ฉลากแบบไหน? ถูกใจผู้บริโภค

snack-1

ผลศึกษาจากทีมมหาวิทยาลัยบอนน์ (University of Bonn) ในเยอรมนี สรุปว่า การใช้ฉลากโภชนาการแบบสัญญาณไฟจราจร (Traffic light food labels) โดยเฉพาะฉลากสีแดงกับอาหารด้อยโภชนาการทั้งหลาย จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกอาหารที่มีคุณประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ระบบการใช้สีของฉลากอาหารรูปแบบนี้ เน้นไปที่การให้ข้อมูลปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือเป็นหลัก โดยจะขึ้นเป็นสีไฟสัญญาณจราจร 3 สี ซึ่งก็คือ สีแดง สำหรับอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือมาก สีเหลืองหรือส้ม แทนอาหารที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล และความเค็มปานกลาง และสีเขียว ใช้กับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง

fsafoodlabelsในอาสาสมัครผู้เข้าร่วมการทดสอบทั้ง 35 ราย ทุกคนจะเข้ารับการสแกนสมอง ระหว่างที่ต้องดูภาพผลิตภัณฑ์อาหาร 100 ชนิดไปด้วย มีตั้งแต่อาหารพร้อมรับประทาน ไปจนถึงช็อคโกแลตและโยเกิร์ต จากนั้นต้องตัดสินใจว่าจะซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือไม่ โดยแต่ละคนจะได้เห็นภาพฉลากโภชนาการตามปกติและฉลากแบบสัญญาณไฟคละเคล้ากันไป

แนวโน้มของอาสาสมัครส่วนใหญ่จะตัดสินใจซื้ออาหารที่มีฉลากโภชนาการที่มีไฟเขียว มากกว่าฉลากโภชนาการที่มีการเปรียบเทียบปริมาณแคลอรีตามปกติ ผลจากรายงานชิ้นนี้ช่วยให้ทราบว่า ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง แต่สามารถเพิ่มตัวช่วยด้วยการมีฉลากแบบสัญญาณไฟ

ขณะที่อีกทีมศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคนิคมิวนิค (Technische Universität München) เยอรมนี ตั้งข้อสังเกตในรายงาน ‘The effects of traffic light labels and involvement on consumer choices for food and financial products’ ว่า ระบบฉลากแบบสัญญาณไฟอาจมีจุดอ่อนอยู่ที่การพุ่งเป้าไปที่ปริมาณไขมัน และความหวานกับความเค็มเท่านั้น ทั้งที่มีข้อมูลอื่นๆ ที่ผู้บริโภคพึงพิจารณาอยู่ไม่น้อยก่อนเลือกซื้อ ซึ่งพวกเขามองว่า อาจเป็นการสร้างความสบายใจให้ผู้บริโภค แต่ไม่ให้ผลประโยชน์จริงๆ ในระยะยาว

ปัจจุบัน ระบบฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟจราจรมีใช้แล้วในอังกฤษ แต่ก็ยังมีความคิดเห็นแตกต่างกันสุดขั้วซึ่งนำไปสู่ข้อถกเถียงอยู่เป็นระยะ ขณะที่ผลการศึกษาจากทีมมหาวิทยาลัยแม็คกิล (McGill University) ในเมืองมอนทรีออล แคนาดา ตีพิมพ์ในวารสาร Annals of the New York Academy of Sciences ศึกษาเปรียบเทียบกันระหว่างฉลากโภชนาการ 4 แบบ ดังต่อไปนี้

nutrition_label-2

  1. คิดเป็นสัดส่วนที่ควรบริโภคต่อวัน
  2. แบบสัญญาณไฟ (อังกฤษ)
  3. แบบ NuVal (บางรัฐในสหรัฐและแคนาดา)
  4. สัญลักษณ์หัวใจ (ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย)

จากผลการทดสอบกับอาสาสมัครพบว่า ระบบฉลากแบบ NuVal เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมากกว่าฉลากแบบสัญญาณไฟจราจร โดยระบบให้คะแนนของฉลากแบบ NuVal อาศัยการคำนวณจากผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการในหลายมหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยเยล ฮาร์วาร์ด และนอร์ธเวสเทิร์น  โดยมุ่งเน้นไปที่คุณค่าทางอาหารและปริมาณแคลอรีที่ร่างกายจะได้รับ ซึ่งจะออกมาเป็นคะแนนตั้งแต่ 0-100 โดยผลิตภัณฑ์ที่เข้าใกล้ 100 คะแนน ย่อมถือว่ามีคุณค่าทางโภชนาการ และที่สำคัญ ทีมวิจัยเห็นว่าน่าจะสามารถลดข้อขัดแย้งระหว่างผู้สนับสนุนกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับฉลากอาหารแบบสัญญาณไฟได้

 

ที่มา: thestar.com.my

sciencedaily.com

mcgilldaily.com

 

Author

อภิรดา มีเดช
อดีตภูมิสถาปนิกที่สนิทสนมกับตัวหนังสือมากกว่าต้นไม้ สารพัดขนแมวที่ติดอยู่บนเสื้อสีดำเป็นเครื่องหมายแสดงความจิตใจดี เป็นเครื่องประดับแสดงความเป็นทาสแมว สนใจด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง รวมถึงการวิพากษ์สังคมและบุคคลอย่างตรงไปตรงมา
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2559)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า