ผับ บาร์ อาบอบนวด ร้านรวงต่างๆ ที่มอบความบันเทิงยามค่ำคืน สถานที่เหล่านี้มักถูกมองว่าเป็นแหล่งอโคจร เป็นสถานที่รวบรวมสินค้าและบริการในรูปแบบที่มองตาก็รู้กัน แต่ไม่ว่าคุณจะมีความเห็นอย่างไรกับธุรกิจกลางคืน ข้อเท็จจริงคือประเทศไทยได้รับเม็ดเงินมหาศาลจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจท่องเที่ยวกลางคืน โดยเฉพาะในพื้นที่ของกรุงเทพฯ มีส่วนสำคัญอย่างมากในการขยับขึ้นลงของตัวเลข GDP และชี้วัดภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศได้ไม่น้อยไปกว่าการท่องเที่ยวตามโบราณสถานใดๆ
ในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ #กรุงเทพในฝันกับงบประมาณ 64 ได้พาเราเข้าไปสำรวจผับ บาร์ อาบอบนวด ในฐานะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว งานเสวนาจัดขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ อาทิ คณะกรรมาธิการการศึกษาจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ ภายใต้ความร่วมกับคณะกรรมาธิการดิจิทัล, คณะกรรมาธิการคมนาคม, และคณะกรรมาธิการศิลปะ วัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร
ภายในงานว่าด้วยประเด็นปัญหาของเมืองหลวงในแขนงต่างๆ โดยเฉพาะมิติเชิงวัฒธรรมและเศรษฐกิจโดยเฉพาะย่านธุรกิจกลางคืน
อภิรดี จันทนางกูร: ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงษ์ (Patpong Museum)
อิสระ ฮาตะ: ยูทูบเบอร์ผู้มีมุมมองเกี่ยวกับเมือง
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร: ส.ส.พรรคก้าวไกล ผู้มีความหวังให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลุดจากการผูกขาด
ธเนษฐ ลักษณะวิลาศ: ผู้ก่อตั้งกลุ่มเชียร์นางงาม T-Pageant
นำการพูดคุยโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส.พรรคก้าวไกลและอดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย
เนื้อหาบนเวทีเสวนาว่าด้วยการแลกเปลี่ยนและสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงของเมืองหลวงจริงท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด อีกทั้งยังมีการระดมไอเดียหาแนวทางออกร่วมกันในฐานะพลเมืองที่ต้องการเห็นเมืองหลวงหรือบ้านของเขาในมุมที่ดีกว่าเดิม
COVID-19: พรากชีวิตและรายได้ในอุตสาหกรรมกลางคืน
ช่วงโควิด-19 แหล่งสถานบันเทิงเป็นที่แรกที่ถูกปิดและเป็นที่สุดท้ายที่ถูกเปิด ซึ่งไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น ถึงเราจะปิดหูปิดตาไม่เห็นเขา เราต้องยอมรับตรงนี้ว่า เขาเป็นคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของเรา
อภิรดี จันทนางกูร ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงษ์ เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในย่านพัฒน์พงษ์ช่วงสถานการโรคระบาด และกล่าวถึง Patpong Museum หรือพิพิธภัณฑ์พัฒน์พงษ์ ที่ก่อตั้งโดย ไมเคิล เมสซ์เนอร์ (Michael Messner) ชาวออสเตรีย
เนื้อหาในพิพิธภัณฑ์บันทึกเรื่องราวของย่านพัฒน์พงษ์ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ย้อนไปถึงเรื่องราวตั้งแต่ต้นตระกูลพัฒน์พงศ์พานิช เจ้าของพื้นที่หมื่นล้านอพยพมายังประเทศไทย ไปจนถึงประเด็นสงครามเวียดนาม ซึ่งส่วนหนึ่งของสงครามเย็นเกี่ยวพันถึงสายลับ CIA ที่ก่อให้เกิดแหล่งพักผ่อนหย่อนใจจากสงคราม
อีกทั้งยังบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ที่โยงใยของประเทศมหาอำนาจในช่วงสงครามเย็นที่เข้ามามีอิทธิพลและบทบาทในประเทศไทย ตลอดจนวิวัฒนาการการเปลี่ยนพื้นที่จากบาร์นั่งชิลล์ของทหาร นักธุรกิจชาวอเมริกันที่ย่านพัฒนพงษ์ จนกลายเป็น พัฒน์พงษ์ ย่านแห่งบาร์อะโกโก้เลื่องชื่อระดับโลก
รวมไปถึงในมุมวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์แห่งนี้บันทึกประเด็นต่างๆ เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการอพยพเคลื่อนย้ายของ sex workers ธุรกิจเรื่องเพศ ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของลมหายใจยามค่ำคืน
ทว่าในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ย่านพัฒน์พงษ์ที่เคยครึกครื้นและเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวยามราตรี กลับถูกพรากความมีชีวิตชีวาไป รายได้ในอุตสาหกรรมกลางคืนก็หดหาย ซึ่งความซบเซาที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้มนุษย์ที่อยู่ในสายพาน กำลังตกอยู่ในภาวะหายใจรวยริน โดยเฉพาะอาชีพ Sex workers
“ที่เป็นเช่นนี้ เพราะ Sex workers ถูกมองว่าเป็นอาชีพผิดกฎหมาย ถูกตีตราว่าเป็นอาชีพที่ผิดศีลธรรม และไม่เคยถูกนำขึ้นมาพูดอย่างตรงไปตรงมา เมื่อพวกเขาไม่ได้ถูกนับว่าเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในระบบภาษีอย่างถูกต้องก็ทำให้เขาเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและรัฐสวัสดิการต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่ได้รับเงินเยียวยาในช่วงโควิด-19 แต่สิทธิในทุกๆ มิติของเขาแทบไม่ได้เลย” ธัญญ์วาริน กล่าวเสริม
ธเนษฐ ลักษณะวิลาศ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเชียร์นางงาม T-Pageant เสนอแนะถึงในประเด็นดังกล่าว โดยยกตัวอย่างประเทศแทบยุโรปอย่างเนเธอร์แลนด์ที่ให้ตัวตนกับกลุ่มบุคคลที่ประกอบอาชีพ Sex workers
ผมว่าในกลุ่มประเทศเหล่านี้ เราจะเจอธุรกิจที่มีลักษณะเดียวกับย่านพัฒนพงษ์ กรุงอัมเตอร์ดัมถือว่าเป็นเมืองที่จัดการท่องเที่ยวและนำเสนอภาพลักษณ์ของ Sex workers ได้ดี ชูพวกเขาให้มาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองอย่างถูกต้อง กรุงเทพฯน่าจะนำโมเดลนี้มาพัฒนาต่อได้
ปลดล็อคเรื่องบาปบุญ เบียร์รายย่อยสะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น
นอกจากประเด็น Sex workers อีกหนึ่งสิ่งที่อยู่คู่กับธุรกิจโลกกลางคืนหนีไม่พ้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.พรรคก้าวไกล อธิบายถึงมุมมองของสุราในประเทศไทยยังคงพบว่าถูกผูกติดกับเรื่องบาปบุญคุณโทษและศีลธรรมอยู่มาก ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้กลืนกินและกดทับทำให้เรามองไม่ถึงมิติอื่นๆ ทางวัฒนธรรมของสุรากับมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่โบราณ ดังเช่นโคลงกลอนจากวรรณคดีไทยเรื่องนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่ที่บันทึกไว้ว่า
ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ
เมื่อโลกเปลี่ยนไป เท่าพิภพบอกว่า หลังช่วงยุคสงครามโลกที่ 2 กระแสการผลิตเครื่องดื่มหลายย่อยกลับมาฟื้นฟูอีกครั้ง ทว่าปัจจุบันตลาดธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยมีเพียงไม่กี่เจ้า
แม้เราจะกำเนิดโรงเบียร์ครั้งแรกในเมืองไทย แต่การเกิดนั้นแต่กลับตกอยู่ในสถานะกึ่งผูกขาดโดยตระกูลเดียวจากขุนนางมาโดยตลอด นี่จึงส่งผลให้การขับเคลื่อนทางวัฒนธรรมไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้ภูมิปัญญาเครื่องดื่มอย่างสาโทหรือเหล้าขาวดั้งเดิมที่ควรค่าแห่งการผลักดันถูกลืมเลือน
เท่าพิภพ เชื่อว่าการมีธุรกิจเบียร์รายย่อยที่หลากหลายเป็นอาวุธสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวยามตรี
“ยกตัวอย่าง ในประเทศเยอรมันมีเบียร์ที่เป็นเอกลักษณ์หลากหลายชนิด เพราะเขามองเบียร์เป็นมากกว่าเครื่องดื่มมึนเมา เขามองเป็นอาหารอย่างหนึ่งและวัฒนธรรมที่เขาภูมิใจ”
“ซึ่งวันหนึ่งเราอาจจะเห็นบาร์วิสกี้ รัมต่างๆ ขวดเป็นหมื่นๆ เห็นเหล้าขาวจากข้าวหอมมะลิ หรือเหล้าจากเมืองต่างๆ ที่มีความพิเศษในตัวเอง ผมไม่รู้ว่ามันจะดีหรือทุกคนจะชอบหรือเปล่า แต่อย่างน้อยเรามีตัวเลือกให้กับทุกคน มันไม่ควรตั้งคำถามว่ามีแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ควรจะตั้งคำถามว่าทำไมปัจจุบันมีแค่ 2 – 3 ยี่ห้อมากกว่า”
เช่นเดียวกับ อิสระ ฮาตะ ที่มองว่าการต้มเบียร์ไม่ต่างจากศาสตร์หนึ่งในการทำอาหาร
“การต้มเบียร์ก็เหมือนทอดไข่เจียว ลองสมมติว่าเราไปเที่ยวบ้านเพื่อนแล้วเพื่อนทอดไข่เจียวให้กิน เพื่อนทอดก็จะเป็นรสชาติหนึ่ง เวลาเราไปอีกบ้านไข่เจียวก็อีกรสชาติหนึ่่ง เป็นไข่เจียวที่มีรสชาติเป็นของตัวเอง การต้มเบียร์ก็เช่นกัน ผมมองมันคือเครื่องดื่มประจำบ้าน ประจำพื้นที่”
นอกจากนั้น ประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา 4 ปี อิสระพบว่าผังเมืองมีผลอย่างมาต่อพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยามราตรี เพราะด้วยความชัดเจนของผังเมือง การเดินทางที่เชื่อมต่อเข้าไปถึงย่านท่องเที่ยวโดยตรงช่วยกระตุ้นพฤติกรรมของมนุษย์ ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกอยากเที่ยวกลางคืนมากขึ้น
อิสระจึงชวนตั้งคำถามต่อว่าหากรัฐไทยหันกลับมาจัดการปัญหาเรื่องนี้น่าจะเป็นผลดีต่อย่านท่องเที่ยวไม่น้อย
นางงามกระบอกเสียงของความศิวิไลซ์
ธเนษฐ บอกว่า วัฒนธรรมการประกวดนางงามเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่เสมอ ย้อนไปในเวทีประกวดนางสาวไทยเมื่อปี 2477 มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมให้คนรู้จักรัฐธรรมนูญและเผยแพร่การปกครองระบอบประชาธิปไตย
“นางงามถูกนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศและการเมืองมาตั้งแต่แรกเริ่ม สมัยการประกวดของ คุณอาภัสรา หงสกุล เจ้าของตำแหน่ง Miss Universe ปี 1965 ก็เกิดจากการสนับสนุนโดยภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว”
ในเมื่อการเมืองและนางงามเป็นเรื่องไม่เคยแยกขาดจากกัน แต่ทำไมหลายๆ ครั้งเรายังเห็นนางงามไม่กล้าลุกขึ้นพูดในสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างแท้จริง
ในมุมมองของ ธเนษฐ มองว่าการตอบคำถามที่ไม่เฉียบแหลม ไม่ฟันธง ส่วนหนึ่งสะท้อนโครงสร้างตั้งแต่ระบบการศึกษาเห็นได้ว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ไม่กล้าถาม ไม่กล้าพูด และเกี่ยงกันตอบคำถามอยู่เสมอ
เช่นเดียวกับการตอบคำถามของนางงามบนเวที หลายครั้งนางงามกลัวไม่กล้าพูดอย่างตรงไปตรงมา เพราะกลัวว่าจะกลับบ้านไม่ได้ จึงกลัวที่จะส่งเสียงของตัวเองออกไป ส่วนตัวมองว่าการเฟ้นหานางงามในปัจจุบันเรากำลังอยู่ role model ใหม่ๆ เราไม่ได้มองหาคนที่ออกมาพูดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศสวยงามค่ะ เราเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้มโดยมองข้ามความจริงหลายๆ ไป
“นางงามต้องเปลี่ยนมุมมอง นางงามไม่ใช่เรื่องของเรือนร่าง นางงามต้องพูดสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา นางงามต้อง reading ความคิดของคน และต้องพูดได้ว่าคนในประเทศหรือคนกรุงเทพต้องการเห็นเมืองเป็นอย่างไร” ธเนษฐทิ้งท้าย