ฮัน คัง (Han Kang) นักเขียนชาวเกาหลีใต้ สตรีคนที่ 18 ที่ได้รางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ปี 2024 นับตั้งแต่มีการมอบรางวัลสาขาดังกล่าวเมื่อปี 1901 พื้นเพเธอคือนักเขียนเป็นทุนเดิม ทั้งยังเป็นคนที่หลงใหลในศิลปะและดนตรี ความหลงใหลในสิ่งใดๆ ล้วนสะท้อนออกมาผ่านตัวอักษรที่ผลิตขึ้นผ่านปลายนิ้วเธอทั้งสิ้น
เธอเริ่มต้นอาชีพบนเส้นทางนักเขียนอย่างจริงๆ จังๆ ด้วยการตีพิมพ์บทกวีจำนวนหนึ่งในนิตยสาร ‘Literature and Society’ เมื่อปี 1993 และผลงานร้อยแก้วชิ้นแรกของเธอคือเรื่องสั้น คอลเลกชัน ‘Love of Yeosu’ เมื่อปี 1995 ก่อนที่จะมีผลงานอื่นๆ ในเวลาต่อมา ทั้งนวนิยายหรือกระทั่งเรื่องสั้น
นวนิยายเรื่อง ‘Your Cold Hands’ เป็นหนึ่งในผลงานที่ได้รับความสนใจอย่างมาก ในคำแถลงยกย่องผลงานของฮัน คัง ซึ่งแถลงโดย แอนเดอร์ส โอลเซน (Anders Olsson) ประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ระบุว่าผลงานชิ้นนี้สะท้อนความสนใจในงานศิลปะของฮัน คัง อย่างชัดเจน หนังสือเล่มนี้กล่าวถึงแบบร่างที่ถูกทิ้งไว้ของศิลปินคนหนึ่งที่หลงใหลในการหล่อปูนปลาสเตอร์เป็นร่างกายผู้หญิง ในเรื่องมีทั้งเรื่องกายวิภาค การเย้าหยอกกับมิติต่างๆ ของมนุษย์
ความสำเร็จครั้งสำคัญของเธอเกิดจากนวนิยายเรื่อง ‘The Vegetarian’ โดยเนื้อหาแบ่งเป็น 3 ส่วน ในภาพรวมพรรณนาถึงความรุนแรง เมื่อตัวเอกของเรื่องอย่าง ยองฮเย (Yeong-hye) ปฏิเสธที่จะยอมรับบรรทัดฐานการบริโภคอาหารของสังคม จุดเริ่มต้นเพียงเท่านั้น แต่กลับกลายเป็นว่าเธอต้องเจอกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากทั้งสามีและพ่อจอมเผด็จการของเธอ ซ้ำร้ายเธอยังเป็นเหยื่อกามารมณ์ของพี่เขย จนในที่สุดต้องเข้ารับการรักษาที่คลินิกจิตเวช
‘The Wind Blows, Go’ เป็นหนังสืออีกเล่มที่ได้รับการยกย่อง เล่มนี้เป็นนวนิยายที่เน้นเนื้อเรื่องมากขึ้น บวกกับมีความซับซ้อนในเรื่องมิตรภาพและศิลปะ ที่บรรจุความโศกเศร้าและความปรารถนาในการเปลี่ยนแปลงอย่างคับแน่น
สไตล์การเขียนเชิงอุปมาอุปมัยที่มีพลังใน ‘Greek Lessons’ สะท้อนความเห็นอกเห็นใจของฮัน คัง ต่อเรื่องราวที่เกี่ยวโยงกับชีวิต เธอเล่าถึงความสัมพันธ์แสนเปราะบางของคนสองคน หญิงสาวที่เพิ่งผ่านเหตุการณ์เลวร้ายมานับไม่ถ้วน จนสูญเสียความสามารถในการพูด กับครูชาวกรีกโบราณที่กำลังจะสูญเสียการมองเห็น แต่ความรักก็พัฒนาจากความเปราะบางของคนทั้งสอง หนังสือเล่มนี้ชี้ชวนให้เห็นทั้งการสูญเสีย ความใกล้ชิด และเงื่อนไขทางภาษา
บาดแผลทางการเมืองของเกาหลีถูกบันทึกไว้ผ่าน ‘Human Act’ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเมืองกวางจูที่เธอเติบโตมา เหตุการณ์ดังกล่าวมีนักศึกษาและพลเรือนที่ไม่มีอาวุธนับร้อยคนถูกสังหารหมู่ โดยกองทัพเกาหลีใต้ในปี 1980 หนังสือของ ฮัน คัง พาไปสำรวจเหยื่อของประวัติศาสตร์ครั้งนั้น เผชิญหน้ากับความจริงอันโหดร้าย ทำให้งานเขียนของเธอเข้าใกล้ประเภทของการเป็นวรรณกรรมที่เป็นพยาน
นอกจากนี้ยังมีหนังสือ ‘The White Book’ และ ‘We Do Not Part’ ที่ทั้งสองเล่มมีความเกี่ยวโยงกันในแง่ของภาพความเจ็บปวด และถูกนำมายกย่องในการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม
“ผลงานของ ฮัน คัง เผชิญหน้ากับบาดแผลทางประวัติศาสตร์และกฎเกณฑ์ที่มองไม่เห็น ในแต่ละผลงานของเธอเผยให้เห็นความเปราะบางของชีวิตมนุษย์ เธอมีความตระหนักรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ ในการเชื่อมโยงระหว่างร่างกายและจิตวิญญาณ คนเป็นและคนตาย ทั้งหมดอยู่ในบทกวีร้อยแก้วที่ร่วมสมัย” แอนเดอร์ส โอลเซน กล่าว
ที่มา
The Nobel Prize in Literature 2024: Biobibliography