การมีลูกอาจไม่ได้ทำร้ายโลกอย่างที่คิด สำรวจมายาคติประชากรล้นเกิน เป็นเหตุให้โลกรวนจริงหรือ

ปัจจุบัน ปัญหาประชากรทั่วโลกที่ลดน้อยลง และอัตราการเกิดต่ำอย่างไม่เคยมีมาก่อน กำลังเป็นปัญหาที่น่ากลัดกลุ้มในหลายประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมีประชากรอยู่ที่ 125 ล้านคน และคาดการณ์ว่าเมื่อปีที่แล้วมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 800,000 คนเท่านั้น ถ้าเทียบกับในช่วงยุค 1970 ที่มีอัตราการเกิดมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี หรือประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรต่ำที่สุดในรอบ 60 ปี ซึ่งปัจจุบันมีประชากรอยู่ที่ราว 1,400 ล้านคน โดยมีอัตราการเกิดต่ำลงอยู่ที่ 6.77 คนต่อประชากร 1,000 คนเท่านั้น

นอกจากนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหรัฐอเมริกายังแสดงให้เห็นว่า อัตราการเติบโตของประชากรสหรัฐเติบโตช้าที่สุดในรอบศตวรรษอีกด้วย

ปัญหาดังกล่าว หากมองในมุมของรัฐแต่ละรัฐ ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะอัตราการเกิดที่ต่ำ ย่อมหมายถึงทรัพยากรมนุษย์ของรัฐในอนาคตจะน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องในอีกหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ กำลังแรงงาน การขาดแคลนนวัตกรรม และอีกมากมาย

แต่หากมองในแง่ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ อัตราการเกิดต่ำ และจำนวนประชากรที่น้อยลง ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปัญหาโลกรวนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ดูจะสัมพันธ์กันกับจำนวนประชากรด้วยเช่นกัน

คำถามที่สำคัญคือ การจะหยุดยั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ตัวเลือกที่ดีที่สุดคือปล่อยให้อัตราการเกิดลดต่ำลงเช่นนี้ ใช่หรือไม่?

คำตอบคือ ไม่จำเป็น อานู รามาซวามี (Anu Ramaswami) ศาสตราจารย์จาก Civil and Environmental Engineering, Princeton Institute for International and Regional Studies เธอย้ำให้เรากลับมามองที่ข้อมูลพื้นฐาน ว่าปัญหาสภาพภูมิอากาศไม่ได้มีสาเหตุโดยตรงมาจากจำนวนประชากรที่มากขึ้น แต่สาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นต่างหาก แม้นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอาจโต้เถียงได้ว่า จำนวนประชากรที่มากขึ้นก็ย่อมส่งผลให้การปล่อยก๊าซเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่เธอก็ยืนยันอีกว่า ไม่จำเป็นว่ามันจะสัมพันธ์กันเสมอไป 

หากเราใช้เกณฑ์จำนวนประชากรมาตัดสิน สหรัฐอเมริกามีจำนวนประชากรแค่ 4.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดบนโลกนี้เท่านั้น แต่ข้อมูลจาก Global Carbon Project นับตั้งแต่ปี 1959 พบว่า สหรัฐได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึงประมาณ 21.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลก และหากเรานับตั้งแต่ปี 1959 จนถึงปี 2020 จะเห็นว่าสหรัฐเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก หรือมากกว่าจีนซึ่งมีประชากรสูงสุดเสียอีก

หากเปรียบเทียบกับเคนย่า ซึ่งมีประชากร 55 ล้านคน มากกว่ารัฐไวโอมิงของสหรัฐกว่า 95 เท่า แต่ไวโอมิงกลับปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเคนย่าถึง 3.7 เท่าเลยทีเดียว และทั้งๆ ที่เคนย่ามีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไม่ได้สูงอะไร แต่กลับต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้ง ซึ่งเป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยที่ตนเองอาจไม่ใช่เป็นผู้ก่อ

ส่วนในทวีปแอฟริกาซึ่งมีประชากรรวมกันคิดเป็น 16.7 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งโลก แต่กลับปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สิ่งที่นักวิจัยด้านสภาพภูมิอากาศหลายๆ คนชวนมองก็คือ มายาคติเกี่ยวกับประชากรที่ล้นเกิน อาจทำให้เราหลงประเด็นเมื่อถกกันเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก บิล แฮร์ (Bill Hare) นักวิเคราะห์ด้านภูมิอากาศกล่าวไว้ว่า “คำถามสำคัญไม่ใช่เรื่องจำนวนประชากร แต่เป็นลักษณะการบริโภคมากกว่า” 

ประเทศมหาอำนาจที่ร่ำรวย แม้เทียบสัดส่วนจำนวนประชากรของโลกอาจไม่ได้สูงนัก แต่กลับมีอัตราการบริโภคทรัพยากรและพลังงานที่สูงมาก จนเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และหากกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงไปอีก ตัวการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลอาจหมายถึง ‘กลุ่มคนผู้ร่ำรวย’ ซึ่งก็คือคนเพียงหยิบมือในแต่ละประเทศเท่านั้น

แคทเธอรีน ฮายโฮ (Katharine Hayhoe) นักวิทยาศาสตร์จาก The Nature Conservancy กล่าวว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของคนที่จนที่สุดบนโลกนี้มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ประเทศที่มีคนจนเหล่านี้อยู่จำนวนมาก เช่น มาลาวี โมซัมบิก เซเนกัล อัฟกานิสถาน กลับเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมหาศาลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และก็เช่นกัน ที่คนร่ำรวยจำนวนน้อยในประเทศเหล่านี้ ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมหาศาลสู่โลก ไม่ใช่เหล่าคนยากจนแต่อย่างใด

ฮายโฮสรุปว่า ประชากร 80 เปอร์เซ็นต์บนโลกนี้ มีส่วนเพียงเล็กน้อยในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการชี้นิ้วไปยังปัญหาประชากรนั้น อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก และมายาคติประชากรล้นเกิน อาจทำให้เราชี้นิ้วไปโทษใครอย่างผิดฝาผิดตัวได้ และบางครั้งมันอาจเป็นเครื่องมือในการปัดความรับผิดชอบอีกด้วย

“สิ่งที่ฉันได้ยินบ่อยที่สุดเวลาถกเถียงกันเรื่องนี้ โดยเฉพาะพวกผู้ชายจากประเทศร่ำรวย เขามักจะบอกว่า ปัญหาพวกนี้มันเป็นเรื่องของประชากรล้นเกินไงล่ะ”

คนล้นไม่ใช่สาเหตุ แต่ก็ใช่ว่าเราควรจะมีลูกในโลกที่เป็นแบบนี้?

เมื่อทำความเข้าใจถึงมายาคติประชากรล้นเกินที่ลวงตาเราเวลามองปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะไม่ลวงตาเราก็คือ ปัญหาที่ว่านั้นก็ยังคงมีอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิที่สูงขึ้น การละลายของธารน้ำแข็ง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้น โลกที่เต็มไปด้วยปัญหาเหล่านี้ก็ดูจะไม่ใช่โลกที่เราอยากให้ลูกของเราเกิดมาเจออยู่ดี

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ทำให้ในปัจจุบันหลายคนตัดสินใจที่จะไม่มีลูก หรือเกิดความลังเลขึ้นมาว่า ควรจะมีลูกดีไหมในโลกแบบนี้

จากผลสำรวจโดย Morning Consult ในปี 2020 พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกันไม่ต้องการที่จะมีลูก โดยผู้ตอบคำถามให้เหตุผลว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจไม่มีลูก 

บริตต์ เรย์ (Britt Wray) นักวิจัยที่ศึกษาเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสุขภาพจิต และผู้เขียนหนังสือ Generation Dread เธอได้พูดคุยกับคนหนุ่มสาวที่รณรงค์เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถึงสาเหตุที่ทำให้พวกเขาไม่อยากจะมีลูก โดยมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัยคือ 1) ความรู้สึกผิดที่จะสร้าง รอยเท้าคาร์บอน (carbon footprint) ใหม่ๆ จากลูกของพวกเขา และ 2) ความกังวลต่อความปลอดภัยในชีวิตลูก

ในปี 2021 เรย์ได้ทำการสำรวจคนหนุ่มสาวอายุ 16-25 ปี กว่า 10,000 คน ใน 10 ประเทศ โดยเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ของคนหนุ่มสาวเหล่านี้ บอกว่าพวกเขามีความลังเลว่าจะมีลูกดีหรือไม่ ซึ่งสาเหตุก็มาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศเช่นกัน

ในสารคดี The Climate Baby Dilemma นักรณรงค์หญิงคนหนึ่งกล่าวว่า “ในอีกสิบปี อะไรๆ จะแย่ลงกว่านี้อีก ฉันอยากมีลูกนะ แต่นั่นไม่ใช่ประเด็น ประเด็นก็คือหากฉันมีลูกในปี 2030 ฉันไม่รู้เลยว่าตัวฉันเองจะเป็นอย่างไร”

ในขณะที่คนหนุ่มสาวเอง อาจมีทัศนคติไปในด้านที่ไม่อยากจะมีลูกกันสักเท่าไร แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศหลายคนกลับตัดสินใจที่จะมีลูก เช่นตัวของเรย์เอง

เรย์คิดอยู่นานว่าเธอจะมีลูกดีหรือไม่ โดยใช้เวลาถึง 4 ปี ในการไตร่ตรองเรื่องดังกล่าว ก่อนเธอจะตัดสินใจมีลูกและคลอดลูกของเธอในปี 2021 เธอกล่าวว่า

“การตัดสินใจที่จะไม่มีลูก เพราะความกังวลเรื่องปัญหาภูมิอากาศ เป็นความรู้สึกหวาดกลัวที่หยั่งรากลึกลงไปในจิตของคนทั่วโลก ฉันไม่อยากจะให้มุมมองเช่นนั้นมาพรากชีวิตของฉันไป ฉันจึงมุ่งมั่นที่จะสร้างความรู้สึกดีๆ ให้แก่คนที่ฉันรัก แม้กระทั่งท่ามกลางสภาพความจริงที่น่าหวาดกลัวเช่นนี้ 

“ความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้ฉันต้องคิดให้หนักขึ้น ว่าคุณสมบัติอะไรคือสิ่งที่พ่อแม่ในโลกที่แสนจะร้อนขึ้นเช่นนี้ต้องมี ไม่ใช่แค่การยอมรับและตัดสินใจที่จะไม่มีลูก”

เช่นเดียวกับ เจีย ฮู (Jia Hu) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ก็ตัดสินใจจะมีลูกเช่นกัน ความกังวลของเธออยู่ที่ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นมากกว่า

มีลูกก็อาจช่วยโลกได้

ข้อเสียของการมีลูกในโลกที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นอะไรที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวในที่นี้มากนัก แน่นอนว่าเด็กๆ ที่เกิดมาย่อมต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศ ภัยพิบัติ อากาศที่ร้อนขึ้น และอื่นๆ นี่เป็นความเสี่ยงที่แต่ละคนจะต้องยอมรับ หากตัดสินใจมีลูก 

แต่ขณะเดียวกันการมีลูกก็อาจมีข้อดีอยู่บ้าง ไบรอัน วอลช์ (Bryan Walsh) หนึ่งในบรรณาธิการของ Vox เชื่อว่ามีความจำเป็นที่เราจะต้องทำให้สังคมเป็นสังคมของคนหนุ่มสาวอยู่เสมอ ในสหรัฐอเมริกา คะแนนเสียงของผู้สูงอายุมีผลอย่างมากในการเลือกตั้ง แต่ชาวอเมริกันสูงวัยเหล่านี้กลับมีความใส่ใจในปัญหาต่างๆ น้อยลงเรื่อยๆ เช่น ปัญหาผู้อพยพในประเทศ และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขามีความเป็นเสรีนิยมน้อยลงเรื่อยๆ ไปตามวัย และหากปล่อยให้สังคมเป็นเช่นนี้ต่อไป การจะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศก็อาจเป็นไปได้ยากขึ้น

และในการจัดการปัญหาเหล่านี้ เราอาจต้องการความคิดสร้างสรรค์จากคนหนุ่มสาว ในการหาวิธีใหม่ๆ มาจัดการกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งวอลช์เชื่อว่าคนหนุ่มสาวมีพลังของความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มเปี่ยม 

“ไอเดียที่จะเปลี่ยนโลกได้ มักจะมาจากคนอายุ 25 ไม่ใช่คนอายุ 65”

ฝากความหวังไว้ที่คนรุ่นลูก…ความเห็นแก่ตัว หรือเชื่อใจ

หากเราเชื่อว่าจำเป็นต้องอาศัยพลังจากคนรุ่นใหม่ๆ เพื่อมาช่วยโลกของเราจริง คำถามสำคัญที่เราอาจต้องถามตัวเองคือ ตัวเลือกนี้เป็นความเห็นแก่ตัวหรือไม่

เพราะเด็กที่เกิดมาหลังจากนี้ จะไม่ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ พวกเขาต้องเผชิญกับฝนฟ้าคะนอง น้ำท่วมบ้าน และความแห้งแล้ง การตัดสินใจให้พวกเขาเกิดมานั้น ดูจะเป็นการผลักภาระของคนรุ่นเราไปให้คนรุ่นเขารึเปล่า เหมือนเช่นที่ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เคยบอกว่าเธอต้องสูญเสียความฝันและชีวิตในวัยเด็กไปเพื่อจะต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ ขณะที่พวกผู้ใหญ่ดูจะนิ่งเฉยไม่ใยดี

แต่หากมองในอีกมุมหนึ่ง การตัดสินใจมีลูกทั้งๆ ที่เราต่างก็รู้ว่าโลกเป็นแบบนี้ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าตัวเราเองยังมีความหวัง เพราะหากไม่เชื่อว่าโลกจะดีขึ้นได้ ไม่เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะถูกแก้ได้ เราก็คงจะไม่กล้าตัดสินใจให้หนึ่งชีวิตต้องเกิดมาบนโลกใบนี้

อ้างอิง:

Author

ณัฐภัทร มาเดช
นักเขียน นักแปล นักวิ่ง

Illustrator

พิชชาพร อรินทร์
เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีลูกพี่ลูกน้องเป็นน้องหมา 4 ตัว ชอบสังเกต เก็บรายละเอียดเรื่องราวของผู้คน ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วย playlist เพลงญี่ปุ่น อยู่ตรงกลางระหว่างหวานและเปรี้ยว นั่นคือ ส้ม

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า