เด็กๆ ควรได้เรียนวิชาที่สอนแยกแยะว่าอันไหนข่าวจริง อันไหนข่าวปลอม อันเป็นทักษะสำคัญในโลกออนไลน์ที่มีแนวโน้มเชื่อมคนที่คิดคล้ายกัน มากกว่าสร้างพื้นที่ให้คนได้ถกเถียง
แอนเดรียส์ ชไลเชอร์ (Andreas Schleicher) ผู้อำนวยการด้านทักษะและการศึกษา ของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เสนอว่า ในยุคดิจิตอล โรงเรียนจำเป็นต้องสอนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งที่ตัวเองอ่านจากโซเชียลมีเดียและเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ทั้งหลายอย่างรู้เท่าทัน
ชไลเชอร์ ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาโซเชียลมีเดียสร้าง ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อน’ ขึ้นมา ซึ่งเป็นห้องที่ผู้ใช้จะรับเพียงความเห็นที่ใกล้เคียงกับตัวเอง และเขาเสนอว่าโรงเรียนควรเข้าไปมีบทบาทและเสริมสร้างโอกาสให้ นักเรียนมีโอกาสได้ถกเถียง โต้แย้งกับคนที่คิดและมองไม่เหมือนตัวเอง
ในงานเสวนาประจำปีด้านการศึกษาและทักษะสากลประจำปี (Global Education and Skills Forum) ที่จัดขึ้นในนครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ชไลเชอร์ นำเสนอโครงการประเมินผล Gobal Competencies – ศักยภาพความเท่าทันโลก’ ของ OECD ในการทดสอบทัศนคติของเด็กๆ ที่มีต่อประเด็นสำคัญต่างๆ ในโลก และวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ทักษะด้านการวิจารณ์และวิเคราะห์รวมถึงความสามารถของเด็กๆ ในการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น
เขาอธิบายที่มาที่ไปของโครงการว่า
“ในอดีต เมื่อเราต้องการข้อมูล เราก็จะไปเปิดเอ็นไซโคลพีเดียหรือสารานุกรม และคุณก็วางใจได้ว่าข้อมูลนั้นถูกต้อง” เขายังเพิ่มเติมอีกว่า แต่วันนี้ใครๆ ก็ใช้โซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์เกิดใหม่ต่างๆ ที่ง่ายต่อการเข้าถึง รวมถึงใช้พื้นที่ตรงนี้ช่วยประเมิน และสะท้อนข้อมูลที่พวกเขาได้รับมา
ดังนั้น การแยกแยะว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง จึงเป็นทักษะสำคัญมากๆ ในปัจจุบัน” ชไลเชอร์ย้ำ
“การรับข่าวสารผิดๆ หรือตระหนักว่า มันมีบางอย่างที่น่าจะเป็นข่าวปลอม หรือเห็นว่าเนื้อหานั้นไม่มีทางเป็นจริงได้ แล้วคุณก็ตั้งคำถามกับมัน คิดอย่างวิเคราะห์ มันเป็นสิ่งสำคัญมากๆ และมันคือสิ่งที่เราเชื่อว่าโรงเรียนเข้ามาช่วยเด็กนักเรียนได้” ชไลเลอร์เน้นบทบาทของโรงเรียน
โดยในชั้นเรียน เด็กๆ สามารถเรียนรู้ประเด็นความเคลื่อนไหวต่างๆ ของโลก หลักการเบื้องต้นในการวิเคราะห์ในสิ่งที่เห็นและรับรู้ แล้วนำมาถกเถียงกันในชั่วโมงเรียนเพื่อหาข้อเท็จจริงร่วมกัน
เขายังเสริมว่า โรงเรียนต่างๆ ไม่จำเป็นต้องสอนหลักสูตรหรือวิชาใหม่ๆ แต่ควรเสริมสร้างทักษะการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ข่าวจริง-ข่าวปลอมเหล่านี้ให้อยู่ในทุกบทเรียน ตั้งแต่วิชาวิทยาศาสตร์ไปจนถึงประวัติศาสตร์
“เพราะข้อมูลในโซเชียลมีเดีย มันช่วยเราย้ำประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือมุมมองใดมุมมองหนึ่งเท่านั้น อธิบายง่ายๆ คือ โซเชียลมีเดีย ถูกออกแบบให้สร้างห้องสะท้อนขึ้นมา 1 ห้อง คนที่ใช้ก็มีแนวโน้มที่จะคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่คิดคล้ายเราและเหมือนกับเรา เราเชื่ออะไร โซเชียลมีเดียยิ่งทำให้เราเชื่อและคิดแบบนั้นอย่างลึกซึ้งขึ้น และอัลกอริธึมของโลกออนไลน์ก็นี้มีแนวโน้มเชื่อมคนที่คิดคล้ายกัน มากกว่าสร้างพื้นที่ให้คนได้ถกเถียงและหาเหตุผล/หลักการร่วมกัน”
จึงเป็นที่มาของแบบประเมินผลของ OECD ชื่อ ‘Global Competencies – ศักยภาพความเท่าทันโลก’ ที่ทำกับกลุ่มเด็กอายุ 15 ปีจาก 70 ประเทศทั่วโลก ผ่านทักษะต่างๆ ทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่จัดทำทุกๆ 3 ปี แบบทดสอบนี้จะสิ้นสุดในปี 2017 และจะเผยแพร่ผลการประเมินได้ในปี 2019
“การประเมินชุดนี้ จะวัดศักยภาพของเด็กๆ ในการมองโลกผ่านมุมมองที่หลากหลาย ชื่นชมความคิดที่แตกต่าง เปิดกว้างต่อวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นมิติสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในโลกที่ต้องติดต่อสื่อสารทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม” ชไลเชอร์ทิ้งท้าย