อำนาจนาม อำนาจนำ และการช่วงชิงความหมาย จากกรณีนามพระราชทาน ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’

กันยายน 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานนาม ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) แทนชื่อเดิม ‘สถานีกลางบางซื่อ’ (Bang Sue Grand Station) ตามคำขอพระราชทานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

นามพระราชทานใหม่นอกจากจะสร้างความฮือฮาแล้ว ประชาชนยังต้องอ้าปากค้างอีกครั้ง เมื่อพบว่างบประมาณการรื้อถอนและติดตั้งป้ายชื่อใหม่บริเวณโดมของอาคารสถานีกลางบางซื่อ มีมูลค่าสูงถึงกว่า 33 ล้านบาท ซึ่ง รฟท. ชี้แจงว่า เหตุที่ค่าใช้จ่ายสูงเนื่องจากต้องเปลี่ยนผนังกระจกใหม่ เพราะป้ายเดิมมีโครงสร้างเหล็กที่ยึดตัวอักษรไว้กับเสารับน้ำหนักอาคาร 33,169,726.39 บาท จึงเป็นตัวเลขที่สมเหตุสมผล มากไปกว่านั้น การเปลี่ยนป้ายบอกทาง ‘สถานีกลางบางซื่อ’ ก็คงใช้งบจำนวนมหาศาลไม่ต่างกัน

หนึ่งในหลายคำถามที่ตามมาคือ เหตุใดจึงไม่ขอพระราชทานนามเสียตั้งแต่ต้น ทั้งที่ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เป็นชื่อเรียกที่ติดปากคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นำมาสู่ข้อสงสัยที่ว่า เหตุใดศัพท์แสงหรือพระนามของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์จึงมักผูกโยงอยู่กับสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่หรือโครงการพัฒนาของรัฐ ใช่หรือไม่ว่า การขอนามพระราชทาน นัยหนึ่งอาจเป็นไปเพื่อเสริมสร้างสิริมงคลให้กับอาคารสถานที่นั้นๆ หรืออาจเป็นขนบบางอย่างเพื่อจัดลำดับความสัมพันธ์พิเศษของชนชั้นนำ

มากไปกว่านั้น ยังบ่งบอกถึงความพยายามช่วงชิงความหมายของคำว่า ‘อภิวัฒน์สยาม’ หรือเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไปจากคณะราษฎรอีกครั้ง เพราะ ‘อภิวัฒน์’ มีความหมายว่า ‘ความงอกงามอย่างยิ่งหรืออย่างวิเศษ’ ดังนั้น คำเกิดใหม่อย่าง ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’ จึงตอกย้ำความพยายามรวบความเจริญไว้ที่ศูนย์กลางอย่างเมืองหลวง สอดคล้องกับเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ที่มีการรื้อ ทุบ ทำลาย เพื่อลบล้างภาพจำอันเป็นมรดกของคณะราษฎร โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา ทำให้สัญลักษณ์ของประชาธิปไตยในรูปวัตถุและประวัติศาสตร์ตายลงอย่างช้าๆ

ชื่อของเจ้า ไม่ใช่สิ่งใหม่ในประเทศที่เป็นของเจ้า

ไล่เลียงตั้งแต่สิ่งที่เราคุ้นเคยที่สุดอย่าง ‘ถนนพระราม’ ทั้ง 7 สาย คำว่า ‘พระราม’ ในที่นี้คือสร้อยนามของกษัตริย์ราชวงศ์จักรี โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เรื่องประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธย ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2459 ทรงเห็นว่า ควรเฉลิมพระปรมาภิไธยกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ให้ทรงพระนาม ‘สมเด็จพระรามาธิบดี’ ทุกพระองค์ ตามที่ข้าราชการและพระบรมวงศานุวงศ์กราบบังคมทูล

ธรรมเนียมการเปลี่ยนชื่อถนนตามพระนาม เริ่มขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2462 เมื่อรัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้นครบาลเปลี่ยนแปลงชื่อ ‘ถนนประทุมวัน’ เป็น ‘ถนนพระรามที่ 1’ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เพราะเป็นเส้นทางที่พระองค์เดินทัพกลับจากเขมร รวมถึงเปลี่ยนชื่อ ‘ถนนหัวลำโพง’ เป็น ‘ถนนพระรามที่ 4’ เพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้มีพระราโชบายขุดคลองลัดและถนน และเปลี่ยนชื่อ ‘ถนนลก’ เป็น ‘ถนนพระรามที่ 5’ เพราะคำว่า ‘ลก’ ในสำเนียงแต้จิ๋ว หมายถึง ความบริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ สอดคล้องกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ผู้พร้อมด้วยปัญญา บริวาร และความมั่งคั่ง 

กล่าวได้ว่า การใช้ชื่อพระมหากษัตริย์ในสถานที่สำคัญ มีวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติ รวมถึงแสดงความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพื้นที่ เช่น สะพานพระราม 2 บริเวณอำเภออัมพวา ก็เป็นสถานที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และใช้สร้อยนามเป็นชื่อถนนตลอดทั้งสาย

หากมองในภาพกว้างโดยทั่วไปแล้ว ชื่อของร้านค้าหรือกิจการต่างๆ นานาที่มักปรากฏชื่อของบุคคลสามัญ ก็ล้วนแสดงถึงความเป็นเจ้าของและตัวตนของแบรนด์ จึงอาจเปรียบได้ว่า การที่กษัตริย์พระราชทานนามให้กับสิ่งก่อสร้างสาธารณะขนาดใหญ่ ก็คล้ายเป็นการสะท้อนถึงบารมีได้ว่า กษัตริย์เป็น ‘เจ้าของ’ สมบัติสาธารณะทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่าถนน สะพาน สวนสาธารณะ เขื่อน โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ค่ายทหาร พิพิธภัณฑ์ รวมถึงสถานที่ซึ่งผูกโยงชีวิตสามัญชนตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ล้วนมีพระนามของกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์แฝงฝังอยู่

การเปลี่ยนชื่อคือเครื่องมือของชนชั้นนำ

หากพิจารณาว่ากรณี 2475 เป็นหลักไมล์ของการเมืองเรื่องชื่อ จะพบว่า ก่อนเหตุการณ์ ‘อภิวัฒน์สยาม’ ชื่อถนน ตรอก ซอย ไม่ว่าจะเป็นถนนสายหลักหรือถนนชั้นในของกรุงเทพฯ มักใช้ชื่อบุคคลสำคัญ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือชื่อเหตุการณ์สำคัญ

ปี 2493 จึงเริ่มมีการตั้งชื่อถนนทางหลวงแผ่นดินตามชื่อบุคคลสามัญ ทั้งบุคคลในคณะราษฎร และข้าราชการที่มีคุณูปการต่อสังคม เช่น ‘ถนนสุขุมวิท’ มาจาก พระพิศาลสุขุมวิท อดีตอธิบดีกรมทางหลวง หรือ ‘ถนนพหลโยธิน’ มาจาก พระยาพหลพลพยุหเสนา สมาชิกคณะราษฎรและอดีตนายกรัฐมนตรี

จนถึงทศวรรษ 2540 การตั้งชื่อถนนตามนามสามัญชนและบุคคลที่ทำคุณประโยชน์แก่สังคมจึงเริ่มเป็นที่นิยม เช่น ในปี 2540 กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีมติประกาศให้ถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ใช้ชื่อว่า ‘ถนนประดิษฐ์มนูธรรม’ เพื่อเชิดชูเกียรติหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ราชทินนามของปรีดี พนมยงค์) ต่อมาในปี 2545 กทม. ได้อนุมัติให้ใช้ชื่อ ‘ถนนสุขุมวิท 71 (ปรีดี พนมยงค์)’ เพื่อเป็นเกียรติต่อนายปรีดี พนมยงค์ อีกสายหนึ่ง

ความสำคัญของการต่อรองทางการเมืองเรื่องการตั้งชื่ออาจสะท้อนได้จากทัศนะของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อกรณีที่ สมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าฯ กทม. ในขณะนั้น พยายามเปลี่ยนชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรม ด้วยเหตุผลว่า ถนนเส้นนี้มีชื่อยาวเกินไป จนทำให้ชาวบ้านมีปัญหาในการระบุที่อยู่ในไปรษณีย์

สมศักดิ์ชี้ว่า ความพยายามของสมัครเป็นการตัดสินใจเรื่องสาธารณะด้วยเหตุผลและความเชื่อทางการเมืองเป็นส่วนตัว (politically and ideologically motivated) ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

“ทุกครั้งที่ผมขับรถผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรมส่วนนี้ ผมอดไม่ได้ที่จะรู้สึก ‘ทึ่ง’ ว่าข้อเท็จจริงนี้มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์อย่างมหาศาล (great symbolic importance)

“ในฐานะครูสอนประวัติศาสตร์ ผมเชื่อว่า คงยากจะหาอะไรที่เป็น ‘หลักฐาน’ ร่วมสมัยที่กระตุ้นให้นักศึกษาคิดถึงลักษณะพิเศษของประวัติศาสตร์ไทยได้ดีไปกว่าข้อเท็จจริงนี้แล้ว” อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ประเด็นความพยายามเปลี่ยนแปลงชื่อถนนประดิษฐ์มนูธรรม

การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด

แม้การพระราชทานนามและเปลี่ยนตัวอักษรของ ‘สถานีกลางบางซื่อ’ เป็น ‘สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์’ อาจเป็นการตอกย้ำว่าประวัติศาสตร์ไทยยึดโยงกับสารัตถะของสถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้ง แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มากไปกว่างบประมาณ ความคุ้มได้คุ้มเสีย รวมถึงองคาพยพของการคมนาคมก็ดี ก็สะท้อนถึงวัฒนธรรมของประชาธิปไตย แม้ว่าการสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ของบรรดาอาคาร สถานที่ ถนน ตรอก ซอกซอย จะมีทั้งปริมาณและความใหญ่โตอันกระจ้อยร่อยก็ตาม

สิ่งสำคัญคือ ณ วันนี้ กระแสสังคมอาจมิได้เชื่องเชื่อต่อการออกแบบของโครงสร้างส่วนบนอย่างว่านอนสอนง่ายอีกต่อไป เพราะกระทั่งนาฬิกาเรือนยักษ์ที่มีเพียงเลข ‘๙’ ก็ไม่วายถูกตั้งคำถามว่า อาจสร้างความยากลำบากต่อการดูเวลาหรือไม่

การต่อรองทางการเมืองผ่านการตั้งชื่อสะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนอีกครั้งในช่วงปี 2563 อย่างกรณี ‘สนามหลวง-สนามราษฎร’ เมื่อกลุ่มราษฎรคนรุ่นใหม่พยายามจัดกิจกรรมทางการเมือง ทวงคืนสนามหลวงให้เป็นพื้นที่สาธารณะของสามัญชน จากการชุมนุม ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’ หรือกรณีการตั้งกองทุน ‘ราษฎรประสงค์’ เพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาจากคดีทางการเมือง อันเป็นคำพ้องเสียงกับชื่อสี่แยก ‘ราชประสงค์’ ซึ่งยึดโยงกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

กล่าวคือ เวทีการต่อสู้ทางการเมืองของราษฎรได้รุกคืบเข้าสู่พื้นที่ที่ชนชั้นนำเคยมีสิทธิผูกขาดในการใช้อำนาจ นั่นคือเวทีของคำศัพท์ คำนาม และป้ายบอกทาง

ท้ายสุด คงไม่มีใครพูดหรอกว่า “เราจะไปเปลี่ยนสายที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ขึ้นรถไฟชานเมืองสายนครวิถี เพื่อกลับบ้านที่ตลิ่งชัน”

อ้างอิง

Author

ยสินทร กลิ่นจำปา
ผู้ปกครองของแมวน้อยวัยกเฬวราก จิบเบียร์บ้างตามโอกาส จิบกาแฟดำเป็นครั้งคราว จิบน้ำเปล่าเป็นกิจวัตร เชื่อว่าสิ่งร้อยรัดผู้คนคือเรื่องราวและความหวัง พยายามเขย่าอัตตาตนเองด้วยบทสนทนากับคนรอบข้าง

Illustrator

ณขวัญ ศรีอรุโณทัย
อาร์ตไดเร็คเตอร์ผู้หนึ่ง ชอบอ่าน เขียน และเวียนกันเปิดเพลงฟัง

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า