ข้าพเจ้าสาวเท้าเข้าโรงภาพยนตร์ด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนเต็มเปี่ยม แต่ความเป็นชายในกายกลับถูกโบยตีตลอดเก้าสิบนาที จนร่างระบมร้าว สั่นระริกประหนึ่งอับอาย… แต่คิดอีกที ที่สั่นน่าจะเพราะแอร์หนาวมากกว่า
Heartbound หรือในชื่อไทยว่า รักเอย เป็นภาพยนตร์สารคดีสองภาษา (ไทย/เดนิช) โดย เยนูส เม็ตซ์ (Janus Metz) และ ซินา พลามเบ็ค (Sine Plambech) เล่าเรื่องชีวิตของ ‘สมหมาย’ หญิงไทยที่แต่งงานแล้วอพยพไปใช้ชีวิตที่เดนมาร์ก จากจุดเริ่มต้นนี้สมหมายเริ่มชักชวนและช่วยเหลือผู้หญิงคนอื่นๆ ในหมู่บ้านให้ได้พบรักและแต่งงานกับชายเดนมาร์กคนอื่นๆ อีกหลายคู่ สารคดีเรื่องนี้เริ่มเรื่องอย่างโรแมนติกด้วยประโยคที่ว่า ‘แม้ทั้งคู่จะอยู่ห่างกันคนละซีกโลก แต่ได้ดึงดูดกันด้วยพันธะที่เรียกว่า การแต่งงาน’
หนังสารคดีเรื่องนี้เริ่มต้นแบบนี้ แบบที่เป็นความหวานชวนฝันของสมหมาย, สาวไทยคนแรกที่ย้ายไปตั้งรกรากยังแคว้นทุ (Thy) ประเทศเดนมาร์ก เธอพบรักกับนีลส์ที่พัทยาในครั้งที่เขามาท่องเที่ยวหาความหวือหวาทางเพศ แต่กลายเป็นว่านีลส์จริงจังจนถึงขั้นแต่งงาน และครองรักกันจวบจนปัจจุบัน 24 ปี …ยาวนานเกินจินตนาการของชีวิตรีบเร่ง เป็นภาพฝันของหญิงสาวหลายๆ คน
เราอาจเรียกชีวิตของสมหมายได้ว่าเป็นความบังเอิญ และโอกาสที่ถูกชักนำไปด้วยความรู้สึกอันเข้มข้นที่เรียกว่าความรัก
แต่สิ่งที่ตามมา ก็คือการให้ความช่วยเหลือสาวไทยในหมู่บ้านคนอื่นๆ อีกหลายชีวิต เริ่มจากเครือญาติใกล้ชิด จนขยายวงไปสู่ผู้หญิงอื่นในหมู่บ้านที่เธอรู้จัก ผู้ที่อยากไปตั้งรกรากใหม่ เผชิญชีวิตในที่ใหม่ กับใครสักคนที่เธอ ตั้งใจไปรัก
ตั้งใจไปรัก คำนี้อาจใช้อธิบายกิริยาของ ‘แก’ หลานของสมหมาย ที่กล้องภาพยนตร์ตามติดตั้งแต่วันที่เธอเก็บกระเป๋าข้าวของที่บ้านของเธอที่โคราช วันที่เธอเดินออกมาจากสนามบินที่เดนมาร์ก บนรถยนต์ที่เธอนั่งคิ้วขมวดไปตลอดทางระหว่างเดินทางไปบ้านของเคลด์ ชายที่ประสงค์จะแต่งงานกับเธอ วันแรกของเธอในบ้านของเคลด์ ที่อยู่ในช่วง ‘คบหาดูใจ’ และสื่อสารกันด้วยภาษาใบ้สลับกับการเปิดดิกชันนารีชี้ให้อ่านประโยคต่างๆ
นอกจากเส้นเรื่องของสมหมายและแก ภาพยนตร์ยังตามติดชีวิตของ แสง และ ลม เธอทั้งคู่เป็นภาพแทนของวัยสาว พวกเธอไม่ต่างจากวัยหนุ่มสาวที่วาดหวังถึงพรุ่งนี้ที่ดีกว่า กระโจนหาโอกาส และใช้ทุนทางร่างกายของตัวเองในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ลมเป็นเจ้าถิ่นที่พัทยา แสงแค่ลองไปเยี่ยมชม และชิมลาง
แต่ความตื่นเต้นที่เธอแสดงออกมาในคำพูดก็ทำให้เรารู้ว่าแสงจะเลือกทางไหน แน่นอน แสงไฟหลากสีในพัทยา ย่อมสว่างกว่าอนาคตริบหรี่ที่บ้านเกิด แม้เพื่อนของเธอจะเตือนให้แตะเบรกเสียก่อน
“เขามาถามว่าขายมั้ย คิดดูสิ เที่ยวอยู่เฉยๆ ก็มีเงินสองพันลอยมา”
“แต่ถ้ามาทำงาน ไม่เหมือนมาเที่ยวนะ แกทำได้เหรอ”
อนาคต พรุ่งนี้ชีวิตจะเป็นเช่นไรเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ แต่สิ่งที่เรามองดูผ่านสายตาของภาพยนตร์คือปัจจุบันของชีวิตจิตใจ ที่มีเลือดเนื้อ ความหิว โรคภัย และค่าใช้จ่ายของลูกๆ
กล้องภาพยนตร์จับภาพสีหน้าพวกเธอ ทั้งสาวน้อยจนถึงสาวใหญ่ พื้นผิวเนื้อหนังของพวกเธอ แผงขนตาที่สั่นกระพือยามกะพริบ ไฝฝ้าจากลมแดด รูขุมขนในระยะใกล้ ชีวิตของผู้หญิงไทยที่ต้องเลี้ยงลูก ทำงาน
พวกเธอไม่ใช่นักสิทธิสตรี ไม่ใช่เฟมินิสต์ การไปทำงานที่พัทยาไม่ใช่การประท้วงเชิงสัญลักษณ์ใดๆ ทั้งนั้น แต่เกิดจากการใคร่ครวญทางเศรษฐกิจ ชั่งน้ำหนักส่วนได้ส่วนเสีย “นอนเฉยๆ ให้มันเอา (หรือโดนเอาแล้วได้ตังค์)”
แน่นอน ว่านี่คือการลงทุน
เพราะที่นี่ ประเทศอันเป็นที่รักของเรานี้ ไม่มีโอกาสให้พวกเธอมากนัก
Q: ผู้ชายเดนมาร์กเข้าใจไหม ว่าทำไมผู้หญิงไทยต้องดูแลครอบครัวขนาดนี้
สมหมาย: อันนี้เป็นคำถามที่เราเจอในทุกประเทศ… ไปยุโรปมา 8 ประเทศ เขาก็จะถามคำถามนี้ เป็นคำถามที่สำคัญที่สุด แล้วก็ถามไปถึงว่า ทำไมจึงเป็นแค่ผู้หญิง แล้วผู้ชาย ลูกของพ่อล่ะ ทำไมเขาไม่ทำให้ ทำไมพ่อแม่ถึงต้องให้แต่ลูกผู้หญิงดูแลครอบครัว ทำไมลูกชายไม่ทำ… อันนี้เราก็ไม่สามารถตอบเขาได้ ว่าทำไม ทำไมจะต้องเป็นเรา
จริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้เป็นการบังคับนะ ผู้ชายเขาก็ดูแลได้ เพียงแต่ว่ากรณีอย่างเรา…ถ้าอย่างส่วนรวมก็ตอบไม่ได้ แต่ถ้ากรณีเรา อย่างป้าไปอยู่ที่นู่น ถ้าฝากลูกไว้ที่สามีเขาก็ต้องดูแลได้อยู่แล้ว ไม่มีใครดูลูกไม่ได้ เราเชื่อว่าเขาดูได้แน่นอน แต่จะดูได้ระดับไหน… เราก็เลยเอาลูกไปด้วย คือทุกคนก็คงจะเป็นเหมือนเรา ถ้าทิ้งลูกไว้กับพ่อ ยังไงเขาก็ดูได้ แต่ว่าจะอยู่ยังไง เรารู้อยู่แล้วว่าเขาอยู่กันยังไง ก็เหมือนว่าเราอยากจะทำสิ่งที่ดีให้ลูก ไม่ได้มีใครบังคับให้เราทำ พ่อแม่เราก็ไม่ได้บังคับให้แค่ผู้หญิง ผู้ชายเขาก็ทำ
เป็นคำถามที่คนยุโรปไม่เข้าใจ ไม่ใช่แค่ยุโรป อเมริกาด้วย ถ้าตามมาตรฐานเขาแล้ว เราก็ไม่สามารถตอบเขาได้เลยว่าทำไม
อีกอย่างหนึ่งที่เราไม่สามารถตอบเขาได้คือ ประเทศไทยเราไม่มีสวัสดิการดูแลเด็กจริงๆ เหรอ บางประเทศอย่างโปแลนด์ เขาก็เป็นประเทศที่ยากจนเหมือนกัน เขาก็ไม่เข้าใจเรา เพราะว่าขนาดเขายากจน…ก็ยังมีสวัสดิการดีกว่า
ฉากแรกๆ เราจะเห็นภาพการทำงานของหม่อง หลานของสมหมาย เธออยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร แต่งตัวมิดชิด สวมถุงมือ แล่เนื้อปลาที่ถูกลำเลียงมาตามสายพาน เธอพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานชาวเดนมาร์ก
“น้องฉันจะมาเยี่ยมแหนะ”
“หาสามีให้เธอสักคนสิ”
โอกาสคือสิ่งที่ชักนำให้แกเดินทางมา และตั้งใจไปรักกับเคลด์ แต่แน่นอน เธอไม่ได้เกาะผัวฝรั่งกิน แกทำงานกะดึกเป็นแม่บ้านทำความสะอาดออฟฟิศ มาร์ค–ลูกชายจากสามีเก่ากำลังจะเรียนจบจากโรงเรียนสอนทำอาหาร แมท–ลูกชายอีกคนของเธอกับสามีใหม่ อายุประมาณ 3 ขวบกำลังช่างพูดช่างคุย มาร์คเพิ่งได้งานที่โคเปนเฮเกน
คนดูเพศชายอย่างเราต่างสงสัย ‘ผู้ชาย’ หายไปไหนหมด
แม้ ‘ผู้ชาย’ จะไม่ได้ปรากฏออกหน้ากล้อง แต่เพศชายมีอยู่มากมายในหนังเรื่องนี้ ทั้งคนเป็นพ่อที่เพาะเห็ดไปพลางสนทนาถึงภาระหนี้สินไป ทั้งเด็กชายตัวเล็กๆ ลูกๆ ของเหล่าหญิงไทยที่กำลังจะไปมีผัวฝรั่ง ทั้งลูกชายตัวโตๆ วัยฉกรรจ์แต่เป็นผู้ป่วยนอนติดเตียงและช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย
เพศชายเหล่านี้อยู่รอบๆ ตัวผู้หญิง แต่ ‘ผู้ชาย’ ล่ะหายไปไหน ผู้ชายที่เป็นสามี ผัวเก่า พ่อของเด็ก หรือกระทั่งชายหนุ่มในหมู่บ้านที่มีความสัมพันธ์กับผู้หญิงเหล่านี้ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในตัวผมกระตุ้น ego และความหยิ่งทะนง ไม่มีผู้ชายสักคนเชียวหรือที่ดูแลผู้หญิงเหล่านี้ได้ ไม่มี ในภาพยนตร์ไม่ปรากฏร่าง ผู้ชายเหล่านั้นเหมือนผี ที่โผล่ในหนังเพียงเค้าลางของเรื่องเล่าเท่านั้น
เช่น เรื่องเล่าของการใช้กำลังและการทารุณกรรมที่ประสิทธิ์ (หญิงไทยอีกคนที่เดนมาร์ก) รำลึกให้ฟังถึงฉากตอนอันน่าสะเทือนใจ ถีงความรุนแรงที่เธอประสบพบเจอมา เธอเล่าจนน้ำตาค่อยๆ ไหล
เรื่องเล่าสั้นๆ ของแสง สาววัย 23 ที่มีลูกหนึ่งคน เธอมาพบสมหมายเพราะอยากไปแต่งงานกับคนเดนมาร์ก แต่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ตามกฎหมาย (“อีกปีเดียวเอง”) และปีเดียวนี้เธอไม่อาจรอได้ จึงไปทำงานที่พัทยา หนังไม่กล่าวถึงสามีของแสงเลยแม้แต่นิด ผู้ชายของเธอเหมือนผี แต่ ‘ของมันต้องมี’ (สิวะ) เพราะลูกชายของเธอไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่
เรื่องเล่าอื่นๆ ของผู้ชายคนอื่นๆ คงไม่ต้องเล่า แต่สังคมก็ฉายภาพและเล่นซ้ำจนเรานึกตามได้อย่างง่ายดาย สามีขี้เมาไม่มีเงินเหลือจุนเจือครอบครัว เตะเมียเล่นเหมือนเตะลูกฟุตบอล อีกะหรี่–เขาอาจก่นด่าอย่างโกรธเกรี้ยวยามรู้ว่าพวกเธอไปทำงานที่พัทยา อีร่าน–เขาด่าแก้เก้อเมื่อรู้ว่าเธอได้กับผัวฝรั่ง แต่ทั้งหมดนั้นก็ไม่เห็นว่าพรุ่งนี้จะมีอะไรดีกว่าวันนี้ ไม่มีอนาคต ฯลฯ
…
Q: เคยนึกสงสัยไหมคะว่าทำไมผู้ชายไทย… แต่ไม่ได้เหมารวมผู้ชายไทยทุกคนนะ ทำไมถึงมีปัญหาเรื่องกินเหล้าเมายา ตบตี เคยนึกสงสัยไหมว่าสังคมไทยมันเป็นอะไร
สมหมาย: อันนี้ตอบยากนะคะ แต่ถ้าจากความรู้สึกแล้วมันก็ไม่ได้ทุกคนนะคะ เป็นแต่สังคมบ้านนอกหรือเปล่า แต่ถ้าสังคมในเมือง หรือว่าสังคมคนระดับกลาง หรือว่าสังคมของคนที่เขามีหน้าที่การงานดีๆ ทำ ก็อาจไม่มีปัญหาแบบนั้นก็ได้ แต่ถ้าจะให้ป้าตอบก็คือ ป้าอยู่ในสังคมของบ้านนอก คือมันเหมือนกับอยู่ในอีกสังคมหนึ่งหรือเปล่า ก็เลยทำให้… เหมือนผู้ชายบ้านนอก… หน้าที่ของผู้หญิงก็คือดูแลเลี้ยงลูกนะ ฉันไม่ต้องรับผิดชอบหน้าที่อย่างอื่น หลังจากทำงานแล้วผู้ชายก็เลยไปกินเหล้าเมายาได้ จะเป็นเพราะสังคมเราไหม หรือยังไง ตอบยากมากเลยนะคะ
Q: ถ้าเราเปรียบเทียบกับที่เดนมาร์กแล้ว เขาสอนยังไง ผู้ชายทำหน้าที่อะไรในครอบครัว
สมหมาย: มันแตกต่างกันมากเลย เพราะว่าที่เดนมาร์กสามีภรรยาถ้าทำงาน สมมุติว่าสามีทำงานเช้า ภรรยาทำตอนเย็น แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงผู้ชาย ถ้าคนไหนอยู่บ้านก็ต้องทำหน้าที่ ผู้ชายก็ต้องทำได้หมดทุกอย่างแบบที่ผู้หญิงทำ ผู้หญิงต้องทำได้หมดเหมือนผู้ชายทำ
ทำกับข้าว ดูแลเลี้ยงลูก ซักผ้า สารพัด ต้องทำได้หมด แล้วข้อดีอีกอย่างของสถาบันครอบครัวของเดนมาร์กคือ ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องไปง้อผัวเหมือนคนไทยเรา อย่างคนไทยเราบางคน… พูดง่ายๆ อย่างป้าแต่งงานครั้งแรก พอสามีตายก็อยู่คนเดียวกับลูก กับญาติ ทีนี้มันทำมาหากินไม่ได้ เราก็จำเป็นต้องมีผัวใหม่ เพื่อจะให้เขามาช่วยเหลือเรา
จริงๆ ถ้าสังคมไทยช่วยเหลือเราบ้าง มีสวัสดิการ เราก็ไม่ต้องไปง้อให้มากมายเลย แต่สังคมเดนมาร์ก พอแยกทางกัน สวัสดิการเขามีทุกอย่างเยอะแยะมากมาย ขนาดลูกเยี่ยวใส่ที่นอนไปเอาที่นอนใหม่ก็ยังได้เลย
พอผู้หญิงไม่จำเป็นต้องง้อผู้ชายให้มากมาย ผู้หญิงก็เลยมีสิทธิ มีอิสระ มีเสรีภาพมากในการตัดสินใจว่าฉันอยากทำยังไงกับชีวิต ทำยังไงก็ได้ ฉันอยากอยู่กับใครก็ได้ ผู้หญิงไทยเราไม่ค่อยมีโอกาสแบบนั้น
สังคมกล่อมเกลาเราด้วยบทบาทหน้าที่ของความเป็นชายและความเป็นหญิง สังคมชี้นิ้วบอกเราว่าผู้หญิงที่ดีควรประพฤติตนเช่นไร ผู้ชายที่ดีควรมีบทบาทแบบไหน สิ่งที่ดีที่สังคมบอกเราก่อนเข้าโรงหนังเป็นสิ่งปากว่าตาขยิบ เราต่างรู้ว่าสังคมนั้นพูดอย่างแต่ใจอยากอีกอย่าง เหล่าสตรีผู้มีการศึกษาที่มองเหยียดหญิงไทยผิวคล้ำที่พัทยา หรือหญิงที่ต่อคิวในด่านตรวจคนเข้าเมือง หรือบรรดา ‘ผีน้อย’ ฯลฯ
พวกเธอทำให้ฉันถูกมองไม่ดี ทำให้ฉันขอวีซ่ายาก
แต่หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องเรียบง่ายและจริงแท้โดยไม่ต้องชี้นิ้วไปทางไหนทั้งนั้น หนังเรื่องนี้บอกสั้นๆ ว่าไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชาย จะสูงต่ำดำขาว เรียนจบ ม.3 หรือ MBA ทุกชีวิตต่างหาทางไป
และเหล่าผู้หญิงในหนังเรื่องนี้ คือกลุ่มคนที่ถูกสังคมตัดสินแล้วว่าผิดว่าพลาด พวกเธอเคยมีผัว ถูกทิ้ง มีลูกติด และในการดิ้นรนเพื่อเศรษฐกิจและปากท้อง หลายคนก็มุ่งหน้าไปเป็น sex worker ที่พัทยา
บทสนทนาเรียบง่ายคือแม่คนหนึ่ง (มือยังพัลวันกับการแต่งตัวให้หลานตัวเล็กๆ) คุยกับลูกสาว
“จะไปทำงานใช่ไหม”
“อื้อ”
“งานอะไรน้อ ทำไมต้องเปิดนมด้วย”
ทั้งคู่ยิ้มมุมปากอย่างรู้กัน
“อย่าให้พ่อมึงรู้ละกัน เขาไม่ให้ไปหรอก”
สมหมาย: คำว่า ‘ผัวฝรั่ง’ นั้น มันก็เป็นคำพูดที่ทำให้ตอกย้ำจิตใจผู้หญิงที่ไปมีผัวฝรั่ง หรือผู้หญิงที่ไปขายบริการมาก ทุกวันนี้ความรู้สึกของป้าก็… ถ้าจะถามว่าอายไหม ก็อายนะคะ
ยังไงก็ยังมีความรู้สึกว่าตัวเองก็ยังต่ำต้อยอยู่ สังคมไทยเราก็ยังไม่ได้ยอมรับขนาดนั้น ถามว่าอายไหม อายมาก… อยากให้ยอมรับพวกเราให้มากขึ้น แต่ก็เข้าใจ ว่าด้วยมันเป็นสังคมไทย ค่านิยมปลูกฝังมาจากบรรพบุรุษ ความรู้สึกก็อายนะ ก็ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนคนอื่น
Q: ถ้าสมมุติว่าเดินผ่านแล้วมีคนมองแบบเหยียดๆ จะเข้าไปบอกอะไรเขาไหมคะ
สมหมาย: ก็ไม่นะคะ ก็ไม่ได้อยากจะบอกอะไร ก็เหมือนที่เคยเล่าว่า อย่างป้าที่ไปทำงานพัทยาแรกๆ พี่เขยเราเองก็ไม่คุยกับเรา เวลาเขาทะเลาะกับพี่สาวเรา เขาก็จะพูดว่าน้องสาวมึงเป็นกะหรี่นะ เวลาเรากลับบ้านเขาก็จะไม่คุยกับเรา พอต่อมา หลังๆ ถึงค่อยดีขึ้น ค่อยยอมรับเรา คือ …
(ถอนหายใจ)
คือยังไงเราก็ถูกปลูกฝังมา ก็ไม่เคยโกรธ อย่างเราไปทำงานที่พัทยา เรากลับมาในหมู่บ้าน ผู้ชายในหมู่บ้านที่…ถึงจะมีลูกมีเมียแล้ว แต่เขาจะมองเราในอีกลักษณะหนึ่ง เหมือนจะดูถูกเรา อยากจะมาเกาะแกะเรา เราก็เข้าใจเขานะ มันเป็นความเชื่อของผู้ชายประเทศเรา ก็ไม่ได้โกรธเขา เราไม่ได้อยากตอบโต้อะไรเขา เราก็พยายามทำให้เขาได้เห็นว่า เราไม่ได้เป็นแบบนั้นนะ ที่เราไปทำงานอย่างนั้นเราทำเพื่ออะไร
อยากจะเล่าให้ฟังว่า พอหนังฉายที่เดนมาร์ก พอคนไทยเราได้ดูปุ๊บเขาโกรธป้ามากเลยนะ เขาด่ากันใหญ่เลย (หัวเราะ) ว่าเอาประเทศตัวเองมาขาย ไปเป็นกะหรี่มาเหรอ โทรมาด่าเรา เอาหน้าตาของประเทศมาขาย เอาภาพที่พัทยาเต้นๆ มาโชว์ เขาคงรู้สึกเหมือนขายหน้า คนอื่นมองประเทศเราไม่ดี
Q: แล้วตอบเขาว่ายังไง
สมหมาย: ก็ตอบว่า แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนนะ มันก็จะมีส่วนดีอยู่ในการที่ทำสารคดีนี้ ก็ไม่ได้มีแต่ส่วนเสีย บางคนเขาก็บอก ฉันไม่ได้มาในลักษณะแบบเธอนะ ฉันมาเจอแฟนฉัน ฉันทำงาน เราก็ไม่ได้โกรธนะ เราก็ตอบไปว่า เราเล่าเรื่องชีวิตของพวกเรา เราไม่ได้พูดถึงส่วนรวมว่าคนไทยมาแบบนี้หมดทุกคน
แต่ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ มาในลักษณะไหนก็แล้วแต่ แต่จุดประสงค์ของเธอก็เหมือนของฉัน มาเพื่อครอบครัว เพื่อความอยู่รอดของครอบครัวทั้งนั้น
ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาถ่ายทำถึง 10 ปี แน่นอนว่าแต่ละชีวิตย่อมประสบกับความเปลี่ยนแปลง และบางตัวละครก็ประสบกับความร้าวรานยิ่งนัก
ชีวิตไม่เบามือกับ เขา/เธอ เลยสักนิด แต่ถึงจะอย่างนั้น บางทีส่วนที่เศร้าที่สุดในเรื่องราวเหล่านี้ อาจจะเป็นเหล่าผู้ชายที่ไม่ปรากฏ เหล่าผี ที่ไม่สามารถหาทางไปที่ไหนได้
ถ้าเรามีแคว้นทุ เป็นดั่งแดนลี้ภัยของเหล่าหญิงผู้ถูกสังคมไทยขับไส เรามีแคว้นไหนบ้างไหมที่พร้อมจะโอบอุ้ม เป็นแดนพักพิงของเหล่าผู้ชาย ที่เป็นผู้พ่ายแพ้ในเกมแห่งชีวิต
ถามแบบนี้อาจจะเป็นการเรียกร้องมากไป แต่ในโลกที่เลื่อนไหล ในบทบาททางเพศและสถาบันครอบครัวที่มีความเท่าเทียมทางเพศ ชายชาวเดนมาร์กในเมืองเล็กๆ นี้ ที่มีความรักกับสาวไทย พวกเขาก็มีปัญหาของตัวเองเช่นกัน บ้างประสบกับความสูญเสีย ภรรยาฆ่าตัวตาย โดดเดี่ยวยามชรา หรือกระทั่งฟ้ามืดๆ ที่ทำให้การอยู่คนเดียวในบ้านว่างเปล่านั้นเกินจะทานทน (“มันดำซะจนรู้สึกเหมือนกับอยู่ในนรก” ประสิทธิ์บรรยายถึงฟ้าที่ทุ)
ความรักที่เกิดจากการ ตั้งใจไปรัก นี้ จึงเป็นแง่งามและต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน
สมหมาย: อยากให้รัฐบาลดูแลในส่วนของการศึกษา เรื่องสุขภาพอนามัยของประชาชนให้ดีขึ้นกว่านี้หน่อยนึง คืออย่างน้อย ไม่ต้องทำให้ดีเหมือนเขาหรอก เอาแค่ครึ่งหนึ่งของเขาก็ยังดี
ปัจจัยหลักๆ ของสถาบันครอบครัวเรา ควรจะเป็นเรื่องการศึกษาของลูก ความเป็นอยู่ แล้วก็ความเจ็บป่วยของพ่อแม่ ถ้าเรามีรัฐบาลมาดูแลในส่วนนั้น เราก็จะได้มีโอกาส และเงินที่เราหามาได้ จะได้ใช้อย่างอื่นได้บ้าง ก็อาจจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นกว่านี้ ผู้หญิงก็จะได้ไม่ต้องไปดิ้นรนไปอดทนที่บ้านเมืองอื่นเขาขนาดนี้ บ้านเขา ประชาชนเขา โอ้โห… เขาอยู่อย่างมีความสุข ทำไมบ้านเราอยู่อย่างนั้นไม่ได้
ดูแลประชาชนให้ดีกว่านี้ อย่าเหลื่อมล้ำต่ำสูงมากเกินไป อย่าให้โอกาสแต่คนรวย คนจนก็ให้โอกาสเขาบ้าง
แล้วความรักคืออะไรล่ะ เราจะยังมีรักได้ไหม ถ้าหากทุกบาททุกสตางค์ที่เราหาได้ หมดไปกับค่าใช้จ่าย ค่าชุดนักเรียน ค่าเครื่องเขียน ค่าหนังสือตำรา ค่าอาหารกลางวัน ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ
แล้วความรักจะงอกเงยจากอะไรล่ะ ถ้าหากผืนแผ่นดินที่เราไถหว่านจนให้ผลผลิต ตอบแทนด้วยราคาอันน้อยนิด และให้ปะทังชีวิตไปวันๆ ด้วยเศษเหลือจากการชำระหนี้ ธกส.
แล้วความรักที่เราเทิดทูนไว้จนห้ามแตะต้องของการผูกสัมพันธ์เป็นชาตินี้ล่ะ… เรารักพวกเธอไหม เรารักสามีขี้เหล้าเหล่านั้นไหม เราดูแลและให้ความหวังในชีวิตคนตัวเล็กตัวน้อยบ้างไหม
หรือแค่เลี้ยงไข้ ขูดรีด ฉีดยาชา พันธนาการ และจำต้องโบยตีหากชีวิตเหล่านี้กระด้างกระเดื่องเพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่รักดี ไม่มีศีลธรรม ไม่รู้จักบาปรู้จักบุญ
Q: ในหนังมีตอนหนึ่งที่สมหมายพูดขึ้นมาว่า คิดไหมว่าผู้หญิงที่เป็นผู้หญิงหากินนั้น ตายไปจะตกนรก ทำไมจึงถามคำถามนี้
สมหมาย: ตั้งแต่เล็กจนโตเราเคยได้ยินพี่น้องหรือปู่ย่าตายายพูดว่า มันเป็นสิ่งที่ไม่ดี ตกนรกหมกไหม้นะ มันเป็นเรื่องจริงไหม จริงๆ ลึกๆ เรากลัวไง ถ้าเกิดเราตายไปเราจะตกนรก
ตอนนี้ ก็ยังคิดอยู่นะว่า สิ่งที่เราได้ยินมาจากปู่ย่าตายายก็อาจจะเป็นเรื่องจริง แต่ว่าเราจะทำยังไง เราทำไปแล้ว… ตกก็ต้องตกสิ
Q: แต่ว่าที่ผ่านมาในชีวิตสมหมายเลี้ยงดูคนทั้งบ้าน 11 คน แล้วก็ยังช่วยผู้หญิงไทยให้ไปมีชีวิตที่ดีขึ้นที่เดนมาร์กอีกสี่สิบกว่าคน ยังไม่ได้นับว่าที่คนอื่นช่วยต่อๆ กันไปอีก ไม่คิดว่ามันทดแทนกันได้หรือ
สมหมาย: ถ้าเป็นความเชื่อส่วนตัว… เราคิดว่าไม่ได้
บั้นปลายชีวิต สมหมายยังคงตั้งใจกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เช่นเดียวกับนีลส์ในวัยชรา ที่ยืนยันว่าต้องการอยู่ที่เดนมาร์กเป็นที่พำนักสุดท้าย
เรื่องราวชีวิต 65 ปีของสมหมาย สอนความหมายของคำว่ารักแก่ข้าพเจ้าได้หนักหน่วงนัก.
*บทสนทนาบันทึกจากช่วง Q&A โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากการฉายรอบสื่อมวลชนเมื่อวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงภาพยนตร์ House Samyan