ธิษะณา ชุณหะวัณ: เพราะอกหัก จึงต้องเปลี่ยนใจ

การแสดงออกทางการเมืองไม่ว่าจะในประเทศใดล้วนมีข้อถกเถียงเสมอว่า ขอบเขตของการแสดงออกเหล่านั้นควรมีกรอบจำกัดแค่ไหน หรือเอาเข้าจริงแล้วมันมีเส้นนั้นอยู่จริงหรือไม่ 

แม้ว่าสังคมจะยังคงจับตาการ ‘ล้ำเส้น’ ของแต่ละกลุ่ม แต่ละบุคคลอยู่เสมอ เพื่อแสวงหาความรับผิดชอบต่อการกระทำเหล่านั้น แต่ก็ใช่ว่าการแสดงออกทางการเมืองหรือจุดยืนต่างๆ จะไม่สามารถแปรเปลี่ยนหรือแช่แข็งตายตัวตลอดไป เพราะความคิดของคนต่างเติบโตตามกาลเวลา และเกิดการเรียนรู้ผ่านสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ การที่บุคคลหนึ่งจะเคยเชื่อและแสดงออกในรูปแบบหนึ่ง แต่วันข้างหน้าก็สามารถเปลี่ยนไปสนับสนุนแนวทางตรงกันข้ามอย่างเปิดเผยก็เป็นไปได้เช่นกัน 

การ ‘กลับใจ’ เช่นนี้แม้จะไม่ได้ทำให้ร่องรอยของการกระทำเก่าๆ ถูกลบเลือน แต่อย่างน้อยก็เป็นการยอมรับผิดต่อการกระทำนั้นในเบื้องต้น

ประเด็นเรื่องการแสดงออกทางการเมืองและการกลับใจ ทำให้ WAY ตัดสินใจมาพูดคุยกับว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล ธิษะณา ชุณหะวัณ หรือ ‘แก้วตา’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง กลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (ConLab) ที่เพิ่งเปิดตัว ‘ห้องออกแบบรัฐธรรมนูญออนไลน์’ และหนึ่งในกรรมการเลขานุการ มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา อันทำงานเกี่ยวกับประเด็นผู้ลี้ภัยและแรงงานต่างชาติ ผู้ซึ่งกล้าออกมาเผชิญความจริงด้วยการเอ่ยคำขอโทษ จากการกระทำในอดีตที่เคยด้อยค่าคนเสื้อแดงและสนับสนุนการรัฐประหาร ซึ่งทำให้เกิดข้อถกเถียงในสังคมตามมาเป็นอย่างมากว่าการแสดงออกเช่นนี้ควรให้อภัยได้มากน้อยแค่ไหน สังคมไทยมีพื้นที่เพียงใดสำหรับผู้กลับใจ ไปจนถึงความรับผิดชอบในการแสดงออกทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของคนทุกคน ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายโดยง่าย

ที่บอกว่าเคยร่วมการชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. อะไรคือเหตุผลของการตัดสินใจเข้าร่วมในครั้งนั้น

เนื่องจากตอนนั้นคุณพ่อของดิฉัน (ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ) เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีของทั้งสองการชุมนุมอยู่บ่อยครั้ง เราในตอนนั้นที่ยังเป็นเยาวชนอยู่ และอยู่ในความดูแลของคุณพ่อก็ได้รับอิทธิพลมาบ้างพอสมควร ได้ตามไปร่วมเคลื่อนไหวทางสังคมตามที่ต่างๆ กับคุณพ่อหลายครั้ง ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างการต่อต้านเขื่อนไซยะบุรี ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ต่อต้านการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่กระทบที่ดินทำกินของกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก แน่นอนว่า แม้แต่การชุมนุมทางการเมืองอย่างกลุ่มพันธมิตรฯ และ กปปส. เองก็ทำให้ดิฉันได้ตามคุณพ่อไปด้วยเช่นกัน

จุดยืนวันนี้สวนทางกับจุดยืนตอนนั้นมาก อะไรเป็นจุดเปลี่ยนทางความคิด 

จุดเปลี่ยนทางความคิดที่สำคัญมากคือ ช่วงการลงมติร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งตอนนั้นเราตัดสินใจที่จะโหวตไม่รับ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการร่างเลย รวมไปถึงรัฐบาลในขณะนั้นได้ทำการจับกุมนักเคลื่อนไหวหลายคนที่ออกมาต่อต้านการลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว อย่าง น้องไผ่ ดาวดิน และคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก 

ตอนนั้นการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. จบลงด้วยการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดิฉันก็ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศไทยอีกเลยจนกระทั่งหลังการเลือกตั้งปี 2562 ที่ตอนนั้นดิฉันได้พยายามรณรงค์ให้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน ร่วมกับกลุ่ม ConLab ซึ่งเราพยายามลงขันกันเองเพื่อจัดกิจกรรมตามจุดต่างๆ ให้ได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในมหาวิทยาลัย 

นอกจากพยายามผลักดันให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เป้าหมายของเราอีกอย่างคือ อยากให้รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนสามารถอ่านและเข้าใจได้ หรือเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำให้ทุกคนเข้าใจสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้โดยง่าย และไม่ใช้ภาษาที่ยากหรือซับซ้อนจนเกินไป 

ทำไมไม่ออกมาเคลื่อนไหวทันทีหลังการรัฐประหาร

เหตุที่ไม่ออกมาเคลื่อนไหวทันที เพราะหนึ่ง คือเรารู้สึกผิดหวังกับผลลัพธ์ของการเคลื่อนไหวในครั้งนั้นว่าไม่ได้เหมือนที่เราหวังเอาไว้แต่แรก สอง เราหวังว่าสักวันหนึ่งเขาจะคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน ซึ่งก็อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบันว่า ไม่มีท่าทีหรือความเคลื่อนไหวในลักษณะนั้นเลย

ช่วงที่ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของ คสช. สิทธิเสรีภาพที่เคยได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถูกยกเลิกไป การออกมาชุมนุมในช่วงนั้นกลายเป็นเรื่องอันตราย เพราะเราไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพที่จะชุมนุมแบบที่ปัจจุบันนี้ยังพอมีอยู่บ้างในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มาตรา 44 ที่คุ้มครองการชุมนุมอย่างสงบโดยปราศจากอาวุธ ตอนนั้นใครออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองดิฉันก็ต้องขอยกย่องว่าพวกเขามีความกล้าหาญมากๆ 

ด้วยความคิดที่จะมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ได้กล่าวไป ทำให้ภายหลังการเลือกตั้งปี 2562 ดิฉันได้ทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาในอนุกรรมาธิการพัฒนาประสิทธิภาพการพัฒนาการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ในตอนแรกที่เข้าไปเป็นพรรคร่วมรัฐบาลมีเงื่อนไขว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มุมมองของดิฉันจึงมองว่า ตราบใดก็ตามที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นนั้นก็เป็นเงื่อนไขที่รับได้ อย่างไรก็ตาม ดิฉันก็ไม่ได้สมัครสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แต่ทำงานในฐานะนักวิชาการอิสระในลักษณะของที่ปรึกษามากกว่า

พูดได้ว่าอกหักจากพรรคพลังประชารัฐมาแล้วหลังรัฐธรรมนูญ 2560 และหลังจากนั้นไม่นานก็มาอกหักจากพรรคที่คุณพ่อของเราเคยอยู่มาตลอดอย่างพรรคประชาธิปัตย์ จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งตอนที่มีการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรกในปีที่แล้ว ดิฉันได้ไปเป็นอาสาสมัครล่ารายชื่อร่วมกับ iLaw แต่ ส.ส. ประชาธิปัตย์กลับไม่โหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ iLaw ที่มาจากการเข้าชื่อของประชาชนร่วมแสนกว่าคน 

การโหวตครั้งนั้นทำให้ดิฉันได้ทราบอย่างถ่องแท้ว่า ส.ส. หรือ ส.ว. คนไหนมีความจริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ควรหยุดการอ้างมติพรรค เพราะควรเห็นผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลักและยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยที่มีการกระจายอำนาจ และตรวจสอบถ่วงดุล เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนในการสถาปนารัฐธรรมนูญ 

ตอนนั้นคนไปชุมนุมกับ กปปส. เยอะมาก ปัจจุบันคนกลุ่มนี้หายไปไหนหมด

ดิฉันคิดว่าแต่ละคนคงมีจุดเปลี่ยนที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะเปลี่ยนใจกันตั้งแต่ตอนรัฐประหารเลย หรืออาจจะเปลี่ยนใจตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เหมือนดิฉัน หรืออาจเพิ่งเปลี่ยนใจในช่วงนี้จากการได้เห็นประสิทธิภาพในการจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดนี้จนตนเองได้รับผลกระทบ มันมีหลายปัจจัยมากที่ทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐไม่ได้มีเยอะเท่าสมัยแรกๆ 

ในโพสต์ที่ออกมาขอโทษ มีการพูดถึงวลี ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’ กับ ‘ขาดข้อมูลรอบด้าน’ เช่นนี้แล้วเราควรจะรู้อะไรแค่ไหนถึงจะออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองได้

ไม่ว่าจะเป็นการ ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’ หรือการ ‘ขาดข้อมูลรอบด้าน’ ก็ไม่ควรที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์ใครเหมือนที่แก้วเคยได้กระทำไปในตอนนั้น (กรณีการสาปแช่งและด้อยค่าความเป็นมนุษย์ของคนเสื้อแดง) เพราะว่ามันผิดต่อหลักมนุษยธรรม ไม่ใช่แค่การได้รับข้อมูลอย่างไม่เพียงพอ แต่มันคือการแสดงออกอย่างไม่เหมาะสม ไม่ควรจะทำ ไม่ว่าจะกับคนที่เห็นต่างทางการเมืองหรือกับใครทั้งนั้น แม้แต่กับพลเอกประยุทธ์เองก็ตาม

ส่วนเรื่องการไม่ได้รับข้อมูลรอบด้านหรือการเสพข่าวด้านเดียวนั้น สมัยก่อนเราอาจยังไม่ค่อยรู้จัก ‘post truth’ ‘selective truth’ หรือที่ทุกวันนี้เราเรียกกันว่า ‘fake news’ ย้อนกลับไปสมัยก่อน แก้วก็เสพข่าวด้านเดียว เฉพาะโทรทัศน์บางช่อง เฉพาะข่าวที่เราอยากจะฟัง ข่าวพวกนั้นมันอาจเป็นข้อเท็จจริง แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่รอบด้าน ปัจจุบันนี้จึงพยายามเสพข่าวอย่างรอบด้านทั้งจากวารสารวิชาการ คำวินิจฉัยของศาล หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถืออื่นๆ เพิ่มเติม

สภาวะการเลือกเสพข้อมูลที่เปลี่ยนไปนี้เอง ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในสังคมไทย แต่กำลังเป็นไปในบริบทโลก อย่างในไทยเราอาจจะมีสำนักข่าวที่ขึ้นชื่ออย่าง Top News, Voice TV หรือ Nation แต่ถ้าเป็นในสหรัฐ ก็จะมี CNN กับ Fox News ที่มักจะดิสเครดิตกันไปมา ถามว่าข่าวของสำนักข่าวเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงหรือมีข้อเท็จจริงไหม มันก็มีข้อเท็จจริงอยู่ แต่เพียงแค่มันอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ได้ เราจึงต้องดูข่าวจากทั้งสองฝ่าย อย่างแก้วเองก็ต้องดูข่าวของทุกช่องที่กล่าวมาเช่นกัน เพราะบางทีแม้แต่ฝ่ายเราเองก็อาจจะไม่ได้ให้ข้อมูลที่รอบด้านขนาดนั้นเช่นกัน

คนเราต้องอาศัยความกล้าแค่ไหนที่จะกลับใจจากสิ่งที่ทำในอดีต 

อันนี้แก้วมองว่ามันเป็นการ ‘polarization’ ประชาชนจากการใช้โฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ซึ่งก็คล้ายกับสมัยการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง-เสื้อเหลืองเลย ตอนนั้นก็มีความพยายามประโคมข่าวเพื่อแบ่งแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย ถึงแม้ว่าการขัดแย้งกันเป็นฝักฝ่ายอาจจะเป็นเรื่องปกติของสังคมในระบอบประชาธิปไตย แต่ในประเทศประชาธิปไตยเสรีอื่นๆ เช่น สหรัฐ เขาจะเคารพเสรีภาพในการแสดงออกของคู่ขัดแย้งทั้งหลายในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ หรือผู้ต่อต้าน เนื่องจากประชาชนเป็นเจ้านายของนักการเมือง ดังนั้นการที่สังคมเป็นฝักฝ่ายก็ไม่ใช่ปัญหา หากปล่อยให้ประชาชนได้แสดงออกอย่างเสรี

การแบ่งฝักฝ่ายประชาชนอย่างไม่มีเสรีภาพต่างหากที่เป็นปัญหาพื้นฐานในสังคมไทยที่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคการเมืองเสื้อสี ซึ่งแก้วเชื่อว่าในวันข้างหน้าจะดีขึ้น เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่เข้าถึงแหล่งข้อมูลข่าวสารที่กว้างมากขึ้นกว่าคนรุ่นก่อน เขาสามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะได้เอง ดิฉันเองก็เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ทุกคนว่าสามารถเรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันและกันได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้สนับสนุนการบังคับจิตใจใครให้ต้องมองเห็นหรือมีความคิดแบบเดียวกันหมดนะ

จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสในม็อบเสื้อเหลือง อะไรคือเหตุผลให้คนจำนวนมากมองไม่เห็นว่าคนเสื้อแดงถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เมื่อช่วงปี 2553 

แก้วคิดว่าเป็นเพราะโฆษณาชวนเชื่อและการใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดง การเล่นกับความศรัทธาด้วยข่าวลือว่า คนเสื้อแดงต้องการที่จะล้มล้างระบอบการปกครองของประเทศ ซึ่งภายหลังก็ได้มีการพิสูจน์แล้วว่าไม่เป็นความจริง เพราะประชาชนคนธรรมดาไม่สามารถล้มล้างระบอบการปกครองได้อยู่แล้ว หรือต่อให้มีผู้สนับสนุนอุดมการณ์แบบนั้น เขาก็ไม่สมควรที่จะถูกปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณเหมือนที่เกิดขึ้นในปี 2553 แต่ที่มันเลยเถิดไปถึงขั้นนั้น เพราะพลังของโฆษณาชวนเชื่อและปฏิบัติการในการลดทอนความเป็นมนุษย์ของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ประสบความสำเร็จมากๆ ในโซเชียลมีเดีย การกระทำในลักษณะ dehumanize นี้เองที่ทำให้เกิดความคิดที่แบ่งแยกผู้คนมากๆ มองอีกฝ่ายว่าไม่ใช่มนุษย์ แต่มองในลักษณะของอริราชศัตรู จนนำไปสู่หายนะในสังคมอย่างที่เกิดขึ้น

มองว่าปฏิบัติการลดทอนความเป็นมนุษย์จะยังได้ผลไหม ถ้าถูกนำมาใช้ในยุคนี้อีก

ไม่ เพราะตามที่ได้บอกไปแล้วว่า ทุกวันนี้ช่องทางการรับรู้ข้อมูลข่าวสารมันกว้างกว่าเดิมมาก ประชาชนได้รับข้อมูลหลายด้านมากยิ่งขึ้น ต่อให้มีการยึดหนังสือ ปิดเว็บไซต์ แต่สุดท้ายข้อมูลที่อัพโหลดขึ้นไปบนอินเทอร์เน็ตแล้วก็มีวิธีในการเซฟได้อยู่ดี แทบจะพูดได้เลยว่าทุกวันนี้ไม่มีข้อมูลอะไรเป็นความลับแล้ว หากมันถูกอัพเข้าไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย 

การทำโฆษณาชวนเชื่อ หัวใจหลักคือการที่ประเทศทั้งประเทศปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างที่สหภาพโซเวียตเคยพยายามทำในสมัยสงครามเย็น อันนั้นนอกจากเขาจะปิดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารแล้ว เขายังเปลี่ยนระบบการศึกษาให้เชื่อว่าผู้นำคนนี้คือผู้นำที่ดีที่สุด เรียกได้ว่าปัจจัยสำคัญที่มันสำเร็จเพราะอินเทอร์เน็ตไม่ได้แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ 

ถ้าย้อนกลับไปในยุคปราบปรามคนเสื้อแดง ปี 2553  มุมมองที่มีต่อคนเสื้อแดงเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน

คิดว่าการเรียกร้องของผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีในตอนนั้น อย่างคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาฯ ลาออก และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น เป็นหนึ่งในสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนที่พึงกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องต่อผู้นำในรัฐบาลใดก็ตาม และไม่ควรถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมดังที่เกิดขึ้น

ตอนนี้คิดอย่างไรกับภาพจำ ‘เผาบ้านเผาเมือง’

เรายังจดจำถึงวาทกรรมนั้นได้ รวมไปถึงการประโคมข่าวในยุคนั้นที่หลายคนก็ออกมาพูดในโซเชียลมีเดีย หรือสื่อต่างๆ เยอะมาก ทั้งที่เอาเข้าจริงก็เป็นเพียงแค่คำพูดผ่านปากผู้คนต่างๆ เท่านั้นที่บอกว่า “พวกคุณนั่นแหละที่เป็นคนทำ”

ตอนนั้นเราก็ดันไปเชื่อคำที่เขาพูดกันแบบนั้น แต่สุดท้ายพอเราไปดูหลักฐานที่น่าเชื่อถืออย่างคำตัดสินของศาลที่ยกฟ้องในกรณีดังกล่าว เพราะหลักฐานไม่เพียงพอ แต่วาทกรรมเผาบ้านเผาเมือง ณ ขณะนั้น มันก็ถูกประโคมผ่านสื่อต่างๆ จนคนจำนวนมากเชื่อไปแล้ว เราเองก็ต้องขอโทษคนเสื้อแดงอีกครั้งที่เคยหลงผิดไปเชื่อเรื่องราวเหล่านั้นด้วยเช่นกัน

สมัยนี้มีการพูดกันว่า การแสดงออกทางการเมืองไม่ควรหยาบคาย แล้วเราจำเป็นต้องสุภาพแค่ไหน 

ดิฉันก็เห็นนักการเมืองหลายคนที่ทำตัวไม่สุภาพ ก่นด่ากันในรัฐสภา ซึ่งดิฉันมองว่า พฤติกรรมที่ไม่สุภาพหรือไม่ควรทำ หมายถึง การไม่สุภาพกับประชาชน แต่ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจโดยสุจริต หากการวิพากษ์วิจารณ์เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน ผู้ที่มีอำนาจเช่น นายทุน ศักดินา หรือนักการเมืองท่านอื่นในสภาฯ ที่เอารัดเอาเปรียบประชาชน 

อย่างคนธรรมดาที่อยากแสดงออกทางการเมือง จำเป็นต้องสุภาพไหม

ไม่จำเป็น มันก็เป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเขา คือต่อให้เราเที่ยวไปฟ้องหมิ่นประมาททุกคนแบบนั้น ถามว่าทำได้ไหม ก็ทำได้ แต่มันก็ไม่ใช่การสนับสนุนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แบบนั้นเราจะทำการรณรงค์ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 หรือกฎหมายปิดปากอื่นๆ ทำไม ในเมื่อเรายังฟ้องหมิ่นประมาทผู้อื่นอยู่

ทุกคนควรมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน ขอเพียงแค่ไม่ไปละเมิดสิทธิ ไม่ไปลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น หรือไปชักนำให้เกิดความรุนแรงในแง่การแสดงออกความคิดทางการเมืองนั้น ต่อให้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในการพูดออกมาในที่สาธารณะ อย่างความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบการเมืองการปกครอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต้องการล้มล้างไปสู่ระบอบใหม่ ผู้ที่ต้องการคงเดิมไว้ หรือแม้แต่ผู้ที่อยากจะหวนกลับไปหาระบอบเก่า ก็ควรที่จะมีสิทธิแสดงความคิดของตนเองออกมา เพราะแค่การพูด ไม่มีใครสมควรถูกจับหรือถูกทำร้าย การแสดงออกในลักษณะนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน ขอแค่ไม่ไปกระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นก็เพียงพอแล้ว

เพดานของการแสดงออกทางการเมืองของบุคคลสาธารณะอยู่ตรงไหน

ขึ้นอยู่กับงานของเขา ถ้าเป็นดารานักแสดงก็อาจจะไปมีปัญหาเรื่องสัญญาอะไรต่างๆ มากมายที่ไม่อนุญาตให้เลือกฝ่าย แต่ถ้าถามในแง่ส่วนตัวแล้ว แก้วไม่เคยมีประสบการณ์เป็นบุคคลสาธารณะมาก่อน ตอนที่มีผู้มาวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกระทำของตัวเองในอดีต ก็เลยโต้ตอบกลับไปแบบไม่เหมาะสม ต้องขอโทษทุกคนอีกครั้งตรงนี้ และอยากให้ทุกคนมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นอีกแน่ค่ะ

การตีตรากันทางการเมืองอย่างคำว่า ‘สลิ่ม’ ‘สามกีบ’ ‘ควายแดง’ เมื่อไหร่จะหมดไปจากสังคมไทยสักที

ต้องยอมรับกันให้ได้ก่อนว่า สังคมประชาธิปไตยมีความแตกต่างทางความคิดกันได้ ถ้าจะมองให้เห็นภาพเลยก็เหมือนกับในอังกฤษที่มีกลุ่มพรรคแรงงานเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุน เจเรมี เบอร์นาร์ด คอร์บิน (Jeremy Bernard Corbyn) แต่สุดท้ายด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนประชากรมากกว่า ทำให้กลุ่มอนุรักษนิยมได้เปรียบ ระหว่างนั้นก็มีการประท้วงของแต่ละกลุ่มเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ก็เกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ได้ไปเบียดบังสิทธิของใคร

การที่คนถูกจำแนกออกเป็นกลุ่มๆ แบบนี้ มันทำให้คนเกิดการ ‘กลับใจ’ ได้เสมอ โดยเฉพาะฝ่ายประชาธิปไตยที่ควรทำให้กลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า ‘สลิ่ม’ กลับใจมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะสุดท้ายแล้วเราต้องการแนวร่วมมากกว่าต้องการศัตรู และเราก็ต้องการคนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มเสรีนิยม อนุรักษนิยม ให้มาสนับสนุนประชาธิปไตย เพราะสังคมไทยเราตอนนี้ไม่ใช่การต่อสู้กันระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม หรือสังคมนิยมกับอนุรักษนิยมแล้ว แต่เป็นการต่อสู้กันระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ เราต้องหาวิธีทำให้คนมาอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้มากที่สุด 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ สมมุติว่าเรามี สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วพอเข้าสู่ช่วงการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนั้นกลับแพ้ในสนามรับร่างไม่รับร่างขึ้นมา ก็จะทำให้เรากลับมาใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กันต่อไป หรือการที่ฝ่ายประชาธิปไตยแพ้การเลือกตั้ง จนไม่ได้เข้าไปมีอำนาจในกลไกการเปลี่ยนแปลงประเทศต่อไป ดังนั้นก็จำเป็นที่เราจะต้องหาพรรคพวกอยู่เช่นนี้ด้วย ไม่งั้นเราก็จะไม่สำเร็จในการทำให้เกิดกระบวนการกลับมาของประชาธิปไตย (Restoration of Democracy) อย่างสมบูรณ์ได้ 

สุดท้ายแล้วการจำแนกคนเป็นฝักฝ่ายด้วยคำอย่าง ‘สามกีบ’ ‘สลิ่ม’ หรือ ‘ควายแดง’ มากๆ เข้าก็เป็นการตีตราให้พวกเขาไม่กล้าที่จะกลับใจเพื่อกลับมาอยู่ฝั่งประชาธิปไตย ทั้งที่เราเองก็ต้องการแนวร่วมมากที่สุดในการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือการเลือกตั้งผลักดันรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนและเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เราต้องได้รับความร่วมมือจากคนส่วนใหญ่เพื่อชนะประชามติ 

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกก่อนว่าดิฉันสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออก และเชื่อในศักยภาพการคิดวิเคราะห์แยกแยะของแต่ละคน ไม่ได้หมายความว่าต้องบังคับให้ใครมาคิดเหมือนเรา 

ประเด็นเรื่องการขอโทษ หลายคนมองว่าต่อให้ขอโทษ ก็แก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นแล้ว แบบนี้คนเรายังควรต้องออกมาขอโทษกันอยู่ไหม

การขอโทษเป็นการแสดงออกถึงการรู้สึกผิดหรือความเสียใจที่เกิดขึ้น แม้เราจะกลับไปแก้ไขอดีตไม่ได้ ซึ่งการขอโทษไม่จำเป็นต้องหวังผลให้เกิดการให้อภัยต่อกันและกัน หากเรารู้สึกแบบนั้นจากใจจริงๆ 

หากได้มีโอกาสเข้ามาทำงานการเมืองอย่างเป็นทางการ สิ่งแรกที่อยากจะทำคืออะไร

อยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนหรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ส่วนเนื้อหาภายในจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับ สสร. นั้นๆ แต่ก็อยากให้มีการแบ่งแยกอำนาจ กระจายอำนาจ ตรวจสอบถ่วงดุลกันอย่างชัดเจน 

อีกเรื่องที่คิดว่าสำคัญมากคือ การยกเลิกวัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง โดยอยากให้ไทยไปร่วมลงนามกับธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) อยากที่จะแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศสำหรับกลุ่มเพศหลากหลาย เช่น การเปลี่ยนถ้อยคำในกฎหมายประมวลแพ่งและพาณิชย์ฉบับ 5 และขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้กลุ่มคนชายขอบถูกหลงลืมไปจากรัฐ ปัญหาสิทธิที่ทำกินสำหรับกลุ่มชนพื้นเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็สมควรที่จะได้รับการผลักดันมากกว่านี้ 

รวมไปถึงอยากที่จะผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกโดยเฉพาะทางการเมือง คิดว่าควรมีการออกกฎหมายการป้องกันการใช้กฎหมายปิดปาก (anti-slapp law) ซึ่งถือว่ายังเป็นเรื่องที่ใหม่ในสังคมไทยมากๆ และในเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนนี้ก็คิดว่าถ้ามีโอกาสจะหาทางผลักดันให้เกิดกฎหมายต่อต้านการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crimes) ที่ทั่วโลกเขาเริ่มทำกันไปแล้ว เราอาจจะต้องมีการเพิ่มโทษในจุดนี้เข้าไป 

ถ้ามองไปถึงเรื่องปากท้อง สิ่งที่คิดว่าอยากจะทำ ถ้ามีโอกาสจะรีบผลักดันคือ การพัฒนานโยบายด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ที่ใหม่และเป็นที่ต้องการสูง อย่างเช่นการวิจัยและพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ที่เป็นวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ (pure science) ให้ตรงกับความต้องการของโลกสมัยใหม่ ถ้ามองไปยังตัวอย่างที่เราเริ่มพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น เทคโนโลยี mRNA ที่เป็นนวัตกรรมของไทยเอง เป็นต้น ตรงนี้จะไปสัมพันธ์กับสิทธิแรงงานที่จะไหลเข้าไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเราจำเป็นต้องเร่งให้มีนโยบายสนับสนุนต่อไปให้เท่าทัน

ดูเหมือนว่าความฝันที่อยากจะเห็นประเทศเปลี่ยนแปลงในหลายด้านแบบนี้ คงต้องใช้เวลาไม่น้อย?

มันอาจจะไม่สำเร็จได้ภายใน 1-2 สมัยหรอกค่ะ แต่คิดว่าการสร้าง blue-print เอาไว้ให้รอบด้านแบบนี้ก็น่าจะดีที่สุดในระยะยาว บ่มเพาะความคิดให้เติบโตต่อไปได้ในสังคมไทยเรื่อยๆ 

อันนี้ยังไม่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่อยากเข้าไปผลักดันอีกเป็นจำนวนมากเลยนะคะ (หัวเราะ)

Author

ภูภุช กนิษฐชาต
คนหนุ่มผู้หลงใหลการตามหาสาระในเรื่องไร้สาระ คลั่งไคล้การถกเถียงเรื่องปรัชญาการเมืองยามเมามาย นิยมเสพสื่อบันเทิงแทบทุกชนิดที่มีบนโลก ขับเคลื่อนชีวิตด้วยคาเฟอีนและกลิ่นกระดาษหอมกรุ่นของหนังสือราวกับต้นไม้ต้องการแสงแดด ความฝันอันสูงสุดมีเพียงการได้มีชื่อของตนเองจารึกเอาไว้ใน Reading-list ของเหล่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยเพียงเท่านั้น

Photographer

อนุชิต นิ่มตลุง
อาชีพเก่าคือคนขายโปสการ์ดภาพถ่ายขาวดำยุคฟิล์ม จับกล้องดิจิตอลรับเงินเดือนประจำครั้งแรกที่นิตยสาร a day weekly เมื่อปี 2547 ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว สารคดี มีความสามารถพิเศษสั่งตัวแบบได้ตั้งแต่พริตตี้ คนงานทุบหินแถวหิมาลัย ไล่ไปจนถึงงานที่ถูกใครต่อใครหยิบยืมไปใช้สอยบ่อยๆ อย่างภาพถ่ายนักวิชาการที่ไม่น่าจะถ่ายรูปขึ้น นอกจากทำงานให้ WAY อย่างยาวนาน ยังเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision อันลือลั่น

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ โดยการเข้าใช้งานเว็บไซต์นี้ถือว่าท่านได้อนุญาตให้เราใช้คุกกี้ตาม นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า