What We Need to Know: #Indyref2 เมื่อสก็อตแลนด์ขอแยกตัวจากอังกฤษอีกครั้ง

ภาพประกอบ: antizeptic
TAKEAWAYS:
  • ปี 1707 สก็อตแลนด์ทำสัญญา Union รวมกับราชอาณาจักรอังกฤษ 100 ปีถัดมา ไอร์แลนด์ร่วมทำสัญญาด้วย แต่สามารถแยกออกเป็นประเทศอิสระได้สำเร็จปี 1922 ยกเว้นไอร์แลนด์เหนือที่ยังคงอยู่ใน Union ร่วมกัน ปัจจุบันสหราชอาณาจักรประกอบไปด้วย อังกฤษ สก็อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ
  • สก็อตแลนด์เป็นกึ่งรัฐกึ่งอิสระของสหราชอาณาจักร ตำแหน่งผู้นำเรียกว่า First Minister มีสภาและรัฐบาลท้องถิ่นของตนเอง แต่บทบาทด้านการระหว่างประเทศ การเก็บภาษี และทหาร เป็นอำนาจของรัฐบาลอังกฤษ
  • #Indyref2 คือชื่อเล่นและแฮชแท็กของ independence referendum 2 หมายถึง การลงประชามติให้สก็อตแลนด์แยกเป็นประเทศเอกราชครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกในปี 2014

ความร้อนแรงของการเมืองอังกฤษดูเหมือนไม่มีท่าทีจะจางลงง่ายๆ และยิ่ง เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษต้องการให้ Brexit ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความฝัน แต่ต้องทำได้จริง เธอตัดสินใจจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2017 เพื่อให้ตัวเองสามารถก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง และมีสิทธิ์ใช้อำนาจอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้เต็มที

ไอร้อนระอุของ Brexit จึงค่อยๆ แพร่กระจายตัวไปทั่วยุโรป

สก็อตแลนด์ที่อยู่ใกล้อังกฤษเพียงเอื้อมมือ จึงโดนกระแสความร้อนของ Brexit ไปด้วย จนทำให้ประเด็นการทำประชามติแยกสก็อตแลนด์เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรเดือดพล่านอีกครั้ง โดยการนำของหัวหน้าพรรค SNP (Scottish National Party) และ First Minister ของสก็อตแลนด์อย่าง นิโคลา สเตอร์เจียน (Nicola Sturgeon)

เป็นที่จับตาไปทั่วโลกว่า หากอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปได้จริง และสก็อตแลนด์แยกออกจากสหราชอาณาจักรด้วย การเมืองโลกจะเป็นอย่างไรต่อไป

เกิดอะไรขึ้น?

หลังจากผลประชามติโหวตให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป จนอดีตนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ยอมลงจากตำแหน่งและให้ เทเรซา เมย์ ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษแทน เธอก็เร่งผลักดันที่จะให้ Brexit ก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจัง

ชวนอ่าน: 5 ข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลือกตั้งในอังกฤษ

 

ฝั่งสก็อตแลนด์นำโดย นิโคลา สเตอร์เจียน ซึ่งไม่สนับสนุน Brexit เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงถือโอกาสออกมาแถลงด้วยเจตนารมณ์แรงกล้าเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมาว่า จะจัดประชามติให้สก็อตแลนด์แยกเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรอีกครั้ง หลังจากประชามติครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2014 ผลโหวต No ได้คะแนนสูงสุด กล่าวคือ เสียงส่วนใหญ่ขณะนั้นไม่ต้องการออกจากสหราชอาณาจักร

สเตอร์เจียนกล่าวอย่างชัดเจนว่า ชาวสก็อตแลนด์ทุกคนต้องปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติร่วมกัน ในสถานการณ์ที่อังกฤษกำลังจะถอนตัวจากสหภาพยุโรป

ประชามติรอบที่สองจะจัดขึ้นเมื่อไร?

สเตอร์เจียนต้องการให้ประชามติดังกล่าวจัดขึ้นในช่วงระหว่างฤดูใบไม้ร่วงปี 2018 จนถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2019 เนื่องจากเธอต้องการให้ ภาพไฟนอลของ Brexit เป็นรูปเป็นร่างชัดเจนเสียก่อน

กล่าวคือ การหารือครั้งสุดท้ายของ Brexit ซึ่งหากเป็นไปตามแผนที่เทเรซา เมย์ วางไว้ อังกฤษจะต้องโบกมือลาสหภาพยุโรปช่วงเดียวกันกับที่ประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรของสก็อตแลนด์

เมื่อถึงตอนนั้น ชาวสก็อตแลนด์คงมีข้อมูลตัดสินใจได้อย่างชัดเจนว่าจะโหวต Yes หรือ No อีกครั้ง

ทำไมประเด็นประชามติถึงกลับมาอีกครั้ง

Brexit ถือเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนแรงในขณะนี้ เนื่องจากชาวสก็อตแลนด์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับ Brexit ดังนั้นเมื่ออังกฤษต้องการจะไป สก็อตแลนด์จึงเลือกที่จะแยกจากสหราชอาณาจักร และหันไปซบบ่าสหภาพยุโรปแทน

หากวัดกันเชิงตัวเลข มากกว่า 3 ใน 5 ของเสียงโหวตทั้งหมดในสก็อตแลนด์เลือกที่จะอยู่กับสหภาพยุโรป เราจึงเห็นภาพสเตอร์เจียนออกมาปลุกใจชาวสก็อตแลนด์ว่า ถึงเวลาที่ชาวสก็อตแลนด์ต้องตัดสินใจอนาคตด้วยกันอีกครั้ง ว่าจะไปต่อหรือจบลงกันเพียงเท่านี้กับอังกฤษ

ซึ่งสเตอร์เจียนเองเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า การตัดสินใจแจ้งต่อสหภาพยุโรปเพื่อถอนตัวจากการเป็นสมาชิกของ เทเรซา เมย์ ตามกระบวนการมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน (article 50 of the Treaty on European Union) เป็นการตักตวงโอกาสชั้นเลิศจากชาวสก็อตแลนด์ที่โปรสหภาพยุโรปและกลุ่มชาตินิยม

แม้ไม่รุนแรงเท่าชาวไอริช ที่หลายคนอาจจำภาพการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลอังกฤษและกลุ่มแบ่งแยกดินแดน Irish Republican Army หรือ IRA ที่รุนแรงจนถึงขั้นนองเลือด แต่ต้องไม่ลืมว่า กระแสความต้องการแยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษมีอยู่ในตัวชาวสก็อตแลนด์ชาตินิยมมายาวนาน อย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่ First War of Scottish Independence เมื่อศตวรรษที่ 13

สถานการณ์ที่สเตอร์เจียนต้องรับมืออยู่ในขณะนี้

ต้องยอมรับว่า สเตอร์เจียนไม่ได้มีอำนาจมากเพียงพอที่จะจัดประชามติขึ้นมาด้วยตนเอง ดังนั้นเธอจึงต้องได้รับการยินยอมจากรัฐบาลอังกฤษเสียก่อน

แม้เมย์จะไม่ได้ปฏิเสธชัดเจนว่าจะอนุญาตให้จัดประชามติดังกล่าวหรือไม่ แต่เธอก็จุดประกายความหวังเล็กๆ ให้กับสเตอร์เจียนด้วยการตอบกลับว่า “ยังไม่ใช่ตอนนี้”

และเพื่อให้การจัดประชามติเป็นไปอย่างราบรื่น สิ่งแรกที่สเตอร์เจียนต้องทำคือ การหาพรรคพวกสนับสนุนเธอในสภาสก็อตแลนด์เสียก่อน

แต่เหมือนสิ่งที่สเตอร์เจียนต้องการจะไม่ราบเรียบอย่างใจคิด เมื่อการเลือกตั้งสภาสก็อตแลนด์เมื่อ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา แม้พรรค SNP จะได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาเหมือนเช่นเคย แต่สัดส่วนที่นั่งในสภาของพรรคอนุรักษนิยมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

แน่นอนว่า อาจมีผลทำให้การจัดประชามติของเธอต้องถูกพับเก็บ เนื่องจากพรรคอนุรักษนิยม (Scottish Conservatives) เป็นพรรคการเมืองกลาง-ขวาในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีแนวคิดยึดมั่นในลัทธิการร่วมชาติของสหราชอาณาจักร

ผลโพลว่าอย่างไรบ้าง

Panelbase Poll สำรวจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งชาวสก็อตแลนด์ 1,029 คน เมื่อวันที่ 18 และ 21 เมษายนที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปว่า 45 เปอร์เซ็นต์สนับสนุนให้แยกตัวเป็นเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งตัวเลขค่อนข้างใกล้เคียงกับผลประชามติครั้งแรกเมื่อปี 2014

แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ ผลสำรวจดังกล่าวยังถามต่อว่า ต้องการให้สก็อตแลนด์ออกจากอังกฤษแต่ยังอยู่กับสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่ง 41 เปอร์เซ็นต์ตอบว่าใช่ และมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ต้องการให้สก็อตแลนด์ออกจากทั้งอังกฤษและสหภาพยุโรป

ส่วน 48 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ไม่ต้องการแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร แต่ต้องการออกจากสหภาพยุโรป – นั่นก็คือไปในทางเดียวกับ Brexit

แล้วสหภาพยุโรปต้องการสก็อตแลนด์หรือไม่

เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก อย่างไรก็ตามประเด็นนี้คงต้องตกเป็นรองไปก่อน เนื่องจากกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังวุ่นวายกับการหารือประเด็น Brexit อยู่

เรื่องราวก่อนหน้านี้เป็นมาอย่างไร

พรรค SNP ซึ่งชูนโยบายต้องการแยกสก็อตแลนด์เป็นเอกราชจากสหราชาอาณาจักร ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งสภาสก็อตแลนด์เมื่อปี 2011 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา SNP ก็ทำทุกวิถีทางเพื่อชักจูงให้นโยบายนั้นเกิดขึ้นจริง

อเล็กซ์ แซลมอนด์ (Alex Salmond) อดีต First Minister ก่อนหน้า นิโคลา สเตอร์เจียน ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในประชามติรอบแรก เคยกล่าวถึงปมปัญหาระหว่างสก็อตแลนด์และอังกฤษว่า

การรวมตัวกันของสก็อตแลนด์และอังกฤษตลอดระยะเวลา 300 กว่าปี จุดประสงค์ของสก็อตแลนด์ไม่เหมาะสมกับการรวมตัวแบบดังกล่าวอีกต่อไป สก็อตแลนด์ต้องการเป็นอิสระ เรามีทรัพยากรน้ำมันที่มหาศาล เราสามารถเป็นหนึ่งในประเทศร่ำรวยที่สุดในโลกได้ และตอนนี้มันก็ถึงเวลาแล้วที่ชาวสก็อตแลนด์จะต้องเลือกอนาคตของตนเอง เพื่อหลุดพ้นจากการอยู่ภายใต้อำนาจสภาอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม ประชามติครั้งนั้นกลับไม่เป็นดั่งที่หวังเอาไว้ แม้ในตอนแรกผลโพลจะดูเหมือนว่าคะแนนโหวต Yes จะมากกว่า แต่เมื่อถึงเวลา ผลโหวต No กลับมีคะแนนท่วมท้น กล่าวคือ ผู้เดินทางไปใช้สิทธิ์ลงประชามติมี 84.59 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด เลือกที่จะไม่ออกจากอังกฤษสูงถึง 55.30 เปอร์เซ็นต์ และมีเพียง 44.70 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่โหวต Yes


ข้อมูลอ้างอิง:
theguardian.com
bbc.com
bbc.co.uk
scotsman.com

 

Author

ชลิตา สุนันทาภรณ์
กองบรรณาธิการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่งสำนัก WAY เธอมีความสนใจกว้างขวางหลากหลาย แต่ที่ทำให้หัวใจเต้นแรงเป็นพิเศษ คือด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รายงานข่าวต่างประเทศจากปลายนิ้วจรดคีย์บอร์ดของเธอจึงแม่นยำและเฉียบคมยิ่ง
(กองบรรณาธิการ WAY ถึงปี 2561)

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า