หลังมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 ภายใต้พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ทุกส่วนของกัญชา ทั้งกิ่ง ก้าน ใบ ราก และช่อดอก ไม่เว้นแม้แต่ยางและน้ำมัน ล้วนถูก ‘ปลดล็อก’ จากการเป็นสารเสพติด ทำให้กัญชาไทยสามารถปลูกและใช้งานในครัวเรือนได้อย่างเสรี ไม่ผิดกฎหมายอีกต่อไป
WAY รวบรวมข้อควรรู้เกี่ยวกับกัญชา กัญชง และพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสกัด จำหน่าย นำเข้า ตลอดจนการมีกัญชาไว้ในครอบครอง ว่ามีอะไรบ้างที่ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตแล้ว หรือมีอะไรบ้างที่ยังจำเป็นต้องขออนุญาตอยู่ เพื่อเป็นแนวทางให้กับประชาชนทั้งหลายในการบริโภคกัญชา กัญชง อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การสูบ
สามารถสูบได้โดยไม่ผิดกฎหมายยาเสพติด แต่ห้ามสูบในที่สาธารณะ มิฉะนั้นจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การปลูก
หากต้องการปลูกกัญชา กัญชง ไม่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายใด เพียงแต่ขอความร่วมมือให้ผู้ที่ต้องการปลูกแจ้งข้อมูลผ่านระบบ Application ‘ปลูกกัญ’ ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดทำขึ้น
การสกัด
สำหรับการสกัดกัญชา-กัญชง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนใด (ยกเว้นการสกัดจากเมล็ด) และสารสกัดที่ได้จะมี THC (Tetrahydrocannabinol) ปริมาณเท่าใดก็ตาม จำเป็นต้องขออนุญาตผลิตสกัด ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด โดยแบ่งผลผลิตจากการสกัดออกเป็น 2 ส่วน
- สารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2% จะได้รับการยกเว้นไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ
- สารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ
การจำหน่าย
ในการขออนุญาตจำหน่ายพืชกัญชา-กัญชงตามกฎหมาย ให้ปฏิบัติดังนี้
- กรณีจำหน่ายส่วนของพืช ไม่ต้องขออนุญาต
- กรณีจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518
- กรณีจำหน่ายสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้สกัดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด โดย
- หากมีสารสกัดที่มี THC ไม่เกิน 0.2% ไม่ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ
- หากมีสารสกัดที่มี THC เกิน 0.2% ต้องมีใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ และผู้ซื้อต้องมีใบอนุญาตเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษด้วย
กัญชา กัญชง กับเครื่องสำอาง
- การจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชา กัญชง ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องจำหน่ายเฉพาะเครื่องสำอางที่จดแจ้งเรียบร้อยและเป็นฉลากภาษาไทย
- การนำกัญชา กัญชง และสารสกัด CBD (Cannabidiol) มาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องสำอาง ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ดังนี้
- กำหนดให้น้ำมันหรือสารสกัดจากน้ำมันกัญชง จะต้องมีปริมาณสาร THC ที่ปนเปื้อนในวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไม่เกิน 0.2% w/w (โดยน้ำหนัก) ยกเว้นผลิตภัณฑ์ Soft gelatin capsule/ช่องปาก/จุดซ่อนเร้น ที่จะต้องมีปริมาณสาร THC ปนเปื้อนไม่เกิน 0.001% w/w และแสดงคำเตือนตามกำหนด
- กำหนดให้การใช้ส่วนของกัญชา-กัญชงในเครื่องสำอาง กำหนดให้มีปริมาณสาร THC ปนเปื้อนไม่เกิน 0.2% w/w โดยให้ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่ล้างออกเท่านั้น ห้ามใช้กับผลิตภัณฑ์ช่องปากหรือจุดซ่อนเร้น และแสดงคำเตือนตามกำหนด
- กำหนดให้สารสกัดที่มีสาร CBD จากกัญชาและกัญชงเป็นวัตถุดิบ จะต้องมีสาร THC ปนเปื้อนไม่เกิน 0.2% w/w ยกเว้นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปแบบน้ำมัน/Soft gelatin capsule ที่จะต้องมีปริมาณสาร THC ปนเปื้อนไม่เกิน 0.001% w/w โดยที่ความเข้มข้นสูงสุดของสาร CBD ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต้องไม่เกิน 1% w/w และแสดงคำเตือนตามกำหนด
*วัตถุดิบกัญชา กัญชง และสารสกัด CBD ต้องเป็นวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศเท่านั้น
กัญชา กัญชง กับอาหาร
- หลังปลดล็อก อนุญาตให้ใช้กัญชา-กัญชงกับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อบริโภคเฉพาะที่ปลูกและผลิตในประเทศไทยเท่านั้น โดยกำหนดส่วนของพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ในการใช้ประโยชน์ทางด้านอาหาร ได้แก่
- เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน และราก
- เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง
- ใบ ที่ไม่มียอดหรือช่อติดมาด้วย
- สารสกัดที่มีสาร CBD เป็นส่วนประกอบ และต้องมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนักแห้ง
- กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชา และต้องมีสารต้องมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนักแห้ง
- กรณีนำส่วนของกัญชา กัญชง และสารสกัด CBD มาใช้ประกอบอาหารเพื่อการจำหน่าย ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 425) พ.ศ. 2564 (ฉบับ 427) พ.ศ. 2564 และ (ฉบับ 429) พ.ศ. 2564 ที่กำหนดให้นำส่วนของพืชกัญชา กัญชง ทุกส่วนซึ่งไม่มียอดและช่อติดมาด้วย สามารถขอขึ้นทะเบียนตำรับอาหารหรือขออนุญาตใช้ฉลากอาหารเพื่อรับเลขบนสารบบอาหาร โดยเงื่อนไข ปริมาณ และแสดงคำเตือนให้เป็นไปตามที่ประกาศกำหนด ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการยื่นขอสถานที่ผลิตอาหารและขอรับเลขสารบบอาหารกับสำนักงานอาหารและยา หรือสำงานสาธารณสุขจังหวัด
อ่านเพิ่มเติมสำหรับการขออนุญาตได้ที่ : https://www.fda.moph.go.th/sites/food/SitePages/cannabis.aspx
- กรณีการนำส่วนของกัญชา กัญชง เพื่อปรุงจำหน่ายภายในร้านอาหาร ไม่ต้องขออนุญาตกับทาง อย. แต่ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนําใบกัญชามาใช้ในการทํา ประกอบ หรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหาร และแสดงคำเตือนรายการที่มีส่วนประกอบของกัญชาหรือกัญชงในบรรจุภัณฑ์
การนำเข้ากัญชา กัญชง
- ห้ามนำเข้าสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง ยกเว้นกรณีเพื่อการศึกษาวิจัย หรือเป็นหน่วยงานรัฐที่นำมาใช้ทางการแพทย์เท่านั้น
- สารสกัดทุกส่วนของกัญชา กัญชง ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกายสำหรับใช้เป็นเครื่องมือแพทย์ จะไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 และการนำเข้าต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์
- การนำเข้าผลิตภัณฑ์ (Finished Product) ที่มีส่วนผสมของสารสกัดและส่วนผสมจากทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ
- การนำเข้าเมล็ดและส่วนอื่นๆ ของกัญชา กัญชง มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ หรือเป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัด ต้องขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 และกรณีนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ต้องขออนุญาตนำเข้าตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 เมื่อขออนุญาตแล้วจะนำกัญชา กัญชง มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ หรือวัตถุดิบในการผลิตสารสกัด ให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ
*กรณีเป็นอาหารและเครื่องสำอาง ไม่สามารถนำเข้าได้
การนำเข้ากัญชา กัญชง เพื่อใช้เฉพาะตน
- ผู้นำเข้าจะต้องเป็นบุคคลธรรมดา และมีวัตถุประสงค์ที่จะนำมาใช้เฉพาะตัว ซึ่งจะครอบคลุมการนำเข้า 2 ลักษณะ คือ การนำติดตัวผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร และการส่งพัสดุระหว่างประเทศ โดยพิจารณาจากรูปแบบของผลิตภัณฑ์ ดังนี้
- กรณีนำเข้ารูปแบบผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องมือแพทย์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น ให้ดำเนินตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์นั้นๆ
- กรณีนำเข้าในรูปแบบส่วนต่างๆ ของพืช ให้ขออนุญาตตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 หากนำเข้าเพื่อเป็นอาหารจะไม่สามารถนำเข้าได้ ส่วนกรณีนำเข้าส่วนต่างๆ ของพืชมาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรใช้เฉพาะตัว ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร