สุนารี ลาวัลยะวัฒน์: New Normal ในวิชาชีพสถาปนิก กับ Big Question ของนักศึกษาสถาปัตยกรรม

พูดคุยกับ สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ว่าด้วย new normal ในงานออกแบบจากการระบาดของ COVID-19 และการค้นหาคำตอบต่อคำถามที่ว่า “มีมหาวิทยาลัยไว้ทำไม” ด้วยการร่วมมือระหว่าง คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ หรือ ICRC กับคณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) ในการจัดทำหลักสูตรการออกแบบเรือนจำ

WAY พูดคุยกับอาจารย์สุนารีในฐานะที่สวมหมวก 2 ใบ ใบแรกคือการเป็นครู ใบที่สองคือการเป็นสถาปนิก ในวันที่ COVID-19 ทำให้ชีวิตและงานออกแบบต้องปรับตัว

ทบทวนตัวตน: มหาวิทยาลัยดำรงอยู่เพื่อสิ่งใด

มีคำถามใหญ่เกิดขึ้น คำถามนั้นก็คือนักศึกษาจะมาเรียนมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไร เพราะปริมาณของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาลดลงเรื่อยๆ สอดคล้องกับอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง เราก็ตั้งคำถามกันว่า มหาวิทยาลัยดำรงอยู่เพื่ออะไร

เพราะตอนนี้เราสามารถเรียนออนไลน์ที่ไหนก็ได้ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมี โควิด-19 เสียด้วยซ้ำ นักศึกษาที่ไทยสามารถเรียนฮาร์วาร์ดหรือมหาวิทยาลัยที่ไหนก็ได้ ทุกคนสามารถเรียนฟรี ถ้าต้องการ certify ความรู้ เราก็จ่ายค่าสอบ คุณก็จะได้ certificate ของความรู้และทักษะบางอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าเรายังทำตัวแบบเดิม สอนหนังสือแบบเดิม ก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรเลย คำถามที่ว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยไปเพื่ออะไร ก็ยังไม่ถูกตอบ

สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นคำถามในหมู่อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม ถ้าอย่างนั้นเราก็ควรที่จะตั้งโจทย์ร่วมกับนักศึกษา เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่าวิชาชีพสถาปนิกสามารถออกไปเป็นคำตอบอะไรได้บ้างให้สังคม จึงเกิดเป็น Lab Based Learning โมเดลสร้างกลยุทธ์ในการเรียนรู้ที่สอดคล้องกันระหว่างอาจารย์กับนักเรียนและสังคม เราตั้งกลุ่มขึ้นมาชื่อว่า Humanitarian Design Movement เป็นกลุ่มที่สนใจงานออกแบบเพื่อการสร้างความมั่นคงในชีวิตของมนุษย์

เรามองว่าสถาปนิกมีหน้าที่ในการดูแลและรับผิดชอบสังคม แล้ววิชาชีพที่สถาปนิกควรที่จะเข้าไปตอบโจทย์หรือแสดงให้คนในสังคมเห็นว่า ความรู้ความสามารถที่เรามีสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน เราพยายามกำหนดให้ทุกคนมีคอนเทนต์ที่ตัวเองสนใจ เราควรจะมีคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับสังคม แทนที่เราจะออกแบบบ้าน เราก็เลยผันโจทย์ให้เด็กออกแบบโดยหาลูกค้าจริงๆ ที่เป็นคนในสังคมนี่แหละ ซึ่งท่านเหล่านั้นอายุเกิน 60 เราจะเรียกว่า Sixty Plus House นักศึกษาจะสัมภาษณ์ผู้สูงวัยอายุ 60-70 ปี เพื่อศึกษาความต้องการในชีวิตของคนกลุ่มนี้ พวกเขามองชีวิตอย่างไร ชีวิตที่ตกผลึกแล้วคืออะไร อะไรคือสิ่งสำคัญในการออกแบบบ้านให้ผู้สูงวัย เพราะการออกแบบบ้านไม่ควรที่จะออกแบบบ้านยังไงก็ได้ แต่ควรจะเข้าใจชีวิตของมนุษย์ในระดับหนึ่ง

Humanitarian Design Movement เป็นกลุ่มที่สนใจงานออกแบบเพื่อการสร้างความมั่นคงในชีวิตของมนุษย์

ออกแบบคุก: พื้นที่ ระยะห่าง โรคระบาด อิสรภาพ

multi family design คืองานออกแบบประเภทหนึ่งที่เป็นโจทย์ของการเรียนการสอน เราพบว่าประเทศไทยมีปัญหาคนล้นคุกติดอันดับโลก คุกก็เป็น multi family design เหมือนกันนะ เพราะคนจะต้องอยู่ในพื้นที่จำกัดร่วมกับคนจำนวนมากในระยะเวลาหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงก็คือในต่างประเทศเขาขายคุกทิ้งเพื่อทำศูนย์ศิลปะ ศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้อพยพ แต่บ้านเราคุกกลับไม่พอ เราเชื่อว่าสถาปัตยกรรมมีผลต่อมนุษย์ โจทย์แรกเริ่มก็คือเรามาดูกันไหมว่ามีวิธีการทางสถาปัตยกรรมอย่างไรในการออกแบบคุก

เราเริ่มต้นจากการสำรวจและติดต่อว่า มีใครบ้างที่เป็นเพลย์เยอร์ในสังคม ก็พบคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ (The International Committee of The Red Cross) หรือ ICRC เขามีไกด์ไลน์การดูแลผู้ต้องขัง เราก็เกิดคำถามว่า สิ่งที่เป็นไกด์ไลน์ในต่างประเทศจะนำมาใช้ในเมืองไทยได้หรือไม่ เราพูดคุยกับราชทัณฑ์ เข้าไปดูพื้นที่จริง สัมภาษณ์ผู้ต้องขัง เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างไกด์ไลน์กับความเป็นจริง ความซับซ้อนของชีวิต ซึ่งก็เกิดเป็นงานให้นักศึกษาออกแบบ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว

ในปีแรกเราเริ่มจากการออกแบบคุกเปิด (open prison) ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้ต้องขังที่กำลังจะได้รับอิสรภาพไปฝึกอาชีพก่อนจะได้รับการปล่อยตัวคืนสู่สังคม เป็นนโยบายของราชทัณฑ์ มีการสอนการประกอบอาชีพ ทำนาทำสวน เพราะโจทย์ของอาชีพจะเป็นปัญหาในอนาคต เราไปดูพื้นที่จริงที่เขาไม้พวง ซึ่งมีนโยบายเป็นคุกเปิด มีการเลี้ยงหมู ทำเกษตร เราได้คุยกับผู้ต้องขัง มันช่วยทำให้เราและนักศึกษามองภาพที่เป็นจริงมากขึ้น ความผิดพลาดในชีวิตสามารถเกิดกับใครก็ได้ มันเป็นเราก็ได้ แต่หลังจากที่ใครคนหนึ่งซึ่งชีวิตเบี่ยงไปอีกเส้นทาง การที่จะกลับเข้ามาย่อมต้องเจอแรงเสียดทานมากมายเหลือเกินในการที่จะกลับเข้ามาในวิถีปกติ

SENSORY MODALITY, THE RE-DESIGN OF THONBURI PRISON
ผลงานออกแบบของนักศึกษา

หลังจากที่ร่วมงานกับคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศและราชทัณฑ์ ก็มีโปรเจ็คต์ที่ 2 ตามมา ก่อนหน้านี้เมืองไทยไม่เคยมีคุกหญิง คุกหญิงทั้งหมดที่มีในประเทศเป็นคุกเหลือใช้จากคุกชาย ในบางพื้นที่ยังมีโถปัสสาวะชายอยู่เลย ผู้ต้องขังชายจะเยอะกว่าหญิง เมื่อผู้ต้องขังล้นคุกเขาก็ย้ายไปสร้างที่ใหม่แล้วให้ผู้ต้องขังหญิงอยู่ที่เดิม

เราก็พบปัญหา เช่น ผู้ต้องขังหญิงที่มีลูกติดในท้อง เด็กเกิดในเรือนจำ อยู่กับแม่ในช่วงต้น จนถึงระยะหนึ่งก็มีญาติมารับไป เราไปดูพื้นที่จริง แล้วเจอเรื่องน่าตกใจที่คุกหญิงกลาง น้องผู้หญิงเหล่านั้นหน้าตาประมาณนักศึกษาเราเลยนะ เราเคยคิดว่าคนที่จะติดคุกคือคนที่ไม่มีการศึกษา ไม่มีโอกาสในชีวิต คนที่มีปัญหา แต่จริงๆ แล้ว คนที่ติดคุกก็เรียนจบปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก มีปัจจัยหลายอย่างในชีวิตที่ทำให้เขาต้องมาอยู่ที่นี่

เมื่อนักศึกษาเริ่มออกแบบ ก็พบว่างานน่าสนใจมาก เราสอนหนังสือมา 15 ปี เราจะเห็นเวลาที่เขาออกแบบหอพัก มันดีในระดับหนึ่ง แต่พอให้เขาทำงานที่เขาอิน เขาได้เข้าไปดูของจริง ได้สัมผัสผู้คน เขาได้ทำงาน ได้พรีเซนต์ แล้วมีสื่ออยากฟังเขา มีเจ้าหน้าที่ทั้งกองแบบของราชทัณฑ์หรือสถาปนิกของราชทัณฑ์ มาฟังเขา มาสัมภาษณ์เขา เขารู้สึกดีมาก สิ่งนั้นทำให้เรารู้คำตอบแล้วว่า มหาวิทยาลัยเกิดมาเพื่ออะไร มันคือหน่วยทดลองวิจัยที่เอาโอกาสมาให้เด็กได้แสดงความคิด ซึ่งสิ่งนี้จะไม่เกิดในโลกออนไลน์

THE GARDEN – Prison Project
ผลงานออกแบบของนักศึกษา
Treeward – A Project of Prison Design Renovation
ผลงานการออกแบบของนักศึกษา
SoA+D, KMUTT, The Re-design Thonburi Prison, Mintra, Intouch, Punyapat.
ผลงานการออกแบบของนักศึกษา

จากคุกเปิดสู่คุกหญิง ณ ตอนนี้ เด็กกำลังจะส่งงานเป็นปีที่ 3 ซึ่งในปีนี้คณะสถาปัตยกรรมทำ MOU กับเรือนจำพิเศษธนบุรี เรือนจำขอให้ไปช่วยออกแบบและแก้ปัญหาจุดต่างๆ ในเรือนจำแดน 4 ซึ่งเป็นผู้ต้องหาติดซ้ำซ้อน คนหนึ่งติดคุกมาไม่ต่ำกว่า 3-5 รอบ เราทำเรื่องขอเรือนนอนและพื้นที่ในแดนมาให้นักศึกษาออกแบบ มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมคนทำผิดซ้ำซ้อน แล้วเราจะสร้างความคิดเชิงบวกผ่านสถาปัตยกรรมในพื้นที่ให้คนอย่างไร โดยที่เสาและคาน โครงสร้างทุกอย่างยังอยู่เหมือนเดิม

จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19

สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เรามีแผนจะเข้าเรือนจำกัน นักศึกษาตื่นเต้นกันมาก พวกเขาทำการบ้านเพื่อเข้าไปเรียนรู้ชีวิตคน แต่สุดท้ายก็เข้าไม่ได้ เพราะโควิด-19 ระบาด เราก็ไม่ได้เข้าไปรีเสิร์ช เพราะเรือนจำอยู่กันแบบแออัด ถ้ามีใครนำเชื้อไวรัสเข้าไป มันจะลำบากมาก ช่วงการระบาดนี้ผู้ต้องขังจะเครียดมาก เพราะญาติก็ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ จากการพูดคุยเราพบว่า ความหมายของการมีชีวิตของคนหลายคนคือการได้พบเจอกับครอบครัว พบเจอคนที่เขารัก เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 แม้แต่ญาติก็เยี่ยมไม่ได้

ตัดภาพกลับมาในฝั่งของนักศึกษา ในช่วงเวลานี้ เด็กๆ ก็จะดีเบตกันเข้มข้น เช่น เวลาเรานำแบบคุกของต่างประเทศมาให้พวกเขาดู พวกเขาจะเกิดคำถามว่า “ถ้าคุกดูดีมาก มันจะทำให้เขาไม่อยากออกจากคุกรึเปล่า” หรือ “แล้วเราจะออกแบบคุกให้ดีไปเพื่ออะไร”

แต่นักศึกษาเริ่มเรียนรู้ในเรื่องนี้ภายในระยะเวลาเดือนที่ผ่านมา ว่าถ้ามีข้อจำกัดในชีวิตมากๆ เช่น เราออกไปไหนไม่ได้เลย มันทุกข์มากแม้ว่าเราจะอยู่ในบ้านของเราเอง พวกเขาได้รับประสบการณ์นี้ในช่วงที่ต้องอยู่บ้านจากมาตรการล็อคดาวน์ ฉะนั้นการที่เราจะออกแบบคุกให้ดี มันไม่ใช่ว่าคนจะอยากอยู่คุก จนไม่อยากมีอิสรภาพ

เหตุการณ์โควิด-19 ทำให้เด็กเข้าใจว่า จริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น การทำให้พื้นที่ดี เป็นความรับผิดชอบของนักออกแบบ แต่อิสรภาพเป็นสิ่งที่คนต้องการ

สถาปัตยกรรมจะต้องไม่จองจำผู้ต้องขัง

คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ จะถือไกด์ไลน์ที่เป็นคำแนะนำให้พื้นที่หรือการดูแลพื้นที่ต่างๆ แต่ละประเทศจะมีสนธิสัญญาที่เซ็นร่วมกัน ว่าเขาจะดูแลผู้ต้องขังในระดับที่คงความเป็นมนุษย์ เคารพในสิทธิของกัน ซึ่งรวมถึงคุณภาพชีวิต น้ำ อากาศ อาหาร ที่นอน ทางเดิน ซึ่งจะเป็นตัวเลขที่ระบุเลยว่าสิ่งของเหล่านี้ควรเป็นยังไง มีขนาดเท่าไหร่ ซึ่งมีหลายพาร์ท

สำหรับฝั่งไทย ตรงนี้ก็เป็นปัญหาว่า คุกคืออะไรกันแน่ ต่างประเทศจะมองว่าคุกเป็นสถานที่ขัดเกลาจิตใจมนุษย์ แต่ฝั่งไทยบอกว่า มันเป็นที่ลงโทษ สิ่งแรกที่เราได้เรียนรู้หลังทำโปรเจ็คต์คือ หน้าที่ในการตัดสินผู้อื่นไม่ใช่หน้าที่เรา แต่เป็นหน้าที่ของศาล การถูกพรากอิสรภาพคือการรับโทษ สิ่งสำคัญคือเราไม่ควรไปลงโทษเขาซ้ำซ้อน ด้วยการนำตัวเขาไปอยู่ในสถานที่ที่ย่ำแย่ มันทำร้ายจิตใจ หรือพื้นที่นั้นมีเชื้อโรคระบาด หรือมีหิด ตาแดง อันนี้เขาเรียกว่า ต้องโทษซ้ำซ้อนค่ะ

ฉะนั้นสถาปัตยกรรมต้องเข้ามาดูแลเรื่องพื้นฐานว่า จะต้องไม่มีการลงโทษผู้ต้องขังด้วยงานสถาปัตยกรรมด้วยอาคาร นี่คือสิ่งที่เราคุยกับเด็กให้เคลียร์ ว่าเราจะไม่ออกแบบอะไรที่อยู่บนความหรูหรา ไม่มีการใช้ระบบปรับอากาศ ทุกอย่างเป็นอากาศธรรมชาติ การแก้ปัญหาอยู่บนฐานสังคมไทยของการอยู่ร่วมกัน

เราก็ต้องเข้าใจทั้งสองโลก ฝั่งสากลและบริบทเฉพาะของเรา ทั้งอากาศและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอยู่ตรงกลางระหว่าง 2 โลก งานของเราจะสอนให้เด็กตอบโจทย์ลูกค้าทั้งสองฝั่ง

New Normal ในงานออกแบบยุค Post COVID-19

ดิฉันขอแชร์ประสบการณ์ตัวเองหลังเกิดโควิด-19

นอกจากเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เรามีออฟฟิศออกแบบด้วย สัปดาห์แรกของการระบาดลูกค้าจะบอกให้เราหยุดโปรเจ็คต์ไว้ก่อน เพราะทุกคนมีปัญหาหมด ไม่พร้อมลงทุน ขอยกเลิกโปรเจ็คต์เสียส่วนใหญ่ แต่หลังการระบาดสักพัก เมืองไทยมีมาตรการการกักตัวหรือ social distancing สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ลูกค้าโทรมาให้ปรับปรุงบ้าน พวกเขาอยู่บ้านมาเดือนกว่า รู้สึกบ้านไม่โอเค อยากปรับปรุงบ้าน ซึ่งติดต่อกันมาหลายเจ้า เราเข้าใจว่า ถ้าต้องทำงานที่บ้าน แต่มีพื้นที่ไม่พอ หรือแต่เดิมกินข้าวนอกบ้าน แต่พอสถานการณ์เป็นแบบนี้ คนก็ต้องการทำอาหารเอง แต่ครัวไม่เอื้อ ทุกคนก็เริ่มปลูกผักที่ระเบียงเพื่อทำอาหาร สุดท้ายเราก็พบว่า บ้านคือพื้นที่ที่สำคัญที่สุด ต่อไปนี้คือที่ทำงานด้วย ก็เริ่มมีคนติดต่อมา หรือในแวดวงสถาปนิกจะรู้กันว่า ลูกค้าจะเริ่มปรับปรุงบ้านกันหลังจากการระบาด

ทุกคนที่มาหาส่วนมากอยากให้พื้นที่ครัวกว้างขึ้น สามารถทำอาหารได้ ลูกค้าดั้งเดิมจะบอกเราว่า ครัวเป็นพื้นที่อุ่นอาหาร ไม่ได้ทำอาหาร ตอนนี้จะบอกว่า อยากให้ครัวทำหน้าที่เป็นครัวได้ดีกว่านี้ อยากให้มีการแยกพื้นที่ออกจากกันระหว่างพ่อแม่ลูก ให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างสะดวก เขาเริ่มมองว่า จากบ้านมันจะเป็นที่ทำงานด้วย ถ้าบ้านไหนมีคนสูงวัยก็พยายามหาวิธีแยกโซนให้คนสูงวัย เพื่อกันลูกหลานแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว
พื้นที่ที่เราแชร์กันแม้กระทั่งคนในครอบครัวเดียวกัน เราจะทำงานยังไงถ้าในบ้าน 1 หลัง ลูกต้องเรียนออนไลน์ แม่ประชุมออนไลน์ พ่อทำงานออนไลน์ แล้วถ้าเกิดมีคุณตาคุณยาย มีสัตว์เลี้ยง มีพี่เลี้ยง ทุกอย่างต้องมานั่งเคลียร์ใหม่ เราจะจัดสรรพื้นที่ยังไงให้ทุกคนดำเนินชีวิตต่อได้

ถามว่ามีงานให้ทำไหม มันก็มี แต่จะเป็นงานอีกไดเรคชั่นหนึ่ง จะเป็นเรื่องของการปรับปรุง ทำพื้นที่ใหม่ ตอนนี้มหาวิทยาลัยก็ต้องการปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ มันต้องเกิด normal ใหม่ที่เราจะต้องมองภาพชีวิตที่เรียกว่า new normal ร้านอาหารจะนั่งกันยังไง เราจะสั่งอาหารยังไง เราจะซื้อของยังไง เราจะเห็นว่าตอนนี้งานดีไซน์จะเข้าไปเป็น device แต่ถึงวันหนึ่ง device เหล่านี้เป็นแค่โซลูชั่นชั่วคราว แต่ต่อจากนี้งานดีไซน์จะต้องพัฒนาตามรูปแบบการใช้ชีวิต

กรณีห้องเรียน เราจะต้องสร้างระยะห่างเวลาที่เด็กนั่ง แต่ที่สำคัญเราต้องมีการตรวจคุณภาพอากาศซึ่งจะต้องมีแรงดัน 10 เท่าของปริมาตรอากาศในห้อง เพื่อให้เกิด flow ของอากาศที่ดี เวลาที่เราเห็นเคสของต่างประเทศ เช่น คนที่มีเชื้อแล้วอยู่ในห้องปรับอากาศ เชื้อสามารถกระจายและวนในพื้นที่นั้น ทำให้คนส่วนใหญ่ในห้องติดเชื้อได้ แต่งานออกแบบที่ลมธรรมชาติสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่งานออกแบบที่ง่ายเลย มันเป็นงานออกแบบที่ต้องคิดถึงบริบทรอบอาคารทั้งหมด นี่ก็จะเป็นอีกหนึ่งคำตอบในสังคมว่า ต่อไปนี้ถ้าจะออกแบบบ้าน เราต้องคิดถึงคนที่อยู่ในบ้าน ถ้ามีผู้สูงวัย ก็ต้องมีพื้นที่ที่แยกจากพื้นที่ส่วนกลางได้ พื้นที่ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันในบ้านจะต้องมีอากาศธรรมชาติสามารถถ่ายเทสะดวก วิธีคิดเหล่านี้มาแน่นอนหลังโควิด

แต่ต้องแก้ที่การบริหารจัดการด้วย เพราะการเรียนหนังสือในรูปแบบไหนก็ตามมันเป็นไปได้ยากถ้ามีครู 1 คน กับคนเรียนอีก 50 กว่าคน มันเป็นตัวเลขที่ไม่เหมาะสม ตัวเลขที่เหมาะสมคือ 1 ต่อ 20 หรือ 30 ต่อให้ครูที่เก่งที่สุดกับเด็กที่เก่งที่สุด ถ้าต้องมาอยู่ในห้องที่มีคนกว่า 60 คน ก็ลำบาก

เราอาจจะต้องรื้อระบบว่า ต่อจากนี้จะเรียนด้วยวิธีการไหน สมัยก่อนจะมีการเรียนรอบเช้ารอบบ่าย ก็อาจจะเป็นวิธีนี้ก็ได้ ในพื้นที่เดียวกันจะมีการจัดสรรพื้นที่นั้นเป็นช่วงเวลาเป็นรอบๆ ของการเรียน พื้นที่หนึ่งสามารถรองรับจำนวนคนได้เท่าเดิม แต่การเข้าใช้พื้นที่อาจจะแบ่งเป็นรอบ คิดว่าวิธีนี้น่าจะเป็นทางเลือกได้ กระทรวงศึกษาฯ เคยใช้วิธีนี้เพื่อแก้ปัญหารถติด คนแออัดในพื้นที่ การจัดสรรจำนวนคนในห้องให้น้อยลง แล้วแบ่งเวลาการเรียน ก็น่าจะช่วย

เท่าที่ทราบ ระบบการเรียนการสอนจะถูกเปลี่ยนเป็นการเรียนทางไกลผสมกับการที่ผู้เรียนต้องเข้ามาเรียนในห้อง มันน่าจะมีเรื่อง project based เยอะขึ้น เช่น การออกไปค้นคว้าความรู้ภายนอก การเรียนต้องบูรณาการแล้ว การที่นักเรียนมานั่งฟังๆ จดๆ ไม่น่าจะใช่แล้ว น่าจะมีการผันหลักสูตรที่มีการทำโครงงานหรือโปรเจ็คต์ แล้วถ้าเข้ามาเจอกันคือการแชร์ไอเดีย มาเรียนรู้ร่วมกัน ทำยังไงให้การเรียนการสอนไม่ใช่การนั่งฟังเหมือนที่เคยเป็นมา ไม่มีคำถาม ไม่มีคำตอบ เพราะนักเรียนก็คิดว่ามาทำหน้าที่ตัวเองแล้วคือเข้ามาเรียนในห้อง ครูก็เช่นกัน

อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ ณ ตอนนี้ คนเริ่มมองหาเมืองรองมากขึ้น คนที่อยู่ในเมืองที่มีความหนาแน่นเริ่มมองว่า เมืองรองอาจจะเป็นคำตอบของชีวิตที่ดี ลูกค้าก็เริ่มพูดกันว่า หรือจะไปปลูกบ้านใหม่ ที่ห่างจาก กทม. สัก 1-2 ชั่วโมง แล้วทำให้คุณภาพชีวิตดีกว่านี้ เริ่มมีคนพูดถึงประเด็นนี้กันนะ มันอาจจะเป็นเทรนด์ใหม่ของชีวิต สมมุติว่า เราต้อง work from home กันต่อไป ก็ทำให้คนเริ่มมองหาพื้นที่ที่ไม่แออัด ราคาที่ดินไม่สูงมาก สร้างบ้านที่อยู่สบาย สามารถทำงานได้ เดินทางเข้าเมืองใหญ่ได้ไม่ไกลนัก

คิดว่าแนวโน้มชีวิตในเมืองใหญ่จะมี 2 จำพวก คือ ตามหายูโทเปียใหม่ ที่สามารถขับรถเข้ามาได้อย่างสะดวก และอีกจำพวกคือคนจะเดินเท้ากันมากขึ้น เราจะไปไหนมาไหนด้วยการเดินหรือขี่จักรยานเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดบนรถสาธารณะ ชีวิตที่เรียบง่ายจะเป็นเทรนด์ของการใช้ชีวิต แต่ชีวิตที่เรียบง่ายมันมีหลายปัจจัย มีปัจจัยของเศรษฐกิจ เวลา เมือง ที่อยู่อาศัย เมืองอนุญาตให้เราสามารถเดินอย่างปลอดภัยได้หรือไม่ นี่คือประเด็นใหญ่

โจทย์ใหม่ของนักศึกษา ‘ถาปัตย์ ยุค Post COVID-19

ตอนนี้ลูกศิษย์ของเรามีปัญหา ลูกศิษย์ที่กำลังจะจบกังวลว่า เขาจะมีงานทำไหม การสมัครงานเป็นเรื่องยากมาก เวลาที่เศรษฐกิจไม่ดีหรือถ้าไม่มีงานคนก็จะไปเรียนต่อ แต่ตอนนี้นักศึกษาหลายคนไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ แม้ว่ามหาวิทยาลัยในยุโรปก็ตอบรับเขาแล้ว แต่มหาวิทยาลัยบอกว่า อย่าเพิ่งบินไปตอนนี้ ให้รออีกระยะ ลงทะเบียนไว้ก่อน แต่อย่าเพิ่งไปเรียน สถานการณ์ของเด็กที่จะจบช่วงนี้คือไปเรียนต่อก็ไม่ได้ งานก็ไม่มีให้ทำ ทุกคนก็ไม่รู้จะทำยังไงกับสถานการณ์นี้

สิ่งหนึ่งที่ต้องมากับโควิดคือ adaptation ทฤษฎีนี้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีก่อน ตอนนั้นเขามองเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือการเกิดภัยพิบัติต่างๆ สถาปัตยกรรมต้องทำหน้าที่รองรับการเปลี่ยนแปลง แต่ตอนนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการ adaptation ก็คือนักออกแบบต้องอนุญาตให้อาคารมีการเปลี่ยนแปลงได้ ความสนใจของนักศึกษาในช่วงนี้คืองานอาคารในกลุ่มของโรงพยาบาล นักศึกษาเริ่มมีคำถามกันมาก

ในช่วงการระบาด เราได้ไปช่วยออกแบบตึกตรวจโควิด ก็ได้เริ่มเข้าไปอ่านคู่มือการควบคุมคุณภาพอากาศของโรงพยาบาล นักศึกษาก็มีความสนใจในเรื่องอาคารทางสาธารณสุขกัน เป็นเทรนด์ใหม่ของนักศึกษา เวลาที่เกิดโรคในประเทศเรา กลุ่มคนกลุ่มแรกที่ต้องการความช่วยเหลือคือโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ หน้าที่ของสถาปนิกก็ควรมีความรู้ว่าเราสามารถช่วยเขาได้อย่างไร หรือคำว่า social distancing บุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถมีระยะห่างกับคนไข้ได้เลย แล้วสิ่งที่เกิดก็คือ เขาต้องใช้ชุด PPE ซึ่งออกแบบจากต่างประเทศและเหมาะมากกับการเดินในอากาศที่หนาวเย็น ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ไทยถ้าใส่ชุดนี้แล้วอยู่ในสภาพอากาศบ้านเรา มันจะลำบากมาก สิ่งเหล่านี้ทั้งอาคารต้องถูกรีดีไซน์ใหม่ว่ามันจะเป็นยังไง

เราเห็นหัวข้อวิทยานิพนธ์ของเด็กในรุ่นต่อไปที่พวกเขากำลังทำในช่วงนี้ งานในลักษณะที่เป็นงานออกแบบที่เกี่ยวกับสุขภาพมากันเต็มเลย มีอาคารที่ถูกออกแบบเพื่อสภาพอากาศที่ดีกว่าเดิม เพราะต้องบอกว่า เราอาจจะมองเรื่องโควิดกันเยอะ แต่ PM2.5 ก็ไม่ใช่เล่นเลย และน่ากลัวมาก ค่าคุณภาพอากาศที่เชียงใหม่ก็น่ากลัวมาก แล้วคนเชียงใหม่ก็เจอทั้งโควิด ฝุ่น และไฟไหม้ หัวข้อเกี่ยวกับการดูแลคุณภาพชีวิตเป็นรูปแบบใหม่ที่นักศึกษาให้ความสนใจ ที่จะติดอาวุธทางความรู้ว่าจะรับมืออย่างไร เขาคงอยากจะรู้เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตของตัวเขาเองด้วย และเขาก็มองว่า งานสถาปัตยกรรมก็ควรมีความรู้ในมิตินี้ เพื่อตอบความต้องการของคนในสังคมเช่นกัน

ช่วงหลังๆ มีเด็กตั้งหัวข้อวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ความเครียด อาคารสำหรับบำบัดโรคเหล่านี้เยอะเหมือนกันนะ พื้นที่ของการดูแลความเศร้าและความเครียด โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่กระทบพวกเขา เป็นการหาทางออกของชีวิตให้กับตัวเขาและยุคสมัยที่พวกเขาอยู่

Author

วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์
1 ใน 3 คณะบรรณาธิการหนุ่มของ WAY

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า