การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 อันนำมาซึ่งระบอบการปกครองรูปแบบใหม่ ซึ่งภายหลังมีชื่อเรียกว่าระบอบประชาธิปไตย ถูกค่อนขอดโดยกลุ่มปฏิปักษ์คณะราษฎรเสมอมาว่าเป็นการด่วนใจร้อน ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ เพราะราษฎรส่วนใหญ่ในสยามประเทศในเวลานั้นยังขาดความรู้ความเข้าใจในตัวระบอบ ทั้งยังไม่ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึง ดังนั้นจึงควรให้ราษฎรมีความรู้และการศึกษาที่ดีก่อน จึงค่อยเปลี่ยนไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
แม้การโจมตีและลดความชอบธรรมของกลุ่มปฏิปักษ์คณะราษฎรจะมีความย้อนแย้งอยู่ในตัว จากเหตุผลที่ว่าราษฎรชาวสยามในเวลานั้นไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างทั่วถึง ก็มีสาเหตุมาจากระบบชนชั้นและความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของระบอบเก่าเอง หากย้อนดู ประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง การใช้ พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ. 2464 ซึ่งเป็นนโยบายในสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ที่ประกาศให้มีการกระจายการศึกษาทั่วประเทศ โดยเริ่มประกาศไปทีละตำบล แต่ปรากฏว่าเมื่อเวลาล่วงเลยไปกว่า 10 ปี ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน หลายตำบลในประเทศก็ยังไม่มีการศึกษาภาคบังคับที่สามารถให้การศึกษาแก่ราษฎรได้จริง
ถึงแม้ข้ออ้างด้านการศึกษา จะเป็นข้ออ้างจากฝั่งตรงข้ามประชาธิปไตยที่ชวนย้อนแย้ง จากความไม่จริงจังในการให้การศึกษาแก่ราษฎรโดยตัวระบอบเก่าเอง ซึ่งคณะราษฎรก็มองว่าการให้การศึกษากับราษฎรนั้นมีความจำเป็น เพราะระบอบใหม่ที่นำมาใช้ หากราษฎรยังไร้ซึ่งความรู้และการศึกษา ประชาธิปไตยก็ไม่อาจธำรงอยู่ได้
เมื่อพิจารณาจาก พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นปฐมรัฐธรรมนูญที่จัดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 ประเภท ซึ่งในประเภทที่ 2 รัฐบาลคณะราษฎรจะเป็นผู้คัดสรรแต่งตั้งมาเอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อประคับประคองระบอบใหม่ที่เกิดขึ้นให้เป็นไปอย่างไม่สะดุด (ซึ่งส่งอิทธิพลต่อการเกิดขึ้นของ ‘พฤตสภา’ หรือ ‘สมาชิกวุฒิสภา’ ในเวลาต่อมา)
คณะราษฎรได้กำหนดให้ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งเปรียบเสมือนพี่เลี้ยง ต้องสิ้นสุดบทบาทลงในสมัยที่ 3 หรือเมื่อราษฎรทั่วประเทศสอบไล่ระดับชั้นประถมศึกษาได้เกินกึ่งหนึ่ง ภายในขอบเขตระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตยและราษฎรที่มีการศึกษา ว่าเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินไปควบคู่กัน
เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นในย่ำรุ่งวันที่ 24 มิถุนายน 2475 สิ่งที่ตามมาก่อนเกิดปฐมรัฐธรรมนูญก็คือ หลัก 6 ประการของคณะราษฎร อันได้แก่ เอกราช ปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา ซึ่งเป็นเนื้อหาที่อยู่ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 โดยในประการที่ 6 ระบุถึงการให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะราษฎรให้ความสำคัญ
หนึ่งในมันสมองของคณะราษฎร และเป็นผู้ร่างประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ก็คือปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม ผู้ร่วมก่อตั้งคณะราษฎรที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงมีคุณูปการต่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทย ในฐานะผู้ริเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง อันเป็นมหาวิทยาลัยลำดับที่ 2 ของไทย
วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง: จุดเริ่มต้นการเข้าถึงสถาบันอุดมศึกษาของสามัญชน
ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สยามมีมหาวิทยาลัยแห่งเดียวเท่านั้น คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแต่เดิมคือโรงเรียนฝึกหัดวิชาข้าราชการพลเรือน ต่อมาถูกสถาปนา ยกฐานะให้เป็นมหาวิทยาลัยในปี 2459
ถึงกระนั้นสถานะความเป็นมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวของจุฬาฯ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ไม่ใช่สถานศึกษาที่ราษฎรสามัญจะสามารถเข้าถึงได้ คนที่สามารถเข้าเรียนจุฬาฯ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ล้วนเป็นลูกหลานของข้าราชการหรือขุนนางระดับสูงที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ การคัดเลือกนิสิตเข้าเรียนนั้น ไม่ได้วัดที่ความรู้ความสามารถมากเท่ากับชาติตระกูล ดังนั้น จึงเป็นไปได้ยากที่ลูกหลานราษฎรจะสามารถเข้าเรียนที่จุฬาฯ ได้ ยังไม่นับถึงค่าเล่าเรียนที่ไม่ได้อยู่ในระดับที่คนธรรมดาในช่วงเวลานั้นจะจ่ายไหวได้เลย
แม้แต่เหล่าผู้นำในคณะราษฎรเองที่ได้รับการศึกษาที่ดี จำนวนหนึ่งก็เป็นคนธรรมดาที่ไม่ได้มาจากวงศ์ตระกูลสูงศักดิ์ แต่มุมานะอุตสาหะจนสามารถได้ทุนไปเรียนต่อสถาบันอุดมศึกษาระดับสูงในต่างประเทศ เช่น ปรีดี พนมยงค์ ที่หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมและได้เป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาแล้ว ก็ได้รับทุนจากกระทรวงยุติธรรมให้ไปเรียนกฎหมายต่อที่ประเทศฝรั่งเศส ส่วนแปลก ขีตตะสังคะ (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ก็ได้รับทุนจากกองทัพให้ไปศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศสเช่นกัน
จะเห็นได้ว่าแม้ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สยามจะมีสถาบันอุดมศึกษามาแล้วกว่า 10 ปี แต่ก็ไม่ใช่สถาบันการศึกษาที่ใครจะสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย จนกระทั่งการถือกำเนิดขึ้นของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งที่ 2 ของประเทศ นับเป็นการปฏิวัติการให้การศึกษาแก่คนในประเทศอย่างพลิกผัน เมื่อการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม แม้แต่ลูกตาสีตาสา ลูกหลานชาวนาชาวไร่ก็ล้วนมีโอกาสเข้าเรียนได้
มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ถูกสถาปนาขึ้นในปี 2477 โดยเน้นการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกฎหมาย (ธรรมศาสตร์) และการเมือง เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่เกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลิตราษฎรที่มีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตย รวมไปถึงเข้าใจเรื่องการบ้านการเมืองที่ในเวลานั้นไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวราษฎรอีกต่อไป และแนวคิดประชาธิปไตยกับการเมืองยังเป็นเรื่องที่ราษฎรกำลังสนใจใคร่รู้อย่างมากอีกด้วย
เนื่องจากการถือกำเนิดของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ ม.ธ.ก. นั้นเป็นไปตามอุดมการณ์การให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ดังนั้น รูปแบบในการจัดการเรียนการสอน รวมไปถึงการรับผู้เข้าเรียนจึงแตกต่างจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นอย่างมา ในขณะที่จุฬาฯ มุ่งเน้นการผลิตชนชั้นนำและข้าราชการพลเรือนเข้าสู่ระบบราชการ คัดเลือกคนโดยให้ความสำคัญกับเรื่องชาติตระกูล แต่ ม.ธ.ก. ใช้หลักการจัดการเรียนการสอนแบบ ‘ตลาดวิชา’ ราษฎรที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาสามารถสมัครเข้าได้ทันที โดยไม่มีการสอบคัดเลือก และไม่มีการสอบประวัติวงศ์ตระกูล
นอกจากนั้นค่าเล่าเรียนนั้น ม.ธ.ก. ยังนับว่าถูกมาก โดยเก็บที่ปีละ 20 บาท ขณะที่จุฬาฯ เก็บค่าเล่าเรียนปีละ 90 บาท นอกจากจะถูกกว่าจุฬาฯ มากแล้ว ยังถูกกว่าค่าเล่าเรียนมัธยมปลายในสมัยนั้น ซึ่งเก็บอยู่ที่ปีละ 40 บาทอีกด้วย ทำให้ราษฎรสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้โดยไม่เดือดร้อนตัวเองและครอบครัวมากนัก โดยในปีแรกมีผู้สมัครเข้าเรียนอยู่ที่ 7,094 คน จนถึงเมื่อปี 2490 มีนักศึกษากว่า 16,429 คนที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนนักศึกษา
การไหลบ่าของนักศึกษาชนบท และการก่อตัวของชุมชนมหาวิทยาลัย
ด้วยสถานะการเป็นตลาดวิชา ไม่เน้นการเรียนการสอนในห้องเรียน และไม่บังคับให้นักศึกษาต้องเข้าเรียน นักศึกษาเพียงแต่ซื้อเอกสารการเรียนไปศึกษาด้วยตนเอง และมาสอบในวันเวลาที่กำหนดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ม.ธ.ก. ในยุคแรกที่ก่อตั้งนั้น เต็มไปด้วยนักศึกษาในวัยทำงานที่ต้องการมาเรียนเพื่อยกระดับวุฒิการศึกษาของตนเอง และมีนักศึกษาจำนวนน้อยเท่านั้นที่มาเข้าฟังบรรยายที่มหาวิทยาลัย โดยในช่วงปี 2477-2490 มีนักศึกษาที่มาฟังบรรยายอยู่ที่วันละประมาณ 100 คนเท่านั้น บรรยากาศในมหาวิทยาลัยไม่ได้มีความคึกคักหรือมีกิจกรรมที่นักศึกษาทำร่วมกันแบบที่เห็นกันในปัจจุบัน
กระทั่งบรรยากาศในรั้ว ม.ธ.ก. มาถึงจุดเปลี่ยนในปี 2492 เมื่อมหาวิทยาลัยยกเลิกการรับนักศึกษาต่างจังหวัดผ่านศึกษาธิการจังหวัด และยกเลิกการจัดสอบในต่างจังหวัดซึ่งควบคุมการสอบโดยอัยการจังหวัด ด้วยเหตุผลที่ต้องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น
การยกเลิกการรับนักศึกษาผ่านศึกษาธิการจังหวัดเช่นนี้ ทำให้นักศึกษาต่างจังหวัดจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาเรียนและสอบที่มหาวิทยาลัยโดยตรง ประชากรในรั้วธรรมศาสตร์เริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงนักศึกษาในเขตพระนครและธนบุรีเท่านั้น ส่งผลโดยตรงต่อบรรยากาศที่เปลี่ยนไป ต่อมาในช่วง 2490-2500 แม้จะมีนักศึกษามาเรียนเต็มเวลามากขึ้น แต่สัดส่วนก็ยังไม่ได้มากนัก โดยช่วงเวลาดังกล่าวธรรมศาสตร์มีนักศึกษาที่มีชื่อในระบบทะเบียนอยู่ที่ 12,000-20,000 คน มีนักศึกษาที่เข้าฟังบรรยายอยู่ที่วันละประมาณ 600-1,000 คนเท่านั้น
ธรรมศาสตร์ในลักษณะที่เป็นชุมชนมหาวิทยาลัยจึงยังไม่สามารถก่อตัวขึ้นมาได้ในเวลานี้ แต่ถึงกระนั้นจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นทุกปี รวมไปถึงจำนวนนักศึกษาที่เข้าฟังบรรยายเต็มเวลาในแต่ละวันที่เพิ่มขึ้นจนแตะหลักพัน ก็ทำให้เริ่มเห็นเค้าลางของการก่อร่างสร้างชุมชนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อคำว่า ‘การเมือง’ ถูกลบจากชื่อธรรมศาสตร์ ปิดฉากยุคสมัยคณะราษฎร
อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือการเปลี่ยนชื่อจาก ‘มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง’ เป็น ‘มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ อันเป็นผลจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ซึ่ง ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การและบุคคลสำคัญของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ
การเปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยโดยตัดคำว่า ‘การเมือง’ ออกไปนี้ มีการประกาศใน พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495 มีผลมาจากการที่คณะรัฐประหารมองว่ามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองมีส่วนสำคัญต่อเหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมือง เช่น การเป็นฐานของกองกำลังเสรีไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ใช้ในการฝึกฝนยุวชนทหาร และเป็นการพยายามตัดความเชื่อมโยงของธรรมศาสตร์กับปรีดี พนมยงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้ปรีดีใช้ธรรมศาสตร์ในการเตรียมการสู้กลับคณะปฏิวัติ
การกระทำนี้เป็นหนึ่งในความพยายามลบล้างมรดกของคณะราษฎร สอดคล้องกับช่วงเวลา 2490 เป็นต้นมา ซึ่งนักประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายคนถือว่าเป็นจุดสิ้นสุดยุคสมัยของคณะราษฎร และเป็นการลบล้างปรีดีออกจากความทรงจำของสังคมไทย รวมไปถึงสังคมธรรมศาสตร์ นักศึกษาธรรมศาสตร์ในยุคนี้เป็นต้นไป เช่น ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวอยู่บ่อยครั้งว่าเป็นยุคสมัยที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่รู้จักชื่อของปรีดี พนมยงค์ หรือไม่ตระหนักถึงความสำคัญของปรีดีที่มีต่อมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ตำแหน่งผู้ประศาสน์การไม่มีอีกต่อไป โดยมีตั้งตำแหน่งอธิการบดีขึ้นมาแทน
ผลจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ยังส่งผลต่อหลักสูตรการศึกษาที่เปลี่ยนไป มีการแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 4 คณะ ได้แก่ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และ พาณิชยศาสตร์และการบัญชี แต่ละคณะมีปริญญาบัตรตามสาขาของตนเอง ไม่ได้เป็นปริญญาบัตรกลางชื่อ ‘ธรรมศาสตร์บัณฑิต’ เหมือนอย่างแต่ก่อน
จุดสิ้นสุดตลาดวิชาธรรมศาสตร์ เมื่อการยกระดับคุณภาพ สวนทางกับการศึกษาถ้วนหน้า
เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 2500 ความเป็นตลาดวิชาของธรรมศาสตร์ก็เริ่มสั่นคลอน เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายที่มุ่งโจมตีไปที่มาตรฐานการศึกษา โดยฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักคือ ‘สภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ’ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2499 มีอำนาจในการควบคุมดูแลมหาวิทยาลัยต่างๆ ครอบคลุมไปถึงอำนาจในการยุบ แต่งตั้ง หรือปรับปรุงหลักสูตรในสถาบันอุดมศึกษาด้วย
ประเด็นสำคัญที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบตลาดวิชาของธรรมศาสตร์ คือการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน และมีการใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากนโยบายสร้างชาติของรัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้มีประชากรเพิ่มมากขึ้น และธรรมศาสตร์ในฐานะตลาดวิชาที่ไม่มีการสอบคัดเลือกและมีอัตราค่าเล่าเรียนที่ไม่สูงนัก จึงทำให้มีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี 2500-2502 มีผู้สมัครเข้าเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี คือ 4,372 คน 5,389 คน และ 6,976 ตามลำดับ
แม้อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะนั่งดำรงตำแหน่งอยู่ในสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติด้วย ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ แต่ผู้บริหารส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีความเห็นสอดคล้องกับสภามหาวิทยาลัยที่ต้องการจะปรับปรุงมาตรฐานการศึกษาด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในปี 2503 ธรรมศาสตร์จึงยกเลิกระบบตลาดวิชาและหันมาใช้ระบบสอบเข้าแทน
หลังการยกเลิกตลาดวิชาและจัดให้มีการสอบเข้า ในช่วงแรกยังไม่มีการจำกัดจำนวนนักศึกษา เพราะระบบสอบเข้านั้นผู้สอบต้องแข่งกับตัวเอง หากทำข้อสอบได้คะแนนเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีสิทธิในการเข้าศึกษา การเปลี่ยนรูปแบบการรับนักศึกษาเช่นนี้ ส่งผลให้จำนวนนักศึกษาที่เข้าใหม่ในปีนั้นลดลงอย่างมาก จากปี 2502 มีนักศึกษาเข้าใหม่อยู่ที่ 6,976 คน แต่ในปี 2503 ลดเหลือเพียง 1,795 คนเท่านั้น
ทว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอบเข้า ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้จำนวนนักศึกษาธรรมศาสตร์ลดลง แต่ยังมีมาตรการขึ้นค่าธรรมเนียมการศึกษาตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยต้องการนำเงินที่ได้เพิ่มขึ้นในส่วนนี้ไปจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสูงขึ้น
แต่เดิมนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จะจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาอยู่ที่ 10 บาทต่อปี ก็มีการปรับขึ้นเป็น 50 บาท 100 บาท และ 200 บาท ตามลำดับ ซึ่งนอกจากค่าธรรมเนียมการศึกษาแล้ว ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าสอบ ค่าวิทยานิพนธ์ ค่าขึ้นทะเบียนบัณฑิต ก็มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า
การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมต่างๆ มากมายเช่นนี้ ถือเป็นจุดสิ้นสุดความเป็นตลาดวิชาของธรรมศาสตร์อย่างแท้จริง และเป็นการกีดกัดไม่ให้คนยากจนมีโอกาสเข้ามาเรียนได้ เนื่องจากไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนไหว นับเป็นการผันแปรทางอุดมการณ์ของธรรมศาสตร์ที่เคลื่อนจากเดิมคือการให้การศึกษาแก่ราษฎรอย่างเท่าเทียม มาเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งยกระดับทางการศึกษาให้มีคุณภาพสูงแทน
ผลจากการปิดตลาดวิชาของธรรมศาสตร์ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน โดยมีการบังคับให้นักศึกษาต้องเข้าฟังบรรยายที่มหาวิทยาลัย ส่งผลให้นักศึกษาที่ทำงานไปด้วย และหวังยกระดับคุณวุฒิของตัวเอง ด้วยการอ่านตำรา และรอเข้าสอบด้วยตัวเอง ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม ผลพวงที่ตามมาคือการก่อร่างสร้างตัวของชุมชนธรรมศาสตร์ เนื่องจากนักศึกษาในช่วงเวลานี้ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการมาเรียนที่มหาวิทยาลัย บรรยากาศในมหาวิทยาลัยจึงมีความคึกคักขึ้น มีการกำเนิดขึ้นของกิจกรรมต่างๆ รวมไปถึงธรรมเนียมประเพณีเฉพาะตัวของแต่ละคณะ สายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้องได้ก่อตัวขึ้น โฉมหน้าของธรรมศาสตร์ในยุคเปลี่ยนผ่านและยุคก่อตั้งจึงแตกต่างไปพอสมควร ซึ่งเป็นรากฐานของบรรยากาศการเรียนในธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน
ตลาดวิชายังไม่ตาย การกำเนิดของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
แม้ตลาดวิชาธรรมศาสตร์จะสิ้นสุดลงในปี 2503 แต่ด้วยค่านิยมของสังคมซึ่งมองว่าการส่งลูกหลานเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้น เป็นหนึ่งในความหวังที่จะช่วยยกสถานะของตนเอง รวมไปถึงเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งงานและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าได้ ประกอบกับสถานการณ์จำนวนนักเรียนมัธยมสายสามัญทั่วประเทศที่มุ่งเข้ามหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่กลับไม่มีสถาบันอุดมศึกษาที่เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องการสมัครเข้าเรียน ดังนั้น ในปี 2514 มหาวิทยาลัยตลาดวิชาจึงถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
การก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น นับว่าขัดกับนโยบายอุดมศึกษาของสภาการศึกษาแห่งชาติ ที่ก่อนหน้านี้ได้มีการยุติบทบาทของธรรมศาสตร์ในฐานะตลาดวิชา เพราะมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ และต้องการยกระดับมาตรฐานการศึกษา รวมไปถึงในเวลานั้นสภาการศึกษาฯ ก็ต้องการที่จะควบคุมคุณภาพของผู้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นผู้คนในสังคมล้วนมีความต้องการที่จะส่งลูกหลานเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ดังนั้น นักการเมืองจึงได้ผลักดันการก่อตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างเต็มที่ จนสามารถก่อตั้งได้สำเร็จ
รามคำแหงในฐานะตลาดวิชา อาจเรียกได้ว่าเป็นการรับช่วงต่อมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าเล่าเรียนที่ไม่สูงนัก คนยากจนก็สามารถส่งลูกหลานเข้าเรียนได้ หรือนักศึกษาสามารถทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วยได้ และยังไม่มีการบังคับให้ต้องเข้าฟังบรรยายแต่อย่างใด
จากค่านิยมของคนในสังคมที่ต้องการเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา และการที่นักศึกษาในต่างจังหวัดสมัครเข้ามาเรียนรามคำแหงจำนวนมาก ทำให้บรรยากาศในมหาวิทยาลัยค่อนข้างคล้ายคลึงกับมหาวิทยาลัยอื่น หรือคล้ายคลึงกับธรรมศาสตร์ คือมีกิจกรรมที่ให้นักศึกษาได้ทำร่วมกัน สร้างสายสัมพันธ์กันได้ แม้ตัวมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะไม่ได้บังคับให้ต้องเข้าฟังบรรยาย แต่ก็ไม่ได้ทำให้บรรยากาศมีความเงียบเหงาเช่นธรรมศาสตร์ในยุคแรกแต่อย่างใด
แม้รามคำแหงจะไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นในฐานะมหาวิทยาลัยที่ชูเรื่องการเมือง แต่ด้วยบริบทสังคมในเวลานั้น ประกอบกับความเบื่อหน่ายกับการอยู่ในระบอบเผด็จการมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนมาถึงสมัย 3 จอมเผด็จการอย่าง จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร จึงทำให้นักศึกษารามคำแหงมีการทำกิจกรรมแสดงออกในเชิงการเมืองเช่นกัน กรณีสำคัญคือการจัดพิมพ์หนังสือ มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ ที่มีเนื้อหาเสียดสีจอมพลถนอมและจอมพลประภาส จากเหตุการณ์การล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่นเรศวร และการต่ออายุราชการของตนเอง จนนำมาสู่ความหวาดระแวงของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่สั่งลบชื่อนักศึกษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มดังกล่าวออกจากมหาวิทยาลัย
จากจุดเริ่มต้นของการลบชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงนำไปสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นำชื่อนักศึกษาดังกล่าวกลับเข้ามหาวิทยาลัยตามเดิม และขยายไปสู่การเรียกร้องในเรื่องที่ใหญ่ขึ้นต่อไป เช่น การลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญโดยนิสิต นักศึกษา และบุคคลหลากหลายอาชีพ 100 คน จนมีผู้ถูกจับกุมและถูกเรียกขานว่า ‘13 ขบถรัฐธรรมนูญ’ กระทั่งต่อมาได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งจบลงด้วยการหนีออกนอกประเทศของ 3 จอมเผด็จการ
รามคำแหงจึงไม่เพียงรับช่วงต่อจากธรรมศาสตร์ในแง่ตลาดวิชาและอุดมการณ์ในการให้การศึกษาอย่างเท่าเทียมแก่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังรับช่วงต่อ ‘การเมือง’ ที่ถูกตัดทอนไปจากป้ายชื่อธรรมศาสตร์ (ก่อนที่จะหวนคืนกลับมาอีกครั้งในยุคหลัง) อีกด้วย
อ้างอิง
- ประกาศกระทรวงธรรมการ เรื่อง การใช้ พ.ร.บ.ประถมศึกษา พ.ศ. 2464
- พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475
- พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2495
- พระราชบัญญัติสภามหาวิทยาลัยแห่งชาติ พ.ศ. 2499
- พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2514
- ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2556). และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลาฯ (พิมพ์ครั้งที่ 2). ฟ้าเดียวกัน.
- ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ. (2535). สำนักนั้นธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2477-2511. ดอกหญ้า.