ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
กวาดตามองแบบหยาบๆ แทบจะหาวันว่างไม่ได้ใน planner เล่มหนาของสุภาพบุรุษร่างเล็กคนนี้
3 วันแรกของสัปดาห์ ถูกขีดคร่อมทับเป็นแนวยาวพร้อมเขียนสำทับว่าเข้าเวร วันถัดมาตลอดทั้งวันเทคิวให้งานประชุม ตกเย็นลงพื้นที่ พูดคุยกับชาวบ้าน ก่อนที่เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นจะถูกคำว่าประชุมที่กรุงเทพฯ จองไว้ 2 วันเต็ม ชีวิตในอาทิตย์ถัดไปก็ดำเนินไปตามจังหวะเช่นนี้ ทันทีที่มีวันว่างหมอก็จะสแตนบายด์ไว้รอเผื่อลูกน้องนัดประชุมหรือทีมแพทย์ไม่พอ
“priority แรกคืองานตรวจคนไข้ บอกลูกน้องว่าวันไหนหมอไม่พอบอกพี่นะ พี่จะช่วยตรวจ priority ถัดมาคืองานข้างนอก เพราะเรากำหนดยาก สังคมเป็นฝ่ายกำหนดวาระให้เรา เราไม่ได้วางแผนเอง”
ถ้าใครรู้จัก นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ หรือ ‘หมอจุ๊ก’ เข้าขั้นสนิทสนม จะไม่แปลกใจในส่วนผสมของเนื้องานในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา กับบทบาทของนักเคลื่อนไหวเพื่อชุมชน เพื่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อประชาธิปไตย
หมวกอีกใบในตำแหน่งรองประธานชมรมแพทย์ชนบท นายแพทย์สุภัทรออกตัวว่า ถ้างานในแวดวงสุขภาพและสาธารณสุขโดยเฉพาะด้านองค์ความรู้และงานพัฒนา เขายังด้อยกว่าคนอื่นๆ อยู่มาก ส่วนหนึ่งเพราะความเชื่อส่วนตัวเรื่องงานสร้างสุขภาพนั้นเดินคนละแนวทางกับกระทรวงสาธารณสุข
“งานสร้างสุขภาพของผมไม่ใช่แบบกระทรวงสาธารณสุข ผมเน้นเรื่องสิทธิมากกว่าสุขภาพ เพราะเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพก็จะดี ถ้าชุมชนเข้มแข็ง สุขภาพก็จะดีขึ้นเอง”
ความคิดและความเชื่อเช่นนี้ ค่อยๆ ผลิดอกออกผลในตัวคุณหมอร่างเล็กคนนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ คงต้องตัดภาพกลับไปเมื่อตอนตัดสินใจเลือกเรียนต่อในสถาบันอุดมศึกษา
01 นิสิตคิดต่าง
เหตุผลที่เด็กชายจากอำเภอหาดใหญ่เลือกสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในตอนนั้น เพราะรู้ศักยภาพตัวเองว่าเข้าขั้น ‘เรียนเก่งมาก’
หมอจุ๊กเล่าให้ฟังว่า ช่วงนั้นเด็กเรียนเก่งมีตัวเลือกอยู่แค่ 2 ทาง ไม่แพทย์ก็วิศวกร ด้วยความไม่ชอบเครื่องยนต์กลไกอยู่เป็นทุนเดิม แพทย์จึงเป็นคำตอบเดียวเท่านั้น
ถามว่าชอบไหม เจ้าตัวตอบว่าไม่รู้ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าไม่ชอบ
หากการเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิต นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 1 ได้เข้าสู่วงการทำกิจกรรมเป็นครั้งแรก ได้ออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท นั่นคือโลกใบใหม่สำหรับเด็กหนุ่มจากหาดใหญ่
“ได้ไปต่างจังหวัด ไปสลัมคลองเตย ที่ทิ้งขยะอ่อนนุช สลับกับไปฟังเสวนาที่จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่จริงๆ”
ครั้งสำคัญคือค่ายสันติเพื่อสังคมของพระไพศาล วิสาโล ที่หมอจุ๊กได้ทำกิจกรรมเชิงรุกครั้งแรกร่วมกับเพื่อนต่างสถาบัน เริ่มตั้งแต่การประท้วงนโยบายปิดป่าหน้าทำเนียบรัฐบาล ฝึกกระบวนการสันติวิธี เขียนป้ายรณรงค์ ติดต่อสื่อมวลชน เผชิญหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาควบคุมสถานการณ์ ก่อนจะจบลงด้วยการสรุปบทเรียน
ถือเป็นครั้งแรกของการเผชิญอำนาจรัฐ หมอจุ๊กย้อนความรู้สึกให้ฟังว่า สนุกสนานดี ไม่มีความกดดัน แต่เป็นบทเรียนสำคัญอยู่ที่ว่าถ้าจะทำประเด็นปัญหาความยากจนของชาวบ้าน ต้องทำเชิงนโยบายควบคู่ไปด้วย
“จะไปส่งเสริมให้เขาเอาแต่ปลูกผัก ปลูกข้าว ขุดบ่อเลี้ยงปลาอย่างเดียวไม่ได้ ถ้านโยบายมันมีปัญหาก็ต้องแก้ตรงนั้น”
นอกจากจะเป็นยุคที่ค่ายอาสาพัฒนาเข้มข้นพอๆ กับความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นการก่อสร้างเขื่อนน้ำโจนของ กฟผ. ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร (ปัจจุบันโครงการถูกระงับแล้ว) ทั้งหมดทั้งมวลช่วยหล่อหลอมให้นิสิตแพทย์กลายเป็นเด็กค่ายเต็มตัว แม้ภาระการเรียนจะสาหัสไม่แพ้กัน
“การเรียนก็ค่อนข้างหนัก แต่จะให้อ่านหนังสือทั้งวันทั้งคืนก็คงไม่ไหว เพื่อนๆ คนอื่นเขาเป็นเด็กกรุงเทพฯ มีภาระต้องกลับบ้าน แต่เราเด็กหอ เลยมีเวลาทำอะไรได้เยอะ”
จากงานกิจกรรมลามเลยมาถึงการเมืองในมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุที่เขาเห็นว่าช่วงนั้นในรั้วอุดมศึกษายังขาดบรรยากาศกิจกรรมเชิงสังคม มีแต่กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมค่อนไปในทางสรวลเสเฮฮา หมอจุ๊กจึงรวมตัวกับเพื่อนต่างคณะร่วมอุดมการณ์ ฟอร์มทีมภายใต้ชื่อพรรค ‘จุฬาฟ้าใหม่’
ด้วยสถานะนิสิตปี 3 กำลังขึ้นปี 4 อยู่ในช่วงอาวุโสกำลังดีที่จะเข้ามาดูแลองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.)
ผลจากความเข้มแข็งของค่ายอาสาในช่วงนั้น ในที่สุดพรรคจุฬาฟ้าใหม่ก็ชนะการเลือกตั้งในสนามการเมืองระดับมหาวิทยาลัย แต่หลังจากนั้นเพียง 15 วัน คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นำโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร ก็เข้ายึดอำนาจการปกครองในการเมืองระดับชาติ
ว่าที่นายก อบจ. อย่างหมอจุ๊กจึงประเดิมภารกิจแรกด้วยการตั้งโต๊ะแถลงข่าว เรียกร้องให้ รสช. ปล่อยตัวเพื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 15 คน ที่ถูกจับกุมตัวเพราะต่อต้านรัฐประหาร
“เราจัดเสวนาวงปิดเรื่องรัฐประหารด้วย เชิญอาจารย์หลายคน แต่ไม่มีใครกล้ามา มากันแค่ 2 คน คือ อาจารย์โคทม อารียา กับ อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว คนฟังเต็มห้องประชุม (ยิ้ม)”
หอบความดีใจกลับมากระบุงใหญ่ กลุ่มจุฬาฟ้าใหม่เดินหน้ากิจกรรมรับน้องต่อทันที สมาชิกทุกคนตั้งความหวังว่าจะเปลี่ยนแปลงการรับน้องครั้งนี้ให้มีกลิ่นอายของค่ายอาสาพัฒนาชนบท ปลุกสำนึกเพื่อสังคมให้น้องใหม่ในรั้วจามจุรี
เริ่มจากการพานิสิตใหม่ 700 คน กระโดดขึ้นรถไฟไปลงสถานีราชบุรี งานนี้รุ่นพี่ลงทุนปิดโรงเรียนเพื่อแปลงให้เป็นค่ายอาสาขนาดใหญ่ จัดทำฐาน (station) ต่างๆ ให้รุ่นน้องมาร่วมสนุกและซึมซับชีวิตชนบทไปในตัว อาทิ station ชาวนา ให้น้องได้ลองดำนาคลุกโคน station กรรมกร ฝึกแบกฝึกหามให้เข้าใจชนชั้นแรงงาน แต่ก็ยังไม่ลืม station นันทนาการ จัดให้มีละครปลุกจิตสำนึก นำแสดงโดยรุ่นพี่ไฟแรง
“พอสรุปค่าย เราประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เด็กเบื่อ ไม่สนใจ ป่วนอีกต่างหาก (หัวเราะ)”
จากจุดนั้น นายก อบจ. อย่างหมอจุ๊กก็ตระหนักดีว่า ไม่สามารถเปลี่ยนความคิดคนกลุ่มใหญ่ได้ จึงกลับไปทำค่ายอาสาเน้นคนกลุ่มน้อยๆ เชิงคุณภาพ สลับกับไปช่วยงานขับไล่รัฐบาลทหาร ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในยุค ‘พฤษภาทมิฬ’ จนได้ขึ้นเป็นเลขาฯ สนนท.
ทว่าช่วงเวลานั้นพลังนักศึกษาค่อยๆ แผ่วลง งานที่ทำได้จึงมีเพียงช่วยเหลือญาติวีรชน ค้นหาผู้สูญหาย ไม่ได้ผลักดันงานในระดับลุกขึ้นสู้ งานในตำแหน่งเลขาฯ สนนท. จึงกินเวลาเพียงปีเดียว หลังจากนั้นหมอจุ๊กก็ต้องกลับไปตั้งใจเรียนปีสุดท้ายอย่างเต็มที่ พร้อมกับเลือกสถานที่ใช้ทุนในใจไว้แล้ว
02 ก้าวแรกคุณหมอมวลชน
20 ปีที่แล้ว หมอจบใหม่เลือกไปใช้ทุนในพื้นที่ที่ไกลจากบ้านร่วมๆ 100 กิโลเมตร และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย คือตำแหน่งแรกที่ได้รับเมื่ออายุ 24 ปี
“ผมไปกับเพื่อนอีกคน เพื่อนบอกเอ็งเป็น ผอ. ก็แล้วกัน เราก็เออ…เป็นก็ได้วะ (ยิ้ม)”
เนื้องานปีแรกของหมอจบใหม่แถมพ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล คืองานรักษา ดูแลคนไข้ เจ้าตัวใช้คำว่าเป็นงานที่สนุกสนาน ควบคู่กับงานวางระบบ และเริ่มทำงานสร้างเสริมสุขภาพนอกโรงพยาบาล เช่น ก่อตั้งชมรมผู้สูงอายุ คลินิกเบาหวาน ออกเยี่ยมบ้าน ฯลฯ เพื่อให้ชาวบ้านทำกิจกรรมดูแลกันเอง ซึ่งเป็นแนวคิดตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นนิสิตออกค่ายอาสา
“มันทำให้เราเข้าใจชาวบ้านและมีทัศนคติเชิงบวกต่อการทำงานชุมชน ทั้งการออกหมู่บ้าน เยี่ยมอนามัย”
สนุกกับงานโรงพยาบาลได้ประมาณ 2 ปีที่สะบ้าย้อย ไม่นานนักก็มีโครงการตัดถนนผ่านป่าต้นน้ำขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เพื่อเชื่อมกับมาเลเซีย บรรดานักเคลื่อนไหวหรือเอ็นจีโอต่างก็เข้ามาพบปะกับคุณหมอ และชวนไปสัมผัสผืนป่าต้นน้ำด้วยการออกเดินเท้า 3 วันเต็มๆ
ด้วยส่วนสูง 160 เซนติเมตร ระหว่างเดิน ชาวบ้านจึงหันกลับมาถามคุณหมอร่างเล็กผู้เดินปิดขบวนบ่อยๆ ว่า ไหวไหม ถ้าไม่ไหวมี 2 อย่างคือ หนึ่ง พากลับ สอง ตัดไม้ไผ่มาทำแคร่ให้นั่ง แต่คุณหมอตอบด้วยการสาวเท้าเดินต่อ ในใจก็นึกถึงแต่เพลง ‘ใกล้ตาไกลตีน’ ของ หงา คาราวาน
“มันใช่เลย อยู่แค่นี้เอง แต่ไม่ถึงสักที (หัวเราะ)”
ประสบการณ์ที่ดีครั้งนั้น ถือเป็นการเปิดประตูให้คุณหมอก้าวเข้ามาสู่งานเคลื่อนไหว พร้อมๆ กับการหมดไปของช่วงชีวิตที่เรียบสงบในกรอบงานสาธารณสุข
ด้วยความที่เป็นนักอ่านแต่วัยเยาว์ และเป็นนักร่างแถลงการณ์สมัย สนนท. คุณหมอจึงใช้จุดแข็งของตัวเอง ค้นหาข้อมูล เขียนบทความ และขึ้นเวทีให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ดันหลังให้ชาวบ้านออกไปประท้วงปกป้องพื้นที่ของตนเอง
ทำเช่นนี้เรื่อยๆ จนโครงการตัดถนนพับไป พร้อมๆ กับที่คนสะบ้าย้อยได้ทำความรู้จักนายแพทย์สุภัทรในฐานะนักทำงานเคลื่อนไหว ไม่จำกัดบทบาทแค่ในชุดกาวน์สีขาว
ถามว่ากระทบงานโรงพยาบาลไหม ผู้อำนวยการส่ายหน้าทันที
“เราใช้เวลานอกราชการ ใช้วิธีการบริหารเอา เช่น ตื่นตีห้ามาเคลียร์วอร์ดราวด์คนไข้หมด 30 เตียง แล้วค่อยไปประชุม หมอที่เหลือก็จะได้ตรวจโอพีดีกับห้องฉุกเฉิน ที่สำคัญงานดูแลคนไข้ไม่ได้พึ่งแต่หมอ พยาบาลก็ช่วยได้ เขาทำได้”
งานสร้างสุขภาพของผมไม่ใช่แบบกระทรวงสาธารณสุข ผมเน้นเรื่องสิทธิมากกว่าสุขภาพ เพราะเชื่อว่าสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพก็จะดี ถ้าชุมชนเข้มแข็ง สุขภาพก็จะดีขึ้นเอง
03 จะเป็นหมอหรือเอ็นจีโอ เลือกเอา!
อยู่สะบ้าย้อยได้ 4 ปี คุณหมอสุภัทรก็ย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ ทำให้คุณหมอได้มาจับงานใหญ่ งานต่อต้านโครงการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ในเวลาต่อมา
ปีแรก เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับงานวางระบบการบริหารจัดการ เพราะโรงพยาบาลจะนะถือเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ห่างตัวเมืองหาดใหญ่เพียง 40 กิโลเมตร มีคนไข้จำนวนมาก แต่บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด จึงต้องอาศัยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ตำแหน่งผู้อำนวยการกินเวลาเช้าถึงเย็น หลังจากนั้นหมอจุ๊กก็พาตัวเองเข้าไปสู่อีกโลกที่เรียกว่า ‘วิทยาลัยวันศุกร์’ เป็นวงวิชาการที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาสงขลานครินทร์ ทุกเย็นวันศุกร์ พูดคุย แลกเปลี่ยน และเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ในประเด็นสำคัญๆ ตั้งแต่สถานการณ์รอบโลก ประชาธิปไตย ไปจนถึงสิ่งแวดล้อม สมาชิกที่มาฟังมีหลากหลาย ทั้งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ชาวบ้าน และนายแพทย์
“เป็นชุดการเรียนรู้ที่ใหญ่ที่สุดของเราแล้ว” ทุกเย็นวันศุกร์หมอจุ๊กจึงไม่เคยพลาด และอาสารับหน้าที่เป็นผู้บันทึกเนื้อหาแล้วนำแจกจ่ายในสัปดาห์ถัดไป
วันหนึ่งชาวบ้านเอาเอกสารห้ามเผยแพร่มาให้ พลิกดูข้างในพบว่าเป็นรายงานว่าด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจสงขลา-ปีนัง ฉบับภาษาอังกฤษ ชาวบ้านบอกว่านักวิชาการท่านหนึ่งลักลอบส่งต่อให้
“เราก็นั่งอ่านแล้วแปล นำมาย่อยให้ชาวบ้านฟัง โครงการนี้มีอะไรมาถึงบ้านเราบ้าง หลักๆ ก็มีโรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้า และท่าเรือเชื่อมกับปีนัง ชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัว เพราะในพื้นที่มีแต่คนให้ข้อมูลด้านเดียวมาตลอด”
เหตุผลสำคัญที่หมอจุ๊กเข้ามาทำเรื่องนี้คือ จะนะคือบ้าน คือพื้นที่ของเขา
“แล้วมันก็ถูกจริต (ยิ้ม)”
คุณหมอใช้เวลาช่วงหกโมงเย็นถึงหนึ่งทุ่มลงหมู่บ้าน เปิดวงคุย ให้ข้อมูล ฉายสไลด์ ทำเช่นนี้ทุกครั้งในวันที่ชาวบ้านบอกว่าว่าง หากวันนั้นเป็นคิวอยู่เวร ก็จะลงทุนแลกเวรเพื่อไปให้ข้อมูลชาวบ้าน
ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนชาวบ้านเรียนรู้ที่จะต่อสู้ ตั้งเวที ปลุกม็อบเพื่อคัดค้านตามสถานที่ราชการ หรือจุดที่จะมีการวางท่อแยกก๊าซ หากฝ่ายบุ๋นอย่างคุณหมอกลับเลือกที่จะอยู่หลังเวที
“เราช่วยเชิงวิชาการมากกว่า เวลามีม็อบจะไม่ไป เพราะเราเป็นข้าราชการ ขี้เกียจมีปัญหา ทำเบื้องหลังดีกว่า”
กระบวนการต่อสู้ของชาวบ้านแข็งแกร่งและเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นใช้กำลัง ตามมาด้วยการจับกุมแกนนำชุมชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนคุณหมอเอง แม้ไม่โดนกระบวนการทางกฎหมายเล่นงาน แต่ก็มีสัญญาณแรงๆ ส่งมาจากเจ้ากระทรวง
“ตอนนั้นรองปลัด สธ. เรียกผมไปพบ บอกว่ามีหนังสือจากหน่วยงานความมั่นคงให้ย้ายไปโรงพยาบาลหาดใหญ่ แต่เกรงใจเรา อยากเรียกมาคุยก่อน เราก็หลบไปหลบมา สุดท้ายผู้ตรวจราชการซื้อตั๋วเครื่องบินให้แล้วลงมารับด้วยตัวเอง เราก็เข้าไปพบรองปลัด เขาบอกให้หยุด ไม่อย่างนั้นคงโดนย้ายหรือไม่ก็ลาออกไปเป็นเอ็นจีโอซะ จะเป็นหมอหรือเอ็นจีโอ เลือกเอา”
ตอนนั้นคุณหมอทำการบ้านมาดี รุ่นพี่ที่เคยผ่านประสบการณ์ห้องเย็นเช่นนี้มาก่อน บอกว่า อย่าเถียง รับปากไป แต่ไม่ต้องทำ
“พอกลับมาแล้วเขาให้เขียนบันทึกชี้แจง โดนทวงอยู่หลายครั้ง เราก็ไม่เขียนสักที พอ 6 เดือนผ่านไป ปลัดกับรองปลัดย้ายไปแล้ว เราเลยรอดตัว เป็นไปตามแผนที่พี่ๆ ติวเปี๊ยบเลย”
04 นักออกแบบการต่อสู้
แม้การคัดค้านโครงการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย จะจบลงด้วยความล้มเหลวและความท้อแท้ของชาวบ้านจากการถูกทำร้าย โดนคดี และขึ้นศาลเป็นว่าเล่น แต่หมอจุ๊กยังไม่ท้อ
“อาศัยคลุกคลีกับคนในพื้นที่ พี่น้องมุสลิมมีหลักปรัชญาคือ ทำให้เต็มที่ ผลลัพธ์อยู่ที่อัลเลาะห์ หน้าที่เราคือสู้เต็มที่ ความสำเร็จอยู่ที่ว่าอัลเลาะห์จะให้หรือไม่ให้ ซึ่งเราคิดว่าถูกต้อง ผลไม่สำคัญ แต่ภายใต้การกระทำ ผลมันเปลี่ยนอยู่แล้ว”
ถัดจากโครงการท่อก๊าซ ยังมีโรงไฟฟ้าที่จะนะ คราวนี้ไม่ถึงขั้นปะทะ เพราะทุกฝ่ายยังหันหน้ามาคุยกันได้ ลงเอยด้วยการร่วมมือทำงานวิจัยว่าด้วยผลกระทบต่อสุขภาพจากการได้รับมลพิษระดับต่ำเป็นเวลานาน โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เข้ามาสนับสนุนเรื่องวิธีวิจัย
“ผมและทีมงานโรงพยาบาลจะนะลงพื้นที่ 45 วัน ถามคนในหมู่บ้าน 300 คน ว่า ไอ มีน้ำมูก คันตา แสบตา และคลื่นไส้หรือเปล่า แล้วเอาข้อมูลเหล่านี้มาเข้าสมการทางสถิติกับระดับมลพิษที่วัดได้ พบว่า การได้รับมลพิษต่ำๆ นานๆ มีผลกระทบต่อสุขภาพ ตัวการคือฝุ่นและโอโซน เราอยากเอาข้อมูลนี้มาออกแบบระบบเฝ้าระวัง แต่ก็ทำไม่ได้ มันยากเกินไป แต่อย่างไรเราก็ได้ข้อสรุปว่ามันมีผลจริงๆ ในระดับอาการ”
อาจกล่าวได้ว่า การสู้ด้วยข้อมูลคือบทบาทถนัดของคุณหมอ เพราะคุณหมอเองก็เชื่อว่าทุกๆ การเคลื่อนไหว ความรู้คืออาวุธ การเขียนบทความและแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ต่างๆ จึงเป็นอีกบทบาทที่เขารักและให้ความสำคัญ
ที่สำคัญไม่แพ้ข้อมูลคือ การออกแบบวิธีการขับเคลื่อนในภาคปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนโยบาย
และคุณหมอจุ๊กคือนักออกแบบคนนั้น
“ที่เราออกแบบและจัดตั้งเพราะมันต้องการการขยายผล เริ่มตั้งแต่เตรียมชาวบ้าน นัดนักข่าว ถ้าได้บ่ายสอง ข่าวจะออกทันไหม แล้วใครจะส่งรูป ส่งข่าว รูปควรจะถ่ายที่ไหน ต้องให้เห็นป้ายชัด รูปต้องมีความสมดุล ถึงจะมีโอกาสได้ขึ้นหน้า 1”
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่าสุด ‘ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน’ ที่มีคุณหมอเป็น 1 ใน 11 แกนนำ ด้วยการเดินเท้า 1,400 กิโลเมตร จากอำเภอหาดใหญ่มาถึงกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้หยุดสัมปทานปิโตรเลียมและโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้
ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับครั้งอื่นๆ ที่ผ่านการออกแบบและประเมินสถานการณ์มาแล้วอย่างดีว่าต้องเป็นข่าว ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจึงยอมถูกจับ
“วิเคราะห์สถานการณ์แล้วมีโอกาสโดนจับ ปัญหาคือโดนจับแล้วจะยังไง เราจึงตกลงใจว่าจะพาเดินให้พ้นสงขลา ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าเราน่าจะเป็นเกราะให้เขาได้ในระดับหนึ่ง ถ้าโดนจับก็ไม่เป็นไร พอจะมีคนรู้จักช่วยเหลือในสงขลาอยู่บ้าง”
การเข้ามาเจรจาครั้งที่ 2 ของคนในเครื่องแบบนำไปสู่การถูกจับกุม แต่ก่อนหน้านั้นราวครึ่งชั่วโมงคือการหารือในกลุ่มแบบเร่งด่วนว่าใครจะยอมโดนจับและใครต้องอยู่ข้างนอกเพื่อสานงานต่อ พร้อมๆ กับการนัดหมายสื่อมวลชนเพื่อแจกแจงสถานการณ์ให้เรียบร้อย
คุณหมอประเมินสถานการณ์ถึงขั้นว่า เวลาโดนจับ ควรจะแสดงท่าทางอย่างไร เพราะต่อไปภาพนี้จะปรากฏต่อสาธารณชน
“เราก็ยอมให้จับแต่โดยดี ไม่มีขัดขืน เพราะเจ้าหน้าที่ก็มาอย่างสุภาพเรียบร้อย บอกว่าทำตามหน้าที่ พอตอนเข้าไปอยู่ในค่ายก็ดูแลเราดีมาก ให้นอนห้องนายทหาร มีแอร์ เครื่องทำน้ำอุ่น โทรศัพท์ไม่ได้ยึด แต่ขอความร่วมมือไม่ให้ใช้ ตอนกลางวันก็เข้ามาคุย 1-2 ชั่วโมง ก็พูดจากันดีๆ ทำความเข้าใจกัน”
พี่น้องมุสลิมมีหลักปรัชญาคือ ทำให้เต็มที่ ผลลัพธ์อยู่ที่อัลเลาะห์ หน้าที่เราคือสู้เต็มที่ ความสำเร็จอยู่ที่ว่าอัลเลาะห์จะให้หรือไม่ให้ ซึ่งเราคิดว่าถูกต้อง ผลไม่สำคัญ แต่ภายใต้การกระทำ ผลมันเปลี่ยนอยู่แล้ว
05 เชื่อในความเปลี่ยนแปลงสะสม
ในบทบาทของผู้นำทางสังคมและนักเคลื่อนไหว เชื่อว่าคงไม่มีใครตั้งคำถามกับคุณหมออีกแล้วว่าทำไปทำไม เพียงแต่คนใกล้ตัวอย่างครอบครัวจะเข้าใจด้วยหรือไม่เท่านั้น…
“วันที่จะถูกจับ บอกแม่ว่าจะไปเดินประท้วงนะ แม่ก็พอรู้แหละว่าลูกชายเพี้ยนอย่างนี้มานานแล้ว แกไม่ได้ว่าอะไร ภรรยาก็รู้ เขาก็บอกว่าเอาเถอะๆ เดี๋ยวไปเยี่ยม เพราะเขาเข้าใจว่าคงไม่มีอะไรรุนแรง เขารู้ดีว่าเราไม่เล่นบทแรงอยู่แล้ว แต่ก็มีถามว่าทำไมต้องโดนจับด้วย เราตอบว่า มาด้วยกันก็ต้องไปด้วยกัน”
การเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ผลลัพธ์มีทั้งแพ้และชนะ คุณหมอตระหนักดีว่าแพ้ชนะเป็นเรื่องเข้าใจได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ เรื่องราวระหว่างทางซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสะสม
ยกตัวอย่างกรณีโรงไฟฟ้าและโครงการวางท่อแยกก๊าซ แม้ปลายทางคือความพ่ายแพ้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความพยายามดูแลสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดจากความเข้มแข็งของชาวบ้านที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบ สำหรับคุณหมอ เรื่องเหล่านี้คือ การเปลี่ยนแปลงเชิงบวก
การทำงานอีกขาหนึ่งในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Deep South Watch หรือ ‘ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้’ เวทีขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ โดยพยายามสร้างพื้นที่เล็กๆ ให้ทุกตัวแสดงได้มีโอกาสพูดและแสดงความคิดเห็น โดยไม่จำกัดแค่รัฐไทยกับผู้ก่อการอย่างที่ผ่านๆ มา
“เรายอมรับวาทกรรมว่า ประเทศปัตตานีมีจริง แล้วสยามไปเอามา จึงเข้าใจว่าทำไมเขาถึงต้องการแบ่งแยกดินแดน ถ้าเป็นเรา เราก็ทำอย่างนั้น เราเข้าใจ จึงนำมาสู่การคลุกคลีและมาทำงานเรื่องนี้ จนวันนี้ผลหรือความเปลี่ยนแปลงสะสมมันเกิดขึ้นแล้ว เช่น นโยบายของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เปลี่ยนไป ยอมให้มีป้ายภาษายาวีในสถานที่ราชการ โรงเรียนปอเนาะได้รับการยอมรับมากขึ้น ไม่ถูกมองว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะ การกระทำทารุณกรรมน้อยลงอย่างชัดเจน ฯลฯ”
เราสนใจประชาธิปไตยทางตรง ไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยแบบผู้แทน สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้คือไปสนับสนุนให้ชาวบ้านเข้มแข็ง เพื่อให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตเขาตรงๆ ซึ่งก็คือการประท้วง เพราะการคัดค้านอย่างสุภาพไม่มีในโลก
06 บู๊ได้ใต้ชุดกาวน์
นานวันเข้าบทบาทนอกโรงพยาบาลของนายแพทย์สุภัทรยิ่งชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จนบางคนอดถามไม่ได้ว่า ไม่สนใจออกมาทำงานขับเคลื่อนมวลชนเต็มตัวบ้างหรือ
งานนี้คุณหมอส่ายหน้าทันที บอกว่าความสุขยังอยู่ที่การตรวจและรักษาคนไข้
“การได้ดูแลคนไข้นี่มีความสุขนะ เป็นโลกส่วนตัวที่สงบสุข ไม่ต้องยุ่งกับอำนาจรัฐหรืออำนาจที่กดดันต่างๆ ในโรงพยาบาลคือพื้นที่ปลอดภัยและมีความสุข เรายังรักษาคนไข้เป็น รักษาคนไข้จนหายได้ ความรู้เรายังมี”
หากตัวตนอีกภาคหนึ่งก็ยังละทิ้งไม่ได้
“ทิ้งไม่ได้ เราชอบงานเคลื่อนไหวด้วย มีความสุข มันเป็นตัวตนไปแล้ว จริงๆ มันเป็นอัตตาแบบหนึ่งนะ ได้ไปหมู่บ้าน จับไมค์ ให้ข้อมูล”
เหตุผลสำคัญที่คุณหมอยังเทน้ำหนักให้งานมวลชน เพราะเชื่อว่านี่เป็นประชาธิปไตยทางตรง ผ่านการสนับสนุนให้ชาวบ้านเข้มแข็ง เพื่อการมีส่วนร่วมต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ด้วยตัวเอง
“เราสนใจประชาธิปไตยทางตรง ไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยแบบผู้แทน สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้คือไปสนับสนุนให้ชาวบ้านเข้มแข็ง เพื่อให้เขามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในชีวิตเขาตรงๆ ซึ่งก็คือการประท้วง เพราะการคัดค้านอย่างสุภาพไม่มีในโลก คัดค้านอย่างไรก็ต้องมีการแสดงออกซึ่งเป็นวิธีการที่จริง ที่ผ่านมาการคัดค้านโดยการยื่นหนังสือไม่เคยประสบความสำเร็จ”
ทุกวันนี้ความถี่ในการขึ้นมากรุงเทพฯ ของคุณหมอจึงน้อยลง เวลาส่วนใหญ่เทให้ชาวบ้านในพื้นที่มากกว่า
“มาอภิปราย 2-3 ชั่วโมง เรารู้สึกว่าเปลืองแรง เปลืองเวลา คุยกับชาวบ้านดีกว่า คุยเสร็จถามต่อเลยว่าจากนี้จะแอ็คชั่นอย่างไร เปิดเพจเฟซบุ๊คมั้ย ใครเขียนบทความ ใครถ่ายรูป ตอนนี้เราเชื่อมั่นในการปฏิบัติการมากกว่านโยบาย”
ในความเป็นหมอนักเคลื่อนไหว หัวใจหมอจุ๊กยังอยู่ที่เดิมคือ ‘หมู่บ้าน’ คือการทำชุมชนให้เข้มแข็ง
“แต่แค่นี้ยังไม่ชนะนะ ทำได้แค่ปกป้องตัวเอง ถ่วงเวลาเอาไว้ แล้วไปบุกข้างบนบ้าง โดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารเป็นตัวขับเคลื่อน”
แม้ว่าสุดท้ายการต่อสู้จะจบลงด้วยความล้มเหลวก็ยังเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่า ไม่มีใครชนะไปทุกเรื่อง
“แพ้ชนะไม่รู้ แต่กูสู้ไว้ก่อน” น้ำเสียงของคุณหมอยังกลั้วหัวเราะจนถึงประโยคสุดท้าย