photo: โฮงเฮียงแม่น้ำของ
ราวปี 2539 ในวัย 30 ต้นๆ ‘ครูตี๋’ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เงินเดือนหลักหมื่นเมื่อ 26 ปีก่อน นับว่าไม่น้อย หน้าตาทางสังคมเป็นที่เคารพ ชายหนุ่มผู้ยืนอยู่บนจุดเสถียรทางสถานะ ทว่าภายในกลับสั่นไหว ถูกเฆี่ยนโบยจากระบบการศึกษาแบบ ‘ไทยเดียว’ ที่ขับไล่มนุษย์ผู้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมให้ตกขอบไปเสียสิ้น แม้ตำแหน่งครูใหญ่จะมีอำนาจบริหารโรงเรียนอยู่ในมือ แต่ถึงที่สุดอำนาจนั้นกลับไร้พลัง เป็นได้เพียงการรับคำสั่งบังคับบัญชาจากส่วนกลางอยู่วันยันค่ำ
ครูตี๋ยุติบทบาทครูในระบบ แล้วก่อตั้ง ‘กลุ่มรักษ์เชียงของ’ ผันตัวสู่งานด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จากการนำเส้นเรื่องทางประวัติศาสตร์และการเมืองมาประเมินอนาคตของแม่น้ำโขง ที่พออนุมานได้ว่า แม่น้ำสายนี้อาจถูกรุกรานด้วยเป้าหมายทางการค้าและแสวงหากำไร
ข้อกังวลของครูตี๋และกลุ่มรักษ์เชียงของไม่เกินคาด เมื่อในปี 2543 เกิด ‘โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง’ เพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือจากเมืองซือเหมา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ใกล้ชายแดนจีน-พม่า ลงมาถึงท่าเรือหลวงพระบาง ประเทศลาว ระยะทางประมาณ 631 กิโลเมตร นำมาสู่การสำรวจร่องน้ำและระเบิดแก่งที่คาดว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือพาณิชย์ เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่สามารถแล่นขึ้นลงลำน้ำได้ตลอดทั้งปี
การต่อสู้ของกลุ่มรักษ์เชียงของและเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง กินเวลาถึง 20 ปี กว่าโครงการจะยุติ ชัยชนะครั้งนี้เป็นของประชาชน และเป็นข้อพิสูจน์ถึงพละกำลังของชุมชนที่ไม่อาจยินยอมให้ใครกลุ่มใดทำลายและครอบครองทรัพยากรอันเป็นสมบัติสาธารณะ
แต่ในรัฐนี้ คนตัวเล็กตัวน้อยไม่เคยดื่มด่ำยินดีได้นานนัก
หลังจากนั้นไม่นาน แม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ระดับน้ำผันผวนขึ้นลงผิดเพี้ยนฤดูกาล ถึงขั้นว่าแม่น้ำที่เคยอุดมด้วยตะกอนแร่ธาตุสีขุ่น แปรเปลี่ยนเป็นแม่น้ำสีใสสะท้อนท้องฟ้าเป็นสีคราม วัดจากคมเลนส์ แม่น้ำโขงสีฟ้าอาจสร้างความตื่นตาให้กับผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง แต่ในทางนิเวศวิทยา มันคือสัญญาณแห่งหายนะของนิเวศทั้งระบบในแม่น้ำโขงตลอดสายธาร ระยะทางยาว 4,880 กิโลเมตรจากหิมาลัยสู่ทะเลจีนใต้ ไหลผ่าน 6 ประเทศคือ จีน ไทย ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม มีเขื่อนกางกั้นกลางแม่น้ำอยู่ถึง 23 แห่ง กำแพงยักษ์นี้ตั้งอยู่ในประเทศจีนมากสุดถึง 11 เขื่อน ประเทศลาว 7 เขื่อน ประเทศกัมพูชา 3 เขื่อน และอีก 2 เขื่อน คือที่พรมแดนไทย-ลาว การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำที่เชื่อมโยง 6 ประเทศ สร้างปัญหามหาศาล การต่อสู้บทใหม่ที่ยากกว่าเดิมจึงเริ่มต้นขึ้น
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ ‘ครูตี๋’ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ได้รับรางวัลสิ่งแวดล้อมโกลด์แมน (Goldman Environmental Prize) ประจำปี 2565 รางวัลที่ถูกขนานนามว่าเป็นรางวัล ‘โนเบลการเคลื่อนไหว ด้านสิ่งแวดล้อม’ จากบทบาทการต่อต้านการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง จนรัฐบาลไทยมีมติยกเลิกโครงการดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563
เราคุยกันหลายเรื่อง เริ่มต้นจากชีวิต รายทาง และการต่อสู้ของครูตี๋และกลุ่มรักษ์เชียงของ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ ว่าด้วยแม่น้ำและการลงทุนข้ามพรมแดน การต่อสู้ทางกฎหมายของประชน ตลอดจนสามัญสำนึกพื้นฐานระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในวันที่แม่น้ำโขงกำลังต้องการความช่วยเหลือ
อะไรคือความทรงจำระหว่างครูตี๋กับแม่น้ำโขง
เราเป็นคนเชียงของ จังหวัดเชียงราย เห็นแม่น้ำโขงมาตั้งแต่เกิด มีความสัมพันธ์กับแม่น้ำโขงตั้งแต่เริ่มรู้ความ พ่อแม่มักพาไปดูโขง ไปซักผ้าริมโขง ยิ่งช่วงประถมเรามีความผูกพันมาก ตื่นเช้าไปโรงเรียน ตอนเที่ยงกลับมากินข้าวที่บ้าน เสร็จแล้วก็นัดเพื่อนๆ ลงไปอาบน้ำโขง ลงไปว่ายน้ำโขง ก่อนที่จะถึงเวลาเข้าเรียนตอนบ่าย
ครูสมัยก่อนเขาไม่ได้ห้ามเด็กอาบน้ำโขง พวกเราก็ว่ายน้ำเป็นกันหมด เพราะเมื่อก่อนแม่น้ำโขงจะมีหาด เราก็ว่ายน้ำอยู่ตรงที่น้ำตื้นๆ เพื่อฝึกหัดทุกวันๆ ไม่นานเราก็เริ่มว่ายน้ำเป็นโดยธรรมชาติ หาดแม่น้ำโขงเป็นเหมือนสนามเด็กเล่น…เล่นแล้วเรียนรู้ไปด้วย เราเขียนรูป เขียนหนังสืออยู่บนหาดทราย ทุกกิจกรรมเราจะไปเล่นกันที่นั่นหมด ยิ่งวันเสาร์อาทิตย์ แม่น้ำโขงจะเป็นที่รวมตัวกันของเด็กๆ เพราะเมื่อก่อนไม่มีที่เที่ยวไหน แม่น้ำโขงสุดยอดที่สุด
เราไม่ได้ลงไปเล่นน้ำอย่างเดียว เราลงไปตกเบ็ด ตอนนั้นมีปลาเยอะ พากันไปทอดแห แล้วเด็กขนาดนั้นยังทอดแหได้ปลาเลย คิดดูก็แล้วกันว่าปลาเยอะขนาดไหน มันเป็นความสนุก เป็นพื้นที่เรียนรู้ชีวิตไปด้วย
อะไรทำให้ตัดสินใจเป็นครู
เราผูกพันกับครูมาก เพราะเมื่อก่อนเรากินข้าวหรืออาบน้ำโขงเสร็จก็ต้องขึ้นมาบ้านพักครู อาบน้ำอาบท่าเสร็จก็มาหาครู มานั่งอ่านหนังสือการ์ตูนที่ครูเขาทิ้งไว้ให้ เราผูกพันกันเยอะ พูดคุยกันมากมายจนเราเริ่มคิดว่า อาชีพครูน่าจะถูกกับวิสัยของเรา
ทำอาชีพครูอยู่กี่ปี
ประมาณ 13 ปี ตำแหน่งครั้งสุดท้ายที่ลาออกคือ ครูใหญ่
เกิดเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ต้องตัดสินใจลาออกจากการเป็นครู
เรารับราชการมาสิบกว่าปี ส่วนมากจะอยู่บนดอยกับเด็กชาติพันธุ์ การที่ได้ไปอยู่บนดอยมันทำให้เราเห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนเหล่านี้ อย่างเรื่องของการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ สำคัญที่สุดก็คือลักษณะการจัดการศึกษาที่ผ่านมาเป็นการจัดการศึกษาแบบ ‘ไทยเดียว’ มันเหนื่อยมากสำหรับผู้บริหารอย่างเราที่ต้องบริหารโรงเรียนของตัวเอง เพราะวิถีชีวิตแบบไทยเดียวมันไปกดทับหลายอย่าง โดยเฉพาะเมื่อเราเป็นผู้บริหาร จะเห็นเลยว่ามันเป็นผู้บริหารแค่ชื่อ แต่ไม่มีอิสระในการจัดการโรงเรียนตัวเอง
ตอนนั้นเรารู้อยู่ว่าระบบแบบนี้มันถูกจัดการมาจากส่วนกลาง หลายครั้งเราเป็นขบถ เช่น ไม่เข้าประชุมประจำเดือน เพราะมันเป็นการประชุมเพื่อรับคำสั่งเท่านั้นเอง ไม่ได้ประชุมเพื่อพัฒนาการศึกษา มันไม่จำเป็นต้องให้ครูใหญ่ไปก็ได้ ให้ครูน้อยไปก็ได้ เรื่องพวกนี้หลายๆ อย่างมันพูดยาก
มีฟางเส้นสุดท้ายไหมที่ทำให้รู้สึกว่า พอแล้วกับอาชีพนี้
มันไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้ายนะ มันสั่งสมมาเรื่อยๆ เราพบอะไรหลายสิ่งหลายอย่าง…หัวใจเรามันคิดอะไรมากมาย ตอนนั้นเรายังไม่แก่เนอะ ยังทำอะไรได้อีกเยอะ ถ้าพูดกันตรงๆ คือการศึกษาของเรามันเหลื่อมล้ำและไม่ได้สอนให้เป็นมนุษย์
สมัยนั้นมีผมคนเดียวในรุ่นที่ลาออกจากการเป็นครูใหญ่ เงินเดือนหมื่นกว่าเลยนะสมัยนั้น เยอะนะ แต่ผมคิดว่าการหาเงินหาทองมันไม่เป็นปัญหาหรอก มันมีสุภาษิตคนเหนือบอกว่า ‘แมงบ้งบ่ต๋ายกั๋นใบไม้’ ความหมายคือ ตัวหนอนตัวบุ้งมันไม่ตายเพราะอดใบไม้หรอก มันมีวิธีหากิน เหมือนคนเรานั่นแหละ การอยู่ต่อในระบบการศึกษามันบั่นทอนจิตวิญญาณ บั่นทอนตัวเองลงไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราอาจจะกลายเป็นครูที่นั่งอยู่เฉยๆ ไม่คิดอะไร สอนแล้วก็กลับบ้าน แค่นั้น
เราเห็นอะไรมากมายตอนที่อยู่บนดอย เห็นความทุกข์ยากของเราด้วย ความทุกข์ยากของชาวบ้านด้วย เรื่องความเหลื่อมล้ำ สิทธิ สิ่งแวดล้อม มันสอนเราไปโดยปริยาย เพราะแม้เราเป็นครู แต่บางครั้งเราก็เป็นนักเรียนด้วย
ช่วงปี 2539 ที่ครูตี๋ตัดสินใจลาออก มีเหตุการณ์สำคัญอะไรที่ทำให้อยากผันตัวมาทำงานขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม
การศึกษาของคนบนดอยเกี่ยวพันกับมิติมากมาย เรื่องหนักๆ ที่เราเคยเจอนอกเหนือจากการเป็นครูคือเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เพราะในยุคสมัยหนึ่ง มันมีกรณีที่ทหารเขาจะมาตัดไม้เพื่อสร้างหมู่บ้านป้องกันชายแดน ซึ่งเขามาตัดไม้ในเขตที่เราตกลงกับพี่น้องชาวบ้านไว้ว่าจะทำเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ป่า
วันหนึ่งก็มีทหารกลุ่มหนึ่งเข้ามาตัดไม้ มันก็เกิดปัญหาขึ้น จนสุดท้ายถึงขนาดที่ชาวบ้านต้องไปล้อมทหารให้หยุด ตอนนั้นการล้อมทหารเป็นเรื่องใหญ่มาก ชาวบ้านริบเลื่อยของทหารเก็บไว้ในหมู่บ้านเลย ครูก็เจออะไรหนักอยู่ เพราะว่าต้องทำงานอิงกับชาวบ้าน หนักที่สุดในชีวิตก็คือเรื่องนี้แหละ
หลังจากลาออก ครูตี๋ทำอะไรต่อจากนั้น
เราทำกลุ่มรักษ์เชียงของ รวมตัวกับเพื่อนๆ ตอนนั้นคิดว่าเชียงของบ้านเราในอนาคตมันต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเราศึกษาประวัติศาสตร์มา เรามองเห็นว่า…ที่แห่งนี้สำคัญยังไง ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร งานแรกที่กลุ่มของเราทำคือ การซื้อชีวิตต้นไม้ เป็นโครงการที่เราทำในพื้นที่ป่าบนดอยหลวง ซึ่งจะมีน้ำตกใสไหลลงผ่านน้ำโขง ในช่วงปี 2540 กว่าๆ ตอนนั้นมีปัญหาน้ำแห้ง ป่าถูกทำลาย ประเด็นนี้ร้อนแรงนะเมื่อก่อน เพราะมีการโทษกันไปมา คนที่อยู่ในเมืองก็จะโทษคนบนดอย โทษกลุ่มคนชาติพันธุ์ว่าตัดไม้ทำลายป่า โยนความผิดกันไปมาเป็นทอดๆ ซึ่งเราก็เป็นคนในเมืองเชียงของ แล้วเติบโตอยู่กับคนบนดอย จึงเห็นทั้งสองด้าน เราเข้าใจว่ามันไม่ใช่ปัญหาที่มาจากคนชาติพันธุ์ เข้าใจการทำไร่หมุนเวียนของเขา ซึ่งปัญหานี้เอาเข้าจริงมันมีคนในเมืองจ้างคนบนดอยไปตัดไม้มาขายเพื่อเอามาทำบ้าน เรามองเห็นปัญหาอยู่ เพราะมันกระทบกับพี่น้องชาติพันธุ์มาหลายปี ตรงนี้แหละที่เราต้องการแก้ปัญหา
ในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ เชียงของและแม่น้ำโขงสำคัญอย่างไร ในมิติไหนบ้าง
เชียงของเป็นเมืองที่สำคัญ ตั้งแต่การก่อตั้งเชียงแสนครั้งหลังสุดที่เป็นต้นตระกูลของพญามังราย โดยปู่เจ้าลาวจก (บรรพชนกษัตริย์ล้านนา ราชวงศ์พญามังราย) ท่านมีลูกอยู่ 3-4 คน ก็ส่งลูกไปอยู่หัวเมืองสำคัญๆ 3-4 แห่ง เชียงของก็คือเมืองหนึ่งที่ปู่เจ้าลาวจกส่งลูกมาปกครอง นั่นคือมูลเหตุว่า เมืองเชียงของเท่ากับเมืองเชียงแสน
ถัดจากยุคพญามังรายก็มาถึงยุคพม่าเข้าครอบครองเชียงแสน เมืองเชียงของมีความสำคัญอยู่ตลอดเวลาในการตีพม่าออกจากเชียงแสนยุคปี 2347 และเชียงของก็เป็นทัพร่วมกับน่านบุกตีพม่าออกไป เรื่องราวพวกนี้ทำให้เห็นว่าเมืองเชียงของเป็นเมืองที่สำคัญ เป็นที่กั้นภูมินิเวศที่เหมาะสมกับการสร้างบ้านแปงเมือง เพราะว่าเมืองนี้มีแม่น้ำใหญ่ (แม่น้ำโขง) อยู่หน้าเมือง แล้วแม่น้ำโขงก็เหมือนเส้นเลือดใหญ่ ทั้งในมิติการคมนาคม หากคุณจะไปค้าขายหรือเดินทาง แม่น้ำโขงก็สามารถพาคุณไปจากเชียงของ ถึงล้านช้าง ถึงหลวงพระบางได้ หรือจะขึ้นไปเมืองโยนกนาคพันธุ์ หรือไปเมืองแม่เชียงแสนก็ได้ หนำซ้ำถ้าคุณจะเข้าไปภูกำยาว เมืองเทิง เมืองลอง เมืองชุม ภูกำยาว คุณก็ไปตามสายน้ำอิง หรือคุณจะข้ามแม่น้ำโขงที่เชียงของไปสิบสองปันนาก็ยังได้ มันไปได้หมด
ฉะนั้นเมืองนี้จึงสำคัญทั้งในทางคมนาคม ทั้งภูมินิเวศของเมืองซึ่งเป็นที่ราบลุ่มในหุบเขา เป็นปากแม่น้ำด้วย เมืองเชียงของจะมีภูเขาใหญ่ล้อมรอบแล้วมีแอ่งยาวไปทางตอนใต้ ถัดไปก็มีแม่น้ำอิงไหลมาจากพะเยาถึงภูกำยาว ซึ่งแม่น้ำสายนี้มันแปลก เพราะมันไหลขึ้นทางเหนือ จากพะเยาสู่ใต้เชียงของก็ไหลขึ้นมา ผ่านเชียงคำ มาออกแม่น้ำโขงที่บ้านกาบจิก เมื่อแม่น้ำไหลผ่านมาบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำอิง มันจึงเป็นพื้นที่ที่ครอบคลุมสำคัญตั้งแต่อดีตแล้ว โดยเฉพาะเรื่องข้าว เชียงของมีพื้นที่ปลูกข้าว 120,000 ไร่
เมืองเชียงของถือเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญในอดีต ทั้งในเชิงความมั่นคงในยุคสงครามเย็น พอมาถึงยุคของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ. 2531-2534) ที่ได้ดำเนินนโยบาย ‘เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า’ ตั้งแต่ยุคนั้นเป็นต้นมา เราเรียกเชียงของว่า ยุคสงครามการค้า เพราะมันมีทั้งเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้ามาเกี่ยวข้อง และมีการระเบิดเกาะแก่งเกิดขึ้นมากมาย
พูดได้ไหมว่า โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง คือสัญญาณเริ่มต้นของการคุกคามสิ่งแวดล้อมจากการลงทุนข้ามพรมแดน
ผมว่าเป็นกรณีศึกษาสำคัญ เพราะเป็นการเปิดเส้นทางคมนาคมที่เขาเรียกว่า ‘โครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขง’ แล้วถ้าพูดถึงแม่น้ำโขงในลักษณะของผลประโยชน์และการกอบโกยนั้น มันมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยล่าอาณานิคมซึ่งเป็นช่วงที่มีการสำรวจแม่น้ำโขงไปถึงประเทศจีน การสำรวจครั้งนั้นก็เพื่อการค้า และมีข้อสรุปว่าเกาะแก่งในแม่น้ำโขงคืออุปสรรคในการเดินเรือ
โครงการระเบิดเกาะแก่งเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการลงมาทางตอนใต้ของประเทศจีน เริ่มขึ้นเมื่อมีการตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงประมาณปี 2543 หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยกันเรื่องข้อตกลงในการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขง แล้วก็มีการเสนอเรื่องการปรับปรุงร่องน้ำ เพราะนักวิชาการและวิศวกรเขามองว่าเกาะแก่ง เกาะดอน หินผาในแม่น้ำโขงคืออุปสรรค เขาใช้คำว่า ‘หินโสโครก’ อันนี้มันก็ชัดเจนอยู่ ช่วงนั้นพี่น้องชาวบ้านก็เริ่มขบวนการการศึกษาต่างๆ เริ่มสร้างเครือข่ายเพื่อต่อสู้เรื่องนี้
ชุมชนและกลุ่มรักษ์เชียงของ ใช้วิธีการอะไรเป็นคานงัดกับโครงการนี้
เรารู้เรื่องโครงการนี้จากเพื่อนพ้องในระบบราชการที่นับถือกัน เขารู้ว่าเราทำงานดูแลท้องถิ่น ดูแลรักษาทรัพยากร เขาก็แอบเอาหนังสือของมหาดไทยมาให้ดู ในเนื้อหาพูดถึงเรื่องการระเบิดแก่งและคำสั่งให้ผู้นำหมู่บ้านเรียกประชุมลูกบ้านว่า ไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปในเขตที่จะมีการระเบิด ทำให้เรารู้เรื่องจากอันนี้
พอดูมารายละเอียดก็พบว่า โอ้ มันเอาจริงๆ แล้ว เราก็ต้องรีบคุยกับพี่น้องชาวบ้าน โดยเฉพาะคนแก่คนเฒ่าที่อยู่กับแม่น้ำโขงมานาน ตอนนั้นเราไปพื้นที่ทุกวัน ไปเพื่อฟังคนเฒ่าคนแก่พูด ผู้เฒ่าผู้แก่เขาก็บอกว่าถ้ามีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงเกิดขึ้น มันจะสร้างความเสียหายมาก ยกตัวอย่างเช่น ภาครัฐบอกว่ามันเป็นหินโสโครก แต่คนเฒ่าคนแก่บอกว่า เกาะแก่งหินผาในแม่น้ำโขงก็เหมือนคอนโดของสัตว์น้ำ คือบ้านของปลา ถ้าเราเอาออกไป แม่น้ำโขงพังแน่
จากนั้นเราก็เริ่มขบวนการขับเคลื่อน เรามองว่าองค์ความรู้มันสำคัญ แต่เราก็เห็นข้อด้อยของการได้มาซึ่งองค์ความรู้คือ การขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในช่วงนั้นมีกรณีเขื่อนปากมูล จนเกิดคณะทำงาน ‘วิจัยไทบ้าน’ เราได้เจอกับอาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ (ศูนย์ภูมิภาคเพื่อสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ RCSD คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ท่านเป็นผู้รู้ในเรื่องการทำงานกับชาวบ้าน แล้วเราเห็นว่างานวิจัยไทบ้านมันน่าสนใจมากและเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม เราจึงเอาวิธีการมาปรับใช้เป็น ‘งานวิจัยจาวบ้าน’ ทางเหนือเรียกว่าจาวบ้าน โดยนักวิจัยก็คือชาวบ้าน ส่วนเราเป็นผู้ช่วยนักวิจัย ช่วยจัดขบวนให้ แต่ชาวบ้านเป็นคนปฏิบัติ นักวิจัยเรารุ่นแรกๆ มี 80-90 คน ทั้งผู้หญิงผู้ชายคนแก่คนเด็ก พอเขาเห็นว่าอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ เขาก็เริ่มทำ ซึ่งมันมีประโยชน์กับเราในการเผยแพร่ต่อสาธารณะหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ได้รับรู้ว่าแม่น้ำโขงเป็นยังไง มีความสำคัญอย่างไร ให้เขารู้ว่าแม่น้ำโขงมันไม่ใช่ H2O อย่างเดียวนะ
แม่น้ำไม่ใช่แค่น้ำเท่านั้น แต่มันมีวิถี มีวัฒนธรรม มีชีวิต มีจิตวิญญาณของเขา แล้วแม่น้ำโขงไม่ใช่แค่หล่อเลี้ยงคนอย่างเดียว แต่หล่อเลี้ยงอารยธรรมและวัฒนธรรมที่ก่อเกิดขึ้น อย่างหลวงพระบางที่เป็นมรดกโลก ถ้าไม่มีแม่น้ำโขงก็เป็นไม่ได้หรอก สิ่งสำคัญก็คือชาวบ้านที่มาเป็นนักวิจัย เราได้พัฒนาเขาไปด้วย ชาวบ้านรู้วิธีเก็บข้อมูล รู้วิธีวิเคราะห์ ทำให้ชาวบ้านยกระดับของตัวเอง
ความยากในการต่อสู้กับโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงคืออะไร
มันเป็นโครงการใหญ่ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ สิ่งที่ยากที่สุดก็คือ เราจะต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อว่าตัวเองมีสิทธิ์ในการที่จะลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรหรือวิถีของตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องลำบากมาก เวลาเราไปที่ไหนชาวบ้านเขาก็จะถามว่า “ครู เราสู้เขาไม่ได้มั้ง เพราะว่ามันเป็นเรื่องของประเทศหมดแล้ว เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ เราเป็นคนเชียงของตัวเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ” แต่เราก็ต้องพยายามพูดให้เขาเข้าใจเรื่องสิทธิ์ พูดให้เขาเข้าใจว่าการต่อสู้มันไม่ได้เสียหายอะไร ถ้าเราไม่สู้ก็แพ้ ถ้าเราสู้อาจจะเสมอหรือรอดไปก็ได้
เราต้องปลุกพี่น้องชาวบ้านในทุกๆ ที่ที่เราไป ว่ามันต้องสู้เหมือนนักมวย ถ้าเราไม่ขึ้นเวที เราก็ไม่รู้ แต่เราก็สร้างทางให้พี่น้องเห็นว่าเราจะสู้กันอย่างไร เราจะใช้องค์ความรู้เป็นฐานในการขับเคลื่อนอย่างไร เราจะใช้สื่ออย่างไร ใช้จังหวะก้าวอย่างไร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องทำ ในฐานะที่เราต้องมารับผิดชอบตรงนี้ิ เราต้องให้พี่น้องของเรารู้เท่าที่เรารู้ให้ได้ ปัญหาคือที่ผ่านมาเขาไม่รู้
การที่ชาวบ้านไม่รู้ สะท้อนให้เห็นว่าเขาถูกกดทับมานาน?
ใช่ เขาแค่ไม่รู้เท่านั้นเอง แต่เขาไม่ได้โง่
ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ นิเวศวิทยา วัฒนธรรม โคตรเหง้า รากเหง้า ความเป็นมา ดินน้ำป่าที่คุณอาศัยอยู่ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย คนกับคน คนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ เราอยู่กันอย่างไร เราสัมพันธ์กันอย่างไร เรื่องนี้เป็นพื้นฐานของมนุษย์ที่ต้องรู้ แต่เรากลับไม่รู้เรื่องพวกนี้ แล้วการที่พวกเราไม่รู้ มันชัดเจนว่าการสร้างชาติของไทยพยายามให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ไทยเดียว’ ทั้งที่เราหลากหลาย เรามีไทยวน ไทลื้อ ไทมากมาย ในความเป็น ‘ไท’ มันมีความหลากหลายแตกต่างกันทั้งภาษา วัฒนธรรม วิถีทุกอย่าง แต่ความเป็นไทยเดียวมันทำให้ความรู้หรือภูมิปัญญาต่างๆ ที่สั่งสมมาในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เรามีตัวอักษรเหนือ เรามีบันทึกมากมาย แต่องค์ความรู้เหล่านี้กลับถูกห้ามสอน น่ากลัวไหม เสร็จแล้วให้มานั่งเรียน ก.ไก่ ข.ไข่ ในโรงเรียน
สิ่งสำคัญของโลกใบนี้คือ คนทุกคนต้องเข้าใจเรื่องราวของโลกร่วมกัน ฉะนั้นมันถึงเวลาแล้ว การกดทับในเรื่ององค์ความรู้ต้องถูกเคลียร์ออกไป เราอยากให้พี่น้องรู้ว่าเขามีทุนอะไรในชีวิต แล้วมันเชื่อมกับโลกขณะนี้ ไปจนถึงโลกที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร เราต้องการให้เห็นว่า local กับ global เชื่อมกันยังไง ฉะนั้นเราต้องการให้คนบ้านเรารู้ทั้งท้องถิ่นกับสากล อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ
ขณะที่รัฐไทยพยายามกลบฝังความรู้ที่เป็นอื่นออกไป แต่งานของกลุ่มรักษ์เชียงของคือการควานหาความรู้เดิมกลับมา เพื่อเชื่อมกับความรู้ใหม่ คำถามคือ วิธีการนี้สามารถนำมาเชื่อมโยงกับงานต่อสู้เพื่อดูแลทรัพยากรอย่างไร โดยเฉพาะกรณีระเบิดแก่งแม่น้ำโขง
อันดับแรกคือ ถ้าชาวบ้านไม่ลุกขึ้นมาครั้งแรกเราก็คงแพ้ไปแล้ว ถ้าไม่มีชาวบ้าน แม่น้ำโขงก็ไม่เหลือแล้ว
อันที่สอง สิ่งที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาค้าน ไม่ใช่การพูดไปเรื่อย แต่เราพูดผ่านงานวิจัยที่ยืนยันได้ ปัจจัยที่ทำให้โครงการยุติได้คือพี่น้องชาวบ้านลุกขึ้นมาพูดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เราสามารถอธิบายความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขงในฐานะคลังอาหาร ที่สำคัญเราไม่ได้ค้านอย่างเดียว เราคุยเรื่องทางออกด้วย ยกตัวอย่างเรื่องการระเบิดแก่ง เราทำหนังสือเล่มหนึ่งเพื่อสื่อสารว่า การระเบิดแก่งนั้นสามารถเป็นการค้าที่เป็นธรรมได้หรือไม่ แล้วเราต้องทำยังไง
ยกตัวอย่างเช่น เรามีการเจรจากับบริษัทที่จะระเบิดแก่ง เขาก็พูดถึงเรื่องผลประโยชน์ของแม่น้ำโขงในการลำเลียงสินค้า เราก็พยายามอธิบายเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อีกเรื่องคือความเสียเปรียบของรัฐไทยหากมีการระเบิดแก่ง ทั้งเรื่องเขตแดน พื้นที่เกษตร ทรัพยากร ชาวบ้านเสียไปหมด แต่ที่ผ่านมารัฐไทยไม่ได้คิดเรื่องนี้
การที่ชาวบ้านสามารถยุติการระเบิดแก่งได้ มีความหมายต่อครูตี๋และชุมชนอย่างไร รวมถึงรางวัล Goldman Environmental Prize ที่ได้รับด้วย
รางวัลนี้มีความหมายมาก โลกได้เห็นการต่อสู้ของเรา โลกได้รับรู้การต่อสู้ของเราตลอด 20 ปีผ่านมา รางวัลนี้ทำให้ประเด็นของแม่น้ำโขงถูกมองเห็นเยอะมากขึ้น ผมรู้สึกว่านี่คือความสำเร็จ เพราะปัญหาเรื่องแม่น้ำโขงมันยังไม่จบสิ้นหรอก ตราบที่มนุษย์มันยังคิดถึงเงินทองมากกว่าธรรมชาติที่มีความสำคัญ เราก็รู้อยู่ เมื่อประเด็นเรื่องแม่น้ำโขงเป็นที่สนใจของสาธารณะมากขึ้นกว่าเดิม และนำไปสู่การพูดคุยกันมากขึ้น แล้วสุดท้ายก็ต้องพาแม่น้ำโขงไปสู่เรื่องของกฎหมายในการเป็นนิติบุคคล
เราต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติของมนุษย์ ว่าการจัดการกับปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ต้องจัดการที่ต้นตอของปัญหา ที่ผ่านมามันไปจัดการที่ปลายของปัญหา คือจัดการที่คน ไปแก้ปัญหาที่คน เวลาปลาหายไป ก็ให้คนไปเลี้ยงปลา เอาเงินไปให้ คนก็สบายใจแล้ว วิน-วิน คนสร้างเขื่อนก็วิน ไอ้นี่ก็วิน ได้รับเงินเยียวยา แต่ธรรมชาติหายไปไหน?
อย่างที่ครูตี๋บอกว่าปัญหาในแม่น้ำโขงยังไม่สิ้นสุด โดยเฉพาะกรณี ‘เขื่อน’ ครูตี๋รับทราบตอนไหนว่ามีการสร้างเขื่อนกั้นบนแม่น้ำโขงในประเทศจีนเเละเพื่อนบ้านมากมายขนาดนี้
เราไม่รู้หรอก รู้แค่ว่าแม่น้ำโขงมันเปลี่ยน ตอนนั้นไม่รู้ว่าน้ำโขงมันเกิดอะไร ทำไมถึงแห้งแล้งมาก หลังจากนั้นก็เริ่มมีข่าวคราวว่ามีการสร้างเขื่อนด้านบนของแม่น้ำโขงในประเทศจีน เราก็เริ่มติดตามข้อมูล มันน่ากลัวมาก ก็คือเมื่อปี 2546 ปีนั้นแม่น้ำโขงมันไม่ปกติแล้ว ตอนนั้นจากกรณีเขื่อนต้าเฉาซาน น้ำขึ้นลงไม่ปกติแล้ว หลังจากนั้นก็มีเขื่อนที่สาม เกิดน้ำท่วมบ้านหลังจากที่จีนปล่อยน้ำจากเขื่อนเสี่ยววานในปี 2553 นักวิชาการเขาก็พูดกันว่ามันคือ climate change
เราเข้าใจว่า climate change มันเกิดขึ้นทั้งโลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงมันไวเกินไป แม่น้ำโขงมันถูกเร่งให้เกิดวิกฤต ตอนปี 2553 ไม่สามารถเดินเรือไปหลวงพระบางได้เลย 7 วัน ข้ามไปไม่ได้เลยในช่วงนั้น
ในช่วงนั้น หลังจากที่ครูดูแม่น้ำโขง ครูก็ไปสาละวิน พบว่าสาละวินไม่มีปัญหาเลยสักอย่าง นี่ครูอยากเปรียบเทียบให้เห็นนะว่า สาละวินยังไม่มีเขื่อนแม้แต่ตัวเดียว แม่น้ำยังไหลอิสระอยู่ ฤดูกาลยังทำหน้าที่อยู่ แต่พอมาดูแม่น้ำโขง โอ้โห มันเกิดอะไรขึ้น นี่มันไม่ใช่ climate change อย่างเดียวแล้ว แต่สิ่งที่มันกระตุ้นให้เกิดวิกฤตในแม่น้ำโขงแล้วไปทำลายระบบนิเวศต่างๆ คือการสร้างเขื่อน
แม่น้ำโขงถือเป็นแม่น้ำนานาชาติ ไหลผ่าน 6 ประเทศคือ จีน ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม การสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำย่อมกระทบกับปลายน้ำ คำถามคือ ไม่มีกลไกในการหาข้อตกลงร่วมกันก่อนหรือ
ไม่มี ปากเขาพูดว่าแม่น้ำนานาชาติ เพราะมันผ่านหลายประเทศ แต่ถ้ามันผ่านประเทศใครมันก็เป็นของคนนั้น นี่คือปัญหาใหญ่ ที่พูดกันเมื่อกี้คือต้องมีการรณรงค์ข้ามพรมแดนได้แล้วในเรื่องสิ่งแวดล้อม และสาเหตุที่โครงการพวกนี้เดินหน้าได้ต่อเพราะมนุษย์ยอมรับเงื่อนไขที่เขายื่นให้ ไม่ได้คิดถึงแม่น้ำ
ยกตัวอย่าง จีนเขาบอกว่าเขื่อนทางตอนบนมีประโยชน์กับคนท้ายน้ำนะ เพราะเขาจะกักน้ำในฤดูน้ำหลาก ไม่ให้น้ำมาท่วมบ้านเราในฤดูฝน และเขื่อนจะปล่อยน้ำในฤดูแล้งนะ เพื่อไม่ให้ท้ายแม่น้ำแห้งแล้ง
คนที่ไม่ได้อยู่กับแม่น้ำโขงอาจจะคิดว่า โอ้ ฟังดูดีมาก มันทำให้น้ำไม่มาท่วมบ้านเรา หน้าแล้งเราก็มีน้ำใช้ …แต่คนลุ่มแม่น้ำโขงจะรู้เลยว่า นี่มันวิปริตแล้ว เพราะว่าในฤดูน้ำหลาก น้ำในแม่น้ำต้องยกระดับขึ้น เพื่อชะล้างตะกอนลงสู่แม่น้ำ และที่สำคัญ ฤดูนี้คือการที่ปลาจำนวนมากจะเข้าไปวางไข่ในแม่น้ำสาขา นี่คือเรื่องใหญ่ แต่เมื่อแม่น้ำโขงมันไม่สามารถยกระดับให้สูงขึ้น เพราะเขื่อนจีนกักน้ำไว้ น้ำก็ไม่เข้าไปตามแม่น้ำสาขา คำถามคือ จะเกิดอะไรขึ้นกับปริมาณของปลา พันธุ์ของปลา ที่ไม่สามารถเข้าไปวางไข่ในแม่น้ำสาขา อันนี้คือเรื่องใหญ่เลย
อีกเรื่องคือ การเดี๋ยวเปิดเดี๋ยวปิดน้ำของเขื่อนจีน มันทำให้ตลิ่งพัง ดินสไลด์ลงมาตลอด เพราะดินตลิ่งมันเป็นทรายใช่ไหม มันก็พังทลายลงไป มันไม่เซ็ตตัว ปกติตลิ่งจะไม่พังเพราะน้ำจะค่อยๆ ลง ค่อยๆ ขึ้น แต่พอมีเขื่อนจีน น้ำจะขึ้นลงด้วยความเร็ว ไม่เป็นธรรมชาติ ตลิ่งมันก็พัง รัฐก็ต้องมาสร้างพนังกั้นตลิ่งในแม่น้ำโขง งบประมาณ 130 ล้านบาท
กรณีชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ฟ้องการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การฟ้องร้องครั้งนี้มีความหมายอย่างไรต่อการต่อสู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน
เราฟ้องเรื่องผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรี ผู้คนมากมายก็บอกว่า “ฟ้องไปก็แพ้นะครู” ซึ่งครูก็รู้ แต่ยังไงก็ต้องฟ้อง เราฟ้องเพื่อให้เห็นว่าข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ มันยังไปไม่ถึงปัญหา มันต้องถูกปรับเปลี่ยนอย่างไร ถึงแม้เขาจะยกฟ้อง เราก็เอากรณีการยกฟ้องมาสู้ต่อได้ ใช้โอกาสนี้แหละขับเคลื่อนให้เป็นประเด็นเรื่องข้อด้อยในข้อกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่ในเรื่องของการจัดการทรัพยากรและการลงทุนข้ามพรมแดน ระดมนักวิชาการ นักกฎหมายอะไรต่างๆ ที่มีองค์ความรู้ตรงนี้มาคุยกันว่า มันถึงเวลาปรับเปลี่ยนตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องข้ามพรมแดน เพราะว่าเงินมันข้ามไปแล้ว แต่กฎหมายยังตามไม่ทันในเรื่องธรรมาภิบาล
เราไม่ได้หวังจะชนะหรอก ชนะก็ดี แต่ไม่ได้หวังจะชนะ เพราะรู้ว่าสุดท้ายมันก็ไม่ชนะ แต่ต้องทำให้เป็นประเด็นให้ได้ว่านี่คือกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดแล้วว่ากฎหมายมันล้าหลังอย่างไร ถ้าไม่ทำอย่างนี้เราจะเอาอะไรไปตีมัน นี่คือเหตุผลที่เราฟ้อง ถึงเรารู้ว่าจะไม่ชนะ แต่เราต้องการเห็นผลลัพธ์สุดท้ายเพื่อจะเคลื่อนต่อ ในเรื่องของการแก้ไขตัวบทกฎหมาย เราก็ต้องวางกลไก ต้องปรับแก้ ต้องหาวิธีทำให้มันเกิดกระแส
เกือบ 10 ปีที่ชาวบ้านรอการตัดสินของศาลปกครองในคดีเขื่อนไซยะบุรี ความล่าช้านี้มีนัยสำคัญอะไร
มันบอกหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องตัวบทกฎหมาย เพราะว่าตอนที่อยู่ศาลปกครองกลาง ก่อนที่ศาลจะตัดสินนั้น ศาลพูดถึงเรื่องของกรอบกฎหมายในคดีนี้ ซึ่งพอเราฟังปุ๊บเราก็รู้สึกว่า ‘โอ้ นี่มันไปไม่ถึงแล้ว’ มันมีกรอบอยู่ ศาลจะไปตัดสินนอกกรอบก็ไม่ได้
การต่อสู้เรื่องเขื่อนแม่น้ำโขง มีอุปสรรคมากน้อยแค่ไหนหากเทียบกับโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง
ยาก เพราะเรื่องระเบิดแก่งมันเป็นเหมือนหัวบันไดบ้านของเรา แต่เขื่อนมันอยู่ไหนไม่รู้ เรื่องอธิปไตยมันใหญ่มาก เพราะฉะนั้นจะต้องรณรงค์ให้ผ่านเรื่องอธิปไตยให้ได้ แล้วการที่จะผ่านเรื่องอธิปไตยให้ได้ก็ต้องยกระดับจิตสำนึกของคนในการจัดการแม่น้ำ จัดการสำนึกในเรื่องธรรมชาติ มันต้องข้ามพ้นไปสู่เรื่องของการปกป้องตัวเองภายใต้กฎหมายของแม่น้ำที่เขาปกป้องตัวเองได้ แต่เดี๋ยวนี้มันยังติดอยู่ในวังวนว่า ไม่เป็นไร เดี๋ยวก็เยียวยา แต่ถามว่าเยียวยาใคร มันต้องเปลี่ยนความคิดอย่างนี้ให้ได้ก่อน นี่คือเรื่องจริง คุณปฎิเสธไม่ได้
ครูตี๋มีข้อเรียกร้องต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายอย่างไร
ข้อเรียกร้องที่เร่งด่วน คือการปกป้องแม่น้ำให้เขามีสิทธิ์ที่จะปกป้องตัวเองในข้อกฎหมาย อันนี้เป็นเรื่องหนึ่ง
ไม่ใช่เฉพาะแม่น้ำโขง แต่หมายถึงแม่น้ำของทั้งโลกด้วย อันนี้เป็นเรื่องสูงสุดแล้วที่เราฝันอยากจะเห็น แต่สิ่งที่เราอยากเห็นเบื้องต้นคือ ขอให้พี่น้องได้เข้าใจความสัมพันธ์ของชีวิตตนเองกับแม่น้ำให้ลึกมากกว่านี้
แม่น้ำเป็นยิ่งกว่าชีวิตเรานะ แต่สุดท้ายที่เราเห็นก็คือให้เงินเยียวยากันไป แล้วก็วิน-วิน บางครั้งครูเสียใจกับคำว่าวิน-วินนะ มันเป็นวาทกรรมที่ทำให้มนุษย์เอาเปรียบธรรมชาติ มนุษย์เอาเปรียบทุกคนก็เพราะคำว่าวิน-วิน อย่างแม่น้ำโขงนั้น คนสร้างเขื่อนกับคนเดือดร้อนก็ได้รับการเยียวยา เขาใช้คำว่าวิน-วินนะ แต่คำถามที่อยู่ในใจครูคือ แล้วคุณเอาแม่น้ำไปไว้ไหน อันนี้เรื่องใหญ่เลยนะ แม่น้ำดูแลคุณมาตลอด แต่วันหนึ่งคุณบอกวิน-วิน แล้วแม่น้ำตาย ผมว่ามันใจร้าย