10 คำถามเรื่องข้าว กับ ประภาส ปิ่นตบแต่ง

rice-10qs-l

 

เรื่อง: รุ่งฤทธิ์ เพ็ชรรัตน์
ภาพ: อารยา คงแป้น

 

ไม่นานมานี้ มีดราม่าไวรัลส่งต่อกันในเฟซบุ๊คและกรุ๊ปไลน์ แสดงความเปรียบราคาของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับข้าว-ที่ราคากำลังร่วงกราวจนชาวนาแทบทรุดตัวลงหน้าโรงสี

ตอบคำถามที่ว่า ปัญหาราคาข้าวตกต่ำเป็นเรื่องจริงหรือไม่…จริง ตัวเลข 6,000 – 9,000 บาทเป็นประจักษ์ที่ดีหากเทียบกับเมื่อครั้งที่ฟุ้งลอยไปถึงเกินหลักหมื่น

แต่คำถามที่ไม่ใช่เรื่องตื้นๆ นี้เป็นสมการที่มองข้ามตัวแปรไปมากใช่หรือไม่ คำตอบก็คือ ใช่ ทุกอย่างมีที่มา ตั้งแต่ต้นน้ำที่ทุ่งนาจนถึงปลายทางที่กระเพาะอาหารและลำไส้ และปัญหานี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิด หากแต่เรา-สังคมไทย-ได้ฉุดกระชากลากถูให้ชาวนาต้องเดินอยู่บน ‘พื้นน้ำแข็งบางๆ’ มานานหลายทศวรรษ มองเผินๆ เหมือนชาวนาคือผู้ลากเลื่อนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแน่นอน เมื่อถึงจุดพื้นผิวเปราะบาง ชาวนาย่อมร่วงหล่นล้มหายตายไปก่อน

มองปัญหานี้ในภาพใหญ่ เราจะเห็นพาหนะหนึ่งเดินทางไปสู่ความฉิบหายแบบรวมหมู่ สันนิษฐานได้หรือไม่ว่า วิธีการเดินทางฝ่าทุ่งหิมะซึ่งประกอบด้วยภูมิทัศน์ใหม่ๆ ไม่สามารถใช้ยานยนต์โบราณแบบเดิมได้อีกแล้ว

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชาวนาวันหยุดในพื้นที่คลองโยง จังหวัดนครปฐม เล่าถึงภาพรวมของปัญหา ด้วย 10 ปุจฉา / 10 วิสัชนา ถึงกลไกการผลิตข้าวและการทำตลาดแบบใหม่ที่พลิกโฉมหน้าไปจากเดิม โดยไม่ต้องมีใครคนใดถูกทิ้งให้ตกขบวนและตายอย่างโดดเดี่ยว

1. ภาพรวมของปัญหาวิกฤติราคาข้าว

ปริมาณข้าวเปลือกที่เรามีอยู่ตอนนี้คือ 32-33 ล้านตัน บริโภคภายในประมาณ 10 ล้านตัน นั่นหมายความว่า ที่เหลือเราส่งออกหมด เราอยู่ในระบบแบบนี้มาตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) ปฏิวัติเขียว คือผลิตข้าวเป็นพืชเชิงเดี่ยวเพื่อส่งออก

ในข้าวจำนวนนี้เรามีข้าวหอมมะลิหรือข้าวคุณภาพดีในอีสานประมาณ 10 ล้านตัน ในภาคเหนืออีกประมาณ 1-2 ล้านตัน ในภาคกลางอีกนิดหน่อย เพราะในภาคกลางเปลี่ยนเป็นข้าวคุณภาพต่ำหรือข้าวแข็ง ก็คือข้าวที่หุงกินไม่ได้ เอาไว้ทำแป้ง เช่น ส่งไปญี่ปุ่น พวกทำเส้นก็สั่งจากเรา หรือส่งไปแอฟริกา ไปตะวันออกกลาง เป็นข้าวนึ่งอะไรต่างๆ นี่คือผลผลิตที่เรามีอยู่

วิกฤติตอนนี้คือ ราคาข้าวมันต่ำมาก หอมมะลิตอนนี้โรงสีซื้อข้าวความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ กิโลละ 9 บาท ถ้าเกี่ยวจากนาก็อาจจะเหลือ 6-7 บาท ขึ้นอยู่กับความชื้น ซึ่งเดิมหอมมะลิสมัยจำนำตันหนึ่งเคยขึ้นไปถึง 20,000 บาท แสดงว่าราคามันตกลงไปมาก

ข้าวแข็ง ข้าวขาว หรือข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ ตอนจำนำคือรัฐบาลรับซื้อ 15,000 ช่วงสมัยคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ประกันราคาข้าวก็ยังอยู่ที่ประมาณ 10,000-12,000 ราคาในตลาดช่วงนั้น ผมเข้าใจว่าอยู่ในช่วง 10,000-11,000 วิ่งไปวิ่งมา การประกันคือจ่ายส่วนต่างราคาตลาด แต่หลังจำนำข้าวเป็นต้นมา ผมตามราคาข้าวตลอด ข้าวที่เรียกว่าข้าวแห้งความชื้น 15 เปอร์เซ็นต์ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 7,200-7,600 อาจจะขึ้นไป 8,500 อยู่บ้าง แป๊บเดียวก็ลงมา เทียบกับ 15,000 แล้วมันก็ต่ำลงไปมาก

ปัจจุบัน โรงสีรับซื้ออยู่ที่ประมาณ 7,000 ถ้าเกี่ยวสดจากนามันต่ำกว่านี้อยู่แล้ว เพราะถูกหักความชื้น เหลือประมาณที่ชาวบ้านบอก 5,000-6,000 นี่คือสภาพที่เป็นอยู่ คือวิกฤติที่ราคาต่ำมาก มันตกลงไปแทบจะสุดแล้ว

2. สาเหตุของราคาที่ตกต่ำลงมาก

ถ้าอธิบายแบบวิชาการที่ทาง TDRI พยายามชี้ตัวเลขไว้คือ ปัจจัยภายนอกคือ ข้าวในตลาดโลกมันมาก เราเองผลิตได้ 4-5 เปอร์เซ็นต์ของข้าวทั้งหมดเอง เราก็อยู่ภายใต้กลไกตลาดโลก ปัจจุบันข้าวก็เพิ่มขึ้น สต็อกข้าวของสหรัฐก็เพิ่มขึ้น เวียดนามก็ผลิตได้เยอะ เทคโนโลยีการผลิตข้าวก็ปรับไปไกลมากแล้ว ตลาดที่ TDRI พยายามชี้ให้เห็นก็คือ ในแอฟริกา หรือที่อื่นๆ ตลาดก็ลดลงไป ข้าวหอมมะลิที่เราเคยขายได้ 700 เหรียญสหรัฐ ตอนนี้ก็ต้องลดลงมาแข่งขันกับข้าวคุณภาพใกล้ๆ กัน ที่ประมาณ 600 นี่ก็เลยนำมาสู่การกดราคาข้างใน ซึ่งโรงสีเขาก็พูดชัดเจนว่า เขาขายได้ถูก เขาก็ต้องซื้อถูก มันก็เป็นธุรกิจ

ส่วนปัจจัยภายใน ก็อย่างที่ทราบๆ กันดีอยู่ก็คือ แล้งก็ไม่ให้ทำนา พอฝนลงมาก็ทำนากันใหญ่ ข้าวออกมาเยอะแยะไปหมด ตัวเลขของกระทรวงรายงานสถานการณ์การเพาะปลูกของกระทรวงเกษตรฯ จะเห็นได้ชัดเลยว่า ปี 59-60 ปริมาณข้าวที่ใครคิดว่ามันลดลง ปรากฏว่าเขาดูค่าเฉลี่ยในรอบเก้าปี ปรากฏว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 2,500,000 ไร่ นี่คือสิ่งที่นำมาสู่ปริมาณที่มากขึ้น ปัจจุบันเราปลูกข้าวประมาณ 68.98 ล้านไร่ ก็ไม่ได้ลดเลย มันมหาศาลมาก

สรุปอีกทีก็คือ เราต้องส่งออก เรากินแค่ 10 ล้านตันจาก 32-33 ล้านตัน นั่นหมายความว่าอีก 22-23 ล้านตันเราต้องส่งออก ถ้าจะทำแบบที่รณรงค์กันอยู่ ซึ่งผมก็เห็นด้วยนะ คือคนกินมาซื้อ แต่ถ้าจะช่วยชาวนาได้หมด หมายความว่าเราต้องกินข้าวประมาณวันละ 9-10 มื้อ มันจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ส่งออก เพราะเรากินไม่หมด

img_0576

3. ทางแก้ที่เห็นผลคือเพิ่มการส่งออกให้มากขึ้น

ตัวเลขนี้มันบอกว่ายังไงก็ต้องส่งออก แต่ว่าในเชิงมาตรการ ในเชิงนโยบาย ถามว่าจะทำอะไรอย่างไร แล้วทำได้แค่ไหน แก้ไขปัญหาได้แค่ไหน อันนั้นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ที่จริงรัฐบาลเขาพยายามลดพื้นที่ปลูก ลดปริมาณ เช่น มีเป้าชัดเจนว่าจะลดให้เหลือ 27 ล้านตัน ลดพื้นที่ประมาณ 5-6 ล้านไร่ ให้เหลือปริมาณที่คาดการณ์ว่าจะส่งออกได้ แต่ถามว่ามาตรการเหล่านี้มันใช้ได้-ไม่ได้อย่างไร รวมถึงมาตรการจำนำยุ้งฉาง ผมคิดว่าถ้าดูภาพใหญ่ รัฐบาลก็ต้องทำแบบนี้ หรือทั้งหมดของสังคมก็ต้องพยายามจัดการกับข้าวซึ่งมันมหาศาล แล้วก็ราคาถูก เราจะทำได้ยังไง

ทีนี้ถามว่าการลดมันควรลดยังไง มันก็มีทางเลือกอื่นๆ ถ้าภาพใหญ่เรามองว่าตอนนี้เรามาถึงทางตันในแง่ที่ว่า เราเคยส่งเสริมการปลูกข้าวแบบพืชเชิงเดี่ยว แล้วก็รัฐบาลทุกรัฐบาลทำกันแบบนี้ ก็คือ ข้าว กข. ข้าวแข็ง ข้าวคุณภาพต่ำ หาตลาดให้ เอาปุ๋ยเอายาให้ ปรับระบบเข้าสู่เกษตรเคมีอะไรต่างๆ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจนแทบจะหลับตาทำกันได้

มาถึงวันนี้ อาจจะเป็นคำถามสำคัญคือ จะอยู่รอดได้ไหม คำตอบก็คือ ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทั้งหมด

ถามว่าจะเปลี่ยนอย่างไร เปลี่ยนทันที เปลี่ยนแบบว่า พวกคุณทำไมยังปลูกข้าวอย่างนี้อยู่ ทั้งที่ราคามันต่ำ ทำไมคุณไม่ไปขายปุ๋ย หรือว่าไปปลูกหมามุ่ย คือพูดแบบนี้มันพูดแบบไม่รับผิดชอบเลยนะครับ เพราะสิ่งที่รัฐบาลทุกๆ สมัย หรืออาจจะเรียก ‘รัฐ’ พากันมาถึงจุดนี้ ช่วงหนึ่งคุณก็ส่งเสริม พอส่งออกได้เยอะคุณก็เก็บต๋ง ขูดรีดมูลค่าส่วนเกินของชาวนา เอาไปพัฒนาเศรษฐกิจอะไรมากมาย เก็บค่าพรีเมียมอะไรต่างๆ วันดีคืนดีคุณบอก ทำไมคุณปลูกในสิ่งที่ราคาถูก อย่างนี้ไม่ได้

4. เท่ากับว่าเราปลูกข้าวเยอะ ปลูกแต่ข้าวที่เน้นขายและส่งออก ลืมความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าว

เราอาจไม่ได้ลืมนะ แต่เราคิดว่าข้าวคุณภาพต่ำมันจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า เราก็เลยพัฒนาข้าว กข. มาตั้งแต่รุ่นผมเด็กๆ แต่มาถึงจุดนี้ ก็เป็นที่ชัดเจนว่า ไปไม่รอดแล้ว ต้องปรับใหม่ ทั้งในแง่คุณภาพการผลิต คุณภาพเมล็ดพันธุ์ ในแง่ความปลอดภัย ข้าวอินทรีย์ ข้าวปลอดสาร อะไรก็แล้วแต่

แน่นอนว่าในส่วนของการปรับไปสู่ความยั่งยืน ตรงนี้มันก็ไม่ได้ง่าย การเรียกร้องให้ปลูกข้าวพันธุ์ดี ข้าวคุณภาพ นี่คือสิ่งที่ต้องทำ และต้องทำมานานแล้ว ที่จริงมีการพูดเรื่องการปลูกข้าวคุณภาพดีกันมานาน เพราะถ้าปลูกข้าวคุณภาพต่ำแข่งตลอดเวลา ซึ่งเดิมมันมีตลาดเยอะ แต่ตลาดมันชักแย่ มันต้องมาคิดถึงข้าวคุณภาพหรือการลดพื้นที่

เอาเฉพาะเรื่องข้าวคุณภาพดีก่อน หมายถึงต้องปรับไปสู่ทั้งวิธีการผลิตข้าว ข้าวคุณภาพดีอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องพันธุ์ ต้องเป็นข้าวอินทรีย์ ข้าวซึ่งคนคิดถึงสุขภาพบริโภค มีประสบการณ์กับมัน กินข้าวที่มันมี story มีความทรงจำอะไรบางอย่าง

แต่ข้าวสีข้าวอินทรีย์ตอนนี้ในรอบปลูกที่ 1 ปี 59-60 มีทั้งหมดฟังดูแล้วน่าตกใจ 66,000 ไร่ทั้งนั้น ผลผลิตผมให้เต็มที่เลย 50 เปอร์เซ็นต์ สีเป็นข้าวกล้อง มันกระจุ๋มกระจิ๋มมาก

ในแง่นี้ การปรับเปลี่ยนมาสู่ข้าวคุณภาพมันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องพันธุ์ การพัฒนา จะทำยังไง พันธุ์ซึ่งตอนนี้หายไปจากทุ่งหมดแล้ว ไปอยู่ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี มีอยู่ 24,000 ชนิดที่เคยอยู่ในทุ่ง สุพรรณฯมี 95 นครปฐมมี 15 อยุธยาก็ใกล้ 100 แต่การเอาข้าวนาปีมาปลูกก็ยังมีปัญหาอีก เพราะต้นมันก็สูง ผลผลิตก็น้อย เราอาจจะต้องคิดกันเยอะในเรื่องของการปรับในเชิงโครงสร้างเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต การปลูก การแปรรูป ทำนาเคมีกันมา 40-50 ปีแล้ว เทคโนโลยีการทำนา กว่าจะปลี่ยนเป็นนาอินทรีย์ คุณสู้แค่หญ้าก็ตายแล้ว

รวมทั้งแทนที่จะจำนำยุ้งฉาง ส่วนที่ปรับตัวนี่แหละ จะรองรับยังไง ไม่เคยมีใครพูดถึงการรับซื้อหรือรับจำนำข้าวอินทรีย์ ประกันข้าวอินทรีย์ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกิดการปรับตัวต่างๆ อันนี้ไม่มีนโยบาย

5. การปรับเปลี่ยนทั้งกระบวนการไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในเวลาอันสั้น

ผมก็ตอบไม่ได้ แต่ผมคิดว่า การปรับเปลี่ยนในเชิงโครงสร้างแบบนี้ อย่าลืมว่า กว่ามันจะมาถึงจุดนี้ มันใช้เวลา 30-40 ปี มันจะเลิกกันไปง่ายๆ ก็คงยาก ยังไงก็ต้องใช้เวลา อย่างพันธุ์ข้าว ได้มาพันธุ์หนึ่ง ทางศูนย์วิจัยข้าวให้ผมมากำหนึ่ง 300 เมล็ด ปีหน้าผมก็คงจะขยายได้ 5-10 ไร่ต่อพันธุ์ พญาชม ทองระย้า เหลืองหอม เหลืองสวน ไก่ฟ้า เป็นข้าวซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในทุ่งนครชัยศรี นี่คือพันธุ์พื้นเมือง ต้นสูงท่วมหัว มันคงต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ ก็ปลูกประมาณแปดรอบ ผมคิดว่าสามปีเป็นอย่างน้อย อาจจะมากกว่านั้น กว่าพันธุ์จะนิ่ง ได้มาแล้วก็ต้องเอามาทดลองอีก

ชาวนาก็ไม่กล้าปรับเปลี่ยน นี่เรื่องสำคัญ ในส่วนข้าวคุณภาพต่ำที่ภาคกลาง จะให้เขาเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ พันธุ์ข้าวจะเอาที่ไหนมาให้เขาปลูกยังไม่รู้เลย มันคงได้เล็กๆ น้อยๆ

ในช่วงนี้ ช่วงที่จะปรับ ทำยังไงให้คนซึ่งปลูกข้าวแข็งที่ตอนนี้ลงมาเหลือ 7,000 ถ้าจะให้เขาปรับเปลี่ยนแบบนี้ มันยาก ผมคิดว่ายังไงก็ต้องมีนโยบายอุดหนุนเขา ให้ชีวิตเขาพออยู่ได้ เพราะจะให้เขาไปปลูกอย่างอื่นมันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้นนโยบายอุดหนุนต้องมีอยู่

ผมพูดสองส่วน ระยะสั้น คือพากันมาหายนะถึงขั้นนี้ คุณต้องอุดหนุน ไม่อย่างนั้นเขาจะอยู่อย่างไร

แต่ว่าอุดหนุนอีกแบบหนึ่งก็คือ เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่ยั่งยืนในระยะยาว ที่ว่า ซึ่งอันนั้นต้องคิดให้ละเอียด

การปรับเรื่องระบบการผลิต อุดหนุนเรื่องการปรับเปลี่ยน เรื่องดิน ปุ๋ย เรื่องเมล็ดพันธุ์ อันนี้คือการอุดหนุนอีกแบบที่จะนำไปสู่ความยั่งยืน ทำอย่างไรให้ชาวนาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย นโยบายที่เป็นอยู่ มันเหมือนกับคิดแล้วรีบทำลงไป แล้วสุดท้าย ถ้าพูดอย่างเลวร้ายหน่อยก็คือ ภาคธุรกิจเขาก็อยากได้พื้นที่ไปทำอะไร ก็เฮโลไปให้เขาปลูกอ้อย ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันก็อีหรอบเดิม ก็จะไปอยู่ในวงจรวิกฤติพืชอีกตัวหนึ่ง คือแทนที่จะเป็นข้าว ก็เป็นอ้อย เป็นข้าวโพด

ความเข้าใจปัญหาแบบนี้ เห็นทั้งโครงสร้างว่ามันมากันยังไง เราก็จะเห็นว่าชาวนาก็อยู่ในกลไกซึ่งระบบเศรษฐกิจไทยทั้งหมดมันพามา แล้วก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่ปรับตัว ลองไปดูในทุ่ง ชาวนาปรับตัวสารพัด นี่คือสิ่งซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงกลไกในส่วนนโยบายที่ลงไป ความสอดคล้องกับตัวของชาวนา เราด่าชาวนา ประณามอย่างเดียว แต่ไม่เคยเรียนรู้ว่าอยู่กันยังไง ชีวิตเขาด้น เขาเก่งกว่าพวกเราเยอะ ไม่อย่างนั้นเขาไม่อยู่รอดหรอก ข้าวราคาอย่างนี้เขายังอยู่รอด

img_0559

6. เงินที่ถูกอัดเข้าไปในนโยบายต่างๆ ของรัฐเป็นยาพิษ ยาเสพติด สำหรับชาวนา

การช่วยเหลือชาวนาไม่ใช่เอาเงินของคนอื่นไปช่วย อย่างที่โวยวายกันอยู่ว่าภาษีของเขา เขาทำงานหนัก แล้วเอาไปอุดหนุนชาวนา ผมพยายามจะบอกว่า ชาวนาถูกขูดรีดมายาวนานภายใต้ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่เขาควรมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ในระบบการค้าข้าวแบบนี้ มันคือการมองภาพทั้งหมดว่า ระบบเศรษฐกิจเราสร้างกันมาแบบนี้ คุณจะบอกว่าพวกนี้เป็นพวกติดยาเสพติด อันนี้มันไม่ถูก แต่แน่นอนว่าทำแบบนี้กันไปเรื่อยๆ ไม่ได้แล้ว ก็ต้องมาตั้งหลักกันว่า การปรับไปสู่โครงสร้างการผลิตแบบใหม่ที่ยั่งยืน เราจะทำอย่างไร

ผมก็พูดมานานนะเรื่องนโยบายจำนำข้าวว่ามันมีปัญหา ในเชิงการบริหารจัดการ มันก็เห็นชัดๆ ว่า เป็นภาระกับรัฐบาลมาก ที่จริงมันไม่ใช่เรื่องจำนำ มันก็คือ คุณยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) จะเป็นแม่ค้าข้าว ซื้อข้าวมาเก็บ แต่รัฐบาลไม่มีที่เก็บ ต้องจ้างโรงสีเก็บ แล้วก็จะสีขายเอง จะผูกขาดตลาดข้าว แบบที่คุยว่าจะทำเหมือนน้ำมันของกลุ่มโอเปค แต่นี่มันหายนะ

อันนี้ก็ต้องยอมรับตรงไปตรงมา ผมก็คิดว่าผมพูดเรื่องนี้มาคงเส้นคงวาว่า จำนำน่ะมันดีแน่ แต่ฉิบหายแน่ มันก็เห็นชัดๆ ว่ามันไปไม่รอดหรอก เพราะมันเสียค่าบริหารจัดการไปมหาศาล ค่าเก็บ 500 ต่อปี ค่าสี ค่าขนส่ง ค่าเวลาไปขาย ตลาด อะไรต่างๆ แล้วก็ต้องหาตลาด พอตลาดมันตก ก็ยิ่งเจ๊งหนักเข้าไปอีก

7. เงินที่มาจากการจำนำหรือรัฐลงไปรับซื้อเองทำให้ชาวนาอยู่รอดได้

คือนโยบายจำนำมันก็ดีต่อชาวนาแน่ๆ ก็ซื้อตั้ง 15,000 ไม่ดีได้ยังไง แต่ว่ามันต้องดูด้านอื่น และอย่าลืมว่ารัฐบาลไม่ได้เป็นมูลนิธิแบบปอเต๊กตึ๊งที่จะเอาเงินไปให้ชาวนา หรือจะให้ก็ให้ไปเลย ก็บอกตรงๆ ไม่ต้องไปเสียค่าจัดการ

เพราะฉะนั้น ระบบประกันราคา จะมาจากพรรคไหนก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่ามันมีเหตุมีผล ก็คือมันมีการคำนวณว่า ต้นทุนการทำนาขนาดนี้ กำไรควรจะสักกี่เปอร์เซ็นต์ แล้วราคาข้าวที่ชาวนาควรจะได้เป็นเท่าไหร่ ทีนี้ตลาดถ้ามันต่ำกว่านั้น รัฐบาลก็ชดเชย แบบนี้มันมีเหตุมีผล ในแง่การบริหารจัดการ อย่างที่รู้กันอยู่ก็คือ ไม่ต้องไปจ้างโรงสีเก็บ ไม่ต้องเสียค่าบริหารจัดการอีกมหาศาล

แม้กระทั่งจำนำยุ้งฉางหอมมะลิ ถามว่า หอมมะลิ เอาไปเก็บที่ไหน ในแง่ของยุ้งฉางชาวนา โอเค ถ้ารายเล็กๆ มี 2-3 ตัน ก็อาจจะเก็บไว้ที่บ้าน อาจจะพอมีอยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่มีชาวนาตากข้าวเองด้วยซ้ำ เพราะการตากข้าวมันเป็นเรื่องใหญ่มาก

สุดท้าย ผมคาดการณ์ได้เลยว่า ชาวบ้านจะขายข้าวสด หอมมะลิ ให้โรงสี แล้วก็จะมีการฮั้วกันก็คือ ขายสิทธิ์จำนำยุ้งฉาง แล้วเอาข้าวไปเก็บไว้ที่โรงสี อาจจะบอกว่าไปจ้างโรงสีเก็บ เพราะมันทำไม่ยาก แต่ในทางที่รู้กันก็คือ โรงสีก็อาจจะทำสัญญาเงินกู้ขึ้นมา สุดท้ายเวลาคุณได้เงินมา ก็ต้องเอาไปให้โรงสี เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแน่ๆ อยู่แล้ว คุณไม่มีทางเลี่ยงได้

ฉะนั้น สิ่งที่มันจะไปตกอยู่ที่ชาวนา 20,000 ล้าน หอมมะลิ ผมคาดการณ์ว่า หกระหว่างทางเยอะแน่นอน เพราะโดยระบบมันลำบาก ผมคิดว่า ระบบประกันอาจจะดีกว่า ง่ายกว่า เพราะจำนำยุ้งฉางก็ต้องมีค่าเก็บ ตันละ 1,500 สุดท้ายค่าเก็บก็จะเป็นของโรงสี เพราะชาวบ้านจะไปสร้างฉางก็ไม่ทันแล้วตอนนี้ ก่อนจะเก็บเข้าฉางก็ต้องตากให้แห้ง ถ้าคุณมีนาหอมมะลิ 20 ไร่ ก็ประมาณ 300-400 ถัง 6 ตัน คุณจะไปเก็บที่ไหน จะไปตากที่ไหน

8. เมื่อรัฐลงไปเป็นผู้เล่นในสนามการค้าข้าว เช่น จำนำข้าว จะส่งผลต่อราคาส่งออกและการค้าข้าวทั้งระบบ

ถ้าพูดจากที่ดูงานของคนที่ทำในเชิงมหภาคก็คงเห็นได้ชัด มีการพูดกันเยอะ เช่น เราเก็บข้าวในสต็อกไว้เยอะ มันก็ทำให้มีข้าวค้างอยู่ ณ ตอนนี้ 9 ล้านตัน มันก็ทำให้ปริมาณข้าวในประเทศเราล้น พ่อค้าข้าวก็คำนวณได้ว่า ยังมีข้าวอีกเยอะแยะ เขาก็สามารถกดราคาได้ ข้าวที่ผลิตออกมาใหม่ก็เยอะ ตามพื้นที่เพาะปลูก เขาก็รู้ ฉะนั้นอันนี้ก็มีผลมาก

หรือว่าในเชิงของระบบค้าข้าว ก็มีคนวิเคราะห์ให้เห็นว่า พอรัฐบาลซื้อเก็บไว้ด้วยราคาสูง พ่อค้าข้าวก็ไปลงทุนเองในอินโดจีน เวียดนาม กัมพูชา ไปตั้งโรงสีตรงนั้นแล้วก็ไปส่งออกกันที่นู่น ตลาดข้าวเขาก็ยังรักษาของเขาได้ แล้วเขาก็ได้ข้าวราคาถูก เพราะเขาจะไปซื้อแข่งกับรัฐบาลได้ยังไง รัฐบาลซื้อ 15,000 เขาก็ไปซื้อที่นู่น ตอนนี้เขาก็ไปสร้างตลาดใหม่ ตลาดเดิมที่เรามี ซื้อข้าวจากในประเทศไปขาย อันนี้มันก็เห็นได้ชัดว่ามันกระทบกับโครงสร้างระบบตลาดต่างๆ มันก็จะเสียไป อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ส่วนหนึ่งของราคาข้าวเราที่ผ่านมา พอรัฐบาลมาทำ ก็มีคนเคาะให้เห็นว่า รัฐบาลไม่มีประสบการณ์ ก็ไม่รู้จะไปหาตลาดที่ไหนเพื่อปล่อยข้าว ก็เลยค้างคาเยอะแยะไปหมด ในขณะที่พ่อค้าก็ยังรักษาตลาดของเขาไว้ได้ เพราะมีความสัมพันธ์กันมาเป็นไม่รู้กี่สิบปี อันนี้มันเหมือนขายแข่งกับพ่อค้าข้าว ก็ทำไม่ได้ นี่ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา

9. ชาวนาต้องรวมกลุ่มกันเป็นทั้งผู้ผลิต โรงสี และผู้ค้าข้าวเอง – อย่างน้อยๆ ก็ออนไลน์

ก็มีที่ทำอยู่ที่พอหลากหลาย แต่ผมคิดว่า มันก็ไม่ได้ง่ายมาก ก็ควรจะรวมกลุ่มกัน เป็นความคิดที่ควรจะทำ อย่างที่หลายๆ กลุ่มพยายามทำ แต่ว่าต้องมาคิดอีกหลายส่วนด้วยกัน

มาตรฐานของโรงสีเล็ก ถ้าจะให้อยู่ได้ จึงขึ้นอยู่กับคนอีกส่วนหนึ่ง ก็คือ คนซื้อ คนกินด้วย คุณต้องเข้าใจว่า เราจะได้อะไร เราจะได้คุณค่าของข้าว ซึ่งเป็นข้าวเฉพาะ ข้าวพื้นเมือง ที่โรงสีใหญ่ทำแบบนี้ไม่ได้หรอก แต่โรงสีเล็กทำได้ แล้วคุณภาพข้าว ต้องยอมรับว่า บางทีมีหิน มีหญ้าปนบ้าง แต่ว่าเราได้ความหลากหลายของมัน ความอร่อย ความพิเศษ ความใหม่ของการสี

ข้าวถุงนี่ผมก็ไม่รู้นะว่าเก็บมานานเท่าไหร่ ข้าวสมัยจำนำก็เอามาขัดให้ดูดี กรอกแล้วใส่ถุงมาให้กิน ถ้าจะกินข้าวอร่อย มันต้องยอมรับเงื่อนไขบางอย่าง ไม่ใช่เรียกร้องให้คัดร้อยเปอร์เซ็นต์ แบบนี้จะไปเหลือสักเท่าไหร่ โรงสีเล็กๆ ก็สีแล้วหัก ก็คงต้องทำงานกับผู้บริโภคและคนกินอีกเยอะ

เรื่องใหญ่ที่สุด ณ ตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องตลาด เรื่องคนกิน กลุ่มเรามีประมาณ 70-100 ตันต่อปี ตัวเลขจะวิ่งขึ้นวิ่งลงตามความขยันของคนปลูก เวลาขายยังฝืดเลย ขายไม่ไหว เพราะเราก็ทำตลาดได้จำกัด ต้องคิดเรื่องนี้อีกเยอะ เพราะคนกินสำคัญ ทำอย่างไรให้คนกินเข้าใจเรื่องพวกนี้

10. การย้อนกลับไปหาตัวตนที่แท้จริงของข้าวเป็นทางรอด เพราะวิธีผลิตแบบเดิมใช้ไม่ได้ผลแล้ว

ถ้ามองในแง่ของการปรับโครงสร้างที่ว่า สุดท้ายผมว่ามันต้องไปในแนวแบบพวกโรแมนติกนี่แหละว่า ระหว่างทางมันจะไปยังไง ความจริงมันไม่ได้มีเฉพาะกลุ่มแบบคนชั้นกลางแบบพวกเราหรอก เครือข่ายชาวบ้านในส่วนเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนเขาก็ทำกันมานาน เช่น โรงสีที่กุดชุมที่ปรับมาเป็นข้าวอินทรีย์ มีพันธุ์ข้าวหลายพันธุ์ เขาก็ทำในกลุ่ม หรือกลุ่มพ่อบุญส่ง หรือทางสารคาม ก็อยู่ในเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน

ภาคกลางตอนนี้ก็เริ่มขยายไปหลายที่ สุพรรณบุรี หรือแถวบ้านผม (นครปฐม) ก็มีประสบการณ์ มีบทเรียนว่า ทำแบบนี้ (ข้าวแข็ง) มันคงอยู่ยาก แต่มันก็อยู่ท่ามกลางความจำกัดของเรื่องตลาด ซึ่งมันต้องการการหนุนเสริมหลายมิติ

ส่วนข้าวมี story มีลักษณะพิเศษของมัน มีรสของมัน กินข้าวมันก็มีประวัติศาสตร์ และมันก็อร่อยจริงนะ เพราะข้าวพื้นเมือง (ข้าวนาปี) อายุมันยาว ความอร่อยมันต่างจากข้าวถุงแน่ๆ ผมก็เรียกว่า ข้าวไม่มีหัวนอนปลายตีน

เปรียบเทียบกับญี่ปุ่น เราก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เราจะไปแบบนั้น ญี่ปุ่นในระดับชุมชน แค่ระดับหมู่บ้านใหญ่ๆ มีสหกรณ์เต็มไปหมดสี่ห้าแห่ง มีข้าวสารพัดพันธุ์ มีหน้าชาวนาที่ปลูกข้าว ข้าวพันธุ์นี้ปลูกจากนาใคร สามารถลงไปดูที่แปลงได้ ตรวจสอบย้อนกลับได้

สุดท้ายผมคิดว่าเราต้องไปทางนั้น แต่มันไม่ง่าย เราไม่ใช่โรแมนติกในความหมายที่ว่า ไม่ดูปัจจัยที่จะเอื้อให้เกิดการขยายแบบนี้ให้ได้เยอะๆ รวมทั้งปัจจัย ข้อจำกัด ในการผูกขาดการค้าข้าวถุง รวมทั้งปัจจัยทางด้านผู้บริโภค ตอนนี้กระแสผู้บริโภคก็อาจจะดี คนกินต้องรู้จักกินด้วย กินแล้วก็ต้องรู้จักพันธุ์ข้าว ไม่อย่างนั้นจะทำให้ชาวนาพวกนี้ขยายไปได้อย่างไร นี่ก็เป็นไฟไหม้ฟาง เดี๋ยวก็เลิกกันไปหมด ผมคิดว่า มันต้องไปมากกว่านั้น

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ รายได้ของชาวนาไม่ควรได้ต่ำกว่าที่เขาเคยได้จากการทำนาเคมี อันนี้คือเงื่อนไขที่สำคัญของชาวนายุคใหม่ ต้องยอมรับเงื่อนไขนี้ อย่าไปชักจูงว่า พออยู่พอกิน เหลือแล้วค่อยขาย

ต้องไม่คิดกับชาวนาแบบโรแมนติก วันวานยังหวานอยู่ คงไม่มีอีกแล้ว ชาวนาในเงื่อนไขบริบทใหม่ อย่างที่ว่า ก็คือ ชาวนากับคนเมืองไม่ได้มีความต่างกันมากในเรื่องของความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ รายได้ การบริโภค วัฒนธรรมการบริโภคก็ไม่ได้ต่างจากพวกเรา เราชอบบอกว่า เราทำได้ แต่เขาไม่ควรทำ ถ้าคุณทำ แล้วคุณเป็นอาชญากร นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูก เขาก็ควรมีสิทธิ์มีมือถือ ดูทีวี LED ได้ มีรถปิคอัพได้ จะไปห้ามเขาทำไม ห้ามกินเหล้า แต่พวกเรากินไวน์

 

Author

กองบรรณาธิการ
ทีมงานหลากวัยหลายรุ่น แต่ร่วมโต๊ะความคิด แลกเปลี่ยนบทสนทนา แชร์ความคิด นวดให้แน่น คนให้เข้ม เขย่าให้ตกผลึก ผลิตเนื้อหาออกมาในนามกองบรรณาธิการ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า