‘ปาร์ตี้มีตติ้งเด็กฟิล์มที่ใหญ่ที่สุดในสยามประเทศ (เพราะมีงานเดียว)’
คือคำแนะนำตัวของ มุ่งมั่น นำร่อง สังคม กลุ่มนักศึกษาหลากหลายสถาบันผู้มีความสนใจในภาพยนตร์ พวกเขาตั้งต้นรวมตัวกันจากงานปาร์ตี้ เลยเถิดจนจัดกิจกรรมเกี่ยวกับภาพยนตร์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างคอนเนคชันระหว่างเด็กฟิล์มด้วยกัน
อ่านปรากฏการณ์เรื่องเล่าของเด็กฟิล์ม
ผ่านทรรศนะของเด็กเนิร์ดหนัง
เพชร – ยศพร จันทเจริญพงศ์ และ ต๊ะ – ณัฐชนน ธัญญศรี คือหนึ่งในทีมคัดหนัง
หนังกว่า 120 เรื่องที่ถูกส่งมาใน ‘เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนัง ครั้งที่ 1’ ล้วนผ่านสายตาของพวกเขามาแล้ว ทว่าพื้นที่ในเทศกาลที่ถูกจำกัดด้วยเวลา หนัง 45 เรื่อง เรื่องละไม่เกิน 30 นาที จึงเป็นจำนวนที่ถูกนำมาฉายในเทศกาลครั้งแรก ณ โรงหนัง House RCA
ในความหลากหลายของหนังนักศึกษา พวกเขาเล่าเรื่องอะไรกัน แล้วเล่าด้วยน้ำเสียงโทนไหน บรรยากาศแบบไหนของสังคมที่ทำให้เด็กฟิล์มต้องออกมาหาที่ทางเพื่อพบปะกัน ในพื้นที่ที่พวกเขาเลือกเอง ไม่ใช่ถูกบังคับให้ ‘ต้องเลือก’
หนังที่ส่งเข้ามา ส่วนมากเขาเล่าเรื่องอะไรกัน
หลากหลายมาก อย่างปีที่แล้วมีหนังที่พูดถึงประเด็นความตาย ความอยากมีชีวิตอยู่เยอะมาก ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาในหนังนักศึกษา
ส่วนปีนี้หนังที่ส่งเข้ามาเป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม อาจจะเพราะปัญหาต่างๆ อย่าง PM2.5 ทำให้นักศึกษาหันมาสนใจเรื่องธรรมชาติ บ้านเมือง ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำมากขึ้น มากกว่าที่จะพูดเรื่องส่วนตัว
บรรยากาศแบบไหนที่ทำให้ประเด็นเหล่านี้ถูกเล่าออกมามากกว่าเมื่อก่อน
ทั้งความเข้มข้นทางการเมืองในประเทศและกระแสโลก เรารู้สึกว่าช่วงนี้มีการโต้เถียงกันมากและภาพความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นมันชัดขึ้น ทั้งจากสื่อต่างๆ ประเด็นคนรวยคนจน เราเริ่มเห็นชัดมากขึ้น ไปจนถึงการมาของ PARASITE ก็เบิกเนตรใครหลายๆ คนว่า เฮ้ย…เราเป็นปรสิตเหรอ เป็นชนชั้นล่างเหรอ แล้วชนชั้นบนคือใคร ทำให้หนังของนักศึกษาที่ออกมาในช่วงนี้เหมือนการย้อนถามทั้งตัวเองและสังคมไปพร้อมๆ กันว่า ตกลงแล้วเรายืนอยู่ตรงไหนของสังคม
ในบรรยากาศที่ไม่เอื้อให้พูด นักศึกษาทำอย่างไร
เรารู้สึกว่ามันมีความกล้าพูดและโฉ่งฉ่างในสไตล์ของเด็กฟิล์มมากขึ้น หนังสั้นยุคนี้มีความแสบในการพยายามจะเล่าอะไรหลายๆ อย่างมากกว่าแต่ก่อน
เรารู้สึกว่าหนังสั้นสมัยก่อนจะใช้วิธีการหลบเลี่ยงด้วยภาษาหนัง เช่น การใช้ภาพศิลปะยุคก่อนมาเปรียบเทียบกับยุคนี้ ใช้ประวัติศาสตร์มาบิดเพื่อสื่อถึงปัจจุบัน แต่ทุกวันนี้เราจะเห็นบรรยากาศของการเล่าอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น
หรือนำเรื่องใหญ่ๆ และไกลตัวมาเปลี่ยนรูปร่างเสียใหม่ เปลี่ยนมุมมองให้เล็กลงและใกล้ตัวขึ้น ถ้าจะพูดถึงการเลือกตั้ง ก็อาจเล่าผ่านบรรยากาศการเลือกตั้งประธานนักเรียน
อินเทอร์เน็ตมันเร็ว โลกเปิดกว้าง เข้าถึงข้อมูลได้เร็วขึ้น เขาอยู่กับข้อมูลเหล่านี้ตั้งแต่เด็กจนโต เรื่องราวหรือสภาพแวดล้อมก็ยังเหมือนเดิม กรอบเดิมๆ จนต้องหาพื้นที่ในการแหกกรอบนั้น รู้สึกได้เลยว่า เขาพยายามหาพื้นที่ในการแหกกรอบนั้นขึ้นมาด้วยเพลง ด้วยหนัง ด้วยศิลปะแขนงใดก็ตามแต่
หนังเปิดพื้นที่ให้พูดได้ขนาดไหน
เราว่าหนังเป็นศิลปะที่อิสระมาก เพราะไม่จำเป็นที่ต้องมีแค่ตัวละครมาพูดคุยกัน หนังอาจจะไม่มีไดอะล็อกเลยก็ได้ หนังเหมือนการรวมศาสตร์และศิลป์ ปั้นให้เป็นก้อนกลมๆ ขึ้นมา ใช้สื่อภาพ ใช้สื่อศิลป์ ใช้เพลงประกอบเข้ามา ใช้การแสดงของนักแสดงเข้ามา ทำให้เกิดเป็นก้อนกลมๆ แล้วสื่อออกไป เราว่ามันอิสระมากๆ
เสน่ห์ของ ‘มุ่งมั่นฯ’ คืออะไร
มุ่งมั่นฯ เป็นเหมือนเทศกาลอาหารที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีน้ำจิ้มสูตรเด็ดของตัวเอง มีความหลากหลายที่มาคุยกันใน community นี้ พอเอามารวมกันแล้วกลายเป็นเทศกาลอาหาร เราก็ได้ชิมรสชาติของแต่ละที่ ว่า ม. นี้แม่งโคตรเปรี้ยวเลยว่ะ ม. นี้แม่งขม โคตรดุเลย
อย่างเด็กมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ส่งหนังเข้ามา เขาก็มีรสชาติที่เรารู้สึกว่าดิบขึ้น มีความทดลองสูง มีเอกลักษณ์ มีรสชาติเป็นของตัวเองมากๆ แล้วถ้านำรสชาติเหล่านี้มารวมกัน มันต้องสร้างอะไรขึ้นมาได้แน่ๆ
หมุดหมายที่อยาก ‘นำร่องสังคม’ คืออะไร
เหมือนเราเป็นแค่คนเหงาคนหนึ่ง เราแค่อยากมีเพื่อน เราทำหนังเรื่องนี้ เราอยากเล่าให้ฟัง มุ่งมั่นฯ เป็นเหมือนชุมชนคนทำหนังเหงาๆ ที่อยากจะชวนทุกคนว่า “มาดูหนังกับเราไหม” อารมณ์เด็กเหงาอยากมีเพื่อนคุย อยากมีใครมาฟัง เวลาเราเล่าพล็อต เล่าบทแปลกๆ ให้ฟัง
ง่ายๆ คือเราอยากได้เพื่อน ไม่ได้อยากได้ผู้ปกครองที่ต้องมาบอกว่า “ต้องทำแบบนี้นะ” แต่เราอยากได้อารมณ์ว่า “เฮ้ย ซีนนี้ลองแบบนี้ดิ”
หรือบางทีไม่จำเป็นต้องเป็นคนทำหนังก็ได้ หนังเป็นสื่อสากล เข้าถึงทุกคน มันคือศิลปะที่เกิดจากการรวมองค์ประกอบหลายๆ อย่าง หนังมีทั้งเพลงประกอบ มีภาพวาด มีคอสตูม มีการแต่งหน้า สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่แค่คนทำหนัง แต่มีทุกคนอยู่ด้วย เรารวมกัน เราคอนเนคกัน และเราสร้างมัน
อาคิรา เดชารัตน์:
ประวัติศาสตร์การมุ่งมั่น นำร่อง สังคม
พีนัท – อาคิรา เดชารัตน์ คือโปรดิวเซอร์เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนัง ครั้งที่ 1 ณ โรงภาพยนตร์ House RCA เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว ขณะนั้นเธอคือนักศึกษาปี 4 คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยศิลปากร หรือหากย้อนไปไกลกว่านั้น เธอคือเด็กฟิล์มคนหนึ่งที่คลุกคลีอยู่ในงานปาร์ตี้สังสรรค์เด็กฟิล์ม (ที่ต่อมาคือกลุ่มมุ่งมั่นฯ) และเป็นหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของการเกิดขึ้นของเทศกาลฉายหนังครั้งที่ 1
หนึ่งปีผ่านไป มุ่งมั่นฯ ยังคงไปต่อ ทั้งการเกิดขึ้นของ ‘มินิมุ่งมั่นฉายหนัง’ งานฉายหนังขนาดเล็กในบรรยากาศสบายๆ ‘มุ่งมั่น ART ON SCREEN x Bangkok Design Week’ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และงาน ‘มุ่งมั่นฉายหนัง Thai Students Film Festival’ เทศกาลที่รวบรวมเอาหนังสั้นนักศึกษามาฉายในโรงภาพยนตร์ที่ถูกจัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง และกำลังจะจัดครั้งที่ 2 เร็วๆ นี้
มากกว่าเทศกาลปล่อยของ มากกว่าการรวมตัวกันดูหนัง นัยหนึ่งมุ่งมั่นฯ บอกกับเราคือ การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของเทศกาลอิสระเหล่านี้ สะท้อนถึงสังคมภาพยนตร์และพื้นที่ของคนทำงานศิลปะที่มีอยู่อย่างจำกัด มุ่งมั่นฯ จึงกำเนิดขึ้นบนความรู้สึกที่ว่า ‘คนทำงานศิลปะมันต้องมีที่ให้แสดงออก’ หรือหากเปรียบมุ่งมั่นฯ เป็นคนคนหนึ่ง ก็น่าจะเป็นเด็กวัยรุ่นขี้เหงา ที่มีไฟฝัน และต้องการแรงผลัก
Scene 1 : กำเนิด มุ่งมั่น นำร่อง สังคม
เกิดจากอาจารย์เรียกประชุมตัวแทนของ 3 มหาวิทยาลัย มีจุฬาฯ ศิลปากร และ มศว แล้วก็คุยกันว่าเราควรจะมีพื้นที่ให้เด็กฟิล์มมารวมตัวกันนะ จะทำอะไรดี ตอนแรกคุยกันว่าจะทำกีฬาสีกัน คิดไปคิดมา แม่งไม่รอดว่ะ สุดท้ายเด็กฟิล์มก็คงมานั่งกินเหล้าคุยกัน ถ้าอย่างนั้นก็ทำปาร์ตี้ดีกว่า จากนั้นก็เถียงกันว่าจะเอาชื่ออะไรดี สุดท้ายคือไปหยิบหนังสือมาหนึ่งเล่ม แล้วก็เปิดหนังสือ สุ่มจิ้มคำขึ้นมา ได้คำว่า มุ่งมั่น นำร่อง สังคม
Scene 2 : มุ่งมั่น รวมตัว ปาร์ตี้
เราแค่อยากมีพื้นที่ให้เด็กฟิล์มมารวมกัน เพื่อที่จะได้รู้จักกับเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในตอนนั้นจัดปาร์ตี้มาแล้ว 4 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่ 3 พี่ที่เขาทำมุ่งมั่นฯ รุ่นแรกกำลังจะจบปี 4 แล้ว จะไม่ทำต่อกันแล้ว ส่วนเราที่เคยไปงานปาร์ตี้ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งที่ 3 เราชอบ ชอบบรรยากาศงาน ชอบการที่เด็กฟิล์มมารวมกันแล้วแบบว่า “มึงๆๆ กองกูขาดอันนี้” คือมันได้ช่วยเหลือกัน สนุกดี เรากับน้องๆ อีกหลายคนก็เลยขอรับช่วงต่อเป็นมุ่งมั่นฯ รุ่น 2
Scene 3 : มุ่งมั่น ไปต่อ
พอมารับช่วงต่อก็เลยตั้งเป็นเพจ พอถึงปาร์ตี้ครั้งที่ 4 เราก็เลยทำโปรโมทขึ้นเพจ ซึ่งปกติจะเป็นงานลับ ปากต่อปาก ทำให้คนเห็นงานเยอะขึ้น ครั้งนั้นคนมากันเกือบ 300 คน ร้านแตกอ่ะ
พอคนมาเยอะขนาดนี้ ก็มีคนคุยกันในงานว่า “กูทำหนังว่ะ แต่กูไม่รู้ว่าจะฉายที่ไหน” “งั้นเราจัดงานฉายหนังกันไหม” ประกอบกับตอนนั้นเราได้คุยกับพี่เฟรม – ธีพิสิฐ มหานีรานนท์ อดีตบรรณาธิการ Bioscope Magazine เขาบอกว่า ก็จัดสิ แล้วก็เป็นสปอนเซอร์หลักให้ เราก็หาสปอนเซอร์อื่นมาเสริมด้วย ทั้งจากสมาคมผู้กำกับฯ Documentary Club และ Hula Hoop เขาก็ให้ทุนมาสนับสนุน สามารถเช่าโรงที่ House RCA ได้ 2 วัน แล้วก็จัดโปรแกรมกัน
Scene 4 : มุ่งมั่น อยากมีเพื่อน
การเรียนภาพยนตร์หรือการทำงานกองถ่าย ใช้คนเยอะและทำงานเป็นทีม การที่เรารู้จักแค่คนในมหาวิทยาลัย มันไม่พอ เราควรรู้จักกับเด็ก ม. อื่นเยอะๆ เหมือนเป็นคอนเนคชันที่เราอยากมี พอเราได้มารวมกันก็หาทีมงาน คุยเรื่องหนังบ้าง เหมือนคนทำหนังหรือดูหนังเยอะก็อยากจะคุยกันแบบ “เฮ้ยมึง ดูเรื่องนี้แล้วเป็นไง”
พูดได้ว่า มุ่งมั่นฯ เป็นที่เดียวที่เด็กฟิล์มมารวมกันแล้วทำ เพราะว่าที่อื่นจะเป็นแบบที่ที่ผู้ใหญ่เขาจัดกัน เช่น มหาวิทยาลัยจัดฉายธีสิส หรือหน่วยงานต่างๆ มาจัดให้ แต่มุ่งมั่นฯ คือที่ที่เด็กฟิล์มหลายๆ มหาวิทยาลัยมารวมกันจัดงานนี้ขึ้นมา ที่เหลือก็จะเป็นที่ที่เรารู้จักกัน เช่น Thai Short Film, เทศกาลหนังสั้นมาราธอน, Filmvirus Wildtype หรือ Documentary Club ซึ่งก็คืองานที่ผู้ใหญ่ทำ แต่ตรงนี้คือจุดเริ่มต้นจากนักศึกษาล้วนๆ
Scene 5 : มุ่งมั่น อยากฉายหนัง
เราเห็นว่าตอนที่จัดปาร์ตี้ครั้งที่ 4 ทุกคนไฟแรงกันมาก เราคุยกันว่า “อยากทำหนัง อยากทำประกวดกันจังเลย อยากมีพื้นที่ฉายหนัง” เป็นไอเดียที่ทุกคนแม่งอยากทำที่ฉายหนังกันอยู่แล้ว อารมณ์ว่าเราจะได้ฉายหนังของตัวเอง ของเพื่อน แล้วบังเอิญที่เราได้ไปคุยกับพี่เฟรม เขาเลยบอกว่า ทำสิ ทำขึ้นโรงสิ พอได้ไปคุยกับพี่ๆ เขาเลยให้เราเอาไอเดียไปขาย แล้วเขาก็ช่วยซัพพอร์ตสนับสนุน
Scene 6 : มุ่งมั่น ‘แม่งไปกันใหญ่แล้ว!’
ตอนแรกที่คุยกัน เราจัดปาร์ตี้ 6 เดือนครั้ง หรือปีละ 2 ครั้ง กินเหล้ากัน มาเจอกัน ฉายหนังบ้าง แต่พอมีโอกาสแบบนี้เข้ามาก็รู้สึกว่าต้องคว้าไว้ และอยากให้เป็นงานที่ใหญ่ขึ้น เพราะที่ผ่านมามันแค่งานกินเหล้า เรามาทำอะไรที่มีสาระกันบ้างดีกว่า และรู้สึกว่าไปกันใหญ่แล้ว (หัวเราะ)
ก็กดดันนะ แต่สนุก ทุกคนมีแต่พูดว่า “เอาดิๆ กูอยากจัด มึงก็อยากใช่ไหม เอาดิ” ก็เลยทำกัน ตอนนั้นค่อนข้างไปกันใหญ่เพราะมีคนที่ทำเทศกาลนี้ประมาณ 30-40 คน เพราะต้องแบ่งทีม ตั้งแต่ทีมสถานที่ ทีมกราฟฟิก ทีมคอนเทนต์ที่คอยเก็บฟุตเทจทั้งหมด ทีมคัดหนังที่ต้องดูหนังทุกเรื่องที่ส่งเข้ามา 100 กว่าเรื่อง ซึ่งมุ่งมั่นฯ ก็จำกัดว่าเรื่องละ 30 นาที ซึ่งก็งงว่าเดี๋ยวนี้ทำไมนักศึกษาชอบทำหนังยาวๆ กัน จัดเต็มกันเลย ทีมคัดหนังก็ต้องนัดมารวมตัวกัน 2-3 วัน เพื่อนั่งดูหนังในห้อง แล้วถกกันว่าเอาเรื่องไหน หรือไม่เอาเรื่องไหน
Scene 7 : มุ่งมั่น ทำงาน เป็นทีม (โคตร) ใหญ่
เราเป็นโปรดิวซ์งาน มีน้องจาก ม.กรุงเทพ 2 คน เป็นผู้ช่วย มีทีมคัดหนังที่จะรวมพวกเนิร์ดหนังที่สามารถดูหนังได้เยอะๆ แล้วก็ทีมสถานที่ เพราะในงานไม่ได้มีแค่ฉายหนังในโรง มันมี installation ที่เราอยากตั้งหน้างาน กระดานที่เอาไว้ให้คนเขียน แล้วก็มีฝ่ายกราฟิกที่จะปรากฏทั้งในออฟไลน์หรือออนไลน์ของเพจมุ่งมั่นฯ อีกฝ่ายคือฝ่ายคอนเทนต์
ฝ่ายนี้ตลกมาก เพราะมีน้องทักเข้ามาในเพจว่า “พี่คะ มุ่งมั่นฯ รับเด็กฝึกงานไหม” เราก็…ห๊ะ คิดในใจว่า ‘กูอยู่แค่ปี 4 มึงจะมาฝึกงานอะไร’ (หัวเราะ) เขาก็บอกว่า “อยากฝึกทำคอนเทนต์ให้เพจพี่” เพราะเป็นวิชาที่เขาต้องไปทำคอนเทนต์ให้องค์กรหนึ่ง
ช่วงนั้นน้องเขาเลยมาเกาะติดเพื่อทำคอนเทนต์ทุกอย่างลงเพจ ก็จะมีทั้งถ่ายวิดีโอ สัมภาษณ์คนที่มางาน สุดท้ายแล้วพอเขาส่งงานเข้ามาหมด เราก็ต้องเป็นคนเซ็นผ่านฝึกงานให้ (หัวเราะ) ซึ่งตอนนั้นเราก็อยู่ปี 4 แล้วต้องมาเซ็นอะไรแบบนี้ คืออะไรวะ (หัวเราะ)
Scene 8 : มุ่งมั่น เล่าเรื่องหนังนักศึกษา
ปีแรกของเทศกาล มีหนังส่งมาหลากหลายมาก การเมืองก็เยอะ หนังครอบครัวก็เยอะ บอกไม่ได้เลยว่าประมาณไหน แต่เรารู้สึกว่า มันมีประเด็นที่ทุกคนกล้าเล่ามากขึ้น บางเรื่องที่ดูแล้วรู้สึกว่า “โอ้ นี่นักศึกษาคิดเหรอ” เช่น พูดประเด็นการเมืองที่ค่อนข้างลึกมาก ลึกจนคิดว่าฉายไปแล้วกูจะโดนอะไรไหม แต่ก็ฉาย
รู้สึกว่าการเมืองเป็นประเด็นที่นักศึกษากล้าเล่า ทุกคนกล้าเล่าเรื่องของตัวเอง เหมือนว่าพอเป็นหนังสั้นที่ไม่ใช่หนังใหญ่ที่มีอุตสาหกรรมมาเกี่ยวข้อง การเป็นหนังสั้นยังไม่ถูกสปอตไลท์จากภาคธุรกิจมากขนาดนั้น เงื่อนไขมันน้อย ทุกคนจึงซื่อสัตย์กับประเด็นที่อยากเล่าได้มากกว่า
Scene 9 : มุ่งมั่น กลุ่มเด็กทำหนังที่มีเรื่องจะเล่า
สุดท้ายแล้ว วัตถุดิบของคนทำหนังก็มาจากการซึมซับจากสิ่งรอบตัว เสี้ยวใดเสี้ยวหนึ่งมาจากสิ่งรอบตัว ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า กูไม่ได้ทำหนังจากตัวเองนะ เพราะสุดท้ายแล้ว พอคุณเขียนบท คุณทำมันออกมา ภาพที่คุณสร้างออกมามันเป็นสิ่งที่คุณเคยเจอ หรือประสบการณ์ที่คุณเคยมีทั้งนั้น
เด็กเจเนอเรชันใหม่ๆ ที่เขาโตมาในบริบทประเทศและการเมืองตอนนี้ หลายๆ เหตุการณ์เขาเพิ่งเคยเห็น สิ่งเหล่านี้มันซึมซับเข้าไป ยิ่งถ้าเป็นเด็กทำหนังด้วย เขาก็รู้สึกว่า ต้องเล่าออกมา บางคนเล่าด้วยท่าทีเศร้า บางคนเล่าด้วยท่าทีเกรี้ยวกราด บางคนเล่าออกมาด้วยความตลกร้าย บางคนเล่าแบบฉลาดมาก ไม่ใช่การทำหนังที่ชี้นิ้วบอกว่า “มึงอ่ะเหี้ย”
Scene 10 : มุ่งมั่น คือชุมชนของหนังส่วนมาก
เทศกาลคือพื้นที่เปิด ทำให้เราได้เสพงานศิลปะที่หลากหลาย สมมุติว่าเราจะดูหนังเรื่องหนึ่งในโรง หนังเรื่องนั้นเป็นหนังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผ่านการคัดเลือกเข้าโรงมาแล้ว เหล่านั้นคือหนังส่วนน้อยของประเทศนะ แต่ว่าการที่เรามาเทศกาลหนังที่ไม่ใช่แค่หนังของนักศึกษานะ มันคือการที่คุณเปิดใจเข้าไปในพื้นที่นั้น มันมีหนังหลากหลายที่บางเรื่องเราไม่ได้ตั้งใจมาดูด้วยซ้ำ หรือบางคนเปิดใจมานั่งดูทั้งวันแล้วพบว่า แม่งมีหนังที่เราไม่เคยคิดจะดูมาก่อน แต่เทศกาลมันเอื้อให้เราได้เห็น
อย่างหนังที่อยู่ในโรง เราอาจคิดว่าเราเลือกดูหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้นะ แต่จริงๆ มันถูกเลือกมาแล้ว ไม่งั้นในหนึ่งเดือน หนังที่เข้าโรงก็ต้องหลากหลายกว่านี้ ต้องเยอะกว่านี้ เราไม่ได้ยี้นะ แค่จะบอกว่า สุดท้ายแล้วหนังมันถูกเลือกมาแล้ว แต่เทศกาลหนัง เสน่ห์ของมันคือความหลากหลาย