จากการเสียชีวิตบนโต๊ะทำงานของสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 นำมาสู่ข้อถกเถียงของสังคมว่า การทำงานแบบใดที่ไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพและชีวิตของแรงงาน การลิดรอนสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันเป็นอย่างไร และจุดกึ่งกลางระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างอยู่ตรงไหน บางที ‘สหภาพแรงงาน’ อาจเป็นคำตอบที่สังคมไทยยังต้องการอยู่
“สื่อจำเป็นต้องเร็วเสมอไปไหม ถ้าเร็วแล้วกดขี่แรงงาน จะเร็วไปทำไม ดังนั้นคำตอบของผมคือ บางทีสื่ออาจจะไม่ต้องเร็วเสมอไป แต่ควรยกคุณภาพชีวิตของคนทำงานเป็นความสำคัญแรกๆ ในการทำบริษัทสื่อ ถ้าทุกอย่างไว แต่ชีวิตคนงานแย่ ประสิทธิภาพงานก็จะแย่”
ด้วยยุคหลังอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว คนงานต้องทำงานควบหลายตำแหน่ง และภาระงานที่งอกขึ้นมาได้เรื่อยๆ นำมาซึ่งการกดขี่แรงงานจนแทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ WAY จึงได้ชวนคุยกับ ‘อิง’ ไชยวัฒน์ วรรณโคตร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (Creative Workers Union Thailand: CUT) เพื่อสำรวจมิติของการละเมิดสิทธิแรงงานยุคดิจิทัล และหาทางออกที่เป็นไปได้ให้แก่สังคมไทย
“ปัญหาคือ กฎหมายมีอยู่แล้ว แต่กลับไม่ถูกบังคับใช้ เหตุผลเพราะไม่มีสหภาพแรงงานมาคอยกำกับ ไม่มีประเทศไหนหรอกที่รัฐจะมีศักยภาพมากพอในการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน ยกเว้นแรงงานรวมตัวกันเองเป็นสหภาพ”
เมื่อเราทุกคนล้วนเป็นแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานนั่งโต๊ะหรือใช้แรงกาย การมองให้เห็นปัญหาและการมุ่งจัดการผ่านกลไกสหภาพแรงงานเหมือนต่างประเทศ จึงเป็นเป้าหมายอันดีที่จะทำให้ไม่ต้องมีแรงงานคนไหนเสียชีวิตคาที่ทำงานอีกต่อไป
การทำงานในยุคดิจิทัล สร้างความสะดวกหรือเพิ่มความทุกข์ให้แก่แรงงานมากขึ้นกันแน่
ตามหลักการแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของยุคดิจิทัลควรเอื้อให้เกิดความสะดวกกับแรงงานมากขึ้น แต่ปัญหาคือคนงานก็ถูกใช้งานมากขึ้นจากความสะดวกรวดเร็วนั้นด้วย
พูดง่ายๆ คือ คนที่กุมอำนาจในการใช้งานแรงงานยังเหมือนเดิม พอมีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามา เช่น กล้องมือถือถ่ายรูปได้ บันทึกเสียงได้ ทำได้หลายอย่างแล้ว ความสะดวกสบายกลับถูกใช้ในการผลิตมากกว่าจะช่วยให้คนทำงานสบายขึ้น
สมัยก่อนคนทำสื่อหนึ่งคน อาจเป็นแค่ช่างภาพ เป็นแค่คนสัมภาษณ์ แต่วันนี้ต้องทำเองทุกอย่าง ทำสามสี่อย่างพร้อมกัน เครื่องมืออาจจะสะดวกขึ้นก็จริง แต่ก็ทำงานหนักขึ้นด้วย เพราะขาดอำนาจต่อรอง
หลายบริษัทมักจ้างแรงงานหนึ่งคน พร้อมกับมอบหมายให้ทำหลายภาระงาน ด้วยเหตุผลว่าเป็นการสนับสนุน ‘multi-skill’ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้คืออะไรกันแน่
จริงๆ ผมคิดว่า multi-skill ไม่น่าจะเวิร์กเท่าไร เพราะ CUT สำรวจเรื่องการทำงานหนักกับสภาวะ ‘หมดไฟ’ (burnout syndrome) มาเยอะมาก เราพบว่าทุกการทำงานหนักส่งผลต่อคุณภาพของงาน และทุกการเพิ่มขึ้นของงาน หรือการเพิ่มขึ้นของเวลาในการทำงาน จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของงาน ประสิทธิภาพส่วนตัว หรือสุขภาพของคนทำงานก็ลดลงด้วยอย่างชัดเจน
ยกตัวอย่าง ถ้าคุณทำงานต่อเนื่องกันเกิน 22 ชั่วโมง โดยไม่ได้นอน ประสิทธิภาพสมองคุณก็ไม่รู้เรื่องแล้ว หากทำงาน 48 ชั่วโมง ติดต่อกันก็เทียบเท่ากับคุณดื่มเหล้าวอดก้า 600 ซีซี ซึ่งเท่ากับคุณเมาแล้วไปทำงาน ดังนั้น multi-skill นำมาซึ่งงานที่หนักและมากขึ้น จนแรงงานคนนั้นไม่สามารถสนใจหรือทุ่มเทไปทำในสิ่งที่เขาถนัดได้
สรุปว่า ข้อแรกคือ ทำให้งานออกมาไม่ดี ข้อสองคือ เขาไม่สามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่เขาทำอยู่แต่ละอย่างได้ ยกตัวอย่างคือ หากคุณถ่ายรูป สัมภาษณ์ เขียนเอง ทำอะไรเองหมด แต่คุณเป็นคนที่ชอบถ่ายรูปมาก คุณก็จะไม่มีเวลาในการพัฒนาทักษะการถ่ายรูปของคุณ เพราะคุณต้องไปทำงานที่เหลือทั้งหมด
มันมีแต่เสีย คนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือ เจ้าของทุนที่ได้ผลผลิตจากคนงานมากขึ้น โดยที่พวกเขาจ่ายน้อยลงหรือแค่จ่ายเท่าเดิม
การทำงานที่บ้าน (work from home) ส่งผลดีกับแรงงานมากขึ้นไหม เพราะดูเหมือนจะช่วยรักษาสมดุลกับชีวิตส่วนตัวได้ หรือสุดท้ายจะกลายเป็นช่องโหว่ให้ต้องทำงานมากขึ้น
ทำงานก็คือทำงานครับ คนละเรื่องกับการพักผ่อน แค่คุณไม่ต้องเดินทางไปออฟฟิศ ซึ่งแน่นอนมันเปิดช่องให้คุณมีเวลาส่วนตัวมากขึ้น จากเดิมมีเวลากำหนดชัดเจน ทำงาน 8 โมงเช้า เลิก 4 โมงเย็น แต่พอ work from home คุณแทบจะสลายชีวิตในที่ทำงาน จนคุณอาจไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ต้องเริ่มหรือเลิกงาน
อีกกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มฟรีแลนซ์ในปัจจุบัน พวกเขาก็ work from home มาตลอด แต่เป็นการทำงานภายใต้ค่าแรงที่ต่ำ และแทบไม่มีสวัสดิการที่ดีเหมือนเดิม
แรงงานแบบแรงกาย (blue-collar) มักเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายหากอยู่ในสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม แล้วสภาพแวดล้อมแบบใดบ้างที่อันตรายกับแรงงานนั่งโต๊ะ (white-collar)
จริงๆ อันนี้ตัวอย่างก็ชัด อย่างกรณีของสื่อมวลชนที่เสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน ส่วนกรณีอื่นที่เราพบบ่อยในกลุ่มฟรีแลนซ์นักวาด คือ เป็นออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) เป็นโรคทางกระดูก โรคทางตา โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะ
สาเหตุอาจมาจากการนั่งทำงานนานๆ ซึ่งสภาพแวดล้อมเช่นนี้บางครั้งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าชัดนัก แต่ก็ก่อให้เกิดโรคจำนวนมากเหมือนกัน
บริษัทหลายแห่งมักมีคำอธิบายว่าไม่ได้บังคับใช้แรงงาน แต่เป็นพนักงานเองที่ยอมสมัครใจทำงานล่วงเวลา หรืออยากทำงานเพิ่มเอง
โดยความเป็นจริงในประเทศที่คนงานไร้สหภาพแรงงาน อย่างประเทศไทยที่มีอัตราส่วนสหภาพแรงงานเพียงร้อยละ 1.5 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด ทำให้แรงงานแทบไม่มีอำนาจต่อรองเลยแม้แต่น้อย
หมายความว่า คุณอยู่ในบริษัทซึ่งสภาพแวดล้อมก็บีบให้คุณทำงานหนักอยู่แล้ว ถ้าเขาโยนงานมาให้อีก แล้วคุณทำงานนั้นไม่เสร็จหรือทำไม่ทัน แน่นอนว่าบริษัทมีอำนาจในการเลิกจ้าง มีอำนาจในการไม่ให้เงิน หรือถูกหัวหน้างานเขม่น สภาพแวดล้อมแบบนี้ไม่เอื้อต่อการปฏิเสธ หรือแม้แต่การต่อรองใดๆ
คำถามคือ บริษัทต่างๆ ที่อ้างว่าแรงงานสามารถปฏิเสธการทำงานเกินตัวได้ คุณมีหลักฐานอะไรที่ยืนยันได้ว่าแรงงานมีอำนาจในการปฏิเสธ เพราะทุกคนคงรู้อยู่แล้วว่า ในความเป็นจริงสภาพแวดล้อมของบริษัทแบบนั้น แรงงานปฏิเสธอะไรไม่ได้เลย
สภาพตึงเครียดแบบนี้ส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตของแรงงานอย่างไรบ้าง
ปัจจุบันเครือข่ายที่ CUT ร่วมทำงานด้วยก็พูดถึงเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น เพราะสังคมที่ทำงานหนัก หรือการได้รับเงินไม่ตรงเวลา ทำให้เกิดความเครียดสะสมจนบางกรณีกลายเป็นโรคซึมเศร้า หรือประสบปัญหาทางสภาวะจิตใจต่างๆ ตามมาอีก
แบบนี้ถือเป็นปัญหาส่วนตัวของแรงงาน หรือเป็นปัญหาที่บริษัทควรร่วมรับผิดชอบ
ผมคิดว่าก็มีส่วนที่เกิดจากการทำงาน มันอาจจะไม่เหมือนโรคอื่นๆ ที่เห็นได้ด้วยตา เช่น ถ้าคุณทำงานนี้นานๆ จะทำให้กระดูกคด แต่สำหรับโรคทางสุขภาพจิต แน่นอนว่ากลุ่มทุนที่ใช้งานแรงงานหนักก็ควรต้องมีสวัสดิการหรือประกันด้านสุขภาพจิตไว้คอยดูแลแรงงานด้วย
เราอาจจะยังไม่มีตัวชี้วัดสุขภาพจิตที่ชัดเจนเหมือนโรคภัยไข้เจ็บหรืออุบัติเหตุต่างๆ ในการทำงาน แต่ในแวดวงสุขภาพจิตก็มีแบบทดสอบทางจิตใจที่พอชี้วัดได้ว่า แรงงานกำลังมีปัญหาด้านนี้หรือเปล่า จริงๆ บริษัทหลายแห่งก็มีการตรวจสอบสภาวะจิตใจก่อนรับมาทำงานด้วย แต่ผมยังไม่เห็นการตรวจหลังทำงาน หรือระหว่างทำงานเท่าไร
บริษัทขนาดใหญ่อาจจะมีสวัสดิการที่ครอบคลุม แล้วบริษัทขนาดกลางหรือขนาดเล็กจะมีวิธีการอย่างไร
โดยทั่วไปควรจะมีระบบช่วยเหลือหรือระบบให้คำปรึกษา ปัญหาสุขภาพจิตมีหลายขั้นจึงไม่ต้องใช้จิตแพทย์ทั้งหมด อาจจะเป็นนักสังคมสงเคราะห์ (social worker) หรือนักดูแลด้านจิตใจที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วก็ได้ เพื่อให้คนงานมีพื้นที่ในการเยียวยามากขึ้น
ในต่างประเทศไม่ว่าจะบริษัทขนาดเล็กหรือใหญ่ก็มีระบบนี้หมด เพราะคนงานหลายคนอยู่ในสหภาพแรงงาน สามารถใช้บริการจากสหภาพแรงงานได้ แต่ประเทศไทยไม่มีไง ไม่ได้สนับสนุนการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน ถ้าให้ผมนึกภาพ ทางออกคือคนงานอาจจะต้องรวมตัวกัน หรือไม่บริษัทก็ต้องจัดหาพื้นที่ปลอดภัยให้คนงานได้ระบายและได้รับคำปรึกษาที่มากขึ้น
ความเครียดและสุขภาพดูเป็นปัญหาใหญ่ อยากถามต่อว่า แล้วหลักการ ‘8-8-8’ คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง กิจกรรมส่วนตัว 8 ชั่วโมง สามารถนำมาใช้ได้จริงมากน้อยแค่ไหน
จริงๆ มันใช้ได้จริงอยู่แล้ว ถ้าทำงานเกินเวลาก็จ่ายค่าล่วงเวลา (OT) แต่สำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือแม้แต่คนงานในระบบราชการเองก็ไม่ได้อยู่ในหลัก 8-8-8 นี้
ปัญหาคือ กฎหมายมีอยู่แล้ว แต่กลับไม่ถูกบังคับใช้ เหตุผลเพราะไม่มีสหภาพแรงงานมาคอยกำกับ ไม่มีประเทศไหนหรอกที่รัฐจะมีศักยภาพมากพอในการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน ยกเว้นแรงงานรวมตัวกันเองเป็นสหภาพ
ยกตัวอย่างประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่มีอัตราสมาชิกสหภาพแรงงานมากกว่าร้อยละ 70 จากจำนวนแรงงานทั้งหมด พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำ สวัสดิการขั้นต่ำ หรือแม้แต่เวลาในการทำงาน ก็ถูกกำหนดโดยสหภาพแรงงานเป็นส่วนใหญ่ มีการบังคับใช้โดยคนงานเอง คนงานมีอำนาจในการสอดส่อง ต่อรอง กดดันบริษัทด้วยเครื่องมือต่างๆ เช่น การนัดหยุดงาน เป็นต้น
ประเทศไทยไม่มีสหภาพแรงงานแบบนั้น ดังนั้นหลักการ 8-8-8 จึงใช้ไม่ได้ผลในไทย
หมายความว่า ในต่างประเทศหากแรงงานถูกลิดรอนสิทธิก็สามารถเดินไปฟ้องสหภาพแรงงานก่อนได้เลย
ใช่
นอกจากกรณีสื่อมวลชนเสียชีวิตจนกลายเป็นข่าว ในแวดวงอื่นๆ มีการเสียชีวิตจากการทำงานบ่อยแค่ไหน
โอ้โห เยอะครับ เอาง่ายๆ ว่า ไซต์ก่อสร้างแทบทุกที่ก็มีคนตาย คุณลองไปดูก็ได้ พวกนั่งร้าน พวกงานลักษณะที่อันตราย เป็นสาเหตุให้คนตายหรือพิการเยอะมาก ลองไปดูตามโรงพยาบาล ประกันสังคมจังหวัด หรือศูนย์ฟื้นฟูศักยภาพคนงานตามเขตต่างๆ ก็จะเห็นการแจ้งกรณีคนงานแขนขาด ขาขาด หรือเสียชีวิตอยู่ตลอด
เรื่องแบบนี้มันไม่เป็นข่าวหรอก เพราะบริษัทก่อสร้างส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าใหญ่ๆ ทั้งนั้น
กลับมามองในมุมกฎหมายกันบ้าง กฎหมายไทยว่าอย่างไรในกรณีแรงงานเสียชีวิตจากการปฏิบัติงาน
ต้องชดเชยเป็นเงินร้อยละ 70 จากเงินเดือนทั้งหมดของผู้เสียชีวิต ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวยังสามารถฟ้องศาลแรงงาน หรือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ แต่ก็ช้า เพราะเป็นการฟ้องร้องผ่านรัฐ ไม่มีใครเดินเรื่องให้ ต่างประเทศจึงมีสหภาพแรงงานมาคอยอุดช่องโหว่ตรงนี้ด้วย
ส่วนเรื่องการฟ้องร้อง จริงๆ แล้วในหลักการสากล แรงงานมักชนะอยู่แล้ว แต่ปัญหาคือการเข้าถึงกฎหมายมีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก ระยะเวลาก็ค่อนข้างนาน ดังนั้นจึงมักจบที่ขั้นตอนการไกล่เกลี่ย แล้วคนงานก็ถอนคดีไป
แรงงานไทยหลายครั้งก็มักถูกเกลี้ยกล่อมให้ถอนฟ้อง เพราะกระบวนการทางศาลใช้เวลานาน คนงานที่ไม่มีต้นทุนในการรอคอยก็ถอนฟ้อง ถอยจากคดีไป นี่คือปัญหาใหญ่ของคดีแรงงาน แรงงานมีต้นทุนในการต่อสู้ต่ำ ขณะที่หลายแห่งเขามีสหภาพแรงงานช่วยสู้ไง ส่วนคนงานไทยไม่มี ก็ต้องไปจัดชุมนุมเป็นครั้งเป็นคราว แล้วก็ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาที่ถาวร
เราจะอุดปัญหานี้ได้อย่างไร
เราต้องเปิดช่องให้มีการรวมตัวของคนงานก่อน ปัจจุบันมีอนุสัญญา 2 ฉบับที่สำคัญมากๆ จนบางประเทศนำมาใช้สำหรับการชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยด้วยซ้ำ คือ อนุสัญญาว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 (Freedom of Association and Protection of the Right to Organise Convention) หรือ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ค.ศ. 1949 (Right to Organise and Collective Bargaining) หรือ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98
การรับอนุสัญญาทั้งสอง จะเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยอนุญาตให้คนงานรวมตัวกันได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ปัจจุบันนี้คนงานไทยถูกแยกเป็นเสี่ยงๆ ข้าราชการก็อยู่ใต้กฎหมายหนึ่งตามระเบียบราชการ ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจก็ใช้อีกกฎหมายหนึ่ง กลุ่มคนงานในโรงงานก็ใช้อีกกฎหมายหนึ่งตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ส่วนกลุ่มฟรีแลนซ์ไม่มีกฎหมายคุ้มครองด้วยซ้ำ
แรงงานแต่ละกลุ่มถูกแยกจากกันหมด พอโดนแยกก็รวมตัวกันไม่ได้ บางครั้งการรวมตัวอาจจะผิดด้วยซ้ำ เช่น ข้าราชการไม่สามารถรวมตัวกันนัดหยุดงานได้ เพราะอาจจะเสี่ยงผิดระเบียบจนถูกไล่ออกในที่สุด หรือแม้แต่กฎหมายทั่วไปที่อนุญาตให้นัดหยุดงานได้ ก็ต้องไปขออนุญาตภาครัฐ ต้องไปทำมติอะไรเต็มไปหมด ยุ่งยากมาก
ส่วนกลุ่มฟรีแลนซ์รวมตัวไม่ได้เลย ไม่ได้รับความคุ้มครองอะไรเลย เพราะการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานต้องอยู่ในสถานประกอบการเดียวกันเท่านั้น นี่คือกฎหมายที่ล้าหลัง เป็นผลพวงจากการที่ประเทศไทยไม่ได้รับเอาอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 มาใช้
ถ้าเกิดการรวมตัวกันได้ หนทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ คงได้รับการถกเถียงในกลุ่มแรงงานมากขึ้น มีทางออก มีอำนาจ มีเสียงออกมาจากกลุ่มแรงงานมากขึ้น ผมว่าถ้าจะเริ่มก็ต้องเริ่มจากการรวมตัวกันให้ได้ก่อนนี่แหละ
ส่วนเรื่องกฎหมายอาจจะตามมาทีหลังว่า ให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานตึงมากขึ้น ทั้งเรื่องการลาคลอด หรือชั่วโมงการทำงานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้หย่อนยานเกินไป
อุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความเร็วอย่างสื่อมวลชน นักทำโฆษณา หรือแม้แต่นักวาด เราจะหาสมดุลอย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบ เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาอีก
ผมไม่แน่ใจว่าพวกเขาต้องการความเร็วเสมอไปจริงหรือไม่ ยกตัวอย่างง่ายๆ คือ อุตสาหกรรมสื่อออนไลน์มักคิดว่าตนเองต้องเร็ว ต้องทันกระแส ต้องมียอดเอ็นเกจเมนท์ (engagement) สูง ซึ่งก็ไม่ผิด แต่สื่อที่ให้คุณค่ากับงานผ่านความไวและเอ็นเกจเมนท์แบบนี้ มีประสิทธิภาพในการสื่อสารจริงแท้แค่ไหน อันนี้ก็เป็นตัวอย่างข้อถกเถียงที่ผมอ่านเจอในงานศึกษาหลายชิ้นของประเทศออสเตรเลีย
บางครั้งสื่ออาจจะไม่ต้องไวขนาดนั้นเสมอไป ยกตัวอย่างงานข่าวที่มีคุณค่าทั้งหลาย อย่างประเทศนอร์เวย์เขามีงานข่าวเชิงสืบสวน (investigative journalists) เต็มไปหมด ข่าวของเขาคือเอาไปใช้ในการวิเคราะห์ เอาไปใช้ในงานวิชาการ เอาไปใช้ได้อีกเยอะแยะ แต่ของไทยกลับแทบไม่มีเลย
อันนี้ผมแค่ลองตั้งคำถามนะ สื่อจำเป็นต้องเร็วเสมอไปไหม ถ้าเร็วแล้วกดขี่แรงงาน เราจะเร็วไปทำไม ดังนั้นคำตอบของผมคือ บางทีสื่ออาจจะไม่ต้องเร็วเสมอไป แต่ควรยกคุณภาพชีวิตของคนทำงานเป็นความสำคัญแรกๆ ในการทำบริษัทสื่อ ถ้าทุกอย่างไว แต่ชีวิตคนงานแย่ ประสิทธิภาพงานก็จะแย่ เพราะถ้าเอาแค่ความเร็ว ยังไงก็เกิดปัญหา คุณไม่มีทางรักษาสมดุลได้อยู่แล้ว การเอาผลกำไรกับ productive (ประสิทธิผล) มาเป็นตัวตั้ง ยังไงคุณก็ต้องกดขี่แรงงาน
แต่ถ้าคุณให้คุณค่าความสำคัญกับงานและคนงานของคุณใหม่ ไปสร้างงานที่ใช้เวลาหน่อย แต่คนงานมีชีวิตดีขึ้น ผมว่ามันก็ช่วยได้เยอะ ที่สำคัญคือ ยุคนี้มีเทคโนโลยีเยอะมากสำหรับงานที่ต้องการความเร็ว แต่ผมก็ไม่รู้ว่าสื่อไทยมีงบประมาณถึงไหม อย่างการทำผังรายการ คุณอาจจะเอา AI (ปัญญาประดิษฐ์) มาทำแทนได้ไหม จะได้ไม่ไปกดขี่คนงาน แต่อย่างที่บอกแหละ ต้นทุนมันสูง อาจจะยากในการเข้าถึง
เห็นพูดถึง productive แล้ว อยากถามว่าแนวคิดโหมงานหนัก (over productive) ที่เรารู้แล้วว่าไม่ดีต่อแรงงานแน่ๆ แนวคิดนี้ส่งผลเสียกับผู้ประกอบการบ้างหรือไม่
เขาเสียประโยชน์แน่นอน แต่เขาอาจจะไม่รู้ตัว หรือจะพูดแบบนี้ก็ได้ว่า ประเทศชาติเสียประโยชน์
การผลิตแบบล้นเกิน (over production) แล้วหากำไรจากการผลิตแบบนี้ ผมคิดว่ามันทำลายคุณค่าของงาน ทำลายคุณภาพของงาน คุณเอาแต่เน้นขาย เน้นช่วงชิงตลาด เน้นให้มันแมส เหมือนคุณผลิตแต่ข่าวดราม่า แล้วสังคมได้อะไร แล้วอุตสาหกรรมสื่อได้พัฒนาวิธีการสื่อสารในวงการข่าวบ้างไหม
หรืออีกตัวอย่าง กลุ่มละคร-หนังไทย ผลิตแต่แนวเดิมๆ วนซ้ำไปมา แล้วมากดขี่แรงงานกองถ่าย คำถามคืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้พัฒนาอะไรเพิ่มขึ้น ไม่ได้อะไรไง ไม่ได้วิธีการผลิตใหม่ๆ ไม่ได้พัฒนา ไม่มีกล้องที่ดีขึ้น ไม่มีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น เนื้อหายังผูกติดกับตลาดเหมือนเดิมอีก
ที่สำคัญคือกฎหมายเปิดช่องให้นายทุนใช้แรงงานราคาถูก สวัสดิการต่ำ สามารถเลิกจ้างได้ง่าย คนงานกลายเป็นกระดาษทิชชู่ในอุตสาหกรรม over production ที่ใช้แล้วก็ทิ้ง กลายเป็นไม่มีค่าในความเป็นมนุษย์
คนที่ได้ประโยชน์อาจจะมีแค่กลุ่มทุนที่ต้องการกดราคา แต่ไม่ต้องการการพัฒนาอะไร เขาอาจจะไม่ได้เทคโนโลยีในการผลิตใหม่ๆ เข้ามาเลย เพราะความเคยชินของเขาในการใช้แรงงานคนราคาถูก
ทางฝั่งกลุ่มทุนหรือผู้ประกอบการ ควรหาสมดุลอย่างไรระหว่างการไม่ละเมิดสิทธิแรงงานกับการทำกำไร
เป็นเรื่องที่ยากนะ ผมก็เห็นใจกลุ่มวิสหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (Small and Medium Enterprises: SME) ที่ไม่ได้รับการสนับสนุน ปัญหาส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้คือไม่มีทางเลือก งบประมาณน้อย กำไรแทบไม่มี ก็เลยจ่ายค่าจ้างต่ำ จนกลายเป็นการกดขี่แรงงานไป
สิ่งที่ผมคิดว่าเป็นทางออกเบื้องต้นได้ คือ การทำความเข้าใจกัน ผู้ประกอบการทำได้ดีที่สุดคือลดการกดขี่แรงงานลง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่มนะ กลุ่มที่หนึ่ง คือ กลุ่มที่ไม่มีงบประมาณจริงๆ เช่น ผู้กำกับหนังนอกกระแส หนังอินดี้ คุณก็ต้องระมัดระวัง ต้องพยายามกดขี่แรงงานให้น้อยที่สุด
แต่ก็มีกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่เป็น SME ที่คิดว่าตัวเองยังลืมตาอ้าปากไม่ได้ ทั้งที่ได้กำไรอยู่ ตัวอย่างสำคัญคือ พวกร้านกาแฟที่ได้กำไรจากการกดค่าแรงพนักงาน กลุ่มนี้อาจจะไม่ได้น่าสงสารหรือน่าเห็นใจเท่ากลุ่มแรก พวกเขาควรลดความรวยของตนเองลงมาเล็กน้อยเพื่อให้แรงงานลืมตาอ้าปากได้ หรือไม่คุณก็ต้องไปหากำไรจากส่วนอื่น ไม่ใช่มาใช้แรงงานราคาถูก คุณจะไปพัฒนาสินค้า พัฒนากระบวนการผลิตให้ดีหรือเร็วขึ้น ก็ว่ากันไป
นี่คือสิ่งที่ผมมองว่าผู้ประกอบการ SME ทำเบื้องต้นได้
ในฤดูเลือกตั้งที่ใกล้จะถึงนี้ มีแนวโน้มว่าแรงงานจะมีอนาคตขึ้นบ้างหรือไม่ เพราะหลายพรรคน่าจะสนใจประเด็นนี้
ก็มีความเป็นไปได้ เพราะแรงงานก็คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นฐานเสียงที่สำคัญ เป็นเรื่องปกติที่เขาต้องมาเล่นนโยบายที่กระทบชีวิตคนงานอยู่แล้ว
สุดท้ายแล้ว พอจะแนะนำหน่วยงานอะไรบ้างที่แรงงานสามารถพึ่งพิงได้หากถูกลิดรอนสิทธิ์
ง่ายๆ ครับ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ถ้าในกรุงเทพฯ ก็จะมีสำนักงานย่อยอยู่ตามแต่ละเขต พวกเขาจะรับเรื่องและอาจจะสนับสนุนได้หลายอย่าง กรณีตัวอย่าง เช่น การถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม มีสัญญาจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ไม่ได้รับค่าแรง เป็นต้น
หรือกรณีตกงาน แต่อยากพัฒนาฝีมือตนเอง ก็สามารถไปปรึกษากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อยากสมัครประกันสังคมก็มีสำนักงานประกันสังคม อยากไปทำงานต่างประเทศก็สามารถติดต่อได้ที่กรมจัดหางาน
ส่วนต่างจังหวัดจะต้องไปติดต่อที่ศาลากลาง เรียกว่าแรงงานจังหวัด มีหน้าที่คล้ายคลึงกัน เป็นบริการทั่วไปของภาครัฐ
แต่ถ้าไม่อยากไปหาภาครัฐ ก็สามารถมาปรึกษาเรื่องการจัดตั้งกลุ่มกับสหภาพคนทำงาน และ CUT ได้ ส่วนบุคลากรในภาครัฐอาจจะต้องไปหากลุ่มเฉพาะทางตามแต่ละสาขาอาชีพ เป็นต้น