง ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดตามว่าอัลกอริธึมที่ถูกผลิตขึ้นมานั้นจะเรียนรู้อะไร แล้วจะนำไปสู่อะไร
ในบริบทของประเทศจีนมีจุดประสงค์ในการใช้อัลกอริธึมอย่างชัดเจนในด้านความมั่นคง หากจะถามว่าการใช้อัลกอริธึมเพื่อประโยชน์ทางการเมืองนี้ดีหรือไม่ คงจะตอบได้ยาก ฝั่งพรรคคอมมิวนิสต์อาจจะบอกว่าดี แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นประเทศที่ประชาธิปไตยลงหลักตั้งมั่นแล้ว การที่รัฐจะมีปฏิบัติการใดๆ ที่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลบนฐานของความมั่นคงนั้น ประเทศเหล่านั้นจะพยายามเอาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นตัวตั้งมากกว่าที่จะเอาความมั่นคงของรัฐเป็นตัวตั้ง เขาจะดูว่าเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในกฎหมายหรือนโยบายที่ออกมา รวมถึงการจัดการกับ fake news ไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากน้อยแค่ไหน แล้วได้สัดส่วนมากแค่ไหนเวลาเทียบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนกับเรื่องของความมั่นคงของรัฐ
ความจำเป็นของ ‘ศูนย์ต่อต้าน Fake News’
ในแต่ละประเทศล้วนมีหน่วยงานที่จัดการกับ fake news ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย แต่อาจไม่ได้จัดตั้งเป็นศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมแบบประเทศไทย และภารกิจในการทำงานก็แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระบอบการเมืองของประเทศนั้นๆ
“ผมว่าศูนย์ฯ นี้จะจำเป็นหรือไม่จำเป็นขึ้นอยู่กับความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อศูนย์ฯ ถ้าศูนย์ฯ ตั้งขึ้นมาแล้วประชาชนทั่วไปไว้เนื้อเชื่อใจว่าเขาเป็น fact checker ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะจริงๆ ศูนย์ฯ นี้ก็จำเป็น แต่ถ้าประชาชนทั่วไปมองว่าเขาไม่อยากจะเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ออกมาจากศูนย์ฯ นี้ วันนั้นศูนย์ฯ ก็ไม่จำเป็น”
วศินเล่าต่อว่า ประเทศเอสโตเนียที่มีการจัดการเรื่อง fake news โดยใช้วิธีสื่อสารกลยุทธ์ ลงพื้นที่นำเสนอข้อเท็จจริงในมุมของรัฐนั้นค่อนข้างได้ผล เพราะเป็นประเทศที่เล็ก และที่สำคัญ ประชากรค่อนข้างเชื่อมั่นในตัวรัฐบาล ซึ่งความเชื่อมั่นระหว่างประชาชนกับรัฐบาลนั้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เอสโตเนียทำสำเร็จ
“ส่วนประเทศไทย ต้องดูว่าประชาชนเชื่อมั่นในรัฐบาลมากน้อยแค่ไหน เชื่อมั่นว่ารัฐสามารถเป็น fact checker ได้หรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีทั้งคนที่เชื่อและไม่เชื่อ รัฐบาลก็ไม่สามารถบังคับให้ทุกคนเชื่อในสิ่งเดียวกันได้
“เวลาดูว่า fact checker หรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทำงานยังไง ก็ดูว่าใครให้เงินเขาทำ ในกรณีของประเทศไทยก็เป็นหน่วยงานที่ตั้งโดยภาครัฐ แล้วก็ดูเหมือนว่าจะเป็นกระบอกเสียงให้กับภาครัฐ แน่นอนว่าเขาก็จะต้องนำเสนอข้อมูลที่อย่างน้อยที่สุดไม่ขัดกับเรื่องเล่าหลักของรัฐ ซึ่งผมว่าสิ่งที่สำคัญของศูนย์ฯ ลักษณะนี้ก็คือการ fact check ตัวเอง หมายความว่า ตัวหน่วยงานก็ต้องตระหนักว่าเขากำลังทำอยู่บนฐานที่จะนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสังคม ถ้าเขาไม่ทำอย่างนั้น ผมคิดว่าในที่สุดแล้วเขาก็จะสูญเสียความน่าเชื่อถือไป ก็จะเป็นองค์กรที่ไม่มีใครเชื่อ และศูนย์ฯ นี้ก็จะไม่จำเป็น”
‘ศูนย์ต่อต้าน Fake News’ กับประชาธิปไตย
“โดยทั่วไป ในหลายๆ สังคมที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง (consolidated democracy) จะตระหนกกับเสรีภาพในการแสดงออก (freedom of expression) หมายความว่า ไม่ว่าจะเป็นรัฐเผด็จการหรือรัฐอำนาจนิยม รัฐเหล่านี้จะเห็นว่าความเห็นต่างทางการเมืองเป็นภัยคุกคาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ถ้าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตัวระบอบที่จะทำให้ตัวระบอบไม่มั่นคง เรากำลังจะพูดถึงประเทศไทยในบริบทลักษณะแบบนี้
“แน่นอนว่า สถาบันทางการเมืองจำนวนหนึ่งในสังคมไทยก็มีความตระหนก ผมว่าเขาก็ตระหนกกับการที่คนมีเสรีภาพในการแสดงออก ในขณะเดียวกันกระแส fake news ก็เกิดขึ้นทั่วโลกพอดี แล้วผมก็คิดว่ารัฐไทยพยายามที่จะกระโดดเข้าไปในกระแสโลกแบบนั้น”
รัฐ vs Fake News สงครามครูเสดในศตวรรษที่ 21
“ถ้ารัฐจะจัดการให้ fake news ให้เหลือศูนย์… ไม่มีทางเป็นไปได้”
วศินอธิบายประโยคข้างต้นว่า ปัจจุบันรัฐ (โดยทั่วไป ไม่เจาะจงประเทศใดประเทศหนึ่ง) เข้าไปสอดส่อง ควบคุมเนื้อหาโซเชียลมีเดียทั้งหมด เพื่อที่จะไปจัดการนำเนื้อหาที่เป็น fake news ออกให้หมด โดยเฉพาะเนื้อหาทางการเมือง แต่ก็ไม่ง่ายเพราะประชาชนทุกคนก็มีสิทธิที่จะเชื่อและมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ถ้ารัฐจะไปบอกว่าสิ่งที่เขาเชื่อทางการเมืองเป็น fake news ก็คงเป็นการละเมิดสิทธิขึ้นพื้นฐานของประชาชน
“ผมคิดว่าตอนนี้หลายๆ รัฐ โดยเฉพาะรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย พยายามที่จะจัดการกับ fake news ในฐานะภัยคุกคาม เพราะฉะนั้นการทำสงครามกับ fake news มาจากแหล่งไหนก็ตามไม่ได้ทำให้ fake news หายไปจนเกลี้ยง เพราะฉะนั้น
“รัฐต้องไม่ทำ ‘สงครามครูเสด’ ในความหมายที่เป็นการกระทำรุนแรงและเจ็บทุกฝ่าย รัฐก็เจ็บในการใช้ทรัพยากรของรัฐที่มีอยู่อย่างจำกัดมาทุ่มเหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่ก็ไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด
“ประชาชนก็เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ระบอบการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ถูกเอาป้ายไปแปะว่าเป็นคนปล่อย fake news ทั้งที่อาจจะเป็นแค่คนที่วิพากษ์ระบอบการทำงานของรัฐบาล หรือผู้นำทางการเมือง ก็ถูกดำเนินการทางกฎหมายที่ไม่ได้สัดส่วนระหว่างความมั่นคงของรัฐและสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน”
Fake News ภัยคุกคามหรือความท้าทาย
สำหรับการมอง fake news ในฐานะภัยคุกคามทางการเมือง วศิณเห็นว่าเป็นการมองที่ปลายน้ำเนื่องจากหากลองมองที่ต้นน้ำ fake news เหล่านั้น อาจเป็นผลมาจากปัญหาที่มีอยู่ก่อนแล้ว เช่น ความไม่มั่นคงของระบอบ หรือความไม่ไว้ใจของประชาชนต่อภาครัฐ
“ง่ายๆ เลยลองมองย้อนกลับไปดูว่าทำไมเกิดข่าวลวงทางการเมืองตามโซเชียลมีเดีย คนไม่เชื่อใจข่าวสารของรัฐ เพราะฉะนั้นรัฐก็เลยต้องลงแรงมากหน่อยในการผลิตข้อมูลข่าวสารของฝั่งตัวเองและพยายามโยนไปใส่ประชาชน แต่ถ้าการโยนไม่พอก็จะต้องเข้าไปควบคุมความคิดเห็นที่แตกต่างเพื่อให้รัฐสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารของตัวเองได้อย่างเต็มที่ น่าคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะแบบนี้เป็นเพราะว่าในที่สุดแล้วคนไม่เชื่อในรัฐหรือเปล่า
“อย่างเอสโตเนีย เขาก็มองว่า fake news เป็นแค่ความท้าทายอย่างหนึ่ง เวลาเรามองอะไรเป็นภัยคุกคาม วิธีการที่จะจัดการกับภัยคุกคามเราจะต้องทำลาย แต่ถ้าเรามองอะไรเป็นความท้าทาย ความท้าทายเกิดขึ้นตลอดอยู่แล้ว เราจะจัดการรับมือโดยที่ไม่ต้องไปทำลาย”
การทำลายภัยคุกคาม หมายถึงการอนุญาตให้ใช้วิธีพิเศษที่อาจไปละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการทำลายภัยคุกคามนั้น ถ้าเป็นการจัดการกับความท้าทายไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการพิเศษที่จะไปลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะใช้วิธีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยโดยทั่วไปในการจัดการ ตัวอย่างเช่น การทำการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ของเอสโตเนีย คือเจ้าหน้าที่ของรัฐไปลงพื้นที่นำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงจากฝั่งของรัฐเพื่อให้ประชาชนรู้ว่าข้อมูลของรัฐแตกต่างกับข้อมูลที่เขาได้รับ ให้ประชาชนตัดสินใจเอง ซึ่งเป็นวิธีการทั่วไปที่ไม่ใช้กฎหมายเข้าไปจัดการ จับกุม หรือคุมขัง
“ผมมองว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อที่จะไปห้ามไม่ให้ใครแสดงออกในเรื่องความคิดเห็นทางการเมือง สำหรับผมอาจจะเรียกว่ามาตรการพิเศษ (exceptional measure) ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในยุโรปเท่าที่ผมรู้มีน้อยมาก ยกเว้นเรื่อง hate speech ถ้ามีเรื่องนี้มาเกี่ยวข้องก็จะมีกฎหมายอยู่”
หวังศูนย์ ‘Fake News’ จะเอาประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง
การเสริมสร้างพลังอำนาจ (empowerment) แก่ประชาชน ให้ประชาชนรู้เท่าทันสื่อ รู้ว่าข้อมูลข่าวสารมีอคติ โดยเฉพาะข่าวสารทางการเมืองที่ต้องอาศัยการตีความ ให้ประชาชนรู้เท่าทันและรู้ว่าจะอยู่ร่วมกับข่าวลวงพวกนี้ได้อย่างไร ซึ่งวศินมองว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญมากกว่าการจัดการปัญหาแบบปลายเหตุมากนัก
“ในกรณีของประเทศไทยผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมที่กำลังดำเนินงานในไม่ช้านี้ จะทำไปโดยที่เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง ผมว่าโจทย์ไม่ได้อยู่ที่ว่าทำยังไงให้ fake news หมดไป แต่ทำยังไงให้ประชาชนรู้ว่าสิ่งที่เขาเจออยู่คือข่าวลวง ไม่ว่าจะเป็นทางการเมืองหรืออื่นๆ”
เช่นเดียวกันในเรื่อง ‘fact checking movement’ (ขบวนการตรวจสอบข่าวปลอม) ในปัจจุบันไม่ได้มีแต่รัฐที่พยายามจะตั้งศูนย์เพื่อจัดการกับ fake news แต่มีตัวแสดงที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคม เอกชน บริษัทข้อมูลก็พยายามที่จะมีส่วนร่วมในการจัดการกับ fake news ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ การทำ fact checker มีจุดที่น่าสนใจคือ ภารกิจนี้ใครจะเป็นเจ้าภาพ รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม หรือประชาชน หรือว่าทุกส่วนจะต้องมาร่วมมือกัน ถ้าร่วมมือกันจะต้องร่วมยังไง เพราะว่าในที่สุดแล้วรัฐมีน้ำหนักมากที่สุดในตัวแสดงเหล่านี้ และสังคมที่จะพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตย ให้คุณค่ากับสิทธิและเสรีภาพ อาจตั้งต้นที่ความไว้เนื้อเชื่อใจประชาชน โดยให้ทุกคนเป็น fact checker ได้
“จริงๆ อาจจะเป็น mission impossible ก็ได้” วศินพูดพร้อมเจือเสียงหัวเราะ
ก่อนจะให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างแรกคือ รัฐต้องเชื่อว่าประชาชนของเขาสามารถเป็น fact checker ได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะมีความเห็นพ้องต้องกันกับรัฐ หรือว่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐก็ตาม
“รัฐไม่จำเป็นต้องมาสอนหนังสือประชาชนว่าต้องรู้หรือไม่รู้อะไร ความเข้าใจนี้เป็นการวางรากฐานให้กับการที่รัฐจะทำนโยบายเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อ คือเชื่อมั่นในคนของตัวเองก่อนว่าเป็น fact checker ได้ แล้วจึงพยายามทำให้ง่ายกับเขา
“ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็จะต้องเป็นศูนย์ฯ ที่นำเสนอข้อเท็จจริง และอย่าลืมที่จะต้อง fact check ตัวเอง ซึ่งจะทำให้ประชาชนไว้เนื้อเชื่อใจว่า ศูนย์ฯ ตรวจสอบตัวเองด้วยว่าสิ่งที่นำมาเสนอต่อประชาชนเป็นข้อเท็จจริง แล้วศูนย์ฯ ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ใครเชื่อ และที่สำคัญคือต้องไม่เป็นศูนย์ฯ จูงจมูกประชาชน ให้เชื่อว่ามีแต่ข้อมูลของรัฐเท่านั้นที่ถูกต้อง”
สุดท้ายแล้ววศินมองว่า ถึงแม้การเรียกร้องให้รัฐเชื่อว่าประชาชนจะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้นั้น จะดูเป็นหลักการโลกสวย แต่ถ้าตั้งต้นจากจุดนี้ก็จะทำให้จัดการกับปัญหาเรื่องข่าวลวงได้ โดยที่รัฐก็เบาแรง และประชาชนก็ไม่โดนละเมิดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก
“ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ ถ้ารัฐนำเสนอออกมาให้เห็นว่าผลพิสูจน์ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เป็นแบบนี้ สิ่งที่ถูกเผยแพร่อยู่เป็นแบบนี้ ยาวิเศษอาจจะไม่ใช่ยาวิเศษ สุดท้ายประชาชนก็ตัดสินใจเอง
“ในกรณีทางการเมือง สิ่งที่สำคัญที่จะแนะนำคือ พยายามยกเพดานนี้ให้สูงขึ้น โอบอุ้มเอาความคิดเห็นที่แตกต่างให้ได้มากที่สุด แน่นอนว่าถึงจุดหนึ่งเราก็ไม่สามารถพูดได้ทุกเรื่อง เพราะทุกสังคมมีข้อตกลงกันว่าเราจะพูดได้แค่ตรงนี้ แต่ข้อตกลงนั้นจะต้องเป็นข้อตกลงที่ประชาชนยอมรับ ไม่ใช่ข้อตกลงที่ถูกบังคับใช้จากรัฐ”