ขอวาร์ป (ทำไม?): วัฒนธรรมชายแท้ ตอกย้ำซ้ำเติมเหยื่อผู้ถูกคุกคาม

ทันทีที่เกิดกรณีคลิปหลุดของศิลปินหญิงรายหนึ่ง เหล่าบรรดา ‘ชายแท้’ ต่างพากันแสดงความคิดเห็นเชิงคุกคามทางเพศ โทษเหยื่อ และการตาม ‘ขอวาร์ป’ คลิปหลุดศิลปินรายนั้นในทุกตารางนิ้วของพื้นที่โซเชียลมีเดียที่พูดถึงประเด็นนี้ โดยไม่ได้ยั้งคิดเลยว่า นั่นคือการตอกย้ำความเจ็บปวดของผู้ถูกกระทำ

“พลาดเอง”

“ถ้ากลัวหลุดก็ไม่ควรถ่าย”

“ทำไมจะขอวาร์ปไม่ได้ ก็ถ่ายเอง”

“ไม่เชื่อค่ะ ขอวาร์ปด้วย”

หลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกัน ข้อความสาดสะท้อนความเลือดเย็นที่เชือดเฉือนจิตใจผู้เสียหาย จากผู้ชายมากหน้าหลายตาปรากฏอยู่บนกล่องข้อความแสดงความคิดเห็นในทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซ้ำร้ายผู้หญิงด้วยกันเองที่ควรจะเข้าใจหัวอกของผู้เจ็บปวดหรืออับอาย แต่กลับร่วมวงขอวาร์ปกันอย่างสนุกปาก ราวกับมองเป็นอีกหนึ่งเรื่องบันเทิงที่เพียงแค่เผลอไถนิ้วบนจอโทรศัพท์มือถือและสะดุดเจอ จึงแวะสร้างความจรรโลงใจให้กับชีวิตในหนึ่งวันของตนเองเสียหน่อย จนหลงลืมไปว่านั่นมันคือ ชีวิตของผู้อื่น

ทุกครั้งที่ชาวเน็ตมีอารมณ์ร่วมกับชะตากรรมของผู้อื่น จนหักห้ามใจได้ยากที่จะไม่กระโจนเข้าไปวิจารณ์ โดยไม่ลืมที่จะหยิบเอาอาวุธสำคัญอย่างการตอกย้ำและโทษเหยื่อไปใช้ประทุษร้ายให้สาหัสมากขึ้น จนดูเหมือนว่าสังคมไทยไม่เคยเรียนรู้ต่อสิ่งที่เรียกว่าการละเมิดสิทธิผู้เสียหายเหล่านี้เลย 

WAY ขอเป็นอีกแรงที่จะช่วยย้ำเตือนหลักการที่ควรจะเป็น แม้จะต้องเอ่ยซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า (และคงจะมีอีกหลายครั้ง) ด้วยหวังว่าสักวันสังคมจะตระหนักรู้มากพอที่จะไม่ไปสร้างบาดแผลเพิ่มเติมให้กับผู้เสียหายอีก

ตรรกะวิบัติ (fallacy) สร้างบรรทัดฐานคนดีมีศีลธรรม

ข้อมูลจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ตรรกะวิบัติ (fallacy) ที่ส่งผลทางลบต่อผู้ถูกกระทำ ถูกส่งต่อมาเป็นระยะเวลานานภายใต้กรอบ ‘คนดีมีศีลธรรม’ ซึ่งเป็นกรอบที่เข้าถึงความรู้สึกและระบบคิดของผู้คน ในการสร้างบรรทัดฐานเพื่อเป็นแบบอย่างความประพฤติของคนในสังคม เหล่านี้กลายเป็นตัวตัดสินผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติตามกรอบให้กลายเป็น ‘คนไม่ดี’ และเห็นพ้องต้องกันว่าสมควรได้รับบทลงโทษจากการกระทำของตนเอง 

ตรรกะที่มากำหนดและวัดคุณค่าของคน ได้สร้างบาดแผลให้กับผู้ถูกกระทำอย่างมาก เมื่อเรื่องราวของเขาหรือเธอถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม ก็มีแนวโน้มที่จะถูกตราหน้าได้ทั้งสิ้น ดังนั้นการเป็นเหยื่อที่ไม่ได้อยู่บนบรรทัดฐานคนดีมีศีลธรรมที่สังคมตีกรอบเอาไว้ จึงส่งผลให้ผู้ถูกกระทำอาจกลายเป็นบุคคลที่ไม่สมควรได้รับแม้กระทั่งความเห็นอกเห็นใจ 

ตรรกะเช่นนี้เองที่เป็นเบ้าหลอมแสนประณีตที่บรรจงสร้างวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ หรือ victim blaming ได้อย่างแยบยล

หยุดวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ (victim blaming) 

เรื่องเก่าที่ต้องเอามาเล่าใหม่ซ้ำๆ แม้จะถูกกล่าวถึงเป็นครั้งที่ล้าน ซึ่งในวันนี้ก็ต้องกล่าวถึงอีกเป็นครั้งที่ล้านหนึ่ง กับเรื่อง victim blaming หรือการกล่าวโทษเหยื่อ ว่ามีส่วนหรือเป็นต้นเหตุทั้งหมดที่เกิดขึ้น ซึ่งการกล่าวโทษก็เป็นผลมาจากตรรกะวิบัติที่สร้างบรรทัดฐานผิดๆ ขึ้นมาตัดสินคุณค่าของคน

องค์การยูนิเซฟ ไทยแลนด์ (UNICEF Thailand) เคยออกมารณรงค์สร้างความตระหนักรู้ให้กับสังคมว่า การกล่าวโทษเหยื่อ คือทัศนคติที่มองว่าเหยื่อคือต้นเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้น แทนการมุ่งเป้าไปที่ผู้กระทำความผิดที่แท้จริง เป็นการตอกย้ำบาดแผลของผู้เสียหายและเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตซ้ำความรุนแรง อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก

กรณีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมไทยอย่างเช่น คลิปหลุด หรือภาพหลุด ที่แม้ผู้เสียหายจะมีความยินยอมในขณะที่ตั้งกล้องถ่าย แต่นั่นก็ทำให้ผู้คนเคลือบแคลงในสถานะผู้เสียหายและตัดสินเอาเองภายใต้มายาคติที่บดบังความถูกต้องว่า ไม่น่าแปลกที่หลายคนอยาก ‘ขอวาร์ป’ เพราะทำตัวเอง ในอีกแง่หนึ่งของการกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ นอกจากจะเป็นการตอกย้ำบาดแผลให้กับเหยื่อแล้ว ยังเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับผู้กระทำความผิดไปโดยปริยาย

ฉะนั้นการตามขอวาร์ปคลิปหลุดของผู้เสียหายไปทั่วทุกแพลตฟอร์ม พร้อมกับการกล่าวโทษว่า “ถ้ากลัวหลุดก็ไม่ควรถ่าย” ดูจะเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัว เพราะการตกลงและยินยอมให้ถ่ายคลิปทั้งสองฝ่าย ย่อมไม่เท่ากับการยินยอมให้เผยแพร่ต่อสาธารณะ ดังนั้นแทนที่จะมาตั้งคำถามกับเหยื่อว่า ถ้ากลัวหลุดจะถ่ายทำไม ควรตั้งคำถามและกล่าวโทษผู้ปล่อยคลิป มากกว่ากล่าวโทษเหยื่อหรือผู้ที่เป็นฝ่ายเสียหาย

สุดท้ายที่อยากชวนร่วมกันขบคิดสั้นๆ กับนิยามคำว่า ‘warp’ ที่ภายหลังถูกหยิบยืมมาใช้ในบริบทของการเคลื่อนย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอย่างรวดเร็วจนเป็นที่มาของการ ‘ขอวาร์ป’ แบบที่คนไทยใช้กัน เคยถูกใช้ในนิยายวิทยาศาสตร์ที่ใช้เรียกการเดินทางข้ามเวลาไปยังอดีตหรืออนาคตได้ จนเกิดเป็นสำนวนที่ว่า “stuck in a time warp” หมายความถึง “ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาเลย ยังคงความโบราณล้าหลังเช่นเดิม” ซึ่งเป็นสำนวนที่ช่างสอดคล้องกับวัฒนธรรมการโทษเหยื่อ ที่คอยตอกย้ำบาดแผลจากการ ‘ขอวาร์ป’ ไม่จบไม่สิ้น

อ้างอิง:

Author

ศศิพร คุ้มเมือง
วัยรุ่นกระดูกกร๊อบแกร๊บ ชอบเขียน ชอบอ่าน ชอบกินหมูกระทะ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า